ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีจับมือ สปสช.จัดระบบยาต้านพิษ 5 ปี-ลดอัตราตาย ประหยัดงบ
ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี เผยผลสำเร็จความร่วมมือ สปสช.บริหารจัดการยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงูช่วง 5 ปี เพิ่มบัญชีรายการยาต้านพิษ จัดระบบสำรองยาและกระจายยาทั่วประเทศ ส่งผลผู้ป่วยทุกสิทธิ์เข้าถึงการรักษา ลดเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ประหยัดงบ เผยเฉพาะเซรุ่มแก้พิษงู ลดมูลค่าจัดซื้อลงร้อยละ50 ต่อปี ระบุหากไม่มีโครงการนี้ กระทบผู้ป่วยโดยตรง เหตุยาบางรายการมีเงินก็ซื้อไม่ได้ ต้องบริหารจัดการที่ส่วนกลางเท่านั้น
ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างศูนย์พิษวิทยาและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อจัดระบบการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษให้กับผู้ป่วยทั่วประเทศว่า ยาต้านพิษนอกจากเป็นกลุ่มยาที่มีปริมาณการใช้ที่น้อยแล้ว ยังเป็นกลุ่มยาที่ไม่ทำกำไร ส่งผลให้บริษัทยาส่วนใหญ่ไม่ผลิตหรือนำเข้า แต่ด้วยเป็นยาที่มีความจำเป็นต่อการรักษาผู้ป่วยที่ได้รับพิษต่างๆ โดยเฉพาะพิษจากสารเคมี จึงต้องจัดหาไว้ในระบบเพื่อรองรับการรักษาให้กับผู้ป่วย ดังนั้นในปี 2553 ศูนย์พิษวิทยาจึงได้ร่วมกับ สปสช.จัดทำโครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษ โดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยได้รับพิษจากฐานข้อมูลของศูนย์พิษวิทยาในการจัดทำบัญชีรายการยาต้านพิษเร่งด่วนที่จำเป็นต้องมีในประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วย
ในปีแรกของการดำเนินโครงการฯ มียาต้านพิษในบัญชีเพียง 6 รายการเท่านั้น ปีต่อมาได้เพิ่มเป็น 10 รายการ โดยแต่ละปีมีการทบทวนต่อเนื่องและปรับรายการยาตามความจำเป็น จนได้บรรจุเซรุ่มต้านพิษงูเข้ามาด้วย ทำให้ปัจจุบันมีรายการยาต้านพิษและเซรุ่มต้านพิษงูในบัญชีทั้งสิ้น 17 รายการ โดย สปสช.เป็นหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณ มีการจัดหายาและจัดซื้อยาต้านพิษด้วยวิธีพิเศษ มีการจัดทำความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรมเพื่อจัดหาและนำเข้า รวมถึงความร่วมมือกับสภากาชาดไทยเพื่อผลิตยาต้านพิษที่ทำให้ราคายาถูกลง ส่งผลให้ประเทศไทยมีการสำรองยาต้านพิษที่จำเป็นเร่งด่วนพร้อมใช้เมื่อเกิดภาวะพิษกับผู้ป่วยทั่วประเทศ
ศ.นพ.วินัย กล่าวว่า นอกจากการจัดหาและสำรองยาแล้ว ที่ผ่านมายังมีความร่วมมือในการบริหารจัดการยาเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา โดยศูนย์พิษวิทยาได้พัฒนาการทำงานเป็นระบบ Call Center เมื่อปี 2547 จากการสนับสนุนของ สปสช.และมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง ทำให้การให้คำปรึกษาทั้งการวินิจฉัย การดูแลรักษาและการใช้ยาต้านพิษเป็นไปอย่างถูกต้อง นอกจากนั้นยังมีระบบการติดตามอาการผู้ป่วยหลังรับยาต้านพิษ ทำให้สามารถประเมินโครงการได้อย่างดี การบริการของศูนย์พิษวิทยาจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จำนวนผู้ใช้บริการจากทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ปี พ.ศ.2558 มีการปรึกษาเข้ามากว่า 20,000 เหตุการณ์ จำนวนผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องมีทั้งสิ้น 19, 500 ราย
ศ.นพ.วินัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยระบบบริหารจัดการยาต้านพิษนี้ ยังนำมาใช้บริหารจัดการเซรุ่มแก้พิษงูด้วย ซึ่งนอกจากเพิ่มการเข้าถึงเซรุ่มแก้พิษงูให้กับประชาชนแล้ว ยังช่วยประหยัดงบประมาณให้กับประเทศได้ จากเดิมที่โรงพยาบาลแต่ละแห่งจะจัดซื้อเซรุ่มแก้พิษงูเพื่อสำรองความเสี่ยงกันเอง ทำให้เกิดการสูญเสียจากเซรุ่มที่ไม่ได้ใช้และหมดอายุจำนวนมาก แต่เมื่อมีการรวมบริหารจัดการด้วยระบบคลังยาทำให้มูลค่าการจัดซื้อเซรุ่มแก้พิษงูระดับประเทศลดลงถึงร้อยละ 50 ต่อปี
“การพัฒนาระบบบริหารจัดการยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มแก้พิษงู ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ สปสช.ได้ร่วมกับศูนย์พิษวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่นี้ นับเป็นนวัตกรรมบริหารจัดการยาที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นต่อชีวิต ไม่เฉพาะสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่รวมถึงผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษา ซึ่งยาบางรายการในอดีตผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยาและต้องเสียชีวิตลง และหากไม่มีโครงการนี้เชื่อว่าจะส่งผลกระทบแน่นอน เพราะยาต้านพิษบางรายการ แม้มีเงินก็หาซื้อไม่ได้ หรือซื้อได้ก็มีราคาแพงมาก ต่างจากการรวมศูนย์บริหารจัดการที่ส่วนกลาง ทำให้เพิ่มศักยภาพการจัดหายา เพิ่มอำนาจการต่อรองและจัดซื้อยา ทั้งยังช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสำรองยาของโรงพยาบาลลงได้ นับเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และเพิ่มความมั่นคงด้านยาให้กับประเทศไทยเรา” หัวหน้าศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี กล่าว