60 ปีรายการทีวีไทย เกิดอะไรขึ้นบ้างบนหน้าจอ ?
60 ปีที่ผ่านมา ของรายการโทรทัศน์ไทย เกิดอะไรขึ้นบ้างบนหน้าจอ และอนาคตข้างหน้าในยุคทีวีดิจิทัล ความท้าทายใหม่ของคนในวงการสื่อ รายการโทรทัศน์ไทยยังมีความหวังหรือไม่
ในงานเสวนาวิชาการ “จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทยกับก้าวต่อไปในยุคดิจิทัล” ณ หอประชุมนิเทศศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้ ในช่วงหนึ่งของเวทีมีการพูดคุยกันถึงเรื่อง “วิวัฒนการรายการโทรทัศน์ไทย บนเส้นทาง 60 ปี” ซึ่งได้รับเกียรติจาก คณะผู้เขียนหนังสือ “จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย: วิวัฒนการกิจการโทรทัศน์ไทย” ร่วมเสวนา
อ.มรรยาท อัครจันทโชติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬา เริ่มต้นท้าวความไปตั้งแต่วันที่ประเทศไทยเริ่มมีการรับชมสัญญานภาพจากเครื่องรับโทรทัศน์เป็นครั้งแรก ภาพและเสียงที่น่าตื่นเต้น ดึงดูดผู้คนหลากหลายวัยให้ติดตรึงอยู่หน้าจอ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก
จากการสำรวจการรับสื่อโทรทัศน์ของคนไทยระหว่างปี 2532-2551 พบว่า กลุ่มเด็ก (6-14ปี) คือกลุ่มวัยที่มีสัดส่วนในการรับสื่อโทรทัศน์สูงที่สุดมาโดยตลอด
แต่หากมาดูในสัดส่วนของรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กเเล้ว ก็จะพบว่า มีสัดส่วนของรายการเด็กที่น้อยมาก ผู้ผลิตหลายคนต้องทนแบกรับความเสี่ยงเพียงคนเดียว ในขณะที่รายการส่วนใหญ่ของไทยยุคแรกมาจากต่างประเทศ ซ้ำยังขาดเงินทุนสนับสนุนอย่างจริงจัง
ต่อมาในช่วงปี 2525-2528 เริ่มมีการทดลองผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่นสำหรับเด็ก ส่งผลให้มีการประสานแนวคิด ขยายองค์ความรู้นำไปสู่รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กฝีมือคนไทยมากขึ้น โดยในช่วงต้นของยุคนี้ มีรายการเด็กที่ครองใจใครหลายคน
"อย่างรายการสโมสรผึ้งน้อย ออกอากาศทาง ททบ.5 เป็นรายการที่ครองใจเด็กๆ เป็นจำนวนมาก ตลอดจนมีอิทธิพลต่อรายการเด็กในยุคต่อมา" พบว่า ในช่วงนี้มีองค์พัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องนี้เพิ่ม สืบเนื่งจากแรงผลักดันจากกระแสโลกในเรื่องเด็กทั้งในเชิงนโยบายและกฎหมาย ทำให้ยุคนี้เป็นยุคที่มีรายการเด็กทางฝีมือคนไทยมากขึ้น
ต่อมาในช่วงปี 2532 รัฐได้ออกกำหนดเพิ่มช่วงเวลาสำหรับรายเด็กเพิ่มเติมระหว่าง 18.30-19.30 น. ทำให้แต่ละสถานีมีรายการเด็กเพิ่มขึ้นจำนวนมาก รวมทั้งเริ่มมีรายการทางโทรทัศน์ผ่านทางเคเบิลทีวี ยิ่งทำให้ตัวเลือกมีมากขึ้น
รายการที่น่าสนใจในช่วงนี้ ยกตัวอย่างเช่น รายการทุ่งแสงตะวัน ซุเปอร์จิ๋ว เจ้าขุนทอง เป็นต้น ถึงแม้จะมีเวลาเพิ่มขึ้น แต่ด้วยปัญหาเรื่องเงินทุนและเงินสนับสนุน ทำให้หลายรายการไม่อาจต้านกระแสต่อไป จึงทยอยปิดตัวลง แม้จะมีนโยบายรัฐคอยประคองบ้าง ยิ่งมาเจอพิษเศรษฐกิจปี 40 กลายเป็นว่า รายการเด็กของไทยแทบสูญหายไปจากหน้าจอ
เข้ามาสู่ยุคที่มีปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างการมีองค์กรอิสระเข้ามา การเกิดขึ้นของ ไทยพีบีเอส ตลอดจนมีการกำกับดูเเลจาก กสทช. รวมถึงการสนับสนุนในด้านเงินทุนมากขึ้น จึงพาให้เกิดคำถามต่อไปว่า นี่จะเป็นยุคแห่งโอกาสของรายการเด็กในเมืองไทยได้หรือไม่ เพราะถึงแม้จะมีองค์กรอิสระคอยกำกับอย่าง กสทช. ที่มีการประกาศเรื่องของการจัดทำผังรายการที่ให้ทุกช่อง ต้องมีรายการสำหรับเด็กอย่างน้อยวันละ 60 นาที ในช่วงเวลา 4-6 โมงเย็น แต่ทุกวันนี้จากสำรวจพบว่า มีรายการสำหรับเด็กต่อช่องตกวันละแค่เพียง 30 นาทีเท่านั้น บางช่องไม่มีเลยด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่ประกาศฉบับนี้ประกาศใช้ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 2556
ดังนั้นทีวีดิจิทัลเมื่อเกิดขึ้น ถามว่า จะเป็นโอกาสของรายการเด็กได้หรือไม่ ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาพบว่ายังไม่เห็นโอกาสสำหรับรายการเด็กสักเท่าไร
ตลอด 60 ปีของวงการโทรทัศน์ไทย ไม่เคยมียุคทองของรายการเด็กเลย คำถามที่จะชวนคิดคือ หากเราทุกคนเห็นความสำคัญของเด็กจริง ไม่ใช่แต่บอกว่าเด็กดีเป็นศรีของชาติ หรือเด็กเป็นอนาคตของชาติ เราจะพบว่าตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีการกระทำหรือปฏิบัติที่ใส่ใจในรายการเด็กอย่างแท้จริง
ด้าน ผศ.เมธา เสรีธนาวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬา กล่าวถึงรายการประเภทให้ความรู้โดยเปรียบเทียบว่า หากรายการเด็กคือ 60 ปีแห่งความมืดหม่น รายการสาระความรู้คือ 60 ปีแห่งความหวังอันริบหรี่
"สำหรับ 60 ปีที่ผ่านมา รายการสาระความรู้ในเมืองไทยในยุคแรกเกือบทั้งหมดนำเข้ามาจากต่างประเทศ ก่อนที่จะมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีมากขึ้น ไทยเริ่มมีรายการสารคดีอย่างรายการชีพจรลงเท้า รายการกระจกหกด้าน และพอมีเทคโนโลยีบันทึกเทป ก็ทำให้มีรายการที่ถ่ายทอดเรื่องราวที่หลากหลายมากขึ้น"
นอกจากการนำเสนอเรื่องธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศิลปะ วัฒนธรรมเเล้ว เริ่มมีการนำเสนอในเรื่องราวของชีวิต เรื่องราวของบุคคล อย่างรายการส่องโลก รายการทุ่งแสงตะวัน และในช่วงหลังอย่างรายการ คนค้นคน ที่สามารถแย่งเรตติ้งจากละครได้บ้าง และหลังจากนั้นก็เริ่มมีรายการสาระความรู้ที่หลากหลายในเชิงของรูปแบบการนำเสนอมากขึ้น
จวบจนกระทั่งมี ไทยพีบีเอส ทำให้เกิดปรากฎการณ์ของรายการประเภทสาระความรู้ จากเดิมที่มีอยู่อย่างบางตา ไทยพีบีเอสก็เริ่มทำให้เห็นว่า มีพื้นที่สำหรับรายการเหล่านี้อยู่ โดยเฉพาะวิธีการที่ให้ผู้ผลิตโดยทั่วไปสามารถส่งเรื่องราวมาออกอากาศได้ จากที่เมื่อก่อนสารคดีจะผลิตในรูปแบบของบริษัทเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม 60 ปีที่ผ่านมาฟังดูเหมือนว่า มีรายการประเภทนี้อยู่มาก แต่ไม่ได้มากอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ถึงขั้นรายการเด็กที่จะขาดหายไปเลยจากจอทีวี
หากจะเปรียบรายการสาระความรู้ น่าจะเปรียบได้กับ บอนไซแห่งรายการโทรทัศน์ เพราะมันแพง แต่ไม่ค่อยโต จะให้โตค่อนข้างยาก เป็นต้นไม้ที่มีคุณค่ามีประโยชน์ แต่ไม่สามารถทำให้เบ่งบานไปในรูปแบบของป่าได้ มันเลยจำกัดได้แค่เพียงในกระถางเท่านั้น
ด้าน ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงข่าวโทรทัศน์ในยุคดิจิทัลว่า เมื่อเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล ที่มีช่องมากมาย ช่องที่มีการทำในเรื่องของข่าวมี 7 ช่อง ปิดไปแล้ว 1 ช่อง ถามว่า ความท้าทายทายของทีวีในยุคหลังคือ การตีความในเรื่องของข่าว ข่าวอย่างไรที่เรียกว่าข่าว เรื่องนี้ผู้ควบคุมอย่าง กสทช.ต้องทบทวนให้มาก ต่อมาคือมาตรฐานและการกำกับดูแลของ กสทช. โดยเฉพาะในเรื่องของ การสอบใบผู้ประกาศข่าวที่ยังอยู่ในภาวะสูญญากาศ
ต่อมาคือ รายการเด็ก จริงๆ ทุกคน ถวิลหาความเป็นกลาง ของช่องข่าวแต่เราก็ประมูลมาในราคาที่สูง แล้วการต่อสู้ระหว่างอำนาจทุนและความเป็นกลาง กับการประกอบการ อันนี้เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง แข่งกันเองก็ว่า ยากเเล้ว
พร้อมกันนี้ ได้ยกกรณีปอ ทฤษฎี ถามว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้นักข่าว ถึงเลือกทำลายจริยธรรม ก็เป็นการแข่งขันที่สูงมาก หลายๆ คนอยากได้ภาพที่ใกล้ที่สุด ดีที่สุด สื่ออารมณ์มากที่สุด สิ่งเหล่านี้คือการแข่งขันกันเองของช่องทีวีที่มีสูงมาก ทำให้เราเลือกที่จะก้าวข้ามกรอบจริยธรรมไป
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องแข่งขันกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ในเรื่องนี้ถือเป็นความท้ายทายที่สูงมาก ยกตัวอย่างการเสพข่าว ปัจจุบันเราไม่ได้เสพข่าวจากหน้าจอทีวี แต่เรารับรู้ข่าวผ่านทางโลกโซเชียลมีเดีย สิ่งนี้นอกจากจะเป็นความท้าทายให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการบ้านในกับ กสทช.อีกด้วยว่า ภายใต้การแข่งขันที่มีอยู่สูง การสร้างความสมดุลภายใต้ความเป็น กลาง จริยธรรม และทุน ทำอย่างไร
ด้านผศ.ณาณัฏฐ์ธัญ วงศ์บ้านดู่ อาจารย์ผู้เขียนในบทรายการกีฬาไทย กล่าวว่า ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยจางหายไปจอโทรทัศน์ไทย ตลอดระยะเวลา 60 ปี ของวงการโทรทัศน์ไทย ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่า รายการกีฬาทางโทรทัศน์นั้นมีพัฒนาการที่แสดงถึงความเติบโตในทุกด้าน นับตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของการออกอากาศ ที่เป็นยุคเรียนรู้และสร้างกระแสนิยม ต่อมาในยุคที่สอง ที่เหตุการณ์ทางการเมืองสำคัญๆ ของภูมิภาคและของโลกได้เข้ามาสร้างกระแสทำให้ผู้ชมได้รู้จักหน้าที่ของกีฬาอีกบทบาทหนึ่ง ที่เพิ่มมุมมองการเข้าถึงรายการกีฬามากกว่าความบันเทิง
จากนั้นเข้าสู่ยุคที่สาม ที่รายการกีฬาได้รับความนิมมากขึ้นเป็นลำดับเรียกได้ว่าเป็น ยุคเบ่งบานของรายการกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก จนกลายกีฬากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยไป
และเริ่มเดินเข้าสู่ยุคที่ 4 ยุคที่มีการผลักดันให้มีการนำเสนอเนื้อหาที่มีมาตฐานระดับสากลมากขึ้น จนกระทั่งไทยได้รับการยอมรับในระดับโลก
ต่อมาในยุคที่ 5 คือยุคปัจจุบันที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของรายการกีฬา
และการมีทีวีดิจิทัล ทำให้พื้นที่ของรายการกีฬานั้นมีการแข่งขันที่สูงมากขึ้นเช่นกัน ยังไม่นับถือช่องดาวเทียมอีกหลายสิบช่อง ถึงแม้จะมีพื้นที่มากมายสำหรับกีฬา แต่อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติของธุรกิจที่แต่ละสถานีต่างก็ต้องการที่จะเป็นเจ้าของรายการที่ดีที่สุด จึงเกิดปรากฏการณ์แข่งขันซื้อลิขสิทธิ์รายการกีฬาระดับโลกอย่าง ฟุตบอลอังกฤษ เป็นต้น
ความท้าทายที่เกิดขึ้นในรายการกีฬายุคนี้คือ มูลค่าทางตลาดของรายการ พบว่า มีมูลค่าที่สูงขึ้น เป็นผลทำให้ผู้ที่จะซื้อลิขสิทธิ์ต้องมีเงินทุนที่สูงและการดำเนินงานที่คล่องตัว ดังนั้นนอกเหนือจากประมูลลิขสิทธิ์ในราคาสูง ในปัจจุบันก็จะมีการสร้างพันธมิตรในการออกอากศ แต่ไม่ว่าต้นทุนจะสูงเพียงใด รายการกีฬาจะไม่มีวันหายไปจากโทรทัศน์ไทยแน่อน
ด้าน รศ ถิรนันท์ อนวัชศิริวงค์ อาจารย์ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ละครไทย กล่าวโดยสรุปสั้นๆ ว่า หากเปรียบเทียบละครไทยกับปัจจุบันแล้ว เมื่อก่อนละครไทยมีความหลากหลายมากกว่าปัจจุบัน มีการทดลองรูปแบบต่างๆ มากมาย แต่กลับกัน ปัจจุบันเรามีจำนวนช่องมากขึ้น แต่เรามีแบบแผนของละครโทรทัศน์น้อยลง ต่อมาในเรื่องการวัดเรตติ้ง เราจะยังคงวัดเรตติ้งจากปริมาณผู้ชมต่อไปอย่างนั้นหรือ เราจะใช้ลักษณะแบบนี้เพื่อเอามาสร้างสรรค์ละครอย่างนั้นหรือ หาก กสทช.อยากจะช่วยเหลือสังคมให้มากขึ้น หรือสถาบันการศึกษา ก็น่าจะมีการสร้างทุนวิจัยในเชิง Edutainment เพื่อมุ่งมั่นให้เกิดการทดลองในหลายๆ แบบ และให้เวลาในการพิสูจน์
ไม่อย่างนั้น ทีวีไทยจะเจอปรากฎการณ์ เจ๊ติ๋ม 1 เจ๊ติ๋ม 2 และต่อไป อย่างไม่จบสิ้น
ขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือ“จดหมายเหตุ 60 ปี โทรทัศน์ไทย: วิวัฒนการกิจการโทรทัศน์ไทย”