ปลูกถ่าย ‘สเต็มเซลล์’ ไม่น่ากลัว ช่วยชีวิตมนุษย์ ฉบับเข้าใจง่าย
จากสถิติผู้ลงทะเบียนบริจาคสเต็มเซลล์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 – พ.ศ.2551 มีผู้ลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครมากถึง 45,000 ราย แต่มีผู้ได้บริจาคจริงให้กับผู้ป่วยเพียง 60 รายเท่านั้น
จากกรณีมีการรณรงค์ไปทั่วโลก ภายใต้แคมเปญ ‘Match4lara’ เพื่อขอรับบริจาคสเต็มเซลล์ เพื่อช่วยเหลือ ‘ลาร่า คาซาลอตติ’ สาวลูกครึ่งเชื้อสายไทย จีน อิตาเลี่ยน วัย 24 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) แต่ยังหาผู้ให้การปลูกถ่ายไม่ได้ แม้กระทั่งจากน้องชายแท้ ๆ เนื่องจากเธอเป็นลูกครึ่ง
‘ลาร่า’ เข้าทำงานในองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) หลังจากเรียนจบ โดยทำหน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาผู้ยากไร้ไปทั่วโลก จนกระทั่ง ปี 2558 เธอตัดสินใจย้ายมาช่วยเหลือเยียวยาผู้ด้อยโอกาสและยากไร้ในประเทศไทย กระทั่งทราบว่า เป็นลูคีเมียเฉียบพลัน แต่จิตใจก็ยังเต็มไปด้วยกำลังใจที่มากล้น
สำหรับประเทศไทย ยังมีผู้บริจาคสเต็มเซลล์จำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการบริจาคเลือด เพราะกังวลว่า จะต้องเจาะสเต็มเซลล์จากไขกระดูกสันหลัง ซึ่งข้อเท็จจริงสามารถเจาะจากกระดูกเชิงกรานได้ (อ่านประกอบ: ‘ลาร่า’ กำลังแย่! รณรงค์ทั่วโลก หาสเต็มเซลล์ช่วยสาวลูกครึ่ง ป่วยลูคีเมีย)
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก www.stemcellthairedcross.com มีการเผยแพร่การประชาสัมพันธ์และบอกเล่าถึงความสำคัญในการบริจาคสเต็มเซลล์ ว่าไม่ได้ทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทำเพื่อทุกคนที่ต้องการการรักษาจากการบริจาคได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยอาศัยผู้มีชื่อเสียงในประเทศเป็นกำลังสำคัญในการนำเสนอ
‘ไอซ์’ ศรัณยู วินัยพานิช นักร้องนักแสดงชื่อดัง เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่เคยบริจาคสเต็มเซลล์ เขาเปิดเผยไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าว ว่าเดิมได้บริจาคเลือดที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย และตามหน่วยเคลื่อนที่ 4-5 ครั้ง ซึ่งการบริจาคเลือดเปรียบเหมือนการให้ชีวิต การทำบุญกับมนุษย์เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่
สำหรับการบริจาคสเต็มเซลล์ เคยได้ยินบ่อย ๆ ในรายการโทรทัศน์ สมัยก่อนไม่มีความเข้าใจ แต่ปัจจุบันทราบแล้ว ว่าการปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อผู้ป่วยที่กำลังทรมาน ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรง แม้ไม่มีความรู้ด้านการแพทย์เท่าไหร่นัก แต่เข้าใจว่าการให้เลือด ช่วยให้ถ่ายหมุนเวียนออกไป น่าจะทำให้สุขภาพร่างกายดี สดชื่น กระปรี่กระเปร่า
“ก่อนเข้ารับบริจาคต้องมีการเตรียมความพร้อมด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ปกติจากนอนตี 1 ตี 2 ก็ต้องพยายามนอนก่อนเที่ยงคืน”
(หน้าเว็บไซต์ stemcellthairedcross)
ไอซ์ ศรัณยู บอกด้วยว่า เมื่อก่อนเป็นคนกลัวการให้เลือด แต่ความเป็นจริง ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แล้วก็เป็นการช่วยเหลือผู้อื่นด้วย ต่อให้เลือด หรือสเต็มเซลล์ คุณจะเข้ากับคนอื่นไม่ได้ หรืออาจจะยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่อย่างน้อย ๆ การเตรียมพร้อม เพื่อก่อประโยชน์ให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งที่ดี
อีกอย่างทำให้คุณได้ดูแลตัวเองด้วย อย่างเรารู้ว่าจะมาบริจาคเลือด เราก็พยายามทานอาหารที่ดี มีประโยชน์ บางคนมาๆ หายๆ อาจจะเป็นด้วยช่วงเวลาที่ไม่ว่าง ไม่สะดวก ก็พยายามทำให้ได้สม่ำเสมอ สัก 2 ครั้งต่อปี ก็ถือว่าดีแล้ว แค่จุดเริ่มต้นในการคิดจะทำเพื่อคนอื่น มันก็ดีเกินพอแล้ว
“อะไรก็ตามที่มาจากตัวเรา และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ ผมว่าดีนะ อวัยวะ หรือร่างกาย ผมก็บริจาคหมดแล้ว ในสมัยก่อนผู้ใหญ่อาจบอกว่า อย่าบริจาคนะเดี๋ยวชาติหน้าเกิดมาไม่ครบ แต่ผมคิดว่าการทำบุญให้เขา มันน่าจะดี” นักร้องชื่อดัง กล่าว
ทั้งนี้ โครงการรับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต หรือสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ (Thai Stem Cell Donor Registry) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์ และจัดหาอาสาสมัครฯ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตกว่า 80,000 ราย
แต่มีผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตให้กับผู้ป่วยได้จริง เพียง 146 รายเท่านั้น อันเนื่องมาจากความเข้ากันได้ระหว่างเซลล์ผู้ป่วยและผู้บริจาคจะตรงกันได้มีเพียง 1 ใน 10,000 เท่านั้น
โดยสามารถลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครได้ด้วยความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ เมื่อสมัครเป็นอาสาสมัครบริจาคสเต็มเซลล์แล้ว พยาบาลจะทำการเก็บตัวอย่างโลหิตเพิ่มจากการบริจาคโลหิตปกติ ประมาณ 5 ml. (ซี.ซี.) เพื่อนำไปตรวจหาความเข้ากันได้ของสเต็มเซลล์ หรือความเข้ากันได้ของเนื้อเยื้อบนเม็ดโลหิตขาว (match HLA tissue typing)
โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บเป็นความลับ ในฐานข้อมูลของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เมื่อพบว่าผลการตรวจ HLA ของอาสาสมัครเข้ากันกับผู้ป่วย จะมีเจ้าหน้าที่โครงการฯ ติดต่อกลับไปอาสาสมัครเข้ากันกับผู้ป่วย จะมีเจ้าหน้าที่โครงการฯ ติดต่อกลับไป
ทั้งนี้ ยังพบอีกว่า จากสถิติผู้ลงทะเบียนบริจาคสเต็มเซลล์ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 – พ.ศ.2551 มีผู้ลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครมากถึง 45,000 ราย แต่มีผู้ได้บริจาคจริงให้กับผู้ป่วยเพียง 60 รายเท่านั้น
ขณะที่ นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ระบุกับสำนักข่าวอิศรา ถึงเหตุผลที่สังคมไทยยังมีการบริจาคสเต็มเซลล์เกิดขึ้นน้อย ว่าไทยไม่ค่อยมีผู้บริจาคสเต็มเซลล์กันมากนั้น เพราะมีความยุ่งยาก และต้องเจาะไขกระดูก รวมทั้งต้องมาดูว่าสามารถเข้ากันกับเนื้อเยื่อของผู้รับได้หรือไม่
การปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยได้ต้องมีกระบวนการอีกเยอะแยะมากมาย หากพูดกันตามจริงแล้วความยากง่ายนั้นแตกต่างกับการบริจาคเลือดโดยสิ้นเชิง ผู้ที่จะมาปลูกถ่ายไขกระดูก เพื่อปลูกถ่ายในคนป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจจะเกิดความเจ็บปวดและเสียเวลา
“ไม่เหมือนการเจาะเลือดที่เมื่อทำแล้วจะสามารถกลับบ้านได้เลย เช่นเดียวกับการบริจาคอวัยวะ บริจาคไต ทำไมไม่ค่อยมีผู้บริจาคก็เพราะยุ่งยาก ต้องมาผ่าเอาไตออกอะไรประมาณนี้”
ถึงแม้ว่าสามารถเจาะที่กระดูกส่วนอื่นอย่างเอวและเชิงกรานได้ ก็ยังคงมีความเจ็บปวดเกิดขึ้น ต้องนอนโรงพยาบาล ส่วนผลข้างเคียงคงมีไม่เยอะ และสเต็มเซลล์เป็นที่ยอมรับอยู่แล้วว่าได้ประโยชน์ ไม่มีผลเสีย แต่ต้องผ่านกระบวนการที่มากมาย จะหายจริงหรือไม่ต้องดูกันอีกเรื่องหนึ่ง
ทั้งนี้ การบริจาคสเต็มเซลล์นั้นสามารถทำได้มากกว่า 1 วิธี ดังนี้
1.การบริจาคสเต็มเซลล์ทางไขกระดูก
เป็นกระบวนการเก็บสเต็มเซลล์จากโพรงกระดูก โดยใช้เข็มพิเศษเจาะเก็บจากบริเวณสะโพกด้านหลัง กระบวนการนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งก่อนที่จะถึงกระบวนการเจาะเก็บข้างต้น ผู้บริจาคอาจต้องบริจาคโลหิตเก็บไว้ เพื่อนำมาให้ผู้บริจาคภายหลังจากที่ได้เจาะเก็บสเต็มเซลล์เรียบร้อยแล้ว โดยผู้บริจาคจะต้องนอนพักที่โรงพยาบาลหนึ่งคืน ทั้งนี้ ร่างกายสามารถสร้างสเต็มเซลล์ขึ้นมาทดแทนได้อย่างรวดเร็ว และผู้บริจาคสามารถกลับบ้านได้ในวันรุ่งขึ้น ใช้เวลาพักฟื้นร่างกายประมาณ 5-7 วัน
2.การบริจาคสเต็มเซลล์ทางกระแสโลหิต
ในการเก็บสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคทางกระแสเลือด จะเก็บตรงตำแหน่งเส้นเลือดดำ (antecubital vein) ที่ข้อพับแขน แต่ถ้าเส้นเลือดที่แขนเล็ก จำเป็นต้องใส่สายสวนเข้าหลอดเลือด ในการเก็บเซลล์จะดูดเลือดออกทางเส้นเลือดดำ (หรือสายสวน) เข้าเครื่องเก็บเซลล์ ซึ่งภายในเครื่องจะมีเครื่องปั่น (centrifuge) เพื่อแยกเอาสเต็มเซลล์ออกมา (เทคนิคนี้เรียกว่า “apheresis”) ส่วนประกอบอื่นๆ ของเลือดจะคืนเข้าร่างกาย โดยใช้เวลาครั้งละ 2-3 ช.ม. เก็บวันละ 1 ครั้ง โดยทั่วไปจะเก็บเซลล์ 1-3 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณเซลล์ที่เก็บได้ในแต่ละครั้ง
อาการที่อาจพบได้จากการเก็บเซลล์คือ อาการชาบริเวณมือ และเท้า หรือรอบๆ ปาก ซึ่งป้องกันได้โดยการรับประทานแคลเซียมก่อนเก็บเซลล์ ผู้บริจาคจะต้องฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือดขาว เข้าทางใต้ผิวหนังให้มีการสร้างเซลล์ออกมาในกระแสเลือด ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตและเม็ดเลือดขาว จะถูกสร้างขึ้นอย่างมากมาย เมื่อฉีดยาได้ 4 วัน โดยจะฉีดยาวันละครั้ง อาการข้างเคียงที่อาจพบได้จากการฉีดยา คือ อาการปวดเมื่อยร่างกาย หนาวสั่น เหมือนมีไข้ แต่หลังจากการบริจาคแล้วไม่มีอาการข้างเคียงใดๆ
มีใครรู้บ้างว่าสเต็มเซลล์สามารถรักษาโรคอะไรได้บ้าง และคนกลุ่มไหนเหมาะสมที่จะได้รับการรักษาด้วยวิธีเหล่านี้?
กลุ่มโรคมะเร็งบางชนิด โดยโรคมะเร็งที่ยอมรับการการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตร่วมกับการรักษา ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
กลุ่มโรคไขกระดูกฝ่อ หรือทำงานบกพร่อง มีการสร้างเม็ดโลหิตลดลงทั้งหมดหรือเป็นบางชนิด เช่น โรคไขกระดูกฝ่อรุนแรง (severe aplastic anemia), Pure red cell aplasia, Myelofibrosis Osteopetrosis
กลุ่มโรคที่มีการสร้างของเม็ดโลหิตปกติ แต่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยต้องมีการสร้างเม็ดโลหิตแดงมากกว่าคนทั่วไป ที่เป็นปัญหาหลักของประเทศไทย ได้แก่ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย (Thalassemia), Hemoglobinopathies
ต่อไปนี้คงไม่ต้องกลัวการบริจาคสเต็มเซลล์อีกต่อไป .