“ไพโรจน์” ชี้ท้องถิ่นจัดการตนเองไม่ได้หมด เลิกทำเสนอ-ให้ทำจริง
ภาคประชาสังคมชี้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองไม่ได้ 100% ติดกลไกทุน-การเมือง ต้องจัดความสัมพันธ์อำนาจใหม่ แนะหยุดทำข้อเสนอหันผลักดัน 1 ปีให้สำเร็จ 1 เรื่อง กรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปแนะ อปท.อย่าปักธงนำชาวบ้าน ให้กระจายเงิน-อำนาจลงชุมชน
วันที่15 มี.ค. 54 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดเวทีสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป “เชื่อมั่นประชาชนชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”โดยนายไพโรจน์ พลเพชร ผู้แทนภาคประชาสังคม กล่าวว่าการจัดการตนเองไม่สามารถทำได้โดยชุมชน 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะสังคมไม่สามารถหลุดจากการรวมศูนย์อำนาจได้ ยังถูกกำหนดโดยกลไกทุนตลาดและการมือง นี่คือสิ่งท้าทายว่าหากจะสู้อาจต้องไปถึงการมีกฎหมายที่ชัดเจนเรื่องการจัดความสัมพันธ์ของอำนาจรัฐให้เอื้อต่อการจัดการตนเอง
“ตอนนี้พูดกันเรื่องข้อเสนอเยอะแล้ว อย่างโฉนดชุมชนเรียกร้องกันมาจนประกาศได้ 35 พื้นที่ แต่เพิ่งทำได้แค่ที่เดียว สะท้อนว่าที่สุดแล้วอยู่ที่ส่วนกลาง ถ้าไม่ขยับ ชาวบ้านก็ทำอะไรไม่ได้ วันนี้ข้างล่างพูดกันเรื่องแผนชีวิต แต่ข้างบนจัดโซนไว้หมดแล้วว่าจะเอาอุตสาหกรรมตรงไหน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตรงไหน” นายไพโรจน์ กล่าว
นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่าการปฏิรูปประเทศในแง่การจัดการตนเอง ต้องเลิกคิดเรื่องข้อเสนอได้แล้ว ขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องนำข้อเสนอเหล่านั้นมาเรียงต่อกันแล้วทำให้เกิดการปฏิบัติ อย่างน้อยภายใน 1 ปีควรได้เห็นเป็นรูปธรรม 1-2 ประเด็นที่เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ที่สำคัญอย่ายึดติดหรือหวังกับโครงสร้างทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นภายหลังรัฐบาลประกาศยุบสภา
นายบำรุง คะโยธา กรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูป และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สายนาวัง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าการกระจายอำนาจไม่เคยสำเร็จและเป็นรูปธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านยังคงเหมือนเดิม ไม่เคยมีอะไรดีขึ้นซ้ำยังเกิดปัญหาคอรัปชั่นในขอบเขตท้องถิ่นเพิ่ม ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะหลักคิดดังกล่าวไม่ได้เริ่มต้นจากพื้นที่
“ขนาดนมเด็ก อบต.ยังกินกันเลย นี่คือเรื่องที่ต้องยอมรับ การที่ชุมชนจะจัดการตนเองได้ ส่วนหนึ่งต้องดึง อบต.มาคิดร่วมกันให้ได้ โดยชุมชนต้องผู้ตั้งธง แล้วให้ อบต.ทำในสิ่งที่ชุมชนต้องการ”
นายบำรุง กล่าวอีกว่าสิ่งที่สายนาวังทำคือการสร้าง อบต.ในฝัน ตกลงร่วมกันว่าจะทำตำบลเกษตรอินทรีย์ให้ได้ภายใน 4 ปี นำความคิดเห็นจากชาวบ้านมาปรับปรุงในแผน 3 ปี ของ อบต. ผลการดำเนินงานกว่า 4 ปี สามารถลดการทำเกษตรเคมีได้ร้อยละ 60 ชุมชนพึ่งตนเองด้านอาหาร มีงบประมาณเหลือไปพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นๆ ได้
นายเสบ เกิดทรัพย์ ผู้แทน ต.ป่าคลอก จ.ภูเก็ต พื้นที่ปฏิบัติการชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เป็นปัญหาในการจัดการตนเองมากที่สุดคืองบประมาณ อย่างป่าคลอกมี 28 กลุ่ม อย่างน้อยๆ ต้องได้กลุ่มละ 1 ล้าน แต่ข้อเท็จจริงก็คืองบประมาณที่ได้กระจุกอยู่ที่ที่เดียวทั้งหมด การกระจายอำนาจที่แท้จริงจึงไม่เคยเกิดขึ้น เมื่อฝากความหวังไว้ที่ฝ่ายการเมือง กลุ่มที่อ่อนแอก็ทนแรงต้านไม่ไหวค่อยๆล้มหายตายจาก
นายเสบ ยังกล่าวว่าในพื้นที่ใช้วิธีไม่ง้อรัฐ จัดตั้งสถาบันองค์กรการเงินขึ้นมาเป็นกลไกดูแลชุมชนในทุกมิติ เช่น ซื้อที่ดินที่หลุดมือคืนให้ชาวบ้านสนับสนุนทุนให้เด็กได้เรียนในสาขาที่ชุมชนขาดแคลนเพื่อกลับมาทำงานในพื้นที่ เกิดการประสาน 22 ภาคีเครือข่ายทำงานร่วมกันโดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือ จัดทำแผนงบประมาณโดยใช้ยุทธศาสตร์จากทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกัน
“ป่าคลอกเป็นบทเรียนที่ทำทั้งภูเก็ตเกิดความเชื่อมั่นว่าชุมชนจัดการตนเองสามารถทะลุโครงสร้างในแนวดิ่งได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีอีกส่วนที่ยังเห็นด้วยที่จะปล่อยให้การเมืองนำ ตรงนี้ต้องอาศัยข้อมูลที่เข้มมากเป็นเครื่องพิสูจน์” ผู้แทนชุมชนป่าคลอก กล่าว.