เมื่อ'บิ๊กตู่'ปรับระบบประชุม/แถลงครม. ให้รมต.ทำงานมากขึ้น นายกฯ พูดน้อยลง
"..เรื่องที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงใด ให้รัฐมนตรีแถลงผลการดำเนินงานให้ประชาชน ได้รับทราบเป็นระยะ โดยจะต้องติดตามรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงงานให้ดีขึ้น"
"ด้วยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเกี่ยวกับแนวทางการประชุม และการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเริ่มปฏิบัติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป"
นี่คือประโยคเริ่มแรก ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือด่วนที่สุดของ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 4 ม.ค.2559 ที่แจ้งถึง รองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เรื่อง แนวทางการประชุมและการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรี
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ จึงขอนำรายละเอียด มานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบแบบชัดๆ
โดยหนังสือฉบับนี้ ระบุรายละเอียดข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้ดังนี้
1. แนวทางการประชุมคณะรัฐมนตรี มีลำดับและวิธีการดำเนินการดังนี้
1.1. นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุม
1.2. การนำเสนอวีดิทัศน์ที่สำคัญ
1.3 ประชุมตามลำดับวาระ (1) เรื่องเพื่อทราบ (หากไม่มีข้อทักท้วงให้ถือเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ/อนุมัติ) (2) เรื่องเพื่อทราบ และ (3) เรื่องเพื่อพิจารณา
โดยรัฐมนตรีต้องส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการก่อนวันประชุมอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อให้มีความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยในการประชุม กำหนดให้
- รัฐมนตรีเจ้าของเรื่องเป็นผู้ตอบข้อซักถาม และรับฟังข้อสังเกตจากคณะรัฐมนตรี
- รัฐมนตรีเสนอความเห็นต่อเรื่องต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะแนวทาง การบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
1.4. รองนายกรัฐมนตรี นำเสนอข้อคิดเห็นและความคิดริเริ่มใหม่ๆ ในเรื่องที่รับผิดชอบ เช่น แผนงาน วิธีการขับเคลื่อนนโยบาย
1.5. นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปและสั่งการในเรื่องสำคัญ
2. แนวทางการแถลงข่าว
2.1. นายกรัฐมนตรี เริ่มแถลงในภาพรวม และตอบคำถามที่จำเป็นหรือในเชิงนโยบาย โดยไม่อธิบายในรายละเอียด
2.2. รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการต่อ โดยชี้แจงรายละเอียดในเรื่องนั้นๆ หากเป็นเรื่องสำคัญหรือนโยบายใหม่ ให้รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นผู้แถลงแทนโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
3. แนวทางการปฏิบัติงานของคณะรัฐมนตรี มุ่งให้เกิดความชัดเจนใน 4 ขั้นตอน ได้แก่
3.1. นโยบาย ให้มีการสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องถึงนโยบาบและวัตถุประสงค์ของนโยบายว่าเพื่อแก้ไขปัญหาหรือปรับปรุงสิ่งใดแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
3.2 การแปลงนโยบายและขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ ให้กำหนดกิจกรรมหลัก กิจกรรมรอง กิจกรรมเสริม ตามแผนปฏิรูป โดยเลือกเรื่องที่สามารถดำเนินการให้บังเกิดผลรูปธรรมได้เร็วมาดำเนินการก่อน
ขณะเดียวกันก็ดำเนินการเรื่องที่จะต้องปฏิรูปในระยะยาวคู่ขนานไปด้วย รวมทั้งกำหนดวิธีการ กรอบระยะเวลา และผลที่คาดว่าจะได้รับในแต่ละห้วงเวลาให้ชัดเจน
3.3 การปฎิบัติตามนโยบาย ให้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้โดยจะต้องมีการสร้างการรับรู้ความก้าวหน้าแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
3.4 ผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นจากนโยบาย ให้ระบุความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมตามห้วงเวลาเพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผล
ในช่วงท้ายคำสั่งการ ยังระบุชัดเจนว่า "เรื่องที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงใด ให้รัฐมนตรีแถลงผลการดำเนินงานให้ประชาชน ได้รับทราบเป็นระยะ โดยจะต้องติดตามรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงงานให้ดีขึ้น"
หากพิจารณาภาพรวมข้อสั่งการดังกล่าวจะพบว่า มีหัวใจสำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ
1. รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จะต้องมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐมนตรี จะต้องทำงานมากขึ้น
2. มุ่งแถลงผลงานให้ประชาชนรับทราบ และรับฟังความเห็นมาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น
ขณะที่ นายกฯ จะพูดหรือตอบคำถามให้น้อยลง เอาเท่าที่จำเป็น หรือ เฉพาะในเชิงนโยบายเท่านั้น
ส่วนจะได้ผลในทางปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน โปรดติดตามกันต่อไป