"พ่อตาย-ยางถูก" ทำเด็กๆ ชายแดนใต้หลายชีวิตพลาดงานวันเด็ก
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แม้จะมีสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ก็ยังมีการจัดกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติทุกปี โดยหลายพื้นที่จัดกิจกรรมล่วงหน้าก่อนถึงวันเด็กจริงๆ ซึ่งปีนี้จัดกันในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม
เป็นที่ทราบกันดีกว่า ปัญหาความไม่สงบ ทำให้เกิดความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยกับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่เฉพาะเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ดังจะเห็นได้จากสถิติที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. ในวาระ 12 ปีไฟใต้ พบว่ายอดผู้เสียชีวิตทุกกลุ่มจากเหตุความมั่นคงมีทั้งสิ้น 3,949 คน เป็นประชาชนทั่วไปมากที่สุดถึง 2,624 คน
แน่นอนว่าในจำนวนนั้นมีเด็กและเยาวชนรวมอยู่ด้วย!
ข้อมูลจาก "กลุ่มลูกเหรียง" องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านเด็กในพื้นที่ชายแดนใต้ ระบุว่าตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อปี 2547 ถึงปัจจุบันมีเด็กเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไปแล้ว 84 คน บาดเจ็บอีกกว่า 460 คน และที่ต้องเสียพ่อ แม่ หรือทั้งพ่อและแม่ไปจนกลายเป็นเด็กกำพร้าก็มีอีกหลายพันคน
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มลูกเหรียงจึงจัดกิจกรรม "ขอพื้นที่ปลอดภัย" เป็นของขวัญให้เด็กและเยาวชนชายแดนใต้ เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ
นางสาววรรณกนก เปาะอีแตดาโอ๊ะ ประธานกลุ่มลูกเหรียง บอกว่า การจัดกิจกรรมวันเด็กปีนี้เพื่อเป็นการเริ่มต้น "ขอพื้นที่ปลอดภัย" ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับเด็กและเยาวชน พวกเราหวังให้ทุกฝ่ายลดการใช้ความรุนแรงลง
ไม่เพียงปัญหาความไม่ปลอดภัยที่ทำให้เด็กๆ ชายแดนใต้ใช้ชีวิตทั้งเรียนและเล่นอย่างยากลำบาก ผิดจากเด็กและเยาวชนในภูมิภาคอื่นของประเทศ ทว่าปัญหายางพารา พืชเศรษฐกิจหลักของพื้นที่ราคาตกต่ำอย่างหนัก ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เด็กๆ ชายแดนใต้หลายคนไม่มีโอกาสไปเที่ยวงานวันเด็ก และไม่ได้ไปโรงเรียน
"วันเด็กปีนี้ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน ต้องอยู่บ้านกับแม่" เป็นเสียงจาก อุสมาน ลูแบกาเซ็ง เด็กกำพร้าจากจังหวัดปัตตานี
เขากล่าวต่อพร้อมความรู้สึกที่เกินกว่าเด็กอย่างเขาจะแบกรับ..."ผมสงสารแม่ แม่ไม่มีเงินให้ไปเที่ยว แม่บอกว่ามีเงินแค่ได้กินข้าว ได้ไปโรงเรียนก็ถือว่าดีที่สุดแล้ว เพราะพ่อไม่มี แม่ต้องทำงานคนเดียว ยางพาราก็ถูก"
"ของขวัญวันเด็กปีนี้ไม่ต้องการอะไร ขอให้ราคายางสูงๆ และไม่เกิดเหตุรุนแรงกับคนตัดยาง ทุกคนจะได้มีความสุข โดยเฉพาะครอบครัวผม จะได้ไปโรงเรียนโดยไม่ต้องขาดเรียนในวันที่ไม่มีเงินไปโรงเรียน วันไหนที่มีเหตุการณ์รุนแรง ผมก็ไม่ได้ไปโรงเรียน กลัวจะโดนยิงเหมือนพ่อเมื่อปี 2552 ยังจำได้ติดตา ตอนที่นั่งรถจักรยานยนต์กับพ่อวันที่พ่อถูกยิง หลังจากที่พ่อนอนเสียชีวิต ผมกอดพ่อร้องไห้...เสียใจที่สุด ไม่อยากให้มีเหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นอีกเลย"
ประเด็น "พื้นที่ปลอดภัย" ดูจะเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชายแดนใต้ต้องการ สะท้อนว่าทุกคนมีภาพจำที่ไม่ดีเอาเลยจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
"อยากให้ภาคใต้สงบ ไม่อยากให้มีคนตายอีก" อามานี (สงวนนามสกุล) เด็กพิเศษจากจังหวัดยะลาวอนขอของขวัญวันเด็ก พร้อมทั้งบอกว่าไม่มีวันไหนมีความสุขเท่าวันเด็ก อยากให้ทุกวันเป็นวันของเด็กแบบนี้ อยากให้มีความปลอดภัย ไม่ขอของขวัญอะไร แค่ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของพวกเราก็มีความสุขแล้ว
เช่นเดียวกับ เด็กหญิงสุชาดา แก้วใจดี นักเรียนจากจังหวัดปัตตานี ที่บอกว่า วันเด็กปีนี้ อยากให้ทุกคนมีความสามัคคี ไม่ทะเลาะกัน สังคมจะได้สงบสุข ทุกวันนี้ที่เป็นปัญหาเพราะผู้ใหญ่ทะเลาะกัน อยากให้ทุกคนดีกันเพื่อในหลวงของเรา
เป็นความฝันเล็กๆ จากเด็กๆ ที่ปลายด้ามขวาน ซึ่งหากผู้ใหญ่ช่วยกัน ความฝันก็อาจเป็นจริง...