ถกสปท.เดือด'วิทยา'ลั่นไม่มีหน้าที่เขี่ยลูก-เชียร์รัฐ
ประชุมสปท.ถกร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ เดือด! สมาชิกฉะยับ "ปธ.กมธ."แจงไม่เคลียร์ "วิทยา"ซัดวิป ลั่นไม่มีหน้าที่เขี่ยลูก-เชียร์รัฐ
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ( สปท.) ที่มีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. คนที่ 1 เป็นประธาน ได้พิจารณาแผนการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน เรื่องแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) (ฉบับที่..) พ.ศ....โดย พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ได้ชี้แจงว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำเสนอ ซึ่งผ่านกระบวนการตรวจสอบการเสนอกฎหมายการตรวจร่างจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาดิจิตอลเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จึงจำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรที่ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการด้านโทรคมนาคม วิทยุโทรทัศน์ เพื่อให้มีการทำงานที่เป็นเอกภาพเกิดความคล่องตัว ในการใช้จ่ายงบประมาณ การออกใบอนุญาต ซึ่งมีการปรับปรุงรวมบอร์ดต่าง ๆ ให้เหลือเพียง กสทช.เพียงบอร์ดเดียว ตามมาตรา 23 การเพิ่มอำนาจหน้าที่ในการเจรจา ตามมาตรา 16 และเพิ่มการเยียวยา ตามมาตรา 31-34
จากนั้นสมาชิก สปท.ได้อภิปราย พร้อมซักถามท้วงติงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจำนวนมาก โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปท. ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะขัดต่อกฎหมาย เพราะองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ตามร่าง พ.ร.บ.นี้จะเป็นองค์กรของรัฐและไม่ได้เป็นอิสระจริง อย่างไรก็ตามสมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่พอใจการตอบข้อซักถามของ พล.อ.อ.คณิตที่ไม่ได้รับความกระจ่าง ซึ่งในที่สุดนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานในที่ประชุม ได้ตัดบทพร้อมให้ลงมติ โดยระบุว่าสมาชิกสามารถเสนอข้อคิดเห็นต่อ กมธ.เพื่อปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ ก่อนที่นำเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งปรากฏว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนดังกล่าวด้วยคะแนน 128 ต่อ 11 และงดออกเสียง 17 และให้ส่งเรื่องไปยัง ครม.ดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตามภายหลังการลงมติ นายวิทยา แก้วภราดัย สมาชิก สปท.ได้ลุกขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมว่า ตนได้งดออกเสียง เนื่องจากไม่สบายใจต่อการทำงานของ สปท.ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา เพราะเมื่อฟังประธาน กมธ. ที่ระบุว่าเป็นการดำเนินการตามที่มีการเสนอมา ซึ่งเมื่อมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำแล้วเราจะทำอีกทำไม เป็นการทำงานซ้ำซ้อน แต่เมื่อนำข้าสู่วาระการประชุมก็ต้องชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกให้ได้ทุกข้อ และต้องรับฟังความคิดเห็นในสภานี้ให้ได้ เราเป็นสภาปฏิรูป ไม่ได้ทำหน้าที่เขี่ยลูกอย่างเดียว ทั้งนี้ต้องตำหนิวิป สปท. ที่นำเรื่องเข้าสู่วาระการพิจารณา ลองคิดดูว่าหากสภาไม่เห็นชอบก็เท่ากับ สปท.สวนหมัดกับรัฐบาล แต่ถ้าเห็นชอบก็ยังออกเป็นกฎหมายไม่ได้ แต่กลายเป็นแค่เสียงเชียร์รัฐบาล ซึ่งท่านกำลังเอาสภาไปเสี่ยง ถ้าเราทำเช่นนี้ก็จะเสียหาย คิดว่าวิป สปท.จะต้องมีความรอบคอบในการกำหนดวาระการประชุม.
ขอบคุณข่าวจาก