เปิดคำพิพากษาศาล ปค.สูงสุด เบื้องหลัง! มท.คืนเก้าอี้อดีตนายกฯระนอง
“…การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของ หจก.ข้ามสมุทรขนส่ง ในขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนองอันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.ร.บ.เทศบาลฯ แล้วมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนอง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองฟังไม่ขึ้น…”
หลายคนอาจจะทราบกันไปแล้วว่า กระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองดำเนินการคืนตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนองให้กับนายสมชาย ข้ามสมุทร อดีตนายกเทศมนตรีเมืองระนอง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า นายสมชาย ‘ถอนหุ้น’ หจก.ข้ามสมุทรขนส่ง เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2556 ก่อนที่จะชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2556 การกระทำดังกล่าวจึงไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และไม่มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามที่ถูกกล่าวหา และให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ให้นายสมชายพ้นจากตำแหน่ง เมื่อปี 2557 พร้อมกับให้นายสมชาย กลับเข้ารับตำแหน่งตามเดิมนับตั้งแต่ถูกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
(อ่านประกอบ :มท.สั่งคืนเก้าอี้ให้อดีตนายกฯระนอง ศาล ปค.ชี้ถอนหุ้น หจก.ก่อนชนะ ลต.)
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดบางส่วน มานำเสนอดังนี้
คดีนี้มีนายสมชาย เป็นผู้ฟ้องคดี มีผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และ รมว.มหาดไทย (ขณะนั้น) เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งศาลปกครองชั้นต้น มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย และให้นายสมชายกลับคืนตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนองเหมือนเดิม ต่อมาฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีจึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีและดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทพร้อมกันจะถือเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนและจะต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2552 และรัฐธรรมนูญปี 2550 หรือไม่
เห็นว่า การดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีและดำรงตำแหน่งในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทพร้อมกัน อาจเป็นเหตุให้เกิดการกระทำอันเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งย่อมเป็นสาเหตุที่ทำให้บุคคลไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเที่ยงตรง เป็นกลาง เพื่อรักษาประโยชน์ของส่วนรวม
อย่างไรก็ดี กรณีจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันถือเป็นการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 284 วรรคสิบ ประกอบมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 จะต้องมีลักษณะเป็นกรณีที่บุคคลผู้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ที่ต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งการหรือกำกับดูแลกิจการงานอันเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมอยู่ด้วย และต้องมีผลประโยชน์ส่วนตนเข้ามาเกี่ยวข้อง
การพิจารณาว่าจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ จำต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เป็นกรณีๆ ไป โดยต้องปรากฏข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ส่วนใดที่แสดงให้เห็นว่า ได้ใช้โอกาสในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งสร้างประโยชน์แก่ตน โดยเบียดเบียนหรือคุกคามประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ของรัฐเป็นสำคัญ
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามหนังสือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดระนอง ลับ ที่ พณ 0812/รน/307 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 เรื่อง ขอความร่วมมือตรวจสอบและรับรองผลการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้น ผู้ฟ้องคดีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2546 และระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม 2553 ถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ส่วนตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นมา นั้น มีนางมิ่งขวัญ หงอสกุล เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
โดยผู้ฟ้องคดีได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองระนอง ซึ่งในวันเลือกตั้งวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 ผู้ฟ้องคดีได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงสุด คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีประกาศลงวันที่ 13 มีนาคม 2556 ให้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองระนอง
อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิได้คัดค้านว่า ก่อนวันเลือกตั้งปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 10 มกราคม 2556 เรื่อง ขอถอนหุ้น ขอลาออกจากห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวและขอถอนหุ้นจำนวนสองแสนบาทออก และให้คณะกรรมการหุ้นส่วนที่ยังคงอยู่ดำเนินการในเรื่องการลาออกของผู้ฟ้องคดีต่อนายทะเบียนห้างหุ้นส่วนด้วย และผู้ฟ้องคดีจะไม่ขอรับผิดชอบหากห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวกระทำความผิดทางกฎหมายทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยมีนางมิ่งขวัญ หงอสกุล ลงลายมือชื่อในวันเดียวกัน ว่าได้รับหนังสือการถอนหุ้นของผู้ฟ้องคดี และจะดำเนินการให้ทางสำนักงานบัญชีบัณฑิตแก้ไขเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนที่สำนักงานพาณิชย์ต่อไป
เห็นว่า การลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ฟ้องคดีมีผลในวันที่ 10 มกราคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่ใบลาออกไปถึงนางมิ่งขวัญ หงอสกุล ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง ตามบทบัญญัติมาตรา 1078/1 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีหุ้นส่วนผู้จัดการคนเดียว ให้หุ้นส่วนผู้จัดการที่จะลาออกจากตำแหน่งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดทราบเพื่อนัดประชุมและพิจารณาตั้งหุ้นส่วนผู้จัดการคนใหม่ พร้อมกับแนบใบลาออกไปด้วย การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงหุ้นส่วนผู้นั้น วรรคสาม บัญญัติว่า หุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้
ซึ่งภายหลังจากผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองระนองจึงทราบว่ายังไม่ได้มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนที่สำนักงานพาณิชย์ จึงได้ให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการดังกล่าวแทน และเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 นายทะเบียนได้จดทะเบียนรับรองแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนและหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงมิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน
อาศัยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามที่จะต้องพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนองตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 267 ประกอบมาตรา 284 วรรคสิบ
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของ หจก.ข้ามสมุทรขนส่ง ในขณะดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนองอันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 267 และมาตรา 268 วรรคสิบ ถือเป็นการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อย ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 แล้วมีคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 185/2557 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2557 ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนอง จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองฟังไม่ขึ้น
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 185/2557 เรื่อง ให้นายกเทศมนตรีเมืองระนอง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง พ้นจากตำแหน่ง ลงวันที่ 18 มีนาคม 2557 ที่สั่งให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนอง ทั้งนี้ ให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน
(ดูคำพิพากษาฉบับเต็ม : http://uat.admincourt.go.th/admincourt/upload/admcase/Document/judgement/PDF/2558/01012-580119-1F-581029-0000560137.pdf)
สรุปความคือ นายสมชาย ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.ข้ามสมุทรขนส่ง เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2556 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าที่จะชนะการเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองระนอง เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2556 ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นว่า การกระทำดังกล่าว เป็นไปโดยชอบ และไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ หรือมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงพิพากษาให้นายสมชาย กลับเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนองอีกครั้ง
ต่อมา นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ระบุว่า ตามที่จังหวัดระนองได้รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเห็นพ้องด้วยกับศาลปกครองนครศรีธรรมราช ที่ให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 18 มี.ค. 2557 ที่สั่งให้นายสมชาย พ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนองนั้น
กระทรวงมหาดไทยพิจารณารายงานผลการดำเนินการดังกล่าวแล้ว เห็นว่า เพื่อให้ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นไปด้วยความถูกต้อง จึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองในฐานะที่มีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลเทศบาลเมืองระนอง ตามมาตรา 71 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาลฯ ดำเนินการดังนี้
1.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดระนองแจ้งให้นายพินิจ ต้นกุล หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองระนอง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับรายงานกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และแจ้งให้นายสมชาย เข้าดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองระนอง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดฉบับเดียวกัน เพื่อปฏิบัติหน้าที่และดำเนินกิจการต่าง ๆ ตามอำนาจหน้าที่ของนายกเทศมนตรีเมืองระนองตามที่กฎหมายกำหนดไว้ พร้อมทั้งชี้แจงให้พนักงานเทศบาลเมืองระนองทราบแนวทางการปฏิบัติดังกล่าวด้วย
2.กรณีที่ปรากฏพฤติการณ์อันมิชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เช่น มีการแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน (นายกเทศมนตรีเมืองระนอง) และกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำนั้น หรือมีการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา นายสมชาย ต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแก่บุคคลเหล่านั้นต่อไป
หรือในกรณีที่พนักงานเทศบาลเมืองระนองผู้ใดมีพฤติกรรมเป็นปฏิปักษ์ในลักษณะขัดขวางการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของนายสมชาย ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ให้เทศบาลเมืองระนองดำเนินการทางวินัยกับพนักงานเทศบาลนั้น ๆ ด้วย รวมทั้งหากมีการดำเนินการใดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลเมืองระนอง ก็จะต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
สำหรับกรณีนี้มีข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ
หนึ่ง ทำไมกระทรวงมหาดไทยต้องระบุถึงพฤติการณ์อันมิชอบด้วยกฎหมาย หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งให้นายสมชาย ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมายแก่บุคคลเหล่านี้เอาเอง
หรือจะเป็นไปได้ว่า ในช่วงที่นายสมชายพ้นจากตำแหน่งไปนั้น มี ‘ใครบางคน’ ใช้ ‘อำนาจบางอย่าง’ ดำเนินการกับนายสมชาย หรือเกี่ยวกับกรณีนี้หรือไม่
สอง การที่ให้พนักงานเทศบาลต้องปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด หากใคร ‘หือ’ จะต้องถูกลงโทษทางวินัย หรือตามที่กฎหมายกำหนดนั้น
อาจสะท้อนให้เห็นว่า กรณีนี้มีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างฝั่งนายสมชาย กับฝั่งนายพินิจ ที่เป็นนายกเทศมนตรีฯคนต่อมาจากนายสมชายในช่วงที่ถูกคำสั่งกระทรวงมหาดไทยให้พ้นเก้าอี้หรือไม่ ประการใด
แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นเช่นไร ?
ศึกคราวนี้ดูท่าทางจะยืดเยื้อ และไม่จบง่าย ๆ เสียแล้ว !