คลิปอ้างดูหมิ่นศาสนาระบาด อีกครั้งกับสงครามสร้างหวาดระแวง
ในรอบหลายสัปดาห์มานี้ กระแสข่าวที่คนสามจังหวัดแทบทุกพื้นที่ ทุกวงการ ทุกร้านน้ำชาตั้งวงพูดจา ไม่เว้นแม้แต่บรรดาแม่บ้านทั้งหลาย รวมทั้งกลุ่มวัยรุ่นหญิงชาย ก็คือการแพร่ระบาดของคลิปเสียงและภาพที่ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีเนื้อหาดูหมิ่นศาสนาอิสลามและศาสนาพุทธอย่างชัดแจ้ง
จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า คลิปลักษณะดังกล่าวที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางมีถึง 4 คลิป แต่มีการบิดเบือนข้อมูลบางประการเพื่อหวังผลให้คลิปถูกกระจายอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว ดังนี้
1.คลิปเสียงเพลงที่อ้างว่าเป็นของนักร้องแร็พชื่อดัง
2.คลิปเสียงเพลงที่อ้างว่าเป็นของนักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อก้อง
3.คลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นจุฬาราชมนตรี หรือรองจุฬาราชมนตรี กำลังอ่านคุตบะห์ตำหนิการกระทำของนักร้องแร็พชื่อดังและนักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อก้อง
4.คลิปพระสงฆ์ที่อ้างว่าเข้ารับอิสลามแล้วกล่าวโจมตีศาสนาพุทธ
นอกจากนั้นยังมีภาพนิ่งตัดต่อในทำนองลบหลู่สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องมุสลิมทั่วโลกด้วย
อย่างไรก็ดี จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า สามารถตามหาคลิปมายืนยันได้เพียง 2 คลิปเท่านั้น ส่วนอีก 2 คลิปยังเป็นเพียงการพูดปากต่อปาก หาต้นตอไม่ได้ โดยคลิปที่ปรากฏจริงและมีการส่งต่อกันจริงคือ คลิปเสียงเพลงที่อ้างว่าเป็นของนักร้องแร็พชื่อดัง กับคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นรองจุฬาราชมนตรีกำลังอ่านคุตบะห์ ทว่า เมื่อนำคลิปดังกล่าวมาเปิดพิสูจน์ กลับพบข้อเท็จจริงดังนี้
1.คลิปเสียงเพลงที่อ้างว่าเป็นของนักร้องแร็พชื่อดังนั้น ฟังแล้วไม่ใช่เพลงหรือเสียงร้องของนักร้องแร็พรายที่ถูกพูดถึง แต่มีเสียงเพลงที่เป็นภาษาไทย เนื้อหาในเชิงลบหลู่ศาสนาอิสลามจริง
2.คลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นรองจุฬาราชมนตรีกำลังอ่านคุตบะห์นั้น ปรากฏว่าตำแหน่งรองจุฬาราชมนตรีไม่มีอยู่ในสารบบ และเมื่อตรวจสอบไปยังสำนักจุฬาราชมนตรี ก็ได้รับการยืนยันว่า ทั้งจุฬาราชมนตรีคนเก่า นายสวาสดิ์ สุมาลยศักดิ์ กับจุฬาราชมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล ไม่เคยอ่านคุตบะห์ที่มีเนื้อหาลักษณะนี้
สำหรับคลิปเสียงเพลงที่อ้างว่าเป็นของนักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อดัง กับคลิปพระสงฆ์ที่อ้างว่าเข้ารับอิสลามแล้วกล่าวโจมตีศาสนาพุทธนั้น แม้จะพยายามค้นหาจากบุคคลที่อ้างว่ามีหรือเคยฟังคลิปจากหลายๆ พื้นที่ แต่เมื่อให้ลองส่งมาให้จริงๆ กลับไม่มีใครมี เป็นแต่เพียงเสียงร่ำลือว่ามี
ปลุกเรื่องเก่าสร้างกระแสใหม่
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า ประเด็นเกี่ยวกับนักร้องเพลงแร็พชื่อดัง และนักร้องเพลงเพื่อชีวิตชื่อก้องของเมืองไทย กระทำการส่อไปในทางดูหมิ่นศาสนาอิสลามนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยในครั้งนั้นนักร้องเพลงเพื่อชีวิตคนดังกล่าวให้สัมภาษณ์นิตยสารฉบับหนึ่ง มีเนื้อหาเข้าข่ายดูหมิ่นศาสนาจริง และต่อมาทางนักร้องรายนี้ก็ได้เปิดแถลงข่าวขอโทษ รวมทั้งทำหนังสือขอโทษอย่างเป็นทางการไปยังสำนักจุฬาราชมนตรี
ในปีเดียวกัน นักร้องเพลงแร็พชื่อดังก็ได้นำเสียงที่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนาไปมิกซ์ใส่ในผลงานเพลงของเขา ต่อมาเมื่อมีผู้ทักท้วง เขาก็ยอมออกมาเปิดแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
นายจิรภัฏ ฤกษ์มณีรัตน์ คณะทำงานของจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ทั้งสองกรณีเป็นเรื่องเก่าและจบไปหมดแล้ว จึงไม่ทราบว่ามีการหยิบยกขึ้นมาพูดอีกทำไม ส่วนเสียงอ่านคุตบะห์ที่อ้างว่าเป็นของรองจุฬาราชมนตรีนั้น ประเทศไทยไม่มีตำแหน่งรองจุฬาราชมนตรี ขณะที่จุฬาราชมนตรีก็ไม่เคยอ่านคุตบะห์เรื่องนี้
"เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเก่า แต่กลับนำมาพูดถึงอีกในขณะนี้ ถือเป็นการยุยงให้เกิดความขัดแย้งกัน เรื่องทั้งหมดจบลงแล้ว คนพูดหรือคนที่ทำเพลงก็ได้ขอโทษแล้ว เขาอาจจะไม่รู้ เราต้องให้ความรู้เขา ไม่ใช่สร้างศัตรู" นายจิรภัฏ ระบุ
แหล่งข่าวจากสำนักจุฬาราชมนตรี เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เสียงที่อ้างว่าเป็นรองจุฬาราชมนตรีนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเสียงของนักการศาสนาคนหนึ่งซึ่งเป็นนักการศาสนารุ่นใหม่ และมักแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมา แต่เสียงดังกล่าวไม่แน่ว่าเป็นการอ่านคุตบะห์หรือการพูดระหว่างการบรรยาย แต่เนื้อหาที่อ้างถึงต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องเก่าและจบไปหมดแล้ว
แฉมือมืดจงใจปล่อยคลิปตอกลิ่ม
การตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" ยังพบว่า มีความพยายามจากบางกลุ่มที่ต้องการเผยแพร่คลิปที่อ้างถึงนี้ เพื่อหวังสร้างกระแสให้เกิดความหวาดระแวงระหว่างคนสองศาสนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพบข้อสังเกตหลายประการ กล่าวคือ
1.เป็นความพยายามจับแพะชนแกะ ด้วยการนำเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตซึ่งแม้จะจริงแต่ก็จบไปแล้ว มาสร้างกระแสขึ้นใหม่
2.คลิปเสียงเพลงที่อ้างว่าเป็นของนักร้องแร็พชื่อดังระดับประเทศนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่ของนักร้องคนดังกล่าว แต่เป็นของนักร้องอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่มแคบๆ และเพลงนี้ไม่ใช่เพลงที่อัดขาย หรือนำออกวางตลาดเพื่อจำหน่าย แต่เจ้าตัวชี้แจงผ่านอินเทอร์เน็ตว่าเป็นเพลงที่ทำเอาไว้ส่วนตัวนานแล้ว ทว่าหลุดออกไป และถูกนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทิวบ์
อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ในยูทิวบ์ก็เป็นที่รู้ในวงแคบๆ เช่นกัน แต่มีความพยายามนำเพลงดังกล่าวมาทำเป็นคลิปเผยแพร่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอ้างว่าเป็นของนักร้องแร็พซึ่งโด่งดังกว่าและเป็นที่รู้จักมากกว่า ประกอบกับมีประวัติเคยกระทำผิดพลาดเกี่ยวกับศาสนาอิสลามมาแล้ว จึงถือว่าผู้ที่เผยแพร่คลิปเหล่านี้จงใจกระทำการอย่างแยบยล
3.คลิปเสียงเพลงที่อ้างว่าเป็นของนักร้องเพื่อชีวิตชื่อก้อง ไม่สามารถหาต้นตอได้ว่าเป็นเพลงอะไร หรือมีเนื้อร้องว่าอะไร แต่กลุ่มที่เผยแพร่คลิปใช้การปล่อยข่าวโดยอ้างเรื่องเดิมที่มีมูลอยู่แล้ว คือการให้สัมภาษณ์ของนักร้องรายนี้ในนิตยสารฉบับหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2549 ทำให้คนฟังเกิดความสับสนและโน้มเอียงไปว่านักร้องรายนี้อาจจะแต่งเพลงดูหมิ่นศาสนาจริง
4.คลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นของรองจุฬาราชมนตรี เป็นการอ้างทั้งๆ ที่ไม่มีตำแหน่งนี้อยู่จริง แต่คนทั่วไปไม่ทราบ การอ้างเช่นนี้เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้กับคลิปอื่นๆ ที่มีการปล่อยออกมาว่าเป็นเรื่องจริง
5.เมื่อคลิปทั้ง 3 คลิปแรกถูกเผยแพร่ไประยะหนึ่ง ก็มีการสร้างกระแสคล้ายๆ การตอบโต้ ด้วยการปล่อยคลิปพระสงฆ์ที่อ้างว่าเข้ารับอิสลามกล่าวโจมตีศาสนาพุทธบ้าง จากนั้นก็มีภาพนิ่งตัดต่อในลักษณะลบหลู่สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลามแพร่ตามมา โดยนำไปวางตามตลาด จึงเชื่อได้ว่ากลุ่มที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างความขัดแย้งหวาดระแวงระหว่างศาสนาอย่างชัดเจน
จี้รัฐรีบสะสาง-มีบางกลุ่มได้ประโยชน์
ด้วยการปล่อยข้อมูลอย่างแยบยล มีเรื่องเก่าที่มีมูลอยู่บ้างผสมกับเรื่องปัจจุบัน ทำให้พี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพที่ได้ฟังคลิป หรือรับคลิปทางโทรศัพท์มือถือเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง และรู้สึกโกรธแค้น จากการสอบถามหลายๆ คนยอมรับว่ารู้สึกไม่ดีต่อพี่น้องไทยพุทธ
ผู้นำศาสนารายหนึ่ง กล่าวว่า ไม่ว่าคลิปจะเป็นของจริงหรือไม่ แต่ก็เป็นอันตรายสำหรับสังคมชายแดนภาคใต้ที่ละเอียดอ่อนมากอยู่แล้ว เมื่อมาเจอลักษณะเหมือนการปล่อยข่าวลือแต่มีมูลแบบนี้ ย่อมทำให้ทุกคนเข้าใจผิดได้ และอาจสร้างกระแสแห่งความเกลียดชังระหว่างศาสนาได้
"อยากให้องค์กรที่เกี่ยวข้องออกมาเคลื่อนไหว โดยเฉพาะถ้าไม่ใช่เรื่องจริง สำนักจุฬาราชมนตรีต้องออกมาพูดให้ประชาชนเข้าใจ มิฉะนั้นเรื่องนี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับคนบางกลุ่มไปโดยปริยาย" ผู้นำศาสนารายนี้ ระบุ
จากการสุ่มสอบถามประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้งการพบปะโดยตรงและใช้โทรศัพท์ ทั้ง จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แทบทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้เรื่องคลิปและเคยฟังแล้ว แม้คนที่เดินทางไปมักกะฮ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียและเพิ่งกลับถึงประเทศไทยก็ยังทราบ
นางรอกีเยาะ ชาวบ้านในอำเภอหนึ่งของ จ.ยะลา กล่าวว่า ได้ฟังคลิปเสียงเพลงที่อ้างว่าเป็นของนักร้องแร็พชื่อดังและคลิปที่อ้างว่ารองจุฬาราชมนตรีกำลังอ่านคุตบะห์ นางเชื่อว่าเป็นจริง และรู้สึกโกรธแค้นที่มีคนมาดูถูกศาสนาที่นางนับถือ
"ตอนนี้ไม่ว่าจะไปไหน วงไหน ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านน้ำชา ตอนเช้า ตอนเย็น ก็ต้องมีคนพูดเรื่องนี้ ทุกคนเจ็บแค้น แต่ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร อย่างมากก็ละหมาดฮายัดขอพรจากอัลลอฮ์"
นักเรียนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิลามในเขต อ.เมืองยะลา บอกว่า เมื่อได้ยินคลิปที่มีเนื้อหาเช่นนี้ ทุกคนก็ต้องโกธร มีใครบ้างที่ไม่โกธรเมื่อมีคนมาด่าว่าศาสนาของตัวเอง คิดว่าไม่มีใครยอมรับได้ และไม่ว่าเรื่องจะเกิดมานานแค่ไหน แต่พอได้ฟังก็จะรู้สึกเหมือนเพิ่งเกิดขึ้น และโกรธทุกครั้ง แต่ยืนยันว่าไม่มีทางที่จะมาทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาในอิสลาม
ขณะที่อิหม่ามรายหนึ่งจาก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า รู้เรื่องคลิปมาประมาณ 3-4 เดือนแล้ว เท่าที่ฟังเสียงชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกโกรธมาก แต่ก็ไม่มีใครทำอะไร พูดแล้วก็เงียบ แต่ก็เชื่อว่าทุกคนที่รับรู้เรื่องนี้คงฝังใจ และรู้สึกไม่ดีกับบุคคลที่ถูกอ้างถึงแน่นอน
"ผมว่าเสียงในคลิปจะจริงหรือไม่จริงไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือทุกคนต้องหันมาให้น้ำหนักเรื่องการนำคลิปแบบนี้มาเผยแพร่ เพราะจะเป็นปัญหา โดยเฉพาะในพื้นที่อ่อนไหวเช่นสามจังหวัด ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรีบดูแล รีบชี้แจง ไม่ต้องรอให้ชาวบ้านออกมาเคลื่อนไหว ต้องรีบตรวจสอบว่าความจริงคืออะไร แล้วพูดให้ชาวบ้านเข้าใจ มิฉะนั้นจะยิ่งลามเป็นไฟไหม้ฟาง" เป็นเสียงเตือนจากอิหม่าม อ.ระแงะ
ด้าน จิรภัฏ ฤกษ์มณีรัตน์ คณะทำงานของจุฬาราชมนตรี เรียกร้องว่า อิสลามไม่เป็นศัตรูกับผู้ใด และการอยู่ร่วมกันในสังคมต้องมีสติ จึงขอให้พี่น้องมุสลิมตั้งสติให้มั่น และอย่าแก้ปัญหาด้วยอารมณ์
จากความเคลื่อนไหวในพื้นที่ตลอดหลายสัปดาห์ที่มีความพยายามเผยแพร่คลิปชุดนี้ ชัดเจนว่ามีบางกลุ่มได้ประโยชน์จากความสับสนที่เกิดขึ้น และดูเหมือนรัฐไทยโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงจะตกขบวนเหมือนเคย ทั้งๆ ที่เมื่อปีก่อนก็เพิ่งโดนพิษ "คลิประบาด" จนอ่วมมาครั้งหนึ่งแล้ว!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- จากคลิปเสียงอ้างดูหมิ่นศาสนา ถึงข่าวปริศนา "อาร์เคเค" บริจาคซื้อเรือช่วยน้ำท่วม
- "คลิปฉาว"ระบาดใต้...อีกหนึ่งปฏิบัติการข่าวลือในสงครามชิงมวลชน
http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/1664-2010-04-16-04-34-12.html