รัฐบาลเดินหน้าหวังหลุด‘เทียร์3’
การตั้งโต๊ะแถลงข่าวใน 2 ประเด็นหลักของรัฐบาล โดยความรับผิดชอบของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อชี้แจงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และการทำทริปรีพอร์ตเตรียมส่งให้ประเทศสหรัฐอเมริกา ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายไร้การควบคุม (ไอยูยู) ในวันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมรับการตรวจจากคณะกรรมการสหภาพยุโรป (อียู) ที่จะเดินทางมาตรวจวันที่ 18-22 มกราคม นี้
การชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร ได้เทน้ำหนักในเรื่องการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมการทำประมง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ภายหลังคณะกรรมการอียู ได้เพิ่มเติมโจทย์แก้ปัญหาอีก 2 ข้อ เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา คือการใช้แรงงานในเรือประมงและแรงงานโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ พร้อมแสดงความห่วงใยว่า หากไม่เร่งแก้ไข การประเมินครั้งต่อไปไทยอาจจะถูกใบแดง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาการจัดอันดับการค้ามนุษย์
ปัจจุบัน พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ ผบ.ศปมผ. ได้กำหนดนโยบายไว้อย่างชัดเจนตามการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง ปี 2558 ในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ที่สำคัญกฎหมายลูกได้ร่างเรียบร้อย 52 ฉบับ สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษา 31 ฉบับ เหลืออีก 21 ฉบับที่รอการประกาศ ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย มีการตรวจเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งสหภาพยุโรปกำหนดให้ตรวจ 220 ลำ หรือ 10% ของเรือทั้งหมด แต่สามารถตรวจได้ 317 ลำ คิดเป็น 144%
พล.ร.ท.จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะผู้แทน ศปมผ. กล่าวว่า ขณะนี้การแก้ไขปัญหาของ ศปมผ. ตอบโจทย์ทุกข้อตามที่คณะกรรมการอียูได้ให้ไว้ อาทิ ความก้าวหน้าเรื่องที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกฎหมาย แผนปฏิบัติการของชาติ แผนการต่อต้านของไอยูยูตามมาตรฐานสากล ที่ได้ออกเป็นกฎหมายไปแล้ว การบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานต่างๆ การตรวจโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำ การตรวจเรือประมงในทะเลทั้งในและนอกน่านน้ำ โดยเฉพาะการวางและพัฒนาระบบ เอ็มซีเอส วีเอ็มเอส การติดตั้งวีเอ็มเอสในเรือทั้งหมด การติดตามและตรวจสอบเรือประมงย้อนกลับ
“ขณะนี้ไม่มีการใช้แรงงานทาส แรงงานเด็กในระบบแรงงานประมงของไทยแล้ว และหากคณะกรรมการอียูพอใจการดำเนินการดังกล่าว ก็จะส่งผลต่อการพิจารณาการเลื่อนอันดับการค้ามนุษย์ไทย เพราะจะทำให้เห็นผลที่ชัดเจน และทำให้สหรัฐได้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เชื่อว่าจะได้คะแนนเพิ่มแน่นอน” พล.ร.ท.จุมพล กล่าว
ถึงแม้ว่า การแก้ปัญหาแรงงานประมง ของ ศปมผ. จะไม่ใช่ทั้งหมดของการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาพใหญ่ ที่ครอบคลุมไปถึงการใช้แรงงานทุกอุตสาหกรรมของไทย การค้าประเวณี ฯลฯ แต่นั่นก็เปรียบเสมือนใบผ่านทาง ที่สร้างความหวังให้รัฐบาลในการปลดล็อกประเทศไทยหลุดจากเทียร์ 3.
ขอบคุณข่าวจาก