ผลิตคนไม่เหมาะสมกับงาน ธ.โลกชี้ไทยนำโด่งจ้างแรงงานไร้ฝีมือมากสุดในอาเซียน
นักวิจัยเผยผลสำรวจธนาคารโลกปี 2006-2009 พบธุรกิจไทยขาดแรงงานที่เหมาะสมกับงานมากที่สุดในอาเซียน และยังพบ 83.5% จ้างแรงงานไร้ฝีมือ เหตุการศึกษาไทยเน้นผลิตเชิงปริมาณทำให้ขาดความสามารถ ในการแข่งขัน จัดการศึกษา ผลิตคนไม่เหมาะสมกับงาน
วันที่ 27 มกราคม 2559 ณ ห้องประชุมวีนัส โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กรุงเทพฯ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และภาคีเครือข่ายจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ 14 จังหวัด จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแถลงข่าว “รวมพลัง 14 จังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้สู่นวัตกรรมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาตามยุทธศาสตร์จังหวัด” เพื่อนำเสนอผลความสำเร็จของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ๆ สามารถตอบโจทย์ในด้านแรงงานและการพัฒนาในด้านต่างๆ ของแต่ละจังหวัด พร้อมผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงองค์ความรู้ไปสู่เป้าหมายในเชิงนโยบายการศึกษาในระดับชาติ
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการสำรวจของธนาคารโลกปี 2006-2009 พบว่า ธุรกิจไทยขาดแรงงานที่เหมาะสมกับงานมากที่สุดในอาเซียน โดยสูงถึงร้อยละ 38.8 ขณะที่ค่าเฉลี่ย (ไม่รวมประเทศไทย) อยู่ที่ร้อยละ 12.6 ขณะที่มาเลเซียรองลงมาร้อยละ 20.2 ตามมาด้วยลาวร้อยละ 18.7 กัมพูชาร้อยละ 15.5 เวียดนาม 8.9 ฟิลิปปินส์ร้อยละ 7.8 และอินโดนีเซียร้อยละ 4.5 และยังพบว่า ไทยติดอันดับการจ้างแรงงานไร้ฝีมือคิดเป็นร้อยละ 83.5 ของแรงงานทั้งหมดในสถานประกอบการที่สำรวจ รองลงมาคือมาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาของไทยเน้นการผลิตเชิงปริมาณทำให้ขาดความสามารถในการแข่งขัน ขณะเดียวกันการศึกษาของไทยไม่สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง ทำให้เกิดการผลิตคนไม่เหมาะสมกับงาน การจัดการศึกษาจึงควรมุ่งสู่การเตรียมพร้อมในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะสอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง
“สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ มีประชากรราว 1.678 ล้านคน มีต้นทุนด้านการเกษตร ท่องเที่ยว และธุรกิจสุขภาพเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มสังคมสูงวัย จังหวัดตราดมีประชากรราว 224,730 คน มีต้นทุนด้านเกษตร ท่องเที่ยว โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และภูเก็ตมีประชากรราว 378,364 คน มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวและสามารถพัฒนาเป็นเมืองแห่งอาหาร (Gastronomic City) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆในเอเชียจะพบว่า ทุนมนุษย์ในประเทศไทยยังไม่ได้ถูกใช้ไปในการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้เท่ากับประเทศมาเลเซีย จีน และสิงคโปร์"
ทั้งนี้ ประเทศในกลุ่ม OECD ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่มากว่าสิบปีแล้ว ซึ่งบทเรียนจากประเทศในกลุ่ม OECD พบว่า การจัดการศึกษาที่ดีนั้นต้องมีการจัดระบบ 4 ด้าน 1) การจัดการเรียนรู้ 2) การวางแผนและการจัดโครงสร้างการบริหาร 3) การบริหารงานบุคคล และ 4) การจัดสรรทรัพยากร ซึ่งกว่า 3 ใน 4 ของการจัดการศึกษาเกิดในระดับพื้นที่ โดยประเทศฟินแลนด์ระบุว่า การจัดการเรียนรู้ต้องให้สอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเสริมเศรษฐกิจในปัจจุบันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่อนาคต ฉะนั้นการจัดการศึกษาเพื่อทุกคนนั้น หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องยึดหยุ่นพอที่จะรองรับการเตรียมคนสู่สายอาชีพและมหาวิทยาลัย”
ด้านนพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ สสค. กล่าวว่า การการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องให้พื้นที่ได้เข้ามามีบทบาทในการกำหนดเป้าหมายของตนเองว่าต้องการให้คนในจังหวัดมีการศึกษาอย่างไร ต้องการคนที่มีคุณลักษณะ มีความสามารถแบบไหน
“สิ่งที่ สสค. และ สกว. ทำร่วมกับ 14 จังหวัดในขณะนี้นั้นเป็นรูปแบบของการจัดการศึกษาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย เพราะเป็นกระบวนการทำงานที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทำงานประสานร้อยเชื่อมกันตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งถึงเชิงตะกอนว่าต้องการคนที่มีทักษะแรงงานแบบใด เช่น จังหวัดเชียงใหม่หรือภูเก็ตที่สามารถถอดบทเรียนออกมาให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนทั้งจังหวัด จนกระทั่งเกิดแผนหรือยุทธศาสตร์การศึกษาของจังหวัด สิ่งสำคัญคือถ้าเราสามารถที่จะทำงานนี้ไปได้อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเห็นภาพชัดเจน ก็จะทำให้จังหวัดอื่นๆ ได้มองเห็นโอกาส แนวทางการทำงาน และเข้าร่วมขบวนการพัฒนาการศึกษาของตนเองโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน”
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงแนวโน้มของการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ว่าประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่สำคัญคือ 1) การจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 และประชาคมอาเซียน 2) การศึกษาเพื่อการมีงานทำ และ 3) การศึกษาต้องมีผู้ร่วมจัดการศึกษา ซึ่งเป็นแนวโน้มหรือทิศทางการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยนับจากนี้
“แต่การปฏิรูปการศึกษาจากระบบที่เป็นอยู่สามารถทำได้ยาก ในขณะที่ในระดับล่างสุดเรายังพบความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ใน 14 จังหวัดที่ สสค.ทำอยู่เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ถอดบทเรียนออกมาแล้วพบว่าเป็นการจัดการศึกษาที่ครบองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านที่กล่าวไปแล้ว และทำให้เราเห็นว่าขณะนี้เราจะปล่อยให้รัฐจัดการศึกษาตามลำพัง หรือปฏิรูปการศึกษาตามลำพังไม่ได้ เพราะหน่วยจัดการที่อยู่ตรงกลางระหว่างรัฐกับพื้นที่มีความพร้อมมากกว่า เคลื่อนไหวได้เร็วกว่า และปฏิรูปโดยได้ความร่วมมือที่มากกว่า ตรงนี้คือจุดแข็งของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่”
“สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเราจะต้องนำองค์ความรู้หรือข้อค้นพบเหล่านี้ไปเชื่อมต่อกับนโยบายในระดับบนให้ได้ โดยต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องพยายามกำหนดเรื่องนี้ไว้ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ โดย สสค.จะต้องทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายอย่างมืออาชีพ ซึ่งองค์ความรู้ที่หลากหลายจากทั้ง 14 จังหวัดที่เกิดจากผลของการลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและมีความชัดเจน เป็นตัวอย่างให้จังหวัดอื่นๆ สามารถนำบทเรียนเหล่านี้นำไปปรับประยุกต์ใช้ ต่อยอด และเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับจังหวัดของตนเอง ซึ่งจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่สุด” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว