ย้อนเส้นทางหนี‘กี้ร์ อริสมันต์’ ก่อน‘วีระวุฒิ’จำเลยคดีข้าวตามรอยเผ่นกัมพูชา
“เมื่อเข้าไปในกัมพูชา ก็ได้ “นายใหญ่” คุณทักษิณ (ชินวัตร) และสมเด็จฮุน เซน ให้การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เราติดหนี้บุญคุณ ทั้งไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะสมเด็จฮุน เซน พุดง่าย ๆ ว่าเราเรียกเขาว่าพ่อโดยไม่กระดากใจ เพราะถ้าไม่มีท่านผมคงตาย ไม่มีประเทศกัมพูชาผมคงตายด้วย”
หลายคนอาจจะทราบไปแล้วว่า ‘หมอโด่ง’ นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) โดยมิชอบ ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ กับพวก เป็นจำเลยร่วมด้วย ได้หลบหนีเข้าสู่ประเทศกัมพูชา ตามคำยืนยันของฝ่ายอัยการสูงสุด (อสส.)
(อ่านประกอบ : ‘วีระวุฒิ’เผ่นกัมพูชา! อสส.ฟ้องเพิ่ม 7 เอกชนพันคดีข้าวจีทูจีชุด‘บุญทรง’)
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้มีจำเลย-ผู้ต้องหาตามหมายจับในคดีความต่าง ๆ เคยใช้ ‘กัมพูชา’ เป็นแหล่งกบดาน ก่อนจะเดินทางออกไปประเทศอื่น หรือบางรายยอมกลับเข้ามามอบตัวที่ประเทศไทยมาแล้วหลายราย ?
ไม่ว่าจะเป็น ‘กีร์-อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง’ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 หรือล่าสุดภายหลังการรัฐประหารปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีกระแสข่าวว่า นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ‘ตั้ง อาชีวะ’ หรือนายเอกภพ เหลือรา ผู้ต้องหาตามหมายจับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เดินทางหลบหนีเข้ากัมพูชา ก่อนบินหนีไปประเทศที่สามด้วย
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ย้อนรอยเส้นทางหลบหนีจากปากคำของบุคคลเหล่านั้น รวมถึงข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง มานำเสนอให้เห็นภาพกันชัด ๆ ดังนี้
ช่วงต้นปี 2557 ‘กี้ร์ อริสมันต์’ เปิดบ้านให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราเข้าสัมภาษณ์ โดย ‘กีร์’ เปิดใจเล่าเรื่องการหลบหนีภายหลัง นปช. ถูกเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สลายการชุมนุมตอนหนึ่ง โดยยกเรื่องราว ‘อภินิหาร’ ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการที่ ‘พระรูปหนึ่ง’ โทรศัพท์เข้ามาให้คาถา ‘พรางตัว’ ทำให้หลบหนีออกมาจากที่ชุมนุมได้สำเร็จ
โดยช่วงเวลาขณะนั้น ‘กี้ร์’ คิดว่าตัวเองถูกทางการสั่ง ‘จับตาย’ แล้วแน่นอน !
ภายหลังออกมาจากสถานการณ์ชุลมุนวุ่นวายในที่ชุมนุม ก็มาขึ้นรถลูกน้องที่โรงเรียนสันติราษฎร์ แถวพหลโยธิน 24 ก่อนจะเปลี่ยนไปนั่งรถตู้ส่งของเก่า ๆ ที่ตึกชินวัตร 3
“พอเคลื่อนตัวออกไปก็เลี้ยวซ้ายกำลังจะขึ้นสะพานพระราม 7 ผมฟังวิทยุ ทุกด่านกำลังตามหาตัวผมให้ควั่ก แล้วรถติดมาก ผมเลยตัดสินใจไม่ขึ้นสะพานประชานุกูล เลี้ยวขวาเข้าทางประชาชื่นแทน ไปทางปทุมธานี สุพรรณบุรี แล้วโทรเรียกรถมารับเรา เดินหน้าเต็มตัวมุ่งหน้าสุพรรณ เจอที่ไหนเปลี่ยนที่นั่น และให้แวะซื้อโทรศัพท์ใหม่ 3 เครื่องให้ด้วย”
ต่อจากนั้นทะลุผ่านไปทางชัยนาท เข้านครสวรรค์ จนถึง อ.ชัยบาดาล อ.ลำนารายณ์ อ.เทพสถิต วกเข้ามาใหม่เพื่อจะขึ้น ถ.มิตภาพ จะไปออกทางสุรินทร์ โดยมีรถสองคัน คันแรกโดยสารไป 4 คน คนขับรถ 1 คน บอดีการ์ด 1 คน นั่งหน้า ‘กีร์’ นั่งหลังคนขับ และตำรวจนั่งคู่กัน อีกคันหนึ่งเป็นรถลูกน้องขับนำ
“ตอนแรกที่คิดว่าจะลงใต้ไปทะเล แต่คิดว่าตรงนั้นไม่ปลอดภัย”
“จากนั้นพอรถเข้าเส้น ถ.มิตรภาพ ขับยังไม่ถึงกิโลเมตรเจอกองทัพภาคที่ 2 กั้นถนนไว้หมด คันหน้าพยายามจะเลี้ยวกลับ แต่ผมบอกว่าให้ขับดี ๆ ไม่ต้องมีพิรุธ”
อย่างไรก็ดีทหารเรียกให้รถทั้งสองคันจอด และทหารวิ่งมาประมาณ 10 กว่าคน ปืนจ่อ รถคันหน้าลงหมด ช่วงนั้น ‘กีร์’ คิดว่าคงจบชีวิตแน่แล้ว ทว่าเมื่อลดกระจกลงลูกน้องบอกทหารว่า จะไปงานแต่ง ที่น่าเหลือเชื่อคือทหารมองไม่เห็น ‘กีร์’ ทั้งที่นั่งอยู่หลังรถ
เมื่อผ่าน ‘ด่านแห่งชีวิต’ มาได้ ก็เปลี่ยนเส้นทางมาสายตำบล จนถึง อ.สูงเนิน พอใกล้พิมาย ก็เลี้ยวขวา ไปทาง อ.สะตึก เข้าสุรินทร์ เกาะเส้นทางสายที่มีรถไฟ แต่คิดว่าคงมีด่านเยอะ เลยเลี้ยวกลับเข้า อ.ปราสาท ทว่ากลับต้องเจอ ‘ด่านหิน’ อีกครั้ง เมื่อเจอกับด่านสกัดเพื่อจับ ‘กี้ร์’ โดยเฉพาะ และธนาคารที่หวังว่าจะไปเบิกเงินก็มีตำรวจเฝ้าดูแลอยู่ทุกจุด
ขณะที่ลูกน้องคนสนิท ระบุว่า เอาตำรวจมารอรับไว้แล้ว แต่ ‘กี้ร์’ ซึ่งขณะนั้นมีค่าหัวสิบล้านบาทเกรงว่าจะเกิดการหักหลัง อย่างไรก็ดีลูกน้องคนดังกล่าวยืนยันว่า “ไว้ใจได้ พวกเราร้อยเปอร์เซ็นต์”
หลังจากนั้นไปเจอกันที่จุดนัดหมาย พอพบกันก็ให้ลูกน้องลงไปรายงานตัวว่าเป็นผู้กอง ให้บอกเขาว่า วีไอพีข้ามไปแล้ว แต่มีสินน้ำใจที่จะให้พวกพี่ ๆ ตำรวจไปรับเอาฝั่งนู้น ระหว่างเดินทาง ลูกน้องทุกคนสไลค์ปืนหมด ถ้าตุกติกอะไรก็เล่นเลย เรียกว่าเอาให้เละให้หมด
“พอไปถึงด่านที่มีการประสานเรียบร้อย ก็เปิดไฟกระพริบหน้ารถ ด่านก็เปิด เราก็ข้ามไป พอข้ามไปเสร็จปั๊บ ผมก็เอาเงินไปให้คนละ 5,000 บาท ตำรวจสี่คน ตอนนั้นมีเงินติดตัวไม่เยอะ ผมมีเงินประมาณไม่น่าเกิน 50,000 เพราะว่าเรามีงบวันละ 50,000 บาท ก็เรียบร้อย”
“พอถึงนั่นปุ๊บ ทางฝั่งกัมพูชา เขาดูแลเราอย่างดี เราจึงเขียนว่า ทหารไทยไล่ฆ่า ทหารกัมพูชาผู้ปกป้อง เขียนแล้วก็ทิ้งไว้ตรงนั้น”
ส่วนชีวิตในกัมพูชานั้น ‘กีร์’ เล่าว่า เข้าไปพนมเปญ ช่วงนั้นเข้าพนมเปญได้พักหนึ่ง อยู่โรงแรมก่อน แล้วก็ออกจากพนมเปญ แล้วก็ย้ายสลับไปเรื่อย ๆ ไม่เป็นที่ ชายแดนลาวบ้าง ชายแดนเวียดนามบ้าง จนกระทั่งสถานการณ์ดีขึ้น เราก็กลับเข้ามาในพนมเปญอีกทีหนึ่ง
ทั้งหมดคือ ‘นาทีชีวิต’ ของ ‘กีร์ อริสมันต์’ ที่ใครหลายคนมองว่าเป็น ‘แกนนำฮาร์ดคอร์’ ต้องหลบหนีฝ่าสารพัดด่าน เกิดอภินิหารตามรายทางมากมาย ก่อนที่อีกหลายปีต่อมาจะกลับเข้าประเทศไทยเพื่อมอบตัว และต่อสู้หลายสิบคดีในชั้นศาลอยู่ในขณะนี้ !
นอกเหนือไปจาก ‘กี้ร์ อริสมันต์’ แล้ว ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2551 นายจักรภพ เพ็ญแข อดีต รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกรายหนึ่ง ก็หลบหนีเข้าไปประเทศกัมพูชาเช่นกัน
ขณะที่ภายหลัง คสช. รัฐประหารในปี 2557 ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า มีบุคคลที่หนีหมายเรียก คสช. หรือผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าไปในประเทศกัมพูชาเท่าที่ตรวจสอบพบอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ นายพิษณุ พรหมศร นายจักรภพ เพ็ญแข (ปัจจุบันคาดว่ามีการติดต่อกับนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ที่อาศัยอยู่สหรัฐอเมริกา ที่เป็นแกนนำหลักกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. ในต่างประเทศ)
นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการชื่อดัง และอดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ขณะนี้ข้อมูลล่าสุดคือพักอาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส) และ ‘ตั้ง อาชีวะ’ ที่ว่ากันว่า หลบหนีเข้ามาที่กัมพูชา ก่อนที่จะทำเรื่องลี้ภัยไปอยู่ประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน
(อ่านประกอบ : รายชื่อ 29 ผู้ต้องหา ‘คดี 112’ ในต่างแดน ‘แบล็คลิสต์’รัฐบาล-คสช. )
กระทั่งล่าสุด เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้องคดีโครงการระบายข้าวแบบจีทูจีโดยมิชอบ ซึ่งปรากฏชื่อของ นพ.วีระวุฒิ เป็นหนึ่งในจำเลย และถือเป็น ‘จิ๊กซอว์’ ชิ้นสำคัญในคดี ได้หลบหนีไปกัมพูชา ‘ตามรอย’ เส้นทาง ‘คนเก่า’ หลายราย
คำถามสำคัญคือทำไมจำเลย-ผู้ต้องหาคดีสำคัญ ๆ หลายรายจึงหลบหนีเข้าไปประเทศกัมพูชา ?
สำหรับเหตุผลของบุคคลอื่น ๆ คงไม่อาจทราบข้อเท็จจริงได้ เพราะไม่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ แต่สำหรับ ‘กี้ร์’ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ชัดเจนตอนหนึ่งว่า
“ในช่วงตอนนั้นก็ ถามว่ามันยากลำบากไหม มันก็ยากลำบากเหมือนกัน เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้ และตอนนั้นก็รู้สึกเหมือนกับว่ามันคิดสองอย่าง เหมือนกับตอนพฤษภาทมิฬ เราก็เคยหนีไปรอบหนึ่ง ครั้งนี้ทำไมเราต้องหนีด้วย พฤษภาทมิฬก็หนีไปยาวเหมือนกัน ครั้งนี้อาจหนียาวกว่า และคิดว่าคงไม่ได้กลับ คราวนี้เราก็ตระเวนโลก มีพาสสปอร์ตพิเศษ สำหรับนักต่อสู้ทางประชาธิปไตย มีหลายประเทศให้ ก็ให้ไปที่ไหนบ้าง รัสเซีย ดูไบ บรูไน พม่า จีน ยุโรป เฉลี่ย ๆ แบ่งไป และเราก็คิดว่า เราจะลี้ภัยทางการเมือง คิดว่าคงไม่ได้กลับเพราะว่าเราถูกกล่าวหาว่าล้มล้างสถาบันเป็นเรื่องใหญ่”
“เมื่อเข้าไปในกัมพูชา ก็ได้ “นายใหญ่” คุณทักษิณ (ชินวัตร) และสมเด็จฮุน เซน ให้การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เราติดหนี้บุญคุณ ทั้งไทยและกัมพูชา โดยเฉพาะสมเด็จฮุน เซน พุดง่าย ๆ ว่าเราเรียกเขาว่าพ่อโดยไม่กระดากใจ เพราะถ้าไม่มีท่านผมคงตาย ไม่มีประเทศกัมพูชาผมคงตายด้วย”
(อ่านประกอบ : “กี้ร์-อริสมันต์”ยก“ฮุนเซน”เทียบพ่อบังเกิดเกล้า "หนี้ชีวิต"ช่วยหนีตายปี 53)
ทั้งหมดเป็นคำยืนยันของ ‘กี้ร์’ ถึงเหตุผลในการหลบหนีเข้ากัมพูชา สะท้อนอย่างชัดเจนว่า ‘สมเด็จฮุน เซน’ นายกรัฐมนตรีของกัมพูชามี ‘อิทธิพล’ เป็นอย่างมาก
ส่วนคนอื่น ๆ ที่หลบหนีไปนั้นจะคิดเช่นนี้หรือไม่ ไม่สามารถตอบแทนพวกเขาเหล่านั้นได้ เพราะต่างคนต่างมีเหตุผลในการตัดสินใจของตัวเอง
คำถามสำคัญประการต่อไปคือ จะสามารถตามตัวกลับมาได้หรือไม่ ?
คำตอบคือในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างไทยและกัมพูชา มีข้อยกเว้นหนึ่งคือ จะไม่ส่งผู้ต้องหาที่มีคดี ‘การเมือง’
นั่นทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้า-ออกประเทศกัมพูชาได้โดยสะดวก เนื่องจากกัมพูชามองว่า คดีที่ดินรัชดาภิเษกที่ศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนายทักษิณนั้น เป็นคดีทางการเมือง
แล้วคดีของ ‘หมอโด่ง’ ซึ่งทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อสส. รวมถึงสื่อมวลชนหลายแขนงที่เปิดโปงกระบวนการทุจริตในโครงการระบายข้าวจีทูจีนั้น ฝั่งกัมพูชาจะมองเป็นคดีทางการเมืองหรือไม่
ขณะเดียวกันหลบหนีเข้าไปกัมพูชาได้อย่างไร ใครเป็นคนช่วยเหลือ หรือจะมีพระ-คาถาดีแบบ 'กี้ร์' ?
ต้องติดตามกันต่อไปอย่างใกล้ชิด !
อ่านประกอบ : ย้อนข้อมูล‘วีระวุฒิ’จิ๊กซอว์สำคัญ! คดีข้าวจีทูจี ก่อนเผ่นหนีกัมพูชา-ใครช่วย?