เจาะงบ 7 โครงการ 2 มูลนิธิ "วิเชียร พงศธร" อดีตบอร์ด สสส.
"...บนความหลากหลายของการขับเคลื่อนงานภาคสังคม ทุนหรือทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ ไม่ได้มีเฉพาะเงิน แต่ยังมีทุนประเภทอื่นที่มีมูลค่ามากกว่านั่นคือ ทุนมนุษย์หรือคนที่มีความรอบรู้ความเชี่ยวชาญ สละเวลามาเป็นอาสาสมัครช่วยทำงานเพื่อสังคมโดยไม่คิดมูลค่า.."
ต่อเนื่องจากกระแสข่าว “ปลดบอร์ดสสส.ทั้ง 7 คน” พร้อมทั้งกระแสข่าวเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน (อ่านประกอบ:เปิดสถานะการดำรงตำแหน่ง 7 อดีตบอร์ด สสส. ) เมื่อเร็วๆ นี้ นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทยและอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ออกมาชี้แจงต่อสื่อมวลชนถึงข้อมูลที่ผิดพลาดและคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับบทบาทการทำงานของเขาในมูลนิธิสองแห่ง ได้แก่ ตำแหน่งอดีตประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม และประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย พร้อมกับยืนยันว่า การดำรงตำแหน่งดังกล่าว ไม่มีอำนาจในการพิจารณาหรืออนุมัติงบประมาณต่างๆ ของสสส. อีกทั้งทางระเบียบก็ได้ห้ามกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมูลนิธิอนุมัติงบประมาณ ซึ่งโครงการที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิทั้งสองแห่งนั้น เป็นการอนุมัติงบประมาณก่อนที่เขาจะเข้ามาเป็นบอร์ดสสส. และหลังจากที่ได้ลาออกจากมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมแล้วด้วย
สำหรับรายละเอียดโครงการต่างๆ มีดังต่อไปนี้
มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม รับการสนับสนุนงบประมาณจากสสส.จำนวน 5 โครงการ ก่อนนายวิเชียร พงศธร ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสสส. เมื่อ 7 สิงหาคม 2557 หลังจากนั้นนายวิเชียร ได้ลาออกจากตำแหน่งบอร์ด สสส.เมื่อ 13 สิงหาคม 2557
จะเห็นได้ว่า โครงการทั้งหมดนั้นเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี บางโครงการเป็นโครงการปีต่อปี
ชื่อโครงการ | วันที่อนุมัติ |
พัฒนาความรู้และเครื่องมือปฏิบัติการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม | 4 ธันวาคม 2555 |
รณรงค์ขับเคลื่อนการสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ | 15 กันยายน 2556 |
จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการทำงานของผู้พิการนิคมอุตสาหกรรมอมตะ | 17 ธันวาคม 2556 |
พัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร | 27 กรกฎาคม 2557 |
สถานีสร้างสุข |
24 สิงหาคม 2557 |
ด้าน "มูลนิธิเพื่อคนไทย" ที่เคยได้รับการสนับสนุนทุนบางส่วนจาก “สสส.” ซึ่งนายวิเชียร เผยว่า เหตุที่ไม่ลาออกจากมูลนิธินี้ เพราะลักษณะการทำงานเป็นในรูปแบบร่วมกันทำคือต่างฝ่ายต่างออกทุนร่วมกัน
ชื่อโครงการ | วันที่อนุมัติ |
งบประมาณโครงการ (หน่วย : ล้านบาท) |
งบประมาณส่วนของ “สสส.” (หน่วย : ล้านบาท) |
งบประมาณส่วนของ “มูลนิธิเพื่อคนไทยและภาคี” (หน่วย : ล้านบาท) |
ต่างใจไทยเดียว (งานจัด 14-17 ก.ค.2557) |
13 ก.ค. 2557 |
3,000,000 |
1,500,000 | 1,500,500 |
คนไทยขอมือหน่อย ครั้งที่ 1 (งานจัด 2-3 มี.ค.2556) |
26 ก.พ.2556 | 10,802,580 | 4,596,300 | 6,206,280 |
คนไทยขอมือหน่อย ครั้งที่ 2 (งานจัด 14-17 ม.ค.2559) | -- | 8,268,793 | - | 8,268,793 |
อีกทั้ง เงินจำนวนที่ได้รับจาก สสส.นั้นก็มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบทุนประเภทอื่นที่มูลนิธิเพื่อคนไทย ได้สร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีภาคธุรกิจและภาคประชาชน เช่น ค่าดำเนินงานของเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อคนไทย, เจ้าหน้าที่ของภาคีเครือข่าย,ค่าดำเนินงานของออกาไนเซอร์, ค่าสินค้าบริจาคที่ได้รับจากภาคีภาคเอกชนต่างๆ, ค่าช่องทางสื่อที่ได้รับการอนุเคราะห์จากสื่อมวลชนต่างๆ, ค่าพื้นที่การจัดงานที่ได้รับอนุเคราะห์จากศูนย์การค้าใจกลางกรุงเทพฯ, การแสดงของเหล่าศิลปิน, การให้เวลาและความรู้ความเชี่ยวชาญของอาสาสมัครจำนวนมากที่มูลนิธิเพื่อคนไทยได้ระดมการมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเป็น “ผู้จัดร่วม”ในโครงการดังกล่าวมา
อย่างไรก็ตาม นอกจากนายวิเชียร จะเป็นอดีตคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและเป็นกรรมการในชุดต่างๆ แล้ว ยังเป็นอดีตประธานอนุกรรมการ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Governance) ซึ่งเพิ่งมีการแต่งตั้งขึ้นใหม่ไม่ถึง 1 ปี โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ ได้ดำเนินการในโครงการ สำคัญๆ ให้เกิดขึ้นกับ สสส. ได้แก่
(1) การปรับปรุงและพัฒนาคู่มือจรรยาบรรณ หรือ Code of Conduct เพื่อใช้กับสสส.และขยายผลสู่องค์กรผู้รับทุนนำไปปฏิบัติ
(2) พัฒนาระบบเปิดเผยข้อมูลของสสส. ที่ไม่จำกัดแค่งบประมาณต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถติดตามข้อมูลโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติทุนจาก สสส.อย่างสะดวกผ่านระบบออนไลน์และแอพพลิเคชัน คาดว่าจะใช้งานได้ภายในปีนี้
(3) จัดตั้งกรรมการอิสระสามารถตรวจสอบการทำงานของ สสส.ได้ภายใต้แนวคิดของข้อตกลงด้านคุณธรรม (Integrity Pact) โดยคณะกรรมการชุดนี้ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่แล้ว