โครงการเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 'สุ่มเสี่ยง' ผิดกฎหมายหลายฉบับ ?
โครงการใหญ่ๆแบบนี้จะต้องดูกฎหมายอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่ว่ากรุงเทพมหานครจะเอากฎหมายของตัวเองมาใช้อย่างไรก็ได้
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่ม Friends of the River จัดกิจกรรมเสวนา“โครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ใครได้ประโยชน์ ? ” ณ The Jam Factory และ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายวงการ นายดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกและตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ริมน้ำ ดร. บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นายพงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ อุปนายกฝ่ายกฎหมาย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม นายปฐมา หรุ่นรักวิทย์ สถาปนิกและนักวิชาการศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนกับงานสถาปัตยกรรมสาธารณะ และนายยศพล บุญสม ภูมิสถาปนิก และ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Friends of the River เข้าร่วมเสวนา
นายพงษ์สวัสดิ์ กล่าวถึงโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในแง่ของกฎหมายว่า เราน่าจะต้องคิดถึงว่า ใครคือผู้ที่ได้ประโยชน์ได้เสียในการทำโครงการนี้ และการเริ่มทำภายใน 7 เดือน ถามว่า ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาสองฝั่งได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร ท่านจะเห็นว่าโครงการนี้ริเริ่มจากรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถที่จะใช้อำนาจการปกครองของตน ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 แต่กฎหมายได้บอกไว้ว่า ให้สงวนไว้ใช้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไม่ได้ ฉะนั้นโครงการใหญ่ๆแบบนี้จะต้องดูกฎหมายอย่างอื่นด้วย ไม่ใช่ว่ากรุงเทพมหานครจะเอากฎหมายของตัวเองมาใช้อย่างไรก็ได้
“กฎหมายที่ว่านี้ หมายถึงกฎหมายผังเมือง พ.ศ.2518 ทุกวันนี้เรามีแต่ผังเมืองรวม ยังไม่มีผังเมืองแบบเฉพาะ กฎหมายผังเมืองมุ่งเน้นไปที่ที่ดินสาธารณะไม่ใช่แม่น้ำ แท้จริงแล้วเรามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่านี้ ดังนั้นอำนาจหน้าที่ของกรุงเทพมหานครกับกฎหมายที่กรุงเทพมหานครจะเข้าไปเกี่ยวข้องต้องไปขออนุญาตอะไรบ้างก่อนเริ่มโครงการ”
สำหรับการที่กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 7 เดือนนั้น อุปนายกฝ่ายกฎหมาย สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การศึกษาที่ว่านี้อาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 ถูกยกเลิกไป แต่ “สิทธิชุมชน” ถูกก่อตั้งขึ้นแล้ว การดำเนินการใดๆที่ไปกระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ได้
“อย่างที่ผมได้พยายามย้ำอยู่ว่าแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นธรรมชาติ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น และไม่ใช่ กทม.ฝ่ายเดียวที่เป็นผู้ดูแล กรมเจ้าท่าก็เป็นผู้ดูแล กรมที่ดินก็ดูแล รวมถึงภาคประชาชนก็ดูแลเช่นเดียวกัน แต่อย่าลืมที่ ครม.บอกว่าต้องทำโดยชอบด้วยกฎหมายจะลืมการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้”
EIA อาจกลายเป็นกับดักของความขัดแย้ง
สอดคล้องกับดร. บัณฑูร กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันเรายังไม่มีรัฐธรรมนูญถาวร แต่เรามีรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี พ.ศ. 2550 ใช้อยู่ ในมาตรา 4 พูดไว้ว่า ภายใต้กฎบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครองยังคงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ข้อความนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่า “สิทธิชุมชน” ยังมีอยู่และยังได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเรื่องของชุมชน วิถีชีวิต การมีส่วนร่วมยังคงต้องได้รับการคุ้มครองต่อไป
เช่นเดียวกับประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ที่ว่าด้วย 35 ประเภทโครงการที่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) หรือ EIA และโครงการพัฒนาริมเจ้าพระยาน่าจะเข้าข่ายอยู่ในลำดับโครงการประเภทที่ 20 เป็นเรื่องของถนนที่ตัดผ่านพื้นที่ต่อไปนี้ และมีพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่อยู่ในระยะพื้นที่ 2 กิโลเมตรจากโครงการ และคิดว่า 14 กิโลเมตรที่อยู่บนแนวนี้อย่างไรก็โดน
ดร. บัณฑูร ชี้ว่า EIA จะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจ สำหรับโครงการต่างๆ ทั้งการสร้างสนามบิน การตัดถนน โรงไฟฟ้า แต่ปัญหาของ EIA มีอยู่หลายแง่มุม คือเราเรียกร้องต้องทำ EIA แต่มันมีมุมที่ต้องคิดอยู่พอสมควร เช่น ปัญหาที่เจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้างบริษัทหรือสถาบันการศึกษาที่ไปขึ้นทะเบียนว่ามีสิทธิ์จะทำรายงาน EIA หลายโครงการที่เราเห็นมีแง่มุมการคัดค้านการประท้วงเนื่องด้วยจากความไม่ไว้วางใจว่าผู้ที่ทำ EIA ได้ทำตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเพียงพอหรือไม่ หรือทำเพื่อเอาใจเจ้าโครงการ แล้วผู้ทำก็จะได้รับค่าจ้างเมื่อผ่านการอนุมัติ
EIA ก็มีแง่มุมที่ดี ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า ผลกระทบที่เกิดจากโครงการมีอะไรบ้าง อย่างน้อย 14 รายการเบื้องต้นที่คาดการณ์ไว้ว่า ถ้ามีโครงการจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อาจจะมองเห็นถึงผลกระทบด้านชีวภาพ ด้านกายภาพ ทัศนียภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม ผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์ การใช้งบประมาณ เหมาะสมเพียงพอแค่ไหน EIA จะนำเอาแง่มุมผลกระทบมาดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หัวใจสำคัญคือผลกระทบเหล่านี้มีมาตรการป้องกันผลกระทบได้หรือไม่ หากพูดกันจริงๆแล้ว EIA อาจกลายเป็นกับดักของความขัดแย้ง”
ผอ.สถาบันธรรมรัฐฯ ระบุว่า หากในรายงาน EIA มีข้อเสนอมาตรการลดผลกระทบต่างๆ อาจจะทำให้ต้นทุนของโครงการเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ไม่เหมาะสมในแง่มุมของเศรษฐศาสตร์ จนเกิดการแก้ไขรายงานที่คณะกรรมการวิชาการบอกว่าต้องเพิ่มเติมมาตรการเหล่านี้ ผู้รับทำรายงานก็ไปเพิ่มให้ เพื่อให้เอกสารครบถ้วนเป็นที่พอใจ แต่การลงทุนทำจริงๆอาจจะไม่ทำก็ได้
จากที่มีการตรวจสอบพบว่า การดำเนินการตามมาตรการ EIA หรือไม่นั้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปตรวจสอบ ผ่านมา 10 ปี มีกว่า 4 พันโครงการ มีการส่งรายงานว่า มีการดำเนินการตามมาตรการและผลกระทบฯ ไม่ถึง 30%
นี่คือการบอกว่า EIA ที่เป็นอยู่ยังมีจุดอ่อนและข้อบกพร่อง แม้ว่าจะมี EIA นั่นไม่ใช่คำตอบสำหรับความมั่นใจว่า โครงการนั้น จะสอดคล้องกับความเหมาะสมจริง
ส่วนโครงการทางพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กิโลเมตรนี้ เขาเห็นว่า สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำ EIA โดยสิทธิของชุมชนตามรัฐธรรมนูญ กระบวนการนี้จะทำให้แง่มุม ผลกระทบ ความรอบคอบและความรอบด้านเกิดขึ้น และชุมชนจะต้องมีส่วนร่วม 3 ขั้นตอนตามกฎหมาย
1.ศึกษาร่วมกันกับประชาชน ต้องตั้งโจทย์มาแล้วปรึกษากับชุมชนว่าสิ่งที่จะศึกษากับผลกระทบเพียงพอหรือไม่ ชุมชนจะมาตั้งโจทย์ว่ามีผลกระทบอะไร แล้วให้สถาบันการศึกษาประเมินผลออกมา
2.การร่วมประเมินของชุมชน เรื่องราวที่เกี่ยวของกับวิถีชีวิตที่จะเกิดขึ้น
3.ต้องเอาร่างรายงานมาขอรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ลำพังสถาบันที่ปรึกษาที่ไปออกแบบด้วยการไม่มีส่วนร่วมอาจจะทำให้มองไม่เห็นว่าชีวิตจริงเป็นอย่างไร ควรเอาปัญหาของชุมชนเป็นตัวตั้งมากกว่าระยะเวลาและโครงการ
ด้านอาจารย์ปฐมา ถ่ายทอดประสบการณ์หลังจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับชุมชนว่า การที่จะได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นจริงนั้น ไม่สามารถได้มาโดยง่าย จะเก็บข้อมูลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูว่า คนในชุมชนอยู่กันอย่างไร ตอนนี้พื้นฐานเป็นอย่างไรความคิดและวิถีการดำรงชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำอย่างไร
“ขณะที่การทำแบบสอบถาม อาจจะไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ได้ บางคนคิดว่าการมีถนนก็ดีการสัญจรจะได้ไม่ต้องอ้อมมาก และแบบสอบถามคือเครื่องมือของพวกที่ต้องการจะได้ประโยชน์ และขึ้นอยู่กับการตั้งโจทย์และชี้นำหรือไม่ ถ้าจะเก็บข้อมูลที่เป็นจริง ควรจะเข้าไปข้างในแล้วออกแบบว่า ควรเก็บข้อมูลแบบไหน ทำอย่างไรถึงจะได้มาซึ่งข้อเท็จจริง โดยแบบสอบถามไม่สามารถให้ประโยชน์ได้ ต้องลงไปทำ ต้องลงไปคุย ต้องออกแบบร่วมกันกับชุมชน”
ทั้งนี้ ในเวทีเสวนา ยังมีการทิ้งท้ายประเด็นปัญหาให้ใครหลายคนได้ขบคิด โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้น
1.สุ่มเสี่ยงที่จะผิดกฎหมายหลายฉบับทั้งเรื่องผังเมือง การล่วงละเมิดแม่น้ำที่เป็นพื้นที่สาธารณะและมรดกวัฒนธรรม ที่สำคัญคือการละเมิดสิทธิพลเมืองทั้งที่อยู่ริมน้ำ และของคนไทยที่เป็นเจ้าของร่วมกันของแม่น้ำสายนี้
2.การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ในเวลาที่จำกัดแค่7เดือนเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สุดท้ายถ้าผลการศึกษาชี้ชัดว่ามีผลกระทบร้ายแรงต้องนำไปสู่การยุติโครงการ
3.การที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของชุมชนตลอดสองฝั่งแม่น้ำในช่วง 14 กม.นี้ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 25 ชุมชน ไม่มีทางที่จะนำมาสู่ข้อสรุป เพราะแต่ละพื้นที่ย่อมมีความสลับซับซ้อนของปัญหาแตกต่างกัน นี่ยังไม่นับรวมคนกรุงเทพและคนไทยทั่วประเทศด้วย
4.ถ้าสุดท้ายโครงการต้องล้มเลิกกลางคัน ทิ้งไว้เพียงเสาตอม่อที่ทำลายแม่น้ำเจ้าพระยาไปแล้ว จะนำมาสู่การฟ้องร้องหน่วยงานรัฐและผู้จัดทำอันนำมาสู่การทำลายแม่น้ำและสูญเสียงบประมาณดังกล่าว
5.รัฐไม่มีสิทธิ์ใช้ม 44 เพื่อให้กระบวนการศึกษาเหล่านี้ไม่ต้องได้รับการตรวจสอบเพราะไม่เข้าข่ายอำนาจของมาตรานี้
6.การชวนประชาชนตั้งโจทย์ว่า พื้นที่ริมน้ำควรพัฒนาอะไรอย่างไรและกำหนดขอบข่ายของการศึกษาถึงประเด็นที่เป็นข้อกังวลน่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำ มากกว่ามาตกอยู่ในกับดักของความขัดแย้งเรื่องจะสร้างทางกว้างและยาวแค่ไหนดี
7.การอ้างประโยชน์สาธารณะเพื่อลิดลอนสิทธิคนริมน้ำไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป มีหลายกรณีที่นำไปสู่คำสั่งของศาลปกครองเพื่อยุติโครงการ