ชี้ผลตีความกฤษฎีกา ทำลายระบบ 30 บาท บาง รพ.เริ่มเจอปัญหายาขาดแล้ว
เวทีเสวนา “เจตนารมณ์และหลักการ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ” ชี้ผลตีความกฤษฎีกาทำระบบหลักประกันสุขภาพเพี้ยนจากเจตนารมณ์กฎหมาย กระทบหน่วยบริการและบริการประชาชน “หมอสุภัทร” เชิญกฤษฏีกาลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดู รพ.ทำงานภายใต้ข้อจำกัด
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ มีเวทีเสวนาวิชาการ “เจตนารมณ์และหลักการ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จุดเริ่มต้นและอนาคต” จัดโดยอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนด้านบริการสุขภาพ ได้มีการแสดงความเห็นและเป็นห่วงผลการตีความการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ระบุถึงการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่เป็นตามวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมถึงการดำเนินงานของหน่วยบริการ โดยเฉพาะโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวถึงการตีความของกฤษฎีกาเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเป็นการตีความตามข้อกฎหมาย โดยผู้ที่ตีความอาจไม่เคยลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลมาก่อน แต่เสียใจที่ สธ.กลับไม่มีจุดยืนชัดเจนในการปกป้อง รพ.ของ สธ.เอง ทั้ง รมว.สาธารณสุข หรือคณะที่ปรึกษาฯ
ทั้งนี้ รพ.สธ.ที่ดำเนินการได้ส่วนหนึ่งมาจากเงินบำรุง รพ.ที่ได้มีระเบียบเงินบำรุงขึ้นตั้งแต่ปี 2516 สมัย นพ.เสม พริ้มพวงแก้ว เป็น รมว.สาธารณสุข ที่ได้ปลดล็อคให้ รพ.ไม่ต้องนำเงินงบประมาณที่เหลือส่งคืนคลัง แต่นำมาเป็นเงินบำรุงเพื่อพัฒนา รพ.ได้ นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันเงินบำรุงเหล่านี้ก็มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ รวมถึงรายได้อื่นๆ แต่หากกฤษฎีกาตีความเช่นนี้ ต่อไปต้องมีการแยกเงินกองทุนในเงินบำรุงซึ่งจะสร้างความยุ่งยากในการบริหารให้กับ รพ.อย่างมาก
ส่วนที่กฤษฎีกาตีความว่า หน่วยบริการไม่สามารถนำงบบัตรทองไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้นั้น นพ.สุภัทร กล่าวว่า ประเด็นนี้อยากเชิญกฤษฎีกาตรวจเยี่ยม รพ.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องให้บริการท่ามกลางความไม่สงบ หากกลางคืนเปิดไฟสว่างไม่ได้ จ้างยามดูแลได้เพียง 1 คน แถมยังจ้างพยาบาลอยู่ล่วงเวลาไม่ได้ ทั้งที่ห้องฉุกเฉินและห้องคลอดต้องมีพยาบาลประจำอย่างน้อย 2-3 คนตามมาตรฐาน ตรงนี้ต้องถามว่า หน่วยบริการที่ต้องเปิดบริการ 24 ช.ม.เพื่อดูแลผู้ป่วยจะทำอย่างไร
ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวอีกว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ส่วนหนึ่งต้องนำมาจากเงินบำรุง และต้องบอกว่างานบริการรักษาพยาบาล ไม่ใช่งานออฟฟิศหรืองานพิมพ์ดีดที่รอและมาทำต่อในวันรุ่งขึ้น ดังนั้นการตีความของกฤษฎีกาที่ออกมานี้จึงเป็นอุปสรรคของการบริการ รพ. รวมถึงที่ระบุว่าหน่วยบริการไม่สามารถนำงบบัตรทองมาสนับสนุนการอบรมเจ้าหน้าที่ได้ ซึ่งต้องบอกว่าเทคโนโลยีการแพทย์มีความเจริญขึ้น อย่างเช่น อัลตร้าซาวด์ที่ปัจจุบันมีเกือบทุก รพ. แต่หากบุคลากรไม่มีความรู้ในการใช้ก็จะส่งผลกระทบต่อบริการผู้ป่วยเช่นกัน
“ปัญหาเหล่านี้ พี่ๆ ที่อยู่ สธ.ก็รู้ แต่ทำไมปล่อยให้เรื่องนี้ทำลายขวัญกำลังใจน้องๆ ที่ทำงานยัง รพ. ไม่ออกมาปกป้องและแก้ไขให้ถูกต้อง โดยระหว่างนี้ผู้บริหาร สธ.ควรแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ใช่รอการทบทวนการตีความของกฤษฎีกาเท่านั้น เพราะวันนี้หาก รมว.สาธารณสุขมีจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ว่ากฤษฎีกาจะตีความอย่างไร สธ.ต้องมีหน้าที่ต้องทำให้ รพ.สามารถใช้จ่ายเงินบำรุงได้เช่นเดิม ถือเป็นภาวะผู้นำในตอนนี้” ผอ.รพ.จะนะ กล่าว และว่า ขณะเดียวกันบอร์ด สปสช.เองที่มีอำนาจตามกฎหมาย ต้องยืนยันและตัดสินใจ เพื่อให้หน่วยบริการสามารถดำเนินงานได้เช่นเดิม
ด้านภญ.ดาริน จึงพัฒนาวดี หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค รพ.ด่านซ้าย จ.เลย กล่าวว่า ขณะนี้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบที่ดีที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับระบบอื่นๆ โดยในด้านการเข้าถึงยาได้มีการนำระบบ VMI หรือที่เรียกว่าระบบเติมเต็มเข้ามาสนับสนุนการบริการของหน่วยบริการ ปัจจุบันครอบคลุมทั้งยาต้านไวรัสเอดส์ ยาวัณโรค ยาโรคหัวใจ วัคซีนพื้นฐานและวัคซีนในโรคระบาดอย่างโรคไข้หวัดใหญ่ และถุงยางอนามัย โดยยาต้านไวรัสเป็นกลุ่มยานำร่องระบบนี้และมีการปรับปรุงมาตลอด 10 ปีจนเข้าที่แล้ว ซึ่งการบริหารจัดการยาในภาพรวมนอกจากช่วยประหยัดงบประมาณประเทศได้มากแล้ว ยังเป็นการรับประกันว่าผู้ป่วยจะมียาใช้เพียงพอแน่นอน แม้ว่า รพ.อยู่ในสถานะติดลบก็ตาม แถมยังช่วยตัดขั้นตอนความวุ่นวายในการจัดหาและจัดซื้อยาที่อาจเกิดปัญหาได้ ดังนั้นการที่กฤษฎีกาตีความว่า สปสช.ไม่สามารถจัดซื้อยาในภาพรวมได้ย่อมส่งผลกระทบแน่นอน
“ขณะนี้เริ่มมีสัญญานมาแล้ว ไม่ทราบว่าจะมาจากสาเหตุการตีความนี้หรือไม่ แต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา รพ.ด่านซ้ายเริ่มมีปัญหาจัดส่งยาต้านไวรัสแล้ว เพราะยาต้านไวรัสที่จัดส่งมาไม่ครบจำนวนตามที่ได้มีการคีย์เข้าสู่ระบบ อย่างยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน AZT ขาดไป 9 ขวด ยาเอฟฟาไวแรนซ์ขาดไป 6 ขวด ทำให้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายให้กับผู้ป่วย จึงต้องมีการยืมยาจาก รพ.ใกล้เคียงก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุว่าเป็นเพราะปัญหาการจัดส่งหรือมาจากสาเหตุใด ซึ่งหลังจากนี้คงต้องสอบถามไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ สปสช.ถึงสาเหตุที่เกิดขึ้น” ภญ.ดาริน กล่าวและว่า หากสถานการณ์ขาดยาเกิดขึ้นจริงและต่อเนื่อง รพ.คงต้องจัดซื้อยาเพื่อให้กับผู้ป่วยเอง เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แต่อาจส่งผลกระทบกับ รพ.ที่อยู่ในภาวะขาดทุน
ด้าน นายภาคภูมิ แสงกนกกุล นักศึกษาปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระบบหลักประกันทางสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขณะนี้ คือเนื้อหา พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติกับเจตนารมณ์การร่างกฎหมายไม่สัมพันธ์กัน ซึ่งเจตนาของการร่างกฎหมายมีการจัดตั้ง สปสช.เป็นผู้ซื้อบริการ ทำหน้าที่เจรจาต่อรองจัดซื้อบริการแทนประชาชนพร้อมกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ควรได้รับด้วยการจัดซื้อแบบเหมาจ่ายปลายปิดโดยให้ รพ.บริหารงบอย่างมีอิสรภาพ แต่อยู่ภายใต้การตรวจสอบการใช้งบที่ต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่ด้วยหน่วยบริการที่จัดบริการร้อยละ 70-80 เป็นของภาครัฐ ขณะที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ทำให้ติดกรอบการบริหารงบประมาณ จึงขาดความอิสระต่างจากภาคเอกชน
อย่างไรก็ตามจากการตีความของกฤษฎีกาสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังมีปัญหาทางกฎหมาย ซึ่งในประเทศฝรั่งเศสที่มีการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพ จะมีการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพทุกๆ 5 ปี เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทบทวนว่า ข้อกฎหมายใดควรปรับแก้ไขบ้าง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์สุขภาพที่เปลี่ยนไป แต่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทยใช้มา 10 ปีแล้วและไม่มีการแก้ไข ทำให้เนื้อหากฎหมายไม่ทันกับสถานการณ์เที่เปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ภายหลังการเสวนา “เครือข่ายองค์กรประชาชนที่ร่วมรณรงค์รายชื่อเสนอกฎหมายหลักประกันสุขภาพ” อาทิ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายเกษตรทางเลือก เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและสาธารณสุข เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง ไต และอื่นๆ เป็นต้น ได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ “สนับสนุนเจตนารมณ์กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545” โดยขอให้กฤษฎีกาทบทวนการตีความกฎหมายโดยให้ยึดตามเจตนารมณ์และหลักการ การบริหารหลักประกันสุขภาพไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์เท่านั้น แต่เป็นเรื่องประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของภาษีและเป็นผู้ใช้สิทธิในการได้รับหลักประกันสุขภาพด้วย