เปิดระเบียบสรรหาบอร์ดสสส. ใหม่ ใครมีสิทธิ-ไม่มีสิทธิสมัคร
“ที่ผ่านมามีเสียงร้องเรียนจากภาคีฯ สสส. และเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองว่า การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในครั้งนี้ อาจเกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มธุรกิจเหล้าบุหรี่ ดังนั้นผมต้องขอฝากให้คณะกรรมการสรรหาฯ ทำอย่างไรให้การสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ โปร่งใส ปราศจากข้อครหา และสามารถพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสม ปราศจากการแทรกแซง หรือแม้ผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อความสง่างามของคณะกรรมการกองทุนฯ สสส.”
ภายหลังคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 สั่งปลดกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) หรือบอร์ดสสส.ล็อตใหญ่ถึง 7 คนประกอบด้วยนายแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน นายสงกรานต์ ภาคโชคดี นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ นายยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายสมพร ใช้บางยาง รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม และนายวิเชียร พงศธร ส่งผลให้การดำเนินงานของสสส.ติดขัด เลื่อนประชุมบอร์ด รวมทั้งยังทำให้ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนจับตามองว่า การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ใหม่แทนกรรมการชุดเก่า 7 คนที่ถูกปลดไปนั้น จะเกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มธุรกิจเหล้าบุหรี่
อย่างไรก็ตามความเป็นมาก่อนการปลดบอร์ดสสส. นั้น มีประเด็นที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในบอร์ด สสส. สวมหมวกหลายใบ มีตำแหน่งในมูลนิธิหลายแห่ง และมูลนิธิเหล่านั้นได้เงินอุดหนุนโครงการจากกองทุน สสส. อาจสุ่มเสี่ยงกับคำว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน
แม้ที่ผ่านมาการกระทำดังกล่าวจะไม่ผิดระเบียบและพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 แต่เมื่อถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ และมีการเผยแพร่เป็นข่าวออกมา ก็ถูกสังคมตั้งคำถาม และเป็นที่มาทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ใช้มาตรา 44 ปลดบอร์ดสสส.ทั้ง 7 คน
ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการต่างๆของสสส.กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ล่าสุดมติที่ประชุมบอร์ดสสส.เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2559 ที่มีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานประธานบอร์ดสสส.และประธานที่ประชุม ชี้แจงว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหารองประธานคณะกรรมการกองทุนฯ คนที่ 2 และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ สสส. เพื่อดำเนินการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ทดแทน 7 ท่านที่พ้นตำแหน่งไป โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ จำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษากองทุนฯ เป็นประธานกรรมการสรรหา และนางประภาศรี บุญวิเศษ ผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายระพีพันธุ์ สริวัฒน์ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นางทิชา ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และผู้จัดการ สสส. หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำหน้าที่เลขานุการฯ
“ที่ผ่านมามีเสียงร้องเรียนจากภาคีฯ สสส. และเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองว่า การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในครั้งนี้ อาจเกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มธุรกิจเหล้าบุหรี่ ดังนั้นผมต้องขอฝากให้คณะกรรมการสรรหาฯ ทำอย่างไรให้การสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ โปร่งใส ปราศจากข้อครหา และสามารถพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสม ปราศจากการแทรกแซง หรือแม้ผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อความสง่างามของคณะกรรมการกองทุนฯ สสส.”
พล.ร.อ.ณรงค์ ระบุถึงขั้นตอนพิจารณาสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ นั้น จะมีการประกาศเปิดรับการเสนอชื่อทางสื่อมวลชนและเว็บไซต์ เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลที่สนใจเสนอรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าสู่กระบวนการสรรหาฯ โดยคณะกรรมการสรรหาฯ จะพิจารณาและสรุปรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาจำนวนไม่น้อยกว่า 2 เท่าของตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง เพื่อนำรายชื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ คัดเลือกโดยวิธีการลงคะแนนลับ จากนั้นจะนำรายชื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อแต่งตั้งต่อไป
กระบวนการทั้งหมด พล.ร.อ.ณรงค์ คาดว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่ที่มีการประกาศแต่งตั้ง พร้อมยืนยันว่า การสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้นยังคงใช้ระเบียบเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ตามพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพพ.ศ.2544 มาตรา 18 ระบุว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1)มีสัญชาติไทย
(2)มีอายุไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์
(3)ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
(4)ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(5)ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่พรรคการเมือง
(6)ไม่เป็นผู้มีพฤติกรรมที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา 5
(7)ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับกองทุน หรือในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน หรือได้รับประโยชน์ในกิจการที่ขัดหรือแย้งกับวัตถุประสงค์ของกองทุน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เว้นแต่เป็นผู้ดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์และมิได้แสวงหากำไร
และมาตรา 19 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสามปี
ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนตำแหน่งที่ว่างลง เว้นแต่วาระของกรรมการจะเหลือไม่ถึงเก้าสิบวัน และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว
เมื่อครบกำหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินการต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้
มาตรา 20 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(1)ตาย
(2)ลาออก
(3)คณะรัฐมนตรีให้ออก เพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
(4)ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งใดตามมาตรา 18
ดังนั้นจึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า ภายหลังจากการตรวจสอบเสร็จสิ้นลง และไม่ปรากฏว่าบอร์ดสสส.ทั้ง 7 คน ที่ถูกปลดตามคำสั่งคสช.นั้นมีการทุจริตจะสามารถกลับมาสมัครคัดเลือกเพื่อเข้าเป็นบอร์ดสสส.ได้อีกหรือไม่นั้น ประธานบอร์ดสสส. กล่าวว่า เพื่อให้กระบวนการสรรหาเป็นไปอย่างถูกต้องและเกิดความชัดเจนในประเด็นทางกฎหมาย ที่ประชุมบอร์ด สสส. จึงเสนอให้ส่งคำหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นกรณีเร่งด่วนว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่พ้นตำแหน่งไปแล้วตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2559 จะสามารถเข้าสู่กระบวนการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ใหม่หรือไม่
รวมถึงประเด็นข้อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรอบคอบและถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม หากดูตามมาตรา 20 ของพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ฯ การให้ออกตามคำสั่งม.44 ของคสช. อาจจะยังไม่เข้าข่าย ตามมาตรา 20(3) ว่า บอร์ดสสส.นั้นบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ ฉะนั้นคงต้องมาลุ้นกฤษฎีกาตีความกันอีกที