"การ์ดพลังสิทธิ" เกมสร้างสรรค์เพื่อสังคมสันติสุข
ที่ผ่านมาบ้านเรามีแต่ข่าวร้ายๆ เรื่องเกม เช่น เด็กและเยาวชนติดเกมคอมพิวเตอร์ หรือเด็กๆ หมกมุ่นกับเกมการ์ดพลัง บางคนเล่นกินเงินกันด้วยซ้ำ แต่เรื่องดีๆ เกี่ยวกับเกมมักไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าว
อย่างเช่น “เกมการ์ดพลังสิทธิ” ที่กำลังจะเล่าให้ฟังนี้...
“การ์ดพลังสิทธิ” หรือ Rights card ได้รับการสร้างสรรค์เป็นเกมสำหรับเด็กๆ และเยาวชน โดย มูลนิธิฟรีดริช เนามัน องค์กรไม่แสวงหากำไรจากเยอรมนี ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม โดยมีสโลแกนของเกมว่า “เล่น เรียน แล้วเปลี่ยนแปลง เพื่อสิทธิและเสรีภาพไปกับเกมการ์ดพลังสิทธิ” วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เล่นได้เรียนรู้และคิดแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ผ่านแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในชีวิตจริง
“เกมการ์ดพลังสิทธิ” จัดว่าเก๋ไก๋และทันสมัยมากๆ เพราะมีส่วนคล้ายกับ “เกมการ์ดพลัง” ที่เด็กๆ นิยมเล่นกันอยู่แล้วตามโรงเรียน แต่การ์ดพลังที่ว่านั้น เป็นการ์ดภาพเกี่ยวกับตัวการ์ตูนหรือซุปเปอร์ฮีโร่ต่างๆ ในการ์ตูนหรือเกมคอมพิวเตอร์ วิธีเล่นก็แค่นำการ์ดมาลง เพื่อสู้กับการ์ดของอีกฝ่ายหนึ่ง หากเป็นการ์ดที่มีพลังสูงกว่า ฝ่ายที่ลงการ์ดนั้นก็จะได้การ์ดของฝ่ายแพ้ไป ใครเก็บการ์ดได้มากกว่าถือว่าเป็นผู้ชนะ
แต่เกมการ์ดพลังสิทธิ มีการ์ดเหมือนกัน ทว่าภาพบนการ์ดจะเป็นสถานการณ์จำลองเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ เรียกว่า “การ์ดสถานการณ์” และจะมีการ์ดอีกประเภทหนึ่งเป็น “การ์ดพลัง” ที่ภาพบนการ์ดเป็นแนวทางแก้ไขสถานการณ์การละเมิดสิทธิ
“การ์ดสถานการณ์” จะเป็นการ์ดสีแดง จำนวน 30 ใบ ส่วน “การ์ดพลังสิทธิ” เป็นการ์ดสีเขียว มี 36 ใบ นอกจากนั้นยังมี “การ์ดเป้าหมาย” หรือ “การ์ดภารกิจ” อีก 20 ใบ เป็นสีน้ำเงิน และ “การ์ดพิเศษ” สีเหลืองอีก 15 ใบ เพื่อเสริมความสนุกและดึงไหวพริบปฏิภาณในการเล่น
วิธีเล่นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก แต่หลักๆ คือ จะเล่นเดี่ยวๆ หรือเป็นทีมก็ได้ แต่ควรมี 4-5 คนหรือ 4-5 ทีมจะลงตัวที่สุด เมื่อเริ่มเล่นให้แบ่งการ์ดเป็น 2 กลุ่ม คือ การ์ดสถานการณ์ หรือการ์ดสีแดง เป็นกองกลาง ส่วนการ์ดพลังสิทธิ สีเขียว แจกให้ผู้เล่นทุกทีม ทีมละ 4 ใบ ยกเว้นทีมสุดท้ายแจก 5 ใบ
จากนั้นให้เปิดการ์ดสถานการณ์ สีแดง จำนวน 5 ใบ วางไว้กลางวง แล้วให้ผู้เล่นช่วยกันอ่านการ์ดทีละใบให้ทุกคนได้ยิน จากนั้นจึงให้ผู้เล่นเปิดการ์ดพลังสิทธิ สีเขียว เพื่อแก้ไขสถานการณ์การละเมิดสิทธิตามการ์ดที่เปิดขึ้นมา
จุดเด่นของเกมคือการฝึกให้ผู้เล่นได้อภิปราย เสนอแนวคิด เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้เล่นคนอื่นๆ เพราะเมื่อผู้เล่นเปิดการ์ดพลังสิทธิ จะต้องอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงเลือกการ์ดใบดังกล่าวมาแก้สถานการณ์การละเมิดสิทธินั้นๆ เพื่อให้ผู้เล่นที่เหลือได้ร่วมกันตัดสินใจว่า สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้จริงหรือไม่ หากแก้ไขได้ ก็ถือว่าจบตาของผู้เล่นคนนั้น แล้วก็วนไปยังผู้เล่นคนอื่นๆ ตามเข็มนาฬิกา ถือเป็นการฝึกให้ได้พูด ได้แสดงความเห็น และรับฟังความคิดของคนอื่นด้วย
ผู้เล่นคนใดเอาชนะสถานการณ์ได้มากที่สุด หมายถึงการรวมคะแนนของกลุ่มการ์ดพลังสิทธิได้มากกว่าหรือเท่ากับคะแนน หรือ “เลขพลัง” ของการ์ดสถานการณ์ ก็จะสามารถเก็บการ์ดสถานการณ์เพื่อนับรวมเป็นคะแนนของตนได้ เมื่อสถานการณ์ถูกแก้ไขได้ทั้งหมด ผู้เล่นที่สะสมคะแนนได้มากที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ
เนื้อหาหรือสถานการณ์จำลองบนการ์ดสถานการณ์ และการ์ดพลังสิทธิ นำมาจากสาระสำคัญในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นข้อตกลงขององค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ที่ได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้ใช้เป็นแนวทางในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองในประเทศของตน
สิทธิพื้นฐานที่ได้รับการรับรอง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ สิทธิมนุษยชนเบื้องต้น, สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกคนต่อระเบียบสังคม และการรับรองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐานระหว่างประเทศ
เนื้อหาที่ถูกนำมาแปลงเป็นการ์ดสถานการณ์ และการ์ดพลังสิทธิในเกม ก็เช่น มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล, บุคคลจะถูกกระทำการทรมาน หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้, ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย, ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ, บุคคลจะถูกจับกุม กักขัง ตามอำเภอใจไม่ได้, บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัย การสื่อสาร หรือจะลบหลู่เกียรติยศและชื่อเสียงไม่ได้, ทุกคนมีสิทธิในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ และมีอิสรภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อของตนในชุมชนหรือในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น
“เกมการ์ดพลังสิทธิ” ถูกส่งลงไปในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ มูลนิธิฟริดริช เนามัน ประเทศไทย และ กลุ่มบ้านอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน
การทำให้เกมการ์ดพลังสิทธิแพร่หลายในพื้นที่ชายแดนใต้ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลกับพื้นที่ซึ่งมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบอย่างดินแดนปลายด้ามขวาน
ทั้งนี้ ได้มีกิจกรรมทดลองเล่มเกม โดยมีเป้าหมายเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนต้นในจังหวัดปัตตานีและสงขลา ได้แก่ โรงเรียนแหลมทองอุปถัมภ์ จังหวัดปัตตานี, โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา จังหวัดปัตตานี และ โรงเรียนแสงธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดสงขลา
ล่าสุด ในวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ และกลุ่มอาสาเพื่อเด็กและเยาวชน ก็ได้จัดกิจกรรมเล่มเกมการ์ดพลังสิทธิ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีด้วย บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ครึกครื้น เด็กๆ และเยาวชนได้รับความรู้ทั้งเรื่องการรักษาสิทธิของตน พร้อมๆ กับการเคารพสิทธิของผู้อื่น
และนั่นคือหัวใจสำคัญของการสร้างสังคมสันติสุขที่ทุกฝ่ายเพรียกหา!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-3 เกมการ์ดพลังสิทธิ (ภาพจากทีมข่าวอิศรา)
4 มูลนิธิฟรีดริช เนามัน นำเกมการ์ดพลังสิทธิไปนำร่องเล่นในหลายโรงเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ภาพจากเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ) http://www.fnfthailand.org/node/528