เบื้องหลังเกมไล่ล่า2 พันล.สกสค.คืน บีบแบงก์รับผิดชอบ อำพรางคดีช่วย ไอ้โม่ง?
"..ธนาคารมีหน้าที่ในการรับฝากถอนเงิน เมื่อลูกค้าแสดงความจำนงที่จะถอนเงิน เพื่อนำไปลงทุนส่วนอื่น พร้อมอ้างว่าให้ผลกำไรตอบแทนที่ดีกว่า ขณะที่ขั้นตอนการถอนเงินก็เป็นไปตามระเบียบทุกประการ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ถามว่า ธนาคารจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยหรือไม่.."
ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ปฏิบัติการไล่ล่าหาตัวผู้รับผิดชอบความเสียหาย กรณี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) นำเงินจำนวน 2,500 ล้านบาท ไปลงทุนร่วมกับ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ซึ่งปรากฎชื่อ นายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา หรือ“เสี่ยบิ๊ก” ประธานสโมสรเพื่อนตำรวจ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด (ถูกกองบัญชาการตำรวจนครบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สน.ดุสิต ควบคุมตัว สอบปากคำเพิ่มเติม ในช่วงเช้าวันที่ 18 ม.ค.2559)
กำลังถูกจับตามองอย่างมาก!
โดยเฉพาะประเด็นการอนุมัติเบิกถอนเงินของ สกสค. และปิดบัญชีไม่ถูกต้อง พร้อมเสียงเรียกร้องดังตามมาว่า ให้ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
ล่าสุด มีรายงานข่าวแจ้งว่า ผู้บริหารธนาคารดังกล่าว ได้ส่งหนังสือยืนยันว่า การอนุมัติเบิกถอนเงินและปิดบัญชีของ สกสค.เป็นไปอย่างถูกต้อง
ขณะที่นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ระบุว่า จากการพูดคุยกับผู้บริหารธนาคารดังกล่าว ยังไม่มีความชัดเจน โดยทางธนาคารยังยืนยันว่าการอนุมัติเบิกถอนเงินและปิดบัญชีของ สกสค.เป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ตรงกับข้อมูลที่ สกสค.มี และไม่ตรงกับคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน
ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ จึงขอให้ธนาคารดังกล่าวชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษรว่าสิ่งที่ธนาคารยืนยันว่าดำเนินการถูกต้องมีอะไรบ้าง แล้วส่งกลับมายัง สกสค.โดยเร็วที่สุด
เพื่อให้สาธารณชนได้รับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการเบิกถอนเงินในคดี สกสค.อนุมัติเงินลงทุนกับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด มานำเสนอให้เห็นภาพชัดๆ ดังนี้
จุดเริ่มต้น
1. นายบุญส่ง สุขโขทัน อดีต ผอ.สกสค. สมุทรสาคร 2 สมัย ร้องเรียน ปปง.ว่า นายเกษม กลั่นยิ่ง อดีตเลขา สกสค. กับพวก มีพฤติการณ์ไม่โปร่งใส ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อนุมัติเงินกองทุน จำนวน 2,100 ล้านบาท ให้กับบริษัท บิลเลี่ยนฯ โดยไม่มีหลักประกันเงินกู้ที่ชัดเจน และบริษัท บิลเลี่ยนฯ ไม่สามารถคืนเงินกูพร้อมดอกเบี้ยให้ได้
จึงกล่าวหาว่า มีเจตนายักยอกเงินกองทุนไปเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์กัน
2. ปปท.ทำหนังสือลับมาก ด่วนที่สุดที่ อธ. 1209/785 ลงวันที่ 7 พ.ค.2558 ให้ตรวจสอบผู้บริหารกองทุนฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ มีพฤติกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง การปลอมแปลงเอกสารและการฟอกเงิน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7 /2558 ลงวันที่ 16 เม.ย.2558 ที่ให้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินและผลประโยชน์ของคุรุสภา, สกสค. และองค์การค้าของ สกสค.
3. ผลการตรวจสอบ
กองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.(กองทุนฯ) ได้นำเงินไปลงทุนกับ บริษัท บิลเลี่ยนฯ จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้
1. 30 มิ.ย.2556 ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ 500 ล้านบาท โดยมี ธนาคาร แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้อาวัล กองทุนฯ ได้รับเงินคืนเมื่อ 10 มิ.ย.2557
2. 27 มิ.ย.2556 ซื้อตัวสัญญาใช้เงินกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ 2,100 ล้านบาท โดยไม่มีธนาคารอาวัล ซึ่งมีที่มาดังนี้
2.1. 20 ธ.ค.2556 บริษัทบิลเลี่ยนฯ มีหนังสือถือประธานกองทุน(นายเกษม กลั่นยิ่ง ชวนให้ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน 2,100 ล้านบาท โดยมีธนาคารแห่งหนึ่ง อาวัล กำหนด 1 ปี 1 วัน ดอกเบี้ย 7% ต่อปี
2.2. 25 ธ.ค.2556 คณะกรรมการ สกสค. จัดประชุมเร่งด่วนมีมติครั้งที่ 15/2556 อนุมัติให้ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทบิลเลี่ยนฯ จำนวน 2,100 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7%ต่อปี ระยะเวลา 1 ปี 1 วัน โดยต้องมีธนาคารที่มีความมั่นคงอาวัล และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 27 ธ.ค. 2556 บริษัทบิลเลี่ยนฯ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 2,100 ล้านบาท วันที่ 27 ธันวาคม 2557 (ครบกำหนดวัยที่ 28 ธ.ค.2557) แต่ไม่ได้มีการอาวัลตั๋วจากธนาคาร และบริษัท บิลเลี่ยนฯ นำหลักประกันหลายรายการมาวางค้ำประกัน ซึ่ง สตง.ตรวจสอบภายหลังพบว่าเป็นเอกสารปลอมทั้งหมด
3. 1 ส.ค. 2557 ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่มและการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทบิลเลี่ยนฯ อีก 400 ล้านบาท
โดยมีที่มาดังนี้
3.1. 27 ก.ค.2557 บริษัทบิลเลี่ยนฯ มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. และประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ขอวงเงินซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่มและการอาวัล ตั๋วสัญญาใช้เงินอีก 400 ล้านบาท
3.2. 1 ส.ค.2557 นายเกษม ประธานคณะกรรมการกองทุนฯ ในขณะนั้น ลงนามทำสัญญาร่วมทุนระหว่างกองทุนกับบริษัทบิลเลี่ยนฯ โดยมีนายมงคล เยี่ยงศุภพานนท์ และนายสิทธินันทน์ หลอมทอง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม โดยกองทุนซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินเพิ่มอีก 400 ล้านบาท อายุ 150 วัน กำหนดไถ่ถอน 28 ธ.ค.2557 (วันเดียวกับตั๋ว 2,100 ล้านบาท ซึ่ง ณ วันที่ 1 ส.ค.ก็ยังไม่มีธนาคารอาวัล)
4. 26 ธ.ค.2557 ก่อนครบกำหนดไถ่ถอน 2 วัน บริษัทบิลเลี่ยนฯ อ้างว่า มีเหตุขัดข้องเรื่องการยื่นเอกสาร ขอขยายเวลาคืนเงินให้กองทุนฯ เต็มจำนวน วันที่ 31 ม.ค.2558 พร้อมดอกเบี้ย และวงเงินประกันเพิ่ม
เมื่อถึงกำหนดก็ไม่สามารถคืนทั้งเงินกู้และดอกเบี้ย และจากการตรวจสอบพบว่าหลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันมีมูลค่าสูงเกินความเป็นจริง และบางส่วนเป็นของปลอม
เบื้องต้น ปปง.จึงมีมีให้อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจำนวน 133 รายการ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2558
ก่อนจะส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อตรวจสอบตามขั้นตอน หลังพบว่า พฤติกรรมของผู้บริหารกองทุนฯ และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง การปลอมแปลงเอกสาร
และต่อมาดีเอสไอ ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนต่อ ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้ว และพบว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลเข้าข่ายการทุจริตประพฤติมิชอบ
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องการเบิกถอนเงินของ สกสค. เพื่อนำมาลงทุนกับ บริษัท บิลเลี่ยนฯ นั้น
สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า ก่อนหน้าที่ สกสค. จะนำเงินไปลงทุนกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ นั้น เงินจำนวน 2,000 กว่าล้านบาท ที่ถูกฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง
และเมื่อผู้บริหารสกสค. ตัดสินใจที่จะนำเงินไปลงทุนกับบริษัทบิลเลี่ยนฯ ก็ได้ติดต่อทางธนาคารเพื่อขอถอนเงินจำนวนนี้ออกมา
โดยให้เหตุผลกับทางธนาคารว่า การลงทุนกับบริษัท บิลเลี่ยนฯ ให้ผลกำไรตอบแทนที่ดีกว่า
ส่วนในขั้นตอนการถอนเงินนั้น ผู้บริหาร สกสค. จำนวน 2 ใน 4 ราย ที่มีอำนาจในการเบิกถอนเงิน ได้ลงนามในเอกสารขอถอนเงินไว้ล่วงหน้า และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปยื่นต่อธนาคารเพื่อถอนเงินออกมา และนำไปฝากไว้กับธนาคารอีกแห่งหนึ่ง
ทั้งนี้ การที่ธนาคารมีหน้าที่ในการรับฝากถอนเงิน เมื่อลูกค้าแสดงความจำนงที่จะถอนเงิน เพื่อนำไปลงทุนส่วนอื่น พร้อมอ้างว่าให้ผลกำไรตอบแทนที่ดีกว่า ขณะที่ขั้นตอนการถอนเงินก็เป็นไปตามระเบียบทุกประการ
เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ถามว่า ธนาคารจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยหรือไม่?
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรา ยังได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงใน ปปง.ด้วยว่า ให้จับตามองพฤติการณ์ของบุคคล 2 คน จากหน่วยงานตรวจสอบที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีนี้
บุคคลแรก ถูกคำสั่งคสช.ระงับการปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว หลังจากมีพฤติการณ์ในการประวิงเวลา ช่วยเหลือเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จนทำให้มีการโยกย้าย ถ่ายเท ทรัพย์สิน เกิดขึ้นได้
บุคคลที่สอง มีอำนาจอยู่ในหน่วยงานตรวจสอบแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ จึงพยายามเดินเกม ใช้อำนาจสั่งตรวจสอบการดำเนินงานของธนาคาร เพื่อเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจของสื่อ และสาธารณชน จากพฤติการณ์กลุ่มผู้กระทำความผิดตัวจริง
และนั้นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ณ เวลานี้ ข้อมูลในส่วนของกลุ่มผู้กระทำความผิด 'ไอ้โม่ง' ตัวจริง และสมควรที่จะถูกไล่บี้ เพื่อให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น
จึงไม่ค่อยปรากฎให้เห็นในสื่อกระแสหลักช่วงเวลานี้ สักเท่าไรนัก
อ่านประกอบ :
ฐานธุรกิจหมื่นล."สัมฤทธิ์-พวก"ก่อนโดน ปปง.อายัดทรัพย์ พ่วง บิ๊ก สกสค.183 ล.
สุดบังเอิญ! หุ้นส่วน"เดอะบิ๊ก"ขนเงินพันล.เพิ่มทุนบ.อสังหา ที่แท้ลูกหนี้คลองจั่น 720 ล.
ปริศนาใหม่!"เดอะบิ๊ก"หอบเงิน 2.6พันล.ลงหุ้นบ.อสังหา หลังได้เงินสกสค. 2.1 พันล.
ตีเช็ค4ใบวันเดียว6.5พันล.!เส้นทางเงิน"เดอะบิ๊ก-พวก"ขนเพิ่มทุนบ.อสังหาปริศนา
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯไต่สวนลุยสอบอดีตเลขาฯสกสค.ซื้อตั๋วเงินกว่า 2.5 พันล.มิชอบ
ล้างทุจริตสกสค.! ป.ป.ช.ลุยสอบปมลงทุนโรงไฟฟ้าฯ 2.1 พันล.ไม่คุ้มค่า
ศอตช.ตั้ง 2 ประเด็นสอบสกสค. อนุมัติ 2.1พันล.ให้เดอะบิ๊ก-สาวลึกเงิน "ขรก."
ผ่าปมร้อนเงินกู้ช.พ.ค.2.1พันล."เดอะบิ๊ก"ยันถูกขู่ฆ่าเรียกสินบน ล้มบอร์ดสกสค.?