ปัตตานี-เชียงใหม่-อำนาจเจริญ ชงโมเดล “จังหวัดจัดการตนเอง”
ดร.ศรีสมภพ ชี้รัฐจัดการท้องถิ่นด้วยพิมพ์เขียวเดียวไม่ได้ เสนอโมเดล “ปัตตานีมหานคร” คลายความรุนแรงภาคใต้ ด้านเอ็นจีโอชง “พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร” ลดปัญหาแบ่งสี “อำนาจเจริญ” ตั้งเป้าจัดการตนเองอยู่เย็นเป็นสุข 653 หมู่บ้าน 63 ตำบล 7 อำเภอ
เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมที.เค.พาเลซ กรุงเทพฯ สภาพัฒนาการเมือง(สพม.) ร่วมกับสำนักงานปฏิรูปเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(สปร.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “แนวคิด ยุทธศาสตร์ การกระจายอำนาจให้จังหวัดจัดการตนเองภายใต้สถานการณ์ปฏิรูปประเทศไทศไทย” โดย นายรัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด ผู้ประสานงานเครือข่ายบ้านชุมเมืองเย็น จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงแนวทางขับเคลื่อนงานจังหวัดจัดการตนเองในพื้นที่ว่า เป้าหมายสำคัญคือการแก้ปัญหาโครงสร้างการรวมศูนย์และการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องแก้กฎหมายเท่านั้นและเป็นเรื่องยากมาก
ทั้งนี้เสนอให้มีการร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เชียงใหม่มหานคร และเสนอปรับระบบการจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดร้อยละ 70 รัฐร้อยละ 30 โดยปรับโครงสร้างอำนาจใหม่ให้สิ้นสุดที่ผู้ว่าราชการจังหวัด และตั้งสภาประชาชนระดับเขตที่มาจากการเลือกตั้งทุกระดับทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของผู้ว่า
“ถ้ารอแก้กฎหมายในภาพใหญ่คงไม่มีทาง จึงใช้ช่องของรัฐธรรมนูญที่บอกว่าชาวบ้านมีส่วนในการยกระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ซึ่งเรามุ่งไปที่จังหวัดเป็นหลัก อีกส่วนคือข้อที่บอกว่าประชาชนมีสิทธิลงชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย จึงเสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าว” นายรัฐภัทร์ ยังกล่าว
นายรัฐภัทร์ ยังกล่าวว่าปัญหาของเชียงใหม่คือความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง หากปล่อยไว้คนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรงจะเดือดร้อน เพราะการแบ่งสีมีผลให้ไม่สามารถสะสางปัญหาอื่นได้ แนวทางการจัดการตนเองเพื่อประสานเครือข่ายสลายภาพการเมืองระดับใหญ่นับเป็นปัจจัยหลัก เนื่องจากการจัดการรอำนาจทั้งหมดจะอยู่ในมือประชาชน ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนเสนอ เชื่อว่าทางพื้นที่พร้อม แต่ความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนอยู่ที่ขั้นตอนของการพิจารณากฎหมาย
นายชาติวัฒน์ ร่วมสุข ผู้นำขบวนองค์กรชุมชนเปลี่ยนอำนาจเจริญด้วยพลังพลเมือง กล่าวว่าจังหวัดจัดการตนเองเป็นแนวคิดที่ชุมชนร่วมกันผลักดันก่อนกระแสปฏิรูป โดยสร้างรูปธรรมในพื้นที่มากกว่าการขับเคลื่อนเชิงกฎหมาย เพราะหากชาวบ้านไม่เปลี่ยนวิธีคิด กฎหมายก็ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
“เปิดพื้นที่ดึง 653 หมู่บ้าน 63 ตำบล 7 อำเภอ ใช้สภาองค์กรชุมชนและแผนแม่บทที่มีเต็มจังหวัดมาเป็นเครื่องมือ พัฒนางานที่ตัวเองทำ โดยตั้งเป้าไว้ว่าปี 2555 อำนาจเจริญต้องอยู่เย็นเป็นสุข” นายชาติวัฒน์ กล่าว
นายชาติวัฒน์ กล่าวว่า 4 องค์ประกอบสำคัญสู่การเป็นจังหวัดอยู่เย็นเป็นสุขด้วยพลังพลเมืองคือ 1.พลังชุมชน เตรียมคน เตรียมพื้นที่เปิดวงพูดคุยระดับหมู่บ้านให้เกิดขบวนชาวบ้านเพื่อเสนอแผนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในระดับตำบลภายใต้เงื่อนไขหนึ่งพื้นที่หนึ่งประเด็นที่มั่นใจว่าจัดการตนเองได้ สุดท้ายจะได้เป็นแผนใหญ่ระดับจังหวัด 2.พลังทางสังคม ใช้ภาคีร่วมพัฒนา ทั้งข้าราชการ สถาบันการศึกษา นักการเมืองท้องที่ 3.พลังความรู้ ด้วยงานวิจัยเชิงปฏิบัติการต่างๆ เนื่องจากความรู้เป็นข้อเท็จจริง มีฐานคิดเป็นรูปธรรมใช้อธิบายให้ผู้ที่ไม่เข้าใจและต่อต้านได้ 4.พลังภูมิปัญญาท้องถิ่น 5.พลังสื่อสาธารณะ เปิดเวทีแลกเปลี่ยนทั่วถึง
ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมย์ศรี จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าข้อเสนอปัตตานีมหานครภายใต้รัฐธรรมนูญไทย เป็นโมเดลที่ต้องการแก้ปัญหาด้วยเหตุผลว่าพื้นที่หลากหลายรัฐไม่สามารถจัดการได้ด้วยพิมพ์เขียวเดียว แนวคิดเบื้องต้นที่วางไว้คือการปกครองที่เป็นธรรมซึ่งทุกฝ่ายเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีที่ยืนและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย รับฟังเสียงส่วนใหญ่โดยไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย คำนึงถึงอัตลักษณ์ที่แตกต่าง รวมทั้งมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพแก่คนไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่
“ความรุนแรงในภาคใต้มีเรื่องอัตลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเป็นองค์ประกอบ ผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองท้องถิ่นควรเป็นคนในท้องที่และมีสัดส่วนของข้าราชการทั้งพุทธและมุสลิมที่สอดคล้อง มีการการปกครองที่มีกลไกที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมและอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายโดยประชาชน” ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ดร.ศรีสมภพ ยังเสนอว่าควรมีระบบกลั่นกรองที่ผู้ลงสมัครเลือกตั้งหรือสภาท้องถิ่นสามารถลดการแข่งขันแตกแยกในชุมชนได้ และใช้ระบบสองภาษาคือภาษาไทยและมลายู ส่วนระบบการศึกษานอกเหนือจากส่วนกลางแล้วต้องสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
“แต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง อัตลักษณ์ จุดแข็งจุดด้อยต่าง จังหวัดจัดการตนเองเป็นเพียงความพยายามที่จะดูแลตนเองที่อาจทำได้ดีกว่าการปกครองโดยส่วนกลาง” ดร.ศรีสมภาพ กล่าว .