ก้าวสู่ปีที่ 11 'TK Park' แหล่งเรียนรู้ที่มากกว่าการสร้างห้องสมุด
ก้าวสู่ปีที่ 11 สำหรับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ก่อตั้งขึ้น ภายใต้พันธกิจเพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ ปลูกฝังทัศนคติและนิสัยรักการอ่าน ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเสริมสร้างความรู้ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคนและสังคมไทยให้มีคุณภาพ
แม้ปลายปีที่ผ่านมา จะมีกระแสข่าวรัฐบาลเตรียมยุบสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือสบร. (Office of Knowledge Management and Development (Public Organization) – OKMD) ซึ่งเป็นร่มใหญ่ หนึ่งในนั้นมี TK Park อยู่ด้วย ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์
จนท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมายืนยัน ว่าไม่มีการยุบใด ๆ ทั้งสิ้น แต่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประเมินผลงาน และบุคลากร เกี่ยวกับการใช้งบประมาณตรงวัตถุประสงค์หรือไม่
ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการก่อตั้ง TK Park มีผลงานและพัฒนาการด้านใดบ้าง ช่วยขับเคลื่อนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
‘ราเมศ พรหมเย็น’ รองผู้อำนวยการ สบร. และรักษาการผู้อำนวยการ TK Park ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 1 มกราคม ที่ผ่านมา สวมบทบาทหัวเรือใหญ่ บรรยายความสำเร็จขององค์กรอย่างมืออาชีพ
ภายในงานครบรอบ 11 ปี อุทยานการเรียนรู้ TK park แนวคิด “11th Year TK park: Dream Maker” ขึ้น ณ TK Park ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์
“TK Park มีส่วนสร้างความรู้ให้สังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ในทุกเพศทุกวัย” ราเมศ กล่าวเริ่มต้น
ก่อนบอกว่า นับตั้งแต่ปี 2548 อุทยานการเรียนรู้ได้ดำเนินงานตามภารกิจหลัก 3 ประการคือ สร้างและพัฒนาต้นแบบสิ่งเรียนรู้ ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านการเรียนรู้ และเป็นเวทีเปิดให้เด็กและเยาวชนทั่วไปได้เกิดกิจกรรมการเรียนรู้และสร้างสรรค์ อีกทั้ง ต่อยอดไปตามวิถีของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
โดยปัจจุบันนี้อุทยานการเรียนรู้ได้กลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งตั้งแต่ปีนี้จะเป็นก้าวใหม่ในทศวรรษของการทำงาน โดยเป็นก้าวที่ต่อยอดและสืบสานจากพื้นฐานเดิมที่อุทยานการเรียนรู้ได้มุ่งมั่นสร้างและพัฒนาการเรียนรู้ในรูปแบบของ ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ ทั่วประเทศมากว่า 11 ปี
สำหรับการขยายอุทยานการเรียนรู้เครือข่าย 34 แห่ง ในพื้นที่ 25 จังหวัดทั่วประเทศ รักษาการผู้อำนวยการ TK Park ระบุเราสร้างความฝันให้เกิดขึ้นเป็นความจริงได้ด้วยการร่วมมือกับชุมชนในแต่ละท้องถิ่น และในปีที่ 11 นี้ อุทยานการเรียนรู้มุ่งมั่นผนึกกำลังกับหน่วยงานท้องถิ่นทุกภาคส่วนของประเทศไทยในลักษณะเชิงรุกเพิ่มขึ้นอีก
โดยสร้างแผนพัฒนาแหล่งเรียนรู้สู่ภูมิภาคในรูปแบบ ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ เดินหน้าพัฒนาต้นแบบแหล่งเรียนรู้ ในปี 2559-2560 อุทยานการเรียนรู้ได้วางแผนขยายเครือข่ายไปในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เร็ว ๆ นี้คือที่ จ.ร้อยเอ็ด โดยจะเปิดในเดือนกุมภาพันธ์ ต่อไป คือ จ.ภูเก็ต, กระบี่ และปัตตานี
การทำงานของอุทยานการเรียนรู้จึงไม่ใช่การสร้างห้องสมุด แต่เป็นสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยการกระจายความรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น ด้วยความหลากหลายนี้เองเราจึงมีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ เข้าสู่สังคมมากมาย
(ราเมศ พรหมเย็น รองผู้อำนวยการ สบร. และรักษาการผู้อำนวยการ TK Park)
เขากล่าวว่า Seen and Teen ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มาส่งเสริม เพราะประเทศไทยไม่ค่อยเกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้กันเท่าไหร่นัก เรามีความเชื่อมั่นว่ามีสิ่งดี ๆ อยู่ในตัวของทุกคน และไม่ต้องการที่จะให้สิ่งเหล่านี้สูญหายไป แต่จะทำอย่างไรให้คนรุ่นเก่าที่มีของกับเด็กรุ่นใหม่ที่กระหายการเรียนรู้ผ่านเครื่องมือทันสมัยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ผสมผสานกันระหว่างผู้เล่ากับผู้รับ และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวไกลจะช่วยเข้ามาปรับเปลี่ยนและขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการหมุนเวียนของความรู้ จนมีศักยภาพที่พุ่งสูงขึ้นได้
หากพูดถึงแนวโน้มของกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาใช้บริการห้องสมุด ราเมศ พูดคุยว่าค่อนข้างเติบโต แต่ในอัตราร้อยละหรือวัดตามเปอร์เซ็นยังไม่ชัดเจนนัก แต่เราสามารถบอกกับสังคมได้ว่าอะไรคือเหตุที่ทำให้เยาวชนเข้ามาใช้พื้นที่แห่งสร้างสรรค์เหล่านี้
“ขณะที่ประเทศบ่นกันมากมายว่าเราพื้นที่การแสดงออกทางความคิดภายในประเทศหายาก จนคนรุ่นใหม่หันไปแสดงออกในพื้นที่ไม่เหมาะสม ด้วยเหตุการณ์ข้างต้นนี้จึงทำให้หลายฝ่าย รวมถึงเด็กเกิดความตระหนักนึกคิดถึงสิ่งเหล่านี้มากขึ้น
ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าดีใจ โดยเรามีโครงการที่ส่งเสริมการพัฒนาอยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของ Maker Space หรือ Meeting Space ด้วยสภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์จะทำให้เกิดประโยชน์ในสังคมต่อไป”
ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่มีความต้องการในการทำงานประจำนั้นถือว่าน้อยลงทุกปี ทุกคนต้องการแสวงหาในสิ่งที่สามารถเติมเต็มความต้องการและสามารถดำรงชีพต่อไปได้ เรากำลังจะทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นจริง เพราะเยาวชนจะได้เข้ามาทดลอง เรียนรู้ก่อนตัดสินใจทำจริง ๆ เช่น การหาตัวตน หรือการ Work Shop ที่จะส่งต่อความรู้ไปสอดคล้องกับทักษะในอนาคตของคนศตวรรษที่ 21
รักษาการผู้อำนวยการ TK Park ยังเล่าให้ฟังถึงความไม่ละเลยต่อสังคมอีกว่า ช่องทางสำหรับคนพิการเรามีแน่นอนอยู่แล้ว ภายในห้องสมุดแห่งนี้สังเกตได้เลย ว่าเราจะมีช่องทางเพื่อทุกท่าน คนที่ไม่สะดวกในการเดินก็มีรถเข้ามาได้ เรามีหนังสือเสียงสำหรับคนพิการเป็นจำนวนมาก และเราก็มีโครงการในการทำหนังสือสำหรับผู้พิการทางสายตาขึ้นมาด้วย ตรงนี้ไม่ต้องเป็นห่วงเราคำนึงถึงโอกาสของบุคคลทุกภาคส่วนของสังคมให้เกิดการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน
จากความไม่ละเลยในสังคมนี้เอง TK Park จึงได้เดินหน้าเข้าสู่ทุกพื้นที่ในสังคมไทยมากขึ้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนพื้นที่แห่งการเรียนรู้นี้จะตามติดคุณไปทุกที่เท่าที่คุณต้องการ และยังมีเจ้าแอปพลิเคชั่น TK Online Library 2ebook PressReader ที่คอยอำนวยความสะดวกสบายในการค้นหา
เพราะราเมศ เชื่อว่า การทำถนนหนึ่งเส้น คนยังไม่ชื่นชมเท่าทำห้องสมุดหนึ่งห้อง
ขณะที่ ‘พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ’ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา จ.ยะลา เปิดเผยว่า ยะลาถือเป็นจังหวัดแรกที่มีการก่อสร้าง และยังมีการเกิดเหตุการณ์ที่ถือว่ารุนแรงที่สุดโดยในปี 2549 ถ้าดูตามสถิติการก่อเหตุแล้วค่อนข้างที่จะหนักมาก ผมถือว่า TK Park ก็ได้ดำเนินการสร้างห้องสมุด ถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำในช่วงนั้นโดยเปิดพื้นที่ให้คนต่างศาสนาได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้
มีคนเคยถามว่า TK Park หยุดการระเบิดได้หรือไม่ ผู้บริหารท้องถิ่นผู้นี้ ระบุคงตอบได้แค่ว่า ‘หยุดไม่ได้’ อย่างแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำได้นั่นคือสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่มันเลวร้ายลงไปอีก และช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเมื่อถึงวันที่เหตุการณ์เหล่านั้นสงบ สิ่งที่จะเห็นได้ชัดนั่นคือสิ่งดี ๆ ที่เราได้สร้างไว้ให้กับสังคม
“TK park ยะลาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เปิดปัญญาให้กับคนในพื้นที่ เป็นพื้นที่กลางของการเรียนรู้ของเยาวชนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม เป็นพื้นที่กลางของการสร้างคนให้ยอมรับความคิดที่แตกต่างกัน ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขอย่างยั่งยืนในอนาคตของพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้” พงษ์ศักดิ์ กล่าว
ด้านนายกเทศมนตรีนครลำปาง จ.ลำปาง อย่าง ‘ดร.กิตติภูมิ นามวงศ์’ ได้พูดถึงเสียงตอบรับของคนในท้องถิ่น หลังจากที่มีการเปิดตัว LK Park ว่า ลำปางตอนนี้ถือว่าเป็นน้องใหม่สุด เราเริ่มเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา โดยมีความตั้งใจว่าจะสร้างลำปางให้เป็นนครแห่งการเรียนรู้ ประจวบกับโครงการของ TK Park ได้ขยายลงส่วนภูมิภาค จนเกิดเป็นมิติใหม่ของคนทุกเพศทุกวัย
“6 เดือนที่ผ่านมาได้สร้างความสำเร็จ มองเห็นถึงอนาคตของเด็กและเยาวชนที่เข้ามาใช้บริการ และน่าตกใจตรงที่ว่าทำไมคนลำปางถึงสนใจห้องสมุดมากขนาดนี้ จน LK Park ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ แทบจะไม่มีที่ให้คนเข้า”
เขายังบอกว่า ทางแก้ปัญหาต้องจำกัดจำนวนคน โดยมีคนทำบัตรถาวรกับห้องสมุดมากถึง 3,000 คน ขาจรอีกต่างหาก เกิดเสียงสะท้อนจากหลาย ๆ คนในชุมชนว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปห้องสมุดคงรองรับไม่ไหว ต้องขยาย ให้ทั้งเมืองเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้
เช่นเดียวกับ ‘พิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์’ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี เปิดเผยถึงอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีที่มีกำหนดเปิดในปลายปี 2559 ว่า ที่มาของการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีเกิดขึ้น เพราะสถานการณ์ของ 3 จังหวัดภาคใต้ ทำให้เด็กขาดโอกาสอย่างมากในเรื่องการอ่านและการเรียนรู้
โดยการเกิดขึ้นของโครงการอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีจะทำให้เด็ก ๆ ได้มีความรู้อย่างเท่าเทียมทั้งด้านวิชาการ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการศึกษาวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาอย่างถ่องแท้
“เราหวังอย่างยิ่งว่า อุทยานการเรียนรู้ปัตตานีจะกลายเป็นศูนย์กลางของเยาวชนในปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง เพราะที่นี่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบโจทย์ปัญหาในการย้ายถิ่นฐานของผู้ปกครองและเด็กในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” เขากล่าว และว่าในอดีตที่ผ่านมามักมีการส่งเด็กไปเรียนที่อื่นเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะช่วงวันหยุดที่เด็ก ๆ จะไปเรียนที่ จ.สงขลา ประกอบกับการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ก็มีกรอบจำกัด
การสร้างอุทยานการเรียนรู้ปัตตานีจึงเป็นความพยายามที่จะดึงเยาวชนให้กลับมาศึกษาในบ้านเกิด ขณะเดียวกันก็พัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นคนดีต่อสังคม
นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวว่า การแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดภาคใต้ เราคงไม่ได้แก้กันด้วยการใช้กำลัง การต้องไปสู้รบกัน เราคงต้องใช้เรื่องของการศึกษากับเศรษฐกิจควบคู่กันไป เพราะฉะนั้นถ้าเศรษฐกิจดีขับเคลื่อนได้ คนในพื้นที่ก็ต้องมีการศึกษาด้วย
ท้ายนี้ ‘ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล’ ที่ปรึกษาสำนักงานอุทยานการเรียนรู้กล่าวว่า TK park ที่เซ็นทรัล เวิลด์เป็นเสมือนจุดเริ่มต้น ทั้งในแง่ของวิธีคิดของห้องสมุดมีชีวิตและวิธีการทำงาน โดย 10 ปีที่ผ่านมาคือการสร้างรากฐานอย่างมั่นคง และตั้งแต่ปีที่ 11 นี้จะเน้นทำงานในเชิงรุกมากขึ้น เพื่อร่วมสร้างฝันในทุกท้องถิ่นให้เป็นความจริง
“คนทำงานทุกคนคิดเสมอว่าเราจะต้องขยายผลออกไป จำกัดแค่กรุงเทพไม่ได้ การขยายผลสู่ภูมิภาคนั้นไม่ใช่การไปสร้างเอง แต่ทั้งหมดคือความตั้งใจของชุมชน เป็นความร่วมมือระหว่างกัน เราไม่ได้ไปสร้างสาขา แต่ท้องถิ่นคือเจ้าของและบริหารจัดการโดยท้องถิ่นเอง” เธอระบุ
ที่ผ่านมา TK Park สร้างฐานการเรียนรู้ทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้ในทศวรรษต่อไปจะรุกหนัก เพื่อทำให้สิ่งที่ฝันในการสร้างให้ทุกท้องถิ่นมีแหล่งเรียนรู้เป็นความจริงมากที่สุด ถือเป็นเป้าหมายต้องขับเคลื่อนต่อไปอย่างมุ่งมั่น .