"พลังเด็ก" ความหวังของสังคมไทย
"เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต" คำขวัญที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ไว้ เนื่องในวันเด็กแห่งชาติปี 2559 ซึ่ง “คำขวัญ” ก็คือ “ความคาดหวัง” ที่ผู้ใหญ่ อยากเห็นเด็กๆ หรือลูกหลานเป็น “เด็กดี มีความขยันหมั่นเพียร เป็นคนใฝ่เรียนรู้ เพื่อที่จะพาประเทศก้าวสู่อนาคตที่สวยงาม”
เด็ก ๆ จะเป็นคนดี ใฝ่เรียนรู้ มีความขยันหมั่นเพียรได้หรือไม่ สิ่งสำคัญคือ “ผู้ใหญ่” ต้องเปิดพื้นที่ และให้โอกาสเด็กได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา เพราะ “เด็ก” จะลุกขึ้นมาพัฒนาศักยภาพได้ ต้องมีผู้ใหญ่หนุนหลัง ให้คำแนะนำ กระทั่งบางจังหวะต้องคอย “กระตุ้น” เพื่อให้เด็กได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพตนเองอย่างเต็มขีดความสามารถ
แต่ทั้งหมดต้องมาจากฐานความเชื่อที่ว่า “เด็กพัฒนาได้”
“เพราะเชื่อว่า เด็กทุกคนพัฒนาได้” ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (สกว.) จังหวัดสมุทรสงคราม ในฐานะผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ได้ใช้รูปแบบ community project เป็น “เครื่องมือ” พัฒนาศักยภาพเด็กๆ และเยาวชนในพื้นภาคตะวันตกที่ประกอบด้วยจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี
ชิษนุวัฒน์ เล่าวว่า แต่เดิมได้สนับสนุนกระบวนการทำงานวิจัย เป็นการพัฒนาศักยภาพคน เพื่อให้คนได้ติดอาวุธทางปัญญาและกลับไปพัฒนาพื้นที่ของตนเอง ซึ่งในการทำงานวิจัยที่ผ่านมาก็มีกลุ่มน้องๆ เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ แต่ข้อจำกัดของงานวิจัยคือเป็นโครงการที่ “ผู้ใหญ่คิด” และเด็กเป็นผู้ช่วยอยู่ในทีม เพราะฉะนั้นอาจจะยังไม่เห็นสิ่งที่เป็นความต้องการของเด็กอย่างแท้จริง
ขณะที่ระบบการศึกษาก็พาเด็กไทยไปเรียนรู้เรื่องราวไกลตัวมากเกินไป ทำให้การเรียนรู้ไม่สนุก ดังนั้นโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก จึงเป็น “เครื่องมือ” ที่ดึงให้เด็กได้มาเรียนรู้ท้องถิ่น ให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และรู้ว่า เขาจะอยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร
“เมื่อเด็กเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ เด็กก็จะเข้าใจและสามารถยับยั้งการเปลี่ยนแปลงนั้นโดยดึงฐานทรัพยากร ภูมิปัญญา วัฒนธรรมเดิมกลับมารับใช้ในการเปลี่ยนแปลงได้”
ชิษนุวัฒน์ ยกตัวอย่างเรื่องนาเกลือ ซึ่งเป็นอาชีพดังเดิมของพ่อแม่ปูย่า ตายาย ของคนสมุทรสงคราม เมื่อเด็กสงสัยว่า ทำไมเดี๋ยวนี้คนทำนาเกลือน้อยลง พวกเขาก็ลงไปศึกษาหาสาเหตุ ซึ่งกระบวนการศึกษาก็เป็นลักษณะเดียวกับงานวิจัย คือ การเก็บข้อมูล จดบันทึก นำมาวิเคราะห์ สุดท้ายจึงนำข้อมูลที่ได้มาออกแบบกิจกรรมในการแก้ไขปัญหา
“สำหรับที่นาเกลือ เด็ก ๆ พยายามเพิ่มมูลค่าให้กับเกลือด้วยการไปแปรรูปทำเกลือสปา ประสานร้านค้าในพื้นที่เรื่องการทำตลาด และหาสปอนเซอร์ด้วยตัวของพวกเขาเอง”
นี่คือตัวอย่างของจังหวัด และภูมิภาคตะวันตกที่ได้ริเริ่มสร้างพลเมืองคุณภาพของจังหวัดตนเอง โดยการร่วมกันของพลเมืองผู้ใหญ่จากภาคส่วนต่างๆ ทั้งท้องถิ่น ภาครัฐ ประชาสังคม ประชาชน โดยมีพี่เลี้ยง (Coach) เป็นกลไกสำคัญในการเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองในการร่วมแก้ปัญหาจากโจทย์จริงของชุมชน เกิดทักษะ และสำนึกพลเมือง โดยมีครู ผู้ปกครอง หรือผู้นำชุมชน ร่วมกันสนับสนุน
ไม่ใช่แค่พื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเท่านั้น จังหวัดสงขลา ที่เคยมีหาดทรายขาวสะอาดและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง กำลังค่อย ๆ หมดความงดงามลง แม้ใครจะไม่สังเกตเห็น แต่ "น้ำนิ่ง- อภิศักดิ์ ทัศนีย์" แกนนำเยาวชน Beach for life ที่ไม่อยากให้หาดทรายบริเวณหาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ต้องทรุดโทรมย่ำแย่ไปมากกว่านี้ ได้รวมตัวกันปกป้องหาด
บางกลุ่มทำข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจให้ชุมชนว่า วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้โครงสร้างแข็งมาป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งนั้น ไม่ใช้แนวทางที่ถูกต้องนัก
ขณะที่อีกกลุ่มหันไปศึกษาเรื่องตัวบทกฎหมาย เพื่อที่จะหาลู่ทางให้เยาวชน หรือ ชาวบ้านเข้ามามีส่วนในการจัดการทรัพยากรมากกว่ากรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเพียอย่างเดียว
แต่สิ่งที่ "น้ำนิ่ง" และเยาวชนคนอื่น ๆ อีกนับร้อยคนจะไม่สามารถดำเนินงานได้เลยหากปราศจากการสนับสนุนจาก “สงขลาฟอรั่ม” องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาศักยภาพเยาวชนมานานกว่า 2 ทศวรรษ
"พรรณิภา โสตถิพันธุ์" ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม เล่าว่า โครงการพลังเยาวชนพลเมืองสงขลาเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตและสร้างจิตสำนึกพลเมือง Active Citizen ให้แก่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยผ่านกระบวนการ Coaching ตั้งแต่เริ่มต้นเสนอโครงการไปจนถึงพัฒนาเป็นโครงการที่สมบูรณ์
โครงการฯ เปิดโอกาสให้เยาวชนมีพื้นที่การเรียนรู้จากประเด็น สภาพปัญหาที่สนใจ คิดและลงมือปฏิบัติจริง โดยร่วมมือกันทำงานเป็นทีม มีส่วนร่วมกับชุมชน เชื่อมโยงกับเรื่องจริง สถานการณ์จริง จนเกิดจิตสำนึกพลเมืองจากฐานงานของเยาวชน เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม อธิบายถึงกระบวนการหนุนกลุ่มเยาวชน มีขั้นตอนการดำเนินงานหลัก ๆ คือ ขั้นพัฒนาโครงการของเยาวชนด้วยวิธีกลั่นกรองจากมุมมองหลายมิติ โดยมีกรรมผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง แต่ละประเด็นมาช่วยกันแสดงทัศนะ แสดงความเห็นเพื่อให้เด็ก ๆ มีความเข้าใจ หรือ กระจ่างชัดในโครงการที่ต้องการทำมากขึ้น เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (Ngo) ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้รู้ด้านกฎหมาย เป็นต้น
เธอบอกอีกว่า เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจเป้าหมายของโครงงานที่ตัวเองอยากทำ ขั้นตอนต่อมาก็เข้าสู่ “กระบวนการ Coaching” ซึ่งเด็ก ๆ ลงมือปฏิบัติจริง แต่ในระหว่างการดำเนินงานจะมี “พี่เลี้ยง” หรือ “โค้ช” ที่มีบทบาทสำคัญในการฝังเรื่องทักษะชีวิต เช่นเรื่องของการคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ คิดสร้างสรรค์ ตัดสินใจและเชื่อมโยง ตระหนักรู้ในตน มีความเห็นใจผู้อื่น สามารถจัดการอารมณ์และความเครียด มีความสามารถด้านการสื่อสาร มีความรับผิดชอบต่อสังคมและจิตสำนึกพลเมือง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของทีม เป็นต้น
“พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา" ที่วันนี้ไม่เพียงแต่ส่องแสง "สำนึกพลเมือง" สู่สาธารณชนให้เป็นที่ประจักษ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นต้นแบบของ "พลเมืองเยาวชน" ที่เข้มแข็งซึ่งเปี่ยมไปด้วยศรัทธาและความมุ่งมั่น ในการอนุรักษ์และพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยสำนึกพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคม”
เช่นเดียวกันกับเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ "รุ่งวิชิต คำงาม" หัวหน้าโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เล่าถึงสถานการณ์ก่อนที่จะเริ่มต้นชักชวนภาคีและเครือข่ายที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนากลุ่มเด็กรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจเรื่องราวที่เป็นรากเหง้าของตนเอง เรียกได้ว่า “เป็นการเตรียมเด็กให้เชื่อมต่องานกับผู้ใหญ่ในการดูแลบ้านเกิดตัวเอง”
เขายังบอกถึงผลของการทำโครงการหนึ่งปีที่ผ่านมาด้วยว่า ทำให้เห็นพลังของพลเมืองรุ่นใหม่ของจังหวัดศรีสะเกษที่จะรับช่วงต่องานจากผู้ใหญ่ 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.การสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังจะสูญหาย 2.การเรียนรู้วิถีชีวิตการหาอยู่หากินบนฐานทรัพยากร และ 3.การทำโครงการจิตอาสาเพื่อชุมชน ซึ่งที่ศรีษะเกษเพิ่งผ่าน “การจัดเทศกาลแห่งการเรียนรู้” หรือ Learning Festival ที่นำผลงานของเด็ก ๆ มานำเสนอต่อสาธารณะ และในงานนี้นี่เองที่ทำให้ผู้ใหญ่โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นว่า “เยาวชนพลเมืองศรีษะเกษ” คือหนึ่งความหวังที่จะรับช่วงต่อในการดูแล และรักษาเมืองแห่งนี้
ขณะที่พระครูสุจิณนันทกิจ หรือ พระอาจารย์สมคิด จารณธัมโม ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชนวัดโป่งคำ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่านา ได้ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล และสสส. ทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน เพราะมองเห็นว่ากระบวนการต่างๆ ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลเข้าไปเติมเต็มให้กับเยาวชน ส่งผลให้เยาวชนได้ปรับเปลี่ยน "วิธีคิด" ทำให้มีมุมมองใหม่ว่า ปัญหาทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คนในพื้นที่ต้องเข้ามาร่วมกันรับผิดชอบ
หลังทำโครงการนี้พระอาจารย์สมคิดได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนที่ชัดเจนเรื่องเกิดความสำนึกรักบ้านเกิดมากขึ้น และได้จัดกิจกรรม “พลังสร้างสรรค์ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด” เพื่อให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่แสดงความสามารถของตนเองให้ผู้ใหญ่หรือคนในสังคมได้รับรู้ว่าเยาวชนน่าน ณ วันนี้ พร้อมที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับทุกภาคส่วน
ท้ายสุดพระอาจารย์สมคิดทิ้งท้ายว่า อยากจะให้เด็ก เยาวชน ได้มีส่วนร่วมสร้างมุมมองว่าน่านวันข้างหน้าควรจะเป็นแบบไหน สุดท้ายพวกเขาจะได้เป็น "แกนนำ" ที่มาช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้น่านของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น...
เมื่อเด็ก ๆ ลุกขึ้นมา “ทำเรื่องดี ๆ ที่เป็นประโยชน์อย่างโปร่งใส” คำถามต่อมาคือ “ผู้ใหญ่” จะวางรากฐานสังคมที่พวกเขาจะรับไม้ต่ออย่างไรที่จะทำให้ "เด็กดี หมั่นเพียร เรียนรู้ สู่อนาคต"