เปิดปูมสร้างพุทธมณฑลปัตตานี...รัฐยอมถอย-เปลี่ยนชื่อหลังเจอกระแสต้าน
ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังมีกระแสในโซเชียลมีเดีย คัดค้านโครงการจัดสร้าง “พุทธมณฑลประจำจังหวัดปัตตานี” ซึ่งผลักดันโดยหน่วยงานรัฐหลายหน่วยในพื้นที่ บนที่ดินงอกปากอ่าวปัตตานี เนื้อที่ราว 100 ไร่
พื้นที่ที่เตรียมใช้จัดสร้าง “พุทธมณฑลประจำจังหวัดปัตตานี” อยู่ด้านหลังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ปัตตานี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ประจำเมือง ติดริมทะเลบริเวณอ่าวปัตตานี ปัจจุบันเป็นที่ดินเปล่าขนาดใหญ่จากการงอกของแผ่นดิน ตั้งอยู่หมู่ 6 ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี
โครงการเก่า-คิดมา 14 ปี
โครงการนี้มีดำริมาตั้งแต่ปี 2545 แต่มีอุปสรรคปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะด้านงบประมาณและการคมนาคม จึงไม่ได้เริ่มก่อสร้าง แต่เดิมกำหนดพื้นที่ไว้ที่บ้านมะพร้าวต้นเดียว อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นที่ดินติดทะเลเช่นกัน แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเตรียมใช้พื้นที่ที่ดินงอกหลังสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ แทน
แนวคิดนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เมื่อคณะทำงานได้จัดประชุมกันเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มกราคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมวัดตานีนรสโมสร พระอารามหลวง อำเภอเมืองปัตตานี โดยมี นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธาน และมีหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเข้าร่วมประชุม รวมทั้ง พระสิริจริยาลังการ เจ้าคณะจังหวัดปัตตานี
ที่ประชุมได้หารือกันถึงการกำหนดพื้นที่จัดสร้าง, การพิจารณาร่างคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ รวมทั้งพิจารณารูปแบบการจัดสร้างที่คาดว่าจะมีลักษณะสังเวชนียสถาน 4 ตำบล, รูปแบบของพระประธาน, ฐานองค์พระประธาน และรูปแบบการระดมทุน
รับบริจาค 100% ไม่ใช้งบรัฐ
เจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้ เปิดเผยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า การระดมทุนได้รับความร่วมมือจาก บริษัทไปรษณีย์ไทย เพื่อออกไปรษณียบัตรจำหน่ายใบละ 20 บาท จำนวน 10 ล้านบาท ให้ประชาชนได้ร่วมทำบุญ โดยตอบกลับไปรษณียบัตรถึงเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี เมื่อหักค่าใช้จ่ายของไปรษณียบัตรและอื่นๆ แล้ว คาดว่าจะได้เงินประมาณ 160-170 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้สร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัดปัตตานี โดยไม่ได้ใช้งบประมาณจากรัฐ
เตือนกระทบพัฒนา-พูดคุยสันติสุข
แนวคิดการจะสร้างพุทธมณฑลประจำจังหวัดปัตตานี ถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย ทั้งในโซเชียลมีเดียที่มีการจัดทำแบนเนอร์ “เราไม่เห็นด้วยกับการจัดสร้างพุทธมณฑล จ.ปัตตานี” และนักวิชาการมุสลิม ตลอดจนผู้นำศาสนา
นายวรวิทย์ บารู อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดปัตตานี และอดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ถ้าคิดว่ามีอำนาจอยู่ในมือก็คงสร้างได้ แต่ถ้าดูความเหมาะสมแล้วคิดว่าไม่น่าจะเหมาะสม เพราะทุกคนแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านก็รู้ว่าพื้นที่นี้มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ที่นี่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมุสลิมมากที่สุดและเข้มแข็งที่สุดของประเทศไทย จนกลายเป็นความเชื่อมั่นของมุสลิมทั่วโลก รัฐบาลในอดีตและปัจจุบันจึงใช้โอกาสนี้สร้างเป็นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ฮาลาลเพื่อการส่งออก ฉะนั้นหากมาสร้างอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นสัญลักษณ์เปลี่ยนไปจากเดิม อาจสุ่มเสี่ยงต่ออนาคตการพัฒนาพื้นที่ รวมทั้งเวทีการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่กำลังเริ่มต้นด้วย
เหตุนี้จึงอยากให้มีการทบทวนหรือกลับไปถามประชาชนในพื้นที่ก่อนว่าคิดอย่างไร และขอฝากถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องว่า จะสร้างพุทธมณฑลไปเพื่ออะไร มีความสำคัญต่อพี่น้องที่นับถือศาสนาพุทธอย่างไร เพราะยังมีกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมพุทธศาสนาได้อีกหลายทาง แทนที่จะมุ่งสร้างสัญลักษณ์ของความเป็นพุทธศาสนาในพื้นที่จนอาจกลายเป็นปมของความขัดแย้ง
ผู้นำศาสนายันมุสลิมรับไม่ได้
นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี และประธานเครือข่ายคณะกรรมการอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า อยากให้ทำความเข้าใจและสอบถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ก่อนที่จะมีการจัดสร้าง
ส่วนความรู้สึกของคนมุสลิมนั้น การสร้างพระพุทธรูปในพื้นที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ มุสลิมคงรับไม่ได้ที่จะมีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ที่ผ่านมาในตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี ก็มีการสร้างวัดขึ้นมาใหม่หลายแห่ง มุสลิมก็ไม่ได้ต่อต้าน ถือว่าเป็นสิทธิความเชื่อของแต่ละศาสนา เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่การสร้างพุทธมณฑลถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะโดยรอบเป็นชุมชนมุสลิมส่วนใหญ่ จึงไม่ควรทำให้เกิคความรู้สึกที่ไม่ดีระหว่างพี่น้องพุทธกับมุสลิม
“ยังมีอะไรที่จะต้องร่วมกันพัฒนาพื้นที่อีกมาก เพื่อนำความเจริญและความสุขมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงอยากให้หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องคิดทบทวนเพื่อความสงบสุขของคนในพื้นที่” นายแวดือราแม ระบุ
รัฐยอมถอย-เปลี่ยนชื่อ
หลังเกิดกระแสต่อต้านค่อนข้างรุนแรง เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่รับผิดชอบโครงการ บอกกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ยอมรับว่าชื่อ “พุทธมณฑลประจำจังหวัดปัตตานี” ฟังดูยิ่งใหญ่มาก ถ้าประชาชนรู้สึกไม่สบายใจ ทางจังหวัดได้พูดคุยกันแล้วก็พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น เจดีย์รวมใจคนทั้งชาติ ขณะนี้โครงการยังไม่ได้เริ่ม ยังอยู่ในขั้นตอนการพูดคุยเท่านั้น และจุดประสงค์ก็เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนของคนที่ต้องการความสงบ
ด้านตัวแทนพี่น้องไทยพุทธในพื้นที่ กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของโครงการนี้มากเท่าไหร่ ว่าจะสร้างอะไรบ้าง ทำกันขนาดไหนแล้ว และทำขึ้นเพื่ออะไร เพื่อใคร เรื่องนี้จึงต้องคิดต่อและต้องตอบคนสวนใหญ่ให้ได้ด้วย
“ไม่รู้ว่าทำขึ้นมาเพื่อตอบสนองทางการเมืองหรือเปล่า มันน่ากลัวนะถ้าเป็นแบบนั้น เพราะคนที่หาเช้ากินค่ำจะเดือดร้อน จะต้องลำบาก คิดว่าสภาพพื้นที่เป็นแบบที่เป็นอยู่ก็ดีแล้ว ไม่รู้จะทำให้เป็นปัญหาทำไม ไม่เข้าใจ” ตัวแทนไทยพุทธในพื้นที่ชายแดนใต้ ระบุ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กระแสต้านในโซเชียลมีเดีย
2-3 ที่ดินงอกริมอ่าวปัตตานี พื้นที่เตรียมจัดสร้าง
4 ไปรษณียบัตรรับบริจาค
5 วรวิทย์ บารู
6-7 รูปแบบของพุทธมณฑลปัตตานีและพระประธาน