อณัส อมาตยกุล: ไขความลับเรื่องไอเอส
เอ่ยชื่อ "กลุ่มรัฐอิสลาม" ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Islamic State หรือ ไอเอส นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักพวกเขา เพราะขนาดนิตยสารระดับโลกอย่างไทม์ ยังยกให้ผู้นำของไอเอส เป็นบุคคลแห่งปีอันดับ 2 รองจากนายกรัฐมนตรีหญิงแกร่งแห่งเยอรมนี
การสู้รบแบบเต็มรูปแบบกับมหาอำนาจตะวันตกนำโดยสหรัฐอเมริกาบนแผ่นดินที่เป็นประเทศอิรักกับซีเรียในปัจจุบัน พร้อมๆ กับปฏิบัติการในลักษณะก่อการร้ายในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และล่าสุดคือกลางกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทำให้วันนี้เราไม่ศึกษาเรื่องราวของไอเอสไม่ได้แล้ว
หลายคนสงสัยว่าไอเอสคือใครกันแน่ พวกเขาใช้วิธีการใดโน้มน้าวผู้คนให้ไปร่วมเป็นร่วมตายกับเขา หรือแม้แต่ทำระเบิดพลีชีพในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง...เป็นคำถามที่น่าค้นหาคำตอบไม่น้อย
ไอเอสกับอิสลาม
หากจะอนุมานกันง่ายๆ ว่า “ไอเอส” เป็นผลผลิตจากคำสอนของศาสนา และสรุปว่าการใช้ความรุนแรง คือ สาระสำคัญที่สุดของกลุ่มรัฐอิสลามแล้วล่ะก็ ข้อสันนิษฐานนี้น่าจะเป็นความจริงเพียงบางส่วนเท่านั้น
ดร.อณัส อมาตยกุล นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิม จากมหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า หากไตร่ตรองโดยใช้ตรรกะในการพิจารณา จะเห็นได้ว่าไอเอสไม่ได้เกิดขึ้นจากคำสอนของศาสนาอิสลาม เพราะอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในกรุงเทพมหานครเองก็มีการสอนศาสนาจากคัมภีร์เดียวกัน แต่เหตุใดจึงไม่มีการก่อเหตุรุนแรงแบบไอเอส
“ถ้าจะมองว่าคำสอนในศาสนาอิสลามเป็นต้นกำเนิดให้เกิดกลุ่มไอเอส ผมมองว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ขึ้นกับภาวะของคนแต่ละคนที่อาจจะถูกกดดันหรือถูกกดขี่ข่มเหงมากกว่า หากมองย้อนกลับไปถึงต้นตอของปัญหา พูดง่ายๆ ว่า ต้นตระกูลของคนที่อพยพเข้าไปสู่ดินแดนตะวันตก เป็นผู้ที่มิได้มีชนชั้นทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงไม่ได้รับการยอมรับทางสังคมในทุกๆ ด้าน ทำให้ดูเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง”
ความเป็นพลเมืองชั้นสองในสังคมตะวันตกที่ ดร.อณัส พูดถึง สืบเนื่องจากชาติตะวันตกหลายๆ ชาติเป็นเจ้าอาณานิคมมาก่อน แล้วก็กวาดต้อนผู้คนมาใช้แรงงานในประเทศของตน และผู้คนจำนวนมากจากชาติที่ตกเป็นอาณานิคมเหล่านั้นก็คือคนมุสลิม แม้วันนี้จะผ่านมาหลายเจนเนอเรชั่นแล้ว ทว่าความรู้สึกถึงการถูกกดดัน กดขี่ และความเป็นพลเมืองชั้นสองก็ยังคงอยู่
ดร.อณัส ชี้ว่า เป้าหมายการเผยแผ่อุดมการณ์ของไอเอส ก็คือคนมุสลิมรุ่นใหม่ในประเทศตะวันตกและประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมของตะวันตกนั่นเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2 หรือ 3 ที่อพยพหรือถูกเกณฑ์เข้าไปอาศัยอยู่ เช่น ในฝรั่งเศส เบลเยี่ยม หลายๆ ประเทศในยุโรป ออสเตรเลีย หรือแคนาดา คนเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เปรียบเสมือนพลเมืองชั้นสอง จึงมีภาวะกดดันในใจอยู่แล้ว ทำให้ง่ายต่อการกระตุ้นและปลุกระดม
ประเด็นที่ไอเอสใช้ในการกระตุ้นคนมุสลิมรุ่นใหม่เหล่านี้ คือ ภาพความโหดร้ายของชาติตะวันตกที่กระทำต่อดินแดนที่เป็นประชาชาติอิสลาม เช่น อิรัก และซีเรีย ซึ่งแทบไม่เคยปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อกระแสหลักที่ชาติตะวันตกควบคุมอยู่
ไอเอสกับโซเชียลมีเดีย
จุดเด่นของไอเอสที่แตกต่างจากกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ตามการเรียกขานของตะวันตก ก็คือความสามารถในการใช้โซเชียลมีเดีย หรือ สื่อสังคมออนไลน์
“สื่อออนไลน์เป็นสื่อตัวหนึ่งที่ไอเอสหยิบขึ้นมาใช้ในการสร้างความชอบธรรมและระดมคนในยุคปัจจุบันที่สามารถสัมผัสและเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่าย ทั้งไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเว็บไซต์ต่างๆ เพียงแค่หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาก็สามารถเชื่อมต่อได้แล้ว แตกต่างจากสังคมในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา” ดร.อณัส ระบุ
ดร.อณัส อธิบายต่อว่า กลุ่มคนในช่วงวัยรุ่นจนถึงอายุ 30 ปี เป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้ง่ายที่สุด ไอเอสจึงใช้สื่อออนไลน์ในการเข้าหากลุ่มเป้าหมายของพวกเขา แต่ไอเอสไม่ได้ต้องการสร้างโฆษณาชวนเชื่อกับคนทั่วไป เพราะว่าพฤติกรรมโหดร้ายที่กลุ่มไอเอสนำเสนอผ่านเว็บไซต์หรือแมกกาซีนออนไลน์ ไม่ได้ต้องตาต้องใจคนทั่วไป แต่กลับโดนใจคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่มุสลิมในชาติตะวันตก
“ไอเอสได้แสวงหามือโปร (มืออาชีพ) ด้านไอทีเข้ามาช่วยเหลือ และทะลวงปราการที่ตะวันตกวางไว้ ด้วยการใช้เทคนิคที่ทำให้เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และสร้างความฮึกเหิมให้แก่ผู้ที่เชื่อในอุดมการณ์ของไอเอส”
อย่างไรก็ดี การเข้าถึงสื่อของไอเอส ก็มีกระบวนการที่ลึกลับซับซ้อนไม่น้อยทีเดียว
“ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารของไอเอสจะมีความเฉพาะในตัวเอง และจะมีเอเยนต์ หรือผู้ทำหน้าที่แสวงหาบุคคลในพื้นที่เป้าหมาย เช่น แคนาดา สวีเดน เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย เมื่อเจอบุคคลที่เป็นเป้าหมายแล้ว และมีความสนิทสนมกัน ก็จะใช้วิธีการกระซิบบอก”
“ดังนั้นการสื่อสารกับกลุ่มไอเอส ไม่ใช่ว่าจะไปนั่งตามร้านอินเทอร์เน็ตแล้วจะสามารถสื่อสารกับไอเอสได้ เพราะไอเอสมีระบบการป้องกันในการเข้าถึงเข้มงวดและยากต่อการค้นหาแหล่งที่อยู่ของเว็บไซต์ เช่น การใช้ภาษาสื่อสารที่เป็นปกติ แต่มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าธรรมดาที่คนปกติไม่เข้าใจ หากสังเกตในสื่อออนไลน์ที่ไอเอสใช้ จะมีการท่อนพรรณนาถึงทรราช ซึ่งกลุ่มที่เข้าใจภาษาเช่นนั้นจะรู้สึกคล้อยตาม จากที่เคยเห็นโลกตะวันตกดุจพ่อพระ ก็จะกลายเป็นซาตาน”
“การสื่อสารลักษณะนี้ไม่ใช่การทำให้หลงเชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตา แต่เป็นผลมาจากการได้สัมผัสและซึมซับ ส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายที่คล้อยตามจึงเป็นบุคคลที่มีการศึกษาสูง ทั้งวิศวกร แพทย์ หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดหุ้น”
สารของไอเอส
ดร.อณัส อธิบายต่อว่า สารที่ไอเอสส่งถึงกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา แท้ที่จริงแล้วเป็นสารที่ธรรมดามาก แต่สารหรือข้อมูลเหล่านี้ถูกปกปิดจากสื่อตะวันตก
“หากมองย้อนกลับไปในสงครามซีเรียที่เกิดขึ้นมานานถึง 5 ปี ภาพที่สร้างความเจ็บปวดและรอยร้าวในใจ เช่น การทิ้งระเบิดวันละหลายรอบจนผู้คนล้มตาย การยิงต่อสู้กันใจกลางเมืองทำให้เด็กเล็กๆ เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เลือดโทรมกาย...จะสังเกตได้ว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่มีการนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์สักเท่าไหร่ มีแต่การนำเสนอข่าวทั่วไปที่ไม่ใช่ความเดือดร้อนของมนุษยชาติ”
“กลุ่มไอเอสไม่ได้สื่อสารหรือใช้ภาษาที่มาจากนอกโลก แต่ไอเอสเสนอความเป็นจริงที่เกิดในพื้นที่หรือดินแดนของมุสลิมซึ่งโลกตะวันตกไม่เคยเหลียวมองหรือนำเสนอภาพความสูญเสียเหล่านั้นเลย ภาพเด็กที่แขนขาด ขาขาดจากการถูกโจมตีของตะวันตก แทบไม่เคยปรากฏผ่านสื่อที่ตะวันตกควบคุมอยู่”
ดร.อณัส บอกอีกว่า หากมีการสื่อสารที่เป็นธรรม ก็จะสามารถสร้างการสื่อสารที่มีดุลยภาพ และอุดมการณ์ของไอเอสอาจไม่แผ่ขยายมากขนาดนี้ ฉะนั้นหากไม่มีการพูดถึงเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นในดินแดนของมุสลิม ก็เท่ากับเป็นการปิดบังข่าวสาร ซึ่งทุกวันนี้สื่อสารมวลชนเป็นลักษณะเช่นนั้น ทำให้กลุ่มไอเอสใช้วิธีการนำเสนอภาพความสูญเสียและโหดร้ายในดินแดนมุสลิมที่กระทำโดยชาติตะวันตก เพื่อให้เกิดการเสพสื่อกลับคืนสู่ดุลยภาพ”
ทำไมต้องอิรัก-ซีเรีย
หลายคนอาจไม่ทราบว่า การที่ไอเอสเข้าไปยึดครองดินแดนบางส่วนที่เป็นประเทศอิรักและซีเรียในปัจจุบัน มีมิติที่เกี่ยวข้องกับอิสลามด้วย
ดร.อณัส อธิบายในประเด็นนี้ว่า ดินแดนอาหรับเป็นมาตุภูมิและเป็นหัวใจของโลกอิสลาม โดยมีดินแดนที่สำคัญ 3 แห่งคือ 1.บริเวณคาบมหาสมุทรอาระเบีย 2.อิรัก และ 3.ซีเรีย ซึ่งดินแดน 2 แห่งหลัง คือ อิรักกับซีเรียนั้น ไอเอสสามารถยึดได้แล้ว
“การต่อสู้เพื่อยึดครองสองดินแดนนี้ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไอเอสสามารถระดมนักรบได้ เนื่องจากประวัติศาสตร์และความเป็นจริงดินแดนนี้เป็นของอิสลาม ซึ่งไอเอสมองว่าเป็นศาสนสมบัติที่สำคัญมาก จึงไม่ควรให้ชาติตะวันตกเข้ามาก่อบาปในดินแดนแห่งนี้ ทั้งเปิดร้านเหล้า ค้าประเวณี”
“ดังนั้นไอเอสจึงมีแนวคิดที่จะซักล้างแผ่นดินนี้ให้บริสุทธิ์ และนำแผ่นดินนี้กลับไปเป็นศาสนสมบัติอีกครั้งหนึ่ง เพราะชาติตะวันตกที่เข้ามายึดครอง และทำให้แผ่นดินแห่งนี้ตกอยู่ในระบอบโลกียะ และทำให้แผ่นดินนี้ตกอยู่ในโลกีย์วิสัยจากการแบ่งพื้นที่ปกครองกันอย่างไม่ชอบมาพากล จนทำให้ดุลยภาพภายใต้ธรรมะของแผ่นดินนี้หายไป”
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านโลกมุสลิม อธิบายต่อว่า ในวิชาอิสลามกับการเมืองโลก มีคำสอนว่าศาสนาอิสลามคืออะไร และมนุษย์คืออะไร ซึ่งความหมายของคำว่า “มนุษย์” ในวิชานี้ บอกว่ามนุษย์คือผู้แทนของพระเป็นเจ้าบนหน้าแผ่นดิน ถือเป็นภารกิจที่พระเป็นเจ้ามอบให้มนุษย์ แต่ปัจจุบันมนุษย์ไม่สามารถเป็นผู้แทนของพระเป็นเจ้าได้ เพราะมนุษย์ยังยึดติดในกิเลสตัณหา และสิ่งเหล่านี้เป็นการทำลายมนุษยชาติ ทำให้มนุษยชาติพร่องในความดี
“สิ่งที่ไอเอสพูด คือความต้องการให้มนุษย์กลับไปสู่จุดอันบริบูรณ์แห่งความดี แต่เมื่อเราดูจากสื่อตะวันตกที่ถ่ายทอดออกมา กลับทำให้ไอเอสกลายเป็นมหาโจร ดังนั้นเมื่อไอเอสสื่อสรกับกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว ไอเอสจึงสื่อว่าโลกตะวันตกทำให้พร่องความดีและสูญสิ้นความเป็นมนุษย์ ไม่สามารถดำรงภารกิจและพันธกิจที่พระเป็นเจ้ามอบให้ได้”
“คำว่า ‘รัฐอิสลาม’ ในภาษาอาหรับมีความหมายว่า ‘รัฐที่ปกครองโดยผู้แทนของพระเป็นเจ้าบนโลกใบนี้’ เมื่อไอเอสสื่อสารในสื่อของเขาก็จะเรียกร้องจุดนี้ ซึ่งโดนใจคนรุ่นใหม่มุสลิมที่อยู่อาศัยอยู่บนแผ่นดินตะวันตก”
ยุทธศาสตร์ 3 ประการ
จากการใช้เครื่องมือทั้งหมดที่กล่าวมา ดร.อณัส สรุปว่า แม้ไอเอสใช้คำสอนของศาสนามากล่าวอ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าไอเอสบิดเบือนคำสอน แต่เป็นการนำมาใช้กระตุ้นให้คนที่มองโลกตะวันตกเป็นทรราชเข้าร่วมกับรัฐอิสลาม อันเป็นยุทธศาสตร์หลัก 3 ประการของไอเอส คือ
1.ทำให้เกิดการอพยพของมุสลิมจากที่ต่างๆ ทั่วโลกมายังดินแดนที่ไอเอสยึดครอง ซึ่งปัจจุบัน คือ อิรัก และซีเรีย
2.สร้างประชาคมมุสลิมขึ้นในดินแดนนั้น
และ 3.ทำลายล้างทรราช ซึ่งโดยนัยก็หมายถึงชาติตะวันตกที่ก่อบาปขึ้นในดินแดนของอิสลามนั่นเอง
ส่วนการเผยแพร่ภาพความโหดร้ายที่ไอเอสกระทำกับตัวประกันนั้น ดร.อณัส บอกว่า ฉากความรุนแรงที่ปรากฏผ่านสื่อออนไลน์ มีทั้งจริงและผ่านการตกแต่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวตนของไอเอส เพราะจริงๆ เป็นแค่บางเสี้ยวของไอเอสเท่านั้น
“หากอยากรู้ความจริงหรือตัวตนของไอเอส เราต้องฟังจากปากโฆษกของไอเอสที่มีหน้าที่ไม่ต่างจากโฆษกรัฐบาล เพราะไอเอสเป็นรัฐอิสลาม แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครไปสัมภาษณ์โฆษกไอเอสสักคน ดังนั้นหากยังไม่ได้ฟังการแถลงอย่างเป็นทางการของไอเอส ก็ไม่สามารถสรุปตัวตนของไอเอสได้”
ดร.อณัส ยังยกตัวอย่างสมัยที่ อุซามะฮ์ บิน ลาดิน (โอซามา บิน ลาเดน) ผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ ใช้คลิปวีดีโอในการสื่อสารกับนักต่อสู้ของพวกเขา ถามว่ามีใครเคยได้ฟังเสียงของ บิน ลาดิน บ้าง มีแต่ภาพใบหน้าที่พูดโดยไม่มีการปล่อยเสียงออกมา แท้จริงแล้วถ้อแถลงนั้นอาจจะไม่เกี่ยวกับการข่มขู่หรือการแจ้งเหตุก่อการร้ายเลยก็เป็นได้ และคงเป็นไปไม่ได้ที่ทุกถ้อยคำที่ออกจากปาก บิน ลาดิน จะเป็นรหัสลับเพื่อส่งสัญญาณให้บรรดานักรบกระทำการต่างๆ
“นี่คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า โลกตะวันตกเป็นผู้สร้างวัฒนธรรมของการเสพสื่อ รวมถึงกลั่นกรองข้อมูลที่ไม่เป็นเสรี ทำเหมือนกับว่าคนบนโลกนี้ไม่มีวิจารณญาณในการเสพสื่อ”
“ขณะที่ไอเอส สามารถเจาะทะลวงปราการด้านสื่อของตะวันตกได้ โดยใช้โซเชียลมีเดีย และข้อความที่ไอเอสสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายของพวกเขา คือ การพรรณนาถึงภาพความเจ็บปวดหรือภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นหลังการเกิดสงคราม รวมทั้งคำสอนทางศาสนาที่ว่า ‘เจ้าจงรับใช้เพื่อนมนุษย์ และประหัตประหารมารและพลพรรคของมาร’ ซึ่งโดยนัยก็หมายถึงชาติตะวันตกที่ก่อบาปในดินแดนอิสลามนั่นเอง”
ดร.อณัส บอกอีกด้วยว่า ไอเอสได้ศึกษาทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวของขบวนการก่อการร้ายต่างๆ ในอดีต ทั้งขบวนการญิฮาด หรือแม้แต่อัลกออิดะฮ์ โดยเฉพาะการศึกษาความล้มเหลวของอัลกออิดะฮ์ที่มีหลายด้าน โดยเฉพาะการเลือกใช้อัฟกานิสถานเป็นฐานที่มั่น ซึ่งอยู่ห่างไกลจากดินแดนอาหรับ เมื่อสหรัฐสกัดกั้นการสื่อสารและเส้นทางการเงินจากพื้นที่นอกฐานที่มั่น คือ อัฟกานิสถาน ก็ทำให้อัลกออิดะห์อ่อนแอลงทันที
บทจบของไอเอส
เมื่อถามว่า การต่อสู้ของไอเอสจะมีบทสรุปอย่างไร ท่ามกลางการโจมตีอย่างหนักของชาติตะวันตก ดร.อณัส ตอบว่า ทางออกของไอเอสหากต้องสูญสลายจากการโจมตี พวกเขาอาจจะวางชุดนักรบ กลับไปเลี้ยงสัตว์หรือนั่งจิบชาและใช้ชีวิตปกติ เพื่อรอวันกลับมาใหม่อีกครั้ง เพราะความเจ็บช้ำน้ำใจ รวมถึงอุดมการณ์นั้นยังคงอยู่ภายใต้จิตใจของพวกเขา
หรืออีกทางออกหนึ่งคือ การลดศักยภาพของไอเอสลงเป็นกองกำลังย่อยๆ ในประเทศต่างๆ แต่หากมีการเจรจาเกิดขึ้น ไอเอสอาจจะเกิดเป็นรัฐใหม่รัฐหนึ่งก็เป็นไปได้ แต่นั่นยังไม่ใช่สิ่งที่ไอเอสต้องการ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องตกอยู่ใต้การควบคุมของชาติตะวันตก
“ผมเชื่อว่าไอเอสจะสู้ต่อไป เพราะอุดมการณ์ของไอเอสยังไม่สลาย ส่วนการสร้างสันติภาพในโลกจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่มีความร่วมมือต่อกัน เพราะหากคนมองว่าไอเอสควรจะให้สันติภาพแก่โลก แต่ไอเอสกลับต้องเจอเครื่องบินของชาติตะวันตกมาทิ้งระเบิดใส่บ้านเรือนของประชาชนในดินแดนอิสลาม แล้วสันติภาพจะเกิดได้อย่างไร”
“ฉะนั้นสันติภาพคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากชาติตะวันตกไม่เป็นผู้เริ่มก่อสันติภาพ”