สอนเด็ก “คิดก่อนกิน” ชวนแยกขนมเลียนแบบ “ไฟจราจร”
ทันตแพทย์ใน จ.พะเยา หนุนโรงเรียนสอนเด็กคิดก่อนกิน ชวนแยกขนมตามสัญญาณไฟจราจร เพื่อลดฟันผุในเด็ก อันมีผลไปสู่พัฒนาการของเด็กอันเนื่องมาจากไม่สามารถใช้ฟันบดเคี้ยวอาหารที่เป็นประโยชน์ได้
รพ.แม่ใจ อ.แม่ใจ จ.พะเยา เป็นโรงพยาบาลหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนคนไทยอ่อนหวานกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานมาตั้งแต่ปี 2552 โดยการขับเคลื่อนของฝ่ายทันตกรรม มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย คือเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและประถมศึกษาที่อยู่ในความรับผิดชอบ 20 แห่ง และสามารถขยายผลสู่การมีส่วนร่วมชุมชน
ปีแรกของการขับเคลื่อนมุ่งเน้นทางด้านการรณรงค์บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ปีต่อมาได้จัดประกวดเมนูอ่อนหวานโดยการให้แม่ครัวของแต่ละศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคิดค้นเมนูอาหารอ่อนหวานเพื่อรวบรวมเป็นต้นแบบเมนูอ่อนหวานของจังหวัด
เมื่อโครงการในปีแรก ๆ ประสบความสำเร็จ ได้ผลตอบรับที่ดี รพ.แม่ใจ จึงขยายผลไปยังการให้ความรู้เรื่องพฤติกรรมการบริโภคของเด็ก เพื่อลดการบริโภคน้ำหวาน น้ำอัดลม และขนมกรุบกรอบ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคฟันผุ และโรคอ้วน ด้วยการคัดแยกขนมตามสีสัญญาณไฟจราจร และร่วมมือกับ รพ.จุน คิดค้นสื่อการสอน “วงล้อขนมสามสี” ขึ้นเพื่อให้เด็กได้สนุกและเข้าใจได้ง่าย
ทพ.ธิติพันธุ์ อวนมินทร์ ทันตแพทย์ชำนาญการ รพ.แม่ใจ ผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าว่า อย่างที่เราทราบกันว่าเด็กกับน้ำหวาน น้ำอัดลม หรือกขนมกรุบกรอบเป็นของคู่กัน เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กในพื้นที่ของเราลดการกินขนมพวกนี้ให้น้อยลงหรือกินแล้วต้องมีวิธีการจัดตัวเองอย่างไร และทำอย่างไรให้มีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดการกินขนมกรุบกรอบด้วยเช่นกัน โดยแรก ๆ เราส่งผ่านความรู้เรื่องขนมปลอดภัยไม่ปลอดภัยไปยังครู พ่อแม่หรือผู้ปกครอง เพื่อให้เลือกขนมให้เด็กกินได้อย่างถูกทาง โดยแยกเป็น “ขนมยิ้ม” กับ “ขนมร้องไห้” โดยให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองคัดแยกขนมตามคำกลอนที่เราคิดขึ้นว่า “ไม่หวานไม่เหนียวติดฟัน ไม่เค็มไม่มันเกินไป ของว่างต้องมีกากใย เพื่อให้ลูกหลานฟันดี” ถ้าขนมชิ้นไหนผ่านเกณฑ์ทั้ง 4 นี้ก็จะเป็นขนมยิ้ม ให้เด็กกินได้ แต่ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์จะเป็นขนมร้องไห้ หรือขนมอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งเมื่อคักแยกแบบนี้แล้ว พบว่าแทบไม่มีขนมไหนเลยผ่านเกณฑ์ขนมยิ้ม กลายเป็นว่าตะกร้าขนมร้องไห้มีเยอะมาก ไม่มีทางเลือกให้เด็กได้กินเลย
เมื่อเจอปัญหามีแต่ขนมร้องไห้ ก็คิดว่าให้กินได้แต่อย่ากินบ่อยหรือกินแค่วันละครั้งก็พอ เราก็มาศึกษาเรื่องฉลากไฟจราจร โดยปรับเกณฑ์ตามแบบของเรา เพื่อคัดทำการคัดแยกขนมตามสัญญาณไฟจราจร คือ ขนมปลอดภัย “สีเขียว” ขนมปลอดภัยปานกลาง “สีเหลือง” และ ขนมอันตราย“สีแดง” นอกจากนี้ยังได้นำ “วงล้อขนมสามสี” ซึ่งเป็นสื่อการสอนคัดแยกขนมมาจาก อ.จุน มาใช้ด้วย เพื่อให้เด็กรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้และเข้าใจง่ายขึ้น เมื่อเด็กๆ เรียนรู้การคัดแยกขนมนี้แล้ว เราก็ให้เด็กๆ ไปทำการคัดแยกขนมที่มีจำหน่ายตามร้านค้ารอบรั้วโรงเรียนและชุมชน แล้วนำบรรจุภัณฑ์ตัวอย่างมาติดบนบอร์ดขนมสามสีแสดงไว้ในโรงเรียน
จากนั้นจึงขยายโครงการออกสู่ชุมชน โดยการขอความร่วมมือร้านค้าภายใน อ.แม่ใจ จำนวน 46 ร้าน ในการเข้าร่วมโครงการ “ร้านค้าอ่อนหวาน” โดยแต่ละร้านมีการจัดวางขนมสีเขียวออกมาชัดเจน ร้านค้าอ่อนหวานสามารถขายได้ทุกอย่าง แต่ต้องแยกขนมหวานสีเขียวแยกออกมาเพื่อให้เข้าถึงได้ง่าย ในส่วนร้านค้าในเขต อบต.แม่สุก จำนวน 15 ร้าน นอกจากจะคัดแยกขนมจากชั้นวางแล้ว ยังมีการติดป้ายให้ข้อมูลขนมสามสีด้วย
เมื่อโรงเรียนมีกระบวนการช่วยเหลือลูกหลานท่านแล้ว แต่ยังเหลืออกระบวนการชุมชน เพราะไม่ว่าโรงเรียนจะพร่ำสอนเด็กกินขนมสีเขียว แต่ไม่มีสิ่งแวดล้อมภายนอกหากไม่เอื้อให้เด็กได้กินขนมปลอดภัยก็ไม่มีประโยชน์
“เราไม่ได้คาดหวังให้เด็กคัดแยกขนมได้ถูกต้อง แท้จริงแล้วเราต้องการเพียงแค่ต้องการให้เด็กได้คิดก่อนกิน ไม่ใช่ว่าเจออะไรจับใส่ปาก แต่ขอให้ดูก่อนกินเอาอะไรใส่ปาก เราเน้นการจัดการตนเอง การคิดก่อนกิน คือ การจัดการตนเอง ถ้าไม่กินก็ดี แต่ถ้าจะกินต้องรู้วิธีจัดการตัวเอง กินแล้วต้องแปรงฟันให้สะอาด ดื่มน้ำตาม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ขนมสีแดง ไม่ใช่ยาพิษ กินแล้วต้องรู้ว่าควรทำยังไง ดังนั้นเด็กจึงควรรู้ว่าจะจัดการตนเองอย่างไร” ทันตแพทย์ ธิติพันธุ์ กล่าว
นับตั้งแต่ร่วมขับเคลื่อนโครงการมาตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันสถานการณ์โรคฟันผุในพื้นที่ อ.แม่ใจ มีอัตราปลอดฟันผุมากขึ้น 80% และความชุกของโรคฟันผุลดลงเพราะชุมชนได้มีส่วนร่วม โดย รพ.แม่ใจ เตรียมขยายผลการดำเนินงานในปีต่อไปด้วยการทำ “ร้านค้าสุขใจ” และ “ร้านแอวแค้ว” เพื่อส่งเสริมร้านค้าให้ตระหนักการให้บริการสินค้าเพื่อสุขภาพ เพื่อช่วยยกระดับให้ อ.แม่ใจ เป็น “อำเภอสุขภาพดี” ได้ในอนาคต
มาตรการเพื่อลดการบริโภคน้ำหวาน น้ำอัดลม และขนมกรุบกรอบ ของ รพ.แม่ใจ ไม่อาจประสบความสำเร็จได้หากขาดความร่วมมือจากชุมชน ร้านค้า โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ขานรับแนวทางเพื่อให้คนในตำบลมีสุขภาพดี
จำรัส เขียวงาม ครูชำนาญการ โรงเรียนบ้านเหล่า ต.แม่สุก กล่าวว่า โรงเรียนบ้านเหล่าเป็นโรงเรียนระดับเพ็ชร เราปลูกฝังเด็กให้ ลด ละ เลิก ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม เมื่อ รพ.แม่ใจ มีโครงการ ขนมสามสี เราเลยคิดโครงการนี้ขึ้นโดยบูรณาการเข้ากับวิชาคณิตศาสตร์ ในการสอนแผนภูมิแท่งซึ่งแยกตามสารอาหารหรือสีของขนม วิชาคณิตศาสตร์ที่เด็กๆ ไม่ค่อยชอบ เมื่อเรามีตรงนี้เขามาเด้กก็สนุก มีความสุข ในการเรียน เป็นการเรียนรู้อย่างมีความสุข นอกจากนี่ยังได้เสริมการสอนโดยการใช้ วงล้อขนมสามสี ร่วมด้วยเช่นกัน
ในส่วนร้านค้ารอบโรงเรียนเราคงไปบังคับให้ขายแต่ขนมสีเขียวไม่ได้ เราปลูกฝังที่ตัวเด็กจะดีกว่าว่าขนมไหนควรกินไม่ควรกิน ซึ่งเด็กที่โรงเรียนจะไม่มีปัญหาเรื่องฟันผุเลย เราสอนให้เด็กรู้จักวิธีการจัดการตนเอง แปรงฟันหลังมื้อหลัง หรือหลังจากการดื่มนมในช่วงบ่ายก็จะต้องบ้วนปากทุกครั้ง
ด้าน นายจตุรงค์ สุวรรณะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่สุก กล่าว ทาง อบต.ให้การสนับสนุนโครงการร้านค้าอ่อนหวาน เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของ อบต. ในการดูดลเรื่องการกอยู่การกิน และสุขภาพของประชาชน โดยให้กองสาธาณสุขลงพื้นที่ร่วมกับบ รพสต. อสม. ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและตรวจสอบร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เรามีการรรงค์และปราสัมพันธ์เรื่องของสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ส่วนการจะขยายจำนวนร้านค้าอ่อนหวานให้เพิ่มมากขึ้นหรือ 100% นั้น ก็คงแล้วการเติบโตของร้านค้าตามจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นใสนอนาคต เพราะเราเป็นเพียง อปท.ขนาดเล็ก เมื่อร้านค้าส่งเสริมขนมสีเขียวแล้ว ขมสีเหลือ สีแดง ก็จะลดน้อยลงไปเอง
การดำเนินงานของโรงพยาบาลแม่ใจในโครงการนี้ ถือเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนการลดบริโภคน้ำตาลระหว่างหน่วยงานและชุมชนที่น่าเอาเยี่ยงอย่าง