เปิดสถานะการดำรงตำแหน่ง 7 อดีตบอร์ด สสส.
สรุปสถานการณ์การดำรงตำแหน่ง ของอดีตบอร์ด สสส.ทั้ง 7 ราย ที่เจอมรสุมกระแสข่าวรายวัน ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด ขณะที่สสส.เองก็เป็นคนเชิญให้เข้ามาเป็นกรรมการ ท้ายสุดรัฐบาลคสช.ใช้มาตรา 44 ปลดออกจากตำแหน่ง เพราะคำว่า "มีผลประโยชน์ทับซ้อน" ประภาภัทร-วิเชียร ยื่นลาออกแล้ว
หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้คำสั่ง มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว2557 ปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7 คน กลายเป็นเรื่องราวที่ถูกพูดถึงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
งานนี้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า การสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ สสส.นั้น เป็นแค่การเปิดทางให้มีการตรวจสอบก็ตาม แต่การสั่งปลดกรรมการ สสส.ชุดใหญ่ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากกรรมการ สสส.หลายคน เป็นกรรมการมูลนิธิต่างๆ ที่รับเงินอุดหนุนจาก สสส.เป็นผู้ขอเงินเองและอนุมัติเอง จนเกิดวาทกรรม "ชงเองกินเอง"
หนึ่งในบอร์ดที่ถูกปลด นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ออกมายืนยันหนักแน่นไม่เคยพิจารณาโครงการที่ตนเองเป็นกรรมมูลนิธิ และตั้งแต่เป็นบอร์ดสสส. ก็ไม่เคยมีการเสนอและอนุมัติโครงการจากองค์กรที่เป็นกรรมการอยู่
พร้อมระบุด้วยว่า ข้อมูลที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เผยแพร่นั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องเก่าทั้งสิ้น !!
จากการตรวจสอบสถานะการเป็นกรรมการมูลนิธิ ที่ระบุไว้ในรายงานของคตร. พบว่า ล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2559 นายแพทย์ยงยุทธ ได้ลาออกจากมูลนิธิองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวแล้ว รวมทั้งได้แจ้งความจำนงขอลาออกจากการ เป็นกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
ส่วนนพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานบอร์ด สสส.คนที่ 2 พบว่า นพ.วิชัย เป็นประธาน และรองประธานมูลนิธิอยู่ 6 แห่ง ได้แก่ มูลนิธิสร้างสุขไทย มูลนิธิมิตรภาพบำบัด มูลนิธิแพทย์ชนบท มูลนิธิเด็ก มูลนิธิโกมลคีมทอง และมูลนิธิ 14 ตุลาคม
ขณะที่นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ได้ลาออกจากมูลนิธิวิถีสุข ตั้งแต่ปี 2551 ก่อนมาดำรงตำแหน่งบอร์ด สสส.
นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ ลาออกจากมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์แล้ว
นายสมพร ใช้บางยาง ลาออกจากมูลนิธิณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่แล้วเช่นกัน ซึ่งการรับเป็นกรรมการมูลนิธิฯ เนื่องจากได้รับการทาบทามจาก ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยพิจารณาเห็นว่า เป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานในกระทรวงมหาดไทย ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะเคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด และอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รู้พื้นที่ รู้ตัวบุคคล ในระดับล่างเป็นอย่างดีและกว้างขวางทั่วประเทศ สามารถที่จะช่วยกำหนดทิศทางเชิงนโยบาย และการรณรงค์ในการลด ละ เลิก บุหรี่ในกลุ่มคนที่อยู่ในชนบทได้
รศ.ประภาภัทร นิยม ปัจจุบันยังคงเป็นอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ และเป็นกรรมการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ
ทั้งนี้ โครงการที่สถาบันอาศรมศิลป์ ทำงานร่วมกับสสส.เป็นลักษณะความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ โดยมีการทำกระบวนการร่วมกับชุมชน และดำเนินการโดยชุมชนเจ้าของพื้นที่ และในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2558 รศ.ประภาภัทร ก็ยื่นลาออกจากตำแหน่งกรรมการสสส.เช่นกัน
สุดท้ายนายวิเชียร พงศธร ยังคงเป็นประธานมูลนิธิเพื่อคนไทย (เป็นสัญญาความร่วมมือการจัดกิจกรรมร่วมกัน ) ส่วนมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ได้ลาออกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 ก่อนมาดำรงตำแหน่งบอร์ดสสส. และล่าสุดก็ยื่นลาออกจากตำแหน่งกรรมการสสส.แล้วเมื่อต้นเดือนมกราคม 2559
ทั้งหมด คือ สรุปสถานการณ์การดำรงตำแหน่งของอดีตบอร์ด สสส.ทั้ง 7 ราย ที่เจอมรสุมกระแสนข่าวรายวัน ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นทำงานเพื่อสังคมมาโดยตลอด ในขณะดำรงตำแหน่งกรรมการกองทุนสสส.ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติโครงการของมูลนิธิตลอดกระบวนการ แต่เป็นการอนุมัติตามหลักเกณฑ์การพิจารณาทุนสนับสนุนของสสส.และตามพ.ร.บ.กองทุนฯ ท้ายที่สุดรัฐบาลคสช.ใช้มาตรา 44 ปลดออกจากตำแหน่ง เพราะคำว่า "มีผลประโยชน์ทับซ้อน"