ตรวจการบ้านคดีสำคัญใน ป.ป.ช.หลังตีตกปม‘สลายแดง’วัดใจ-กึ๋น‘วัชรพล’?
ตรวจการบ้านคดีสำคัญในชั้น ป.ป.ช. หลังตีตกปม ‘สลายแดงปี’53’ คดีระบายข้าวจีทูจีล็อตใหม่ยังตรวจเช็คอยู่ คดีมันสำปะหลังจีทูจี ‘ครม.มาร์ค-ปู’ โดนสอบอยู่ คดีทุจริตสร้างสนามฟุตซอลใกล้เสร็จแล้ว รอลุ้นปม ‘ราชภักดิ์’ รับสอบหรือไม่
ผ่านมาประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว ที่บรรดากรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหม่ทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ นางสุวรรณา สุวรรณจูฑะ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร และ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ เริ่มต้นทำงานอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ดีมีประเด็นที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้าที่ บรรดากรรมการชุดใหม่ทั้ง 5 รายนี้จะเริ่มงานอย่างเป็นทางการ กรรมการ ป.ป.ช. ชุดเก่าที่เพิ่งหมดวาระไป 5 ราย ได้แก่ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ นายวิชา มหาคุณ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย นายภักดี โพธิศิริ และนายวิชัย วิวิตเสวี มีมติยกคำร้อง ‘ตีตก’ คดีสำคัญ 3 คดีที่ประชาชนต่างให้ความสนใจ และจับตาการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง
หนึ่ง คดีจัดซื้อเรือเหาะและอุปกรณ์ทางการทหารโดยใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท ซึ่งมีคนครหาว่าจัดซื้อแพงเกินจริง โดยมีการกล่าวหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ ครั้งนั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่จากการไต่สวนพบว่า การจัดซื้อดังกล่าวเพื่อเฝ้าตรวจเส้นทางจังหวัดชายแดนใต้ และมีเหตุจำเป็นทำให้ต้องซื้อด้วยวิธีพิเศษ นอกจากนี้ยังผ่านการรับรองจากหน่วยงานของประเทศสหรัฐอเมริกา ป.ป.ช. จึงมีมติยกคำร้อง
สอง คดีเบิกงบประมาณกลางมาจ่ายเงินประกันตัวผู้ต้องขังคดีอาญาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งถูกครหาว่าทำไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ โดยมีการกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่จากการไต่สวนพบว่า การดำเนินการดังกล่าว ได้นำกองทุนยุติธรรมมาใช้ แต่งบมีจำกัดจึงต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากงบกลาง ซึ่งเป็นเงินสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉินมาใช้ด้วย และการช่วยเหลือครั้งนี้ไม่ได้เจาะจงกับกลุ่มการเมืองใด ป.ป.ช. จึงมีมติให้ยกคำร้อง เพราะไม่ปรากฏว่าก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด
สาม เป็นคดีสำคัญที่คนติดตามและสนใจอย่างมาก คือกรณีสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 โดยกล่าวหานายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. (ปัจจุบันเป็น รมว.มหาดไทย) ซึ่งจากการไต่สวนพบว่า ทั้งนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.อ.อนุพงษ์ มีการปรับเปลี่ยนนโยบายในการสลายการชุมนุม โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ให้ตั้งจุดตรวจเฝ้าระวัง เป็นลักษณะ ‘กระชับพื้นที่’ ดังนั้นจึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ทั้งสามรายสั่งให้สลายการชุมนุม ส่วนกรณีที่มีผู้เสียชีวิต โดยเกิดจากการยิงของฝ่ายเจ้าหน้าที่หรือไม่นั้น ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนต่อ เพราะรับเป็นคดีพิเศษไว้อยู่แล้ว และให้พิจารณาความผิดเป็นรายคนไป
(อ่านประกอบ : ‘สุเทพ-ปู’รอด! ป.ป.ช.ตีตกคดีซื้อเรือเหาะ-ใช้งบกลางประกันตัวนักโทษการเมือง, 'มาร์ค-สุเทพ-บิ๊กป๊อก'รอด! คดีสลายแดง ป.ป.ช.ยันทำตามหลักสากล)
โดยเฉพาะคดีที่ หนึ่ง กับ สาม ที่หลายฝ่ายในสังคมมองว่า การลงมติครั้งนี้ส่อมีนัยทางการเมืองแอบแฝง และอาจเอื้อประโยชน์ให้บางฝ่ายการเมืองได้รับผลประโยชน์ ?
ร้อนถึง ‘กระบี่มือหนึ่ง’ นายวิชา มหาคุณ ต้องออกมายืนยันว่าดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมาย พร้อมยกคำสอนว่า “ถ้าวันนี้ถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวพรุ่งนี้”
อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตจากบางฝ่าย ระบุว่า ที่ต้องตีตกคดีที่หนึ่ง กับสามในช่วงกรรมการชุดเก่านั้น เพราะไม่ต้องการให้ถึงมือของ พล.ต.อ.วัชรพล ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีความสนิทกับเครือข่ายการเมือง และถูกผลักดันโดย ‘บิ๊กทหาร’ ผู้มากบารมีในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ดังนั้นหากสองคดีดังกล่าวยืดเยื้อมาถึงยุค ‘บิ๊กกุ้ย’ เป็นประธาน ป.ป.ช. แล้วมีมติ ‘ตีตก’ จะทำให้สาธารณชนตั้งข้อสงสัยมากกว่าเดิมได้ ?
แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงของเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ยังมีคดีสำคัญอีกหลายคดีที่กรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่จะต้องดำเนินการสะสาง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมไว้พอสังเขป ดังนี้
คดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รอบสอง
คดีนี้สืบเนื่องมาจากการระบายข้าวแบบจีทูจีรอบแรก ที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ อดีตเลขาฯ รมว.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พ่วงด้วยข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ และเอกชนรวมแล้ว 36 ราย เนื่องจากพบพฤติการณ์ว่า ไม่ได้มีการระบายข้าวจริง แต่นำมาเวียนขายในประเทศด้วยราคาถูกแทน ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
และล่าสุด ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัย เมื่อพบว่า การระบายข้าวแบบจีทูจีรอบสอง ส่อพฤติการณ์ ‘ซ้ำรอย’ กับการระบายข้าวแบบจีทูจีรอบแรก ซึ่งกรณีนี้มีนายบุญทรง เป็นผู้ถูกกล่าวหาอีกครั้ง ร่วมกับนางปราณี ศิริพันธ์ อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ
โดยจากการไต่สวนเบื้องต้นของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. พบว่า มีเช็คกว่า 1.3 พันใบ รวมวงเงินกว่า 9.6 หมื่นล้านบาท โดยเป็นแคชเชียร์เช็คที่ใช้ซื้อขายข้าวภายในประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเช็คทั้งหมดว่าเป็นของบริษัทใด และมีความเกี่ยวข้องในการระบายข้าวแบบจีทูจีรอบนี้ด้วยหรือไม่
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ขีดเส้น ก.พ.ปิดคดีทรัพย์สิน 5 รมต.-ไล่สอบเช็คทีละใบคดีข้าวจีทูจี)
คดีระบายมันสำปะหลังแบบจีทูจี
สำหรับคดีนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงรัฐบาล ได้แก่ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นกรณีขายแป้งมันสำปะหลังแบบจีทูจีให้กับบริษัทจีนโดยมิชอบ และส่อว่าเป็นการทำจีทูจีไม่จริง รวมมูลค่า 1.4 พันล้านบาท ซึ่งกรณีนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เคยมีมติชี้มูลความผิดมาแล้ว ก่อนจะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบ โดย ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนยกคณะรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์แล้ว โดยนายอภิสิทธิ์ เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า คนที่ชงเรื่องให้ดำเนินการดังกล่าวคือกระทรวงพาณิชย์
กรณีต่อมาเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นกรณีการระบายมันสำปะหลัง (มันเส้น) แบบจีทูจี โดยมิชอบ และส่อว่าเป็นการทำจีทูจีไม่จริง แก่บริษัทเอกชนจากจีนอีกเช่นเดียวกัน รวมมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท โดย ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายบุญทรง นายมนัส นางปราณี รวมถึงข้าราชการระดับสูง และเอกชนที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงจาก ป.ป.ช. ยืนยันว่า กรณีนี้มีพฤติการณ์เดียวกันกับการระบายข้าวจีทูจีรอบแรก
(อ่านประกอบ : ก๊วนเดียวกับระบายข้าว! ป.ป.ช.สาวลึกเอกชนพันคดีมันเส้นจีทูจีเก๊)
คดีทุจริตการก่อสร้างสนามฟุตซอลของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
กรณีนี้เกิดจากการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ที่พบว่า การก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้มาตรฐาน และอาจมีการฮั้วบริษัทในการก่อสร้างด้วย ต่อมา ป.ป.ช. ได้รับคดีมาทำต่อ เนื่องจากพบว่า อาจมีนักการเมืองระดับชาติ หรือข้าราชการระดับสูงเกี่ยวข้องในกรณีนี้ด้วย โดย ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน 2 ชุด ชุดแรกตรวจสอบพื้นที่ภาคเหนือ ชุดที่สองตรวจสอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จากการไต่สวนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะใน จ.นครราชสีมา พบว่า มีอดีต ส.ส. พรรคขนาดกลาง เกี่ยวข้องด้วย โดยให้คนเข้าไป ‘ดีล’ กับข้าราชการระดับสูงในจังหวัด เพื่อดำเนินการก่อสร้างดังกล่าว ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือ พบว่า มีพฤติการณ์เบิกงบประมาณโดยอ้างว่า จะนำมาซ่อมแซมอาคารโรงเรียนที่สึกหรอ แต่กลับนำงบมาใช้สร้างสนามฟุตซอลดังกล่าวแทน
(อ่านประกอบ : อดีต ส.ส.-ขรก.นัดคุยร้านลาบ! ป.ป.ช. สาวลึก‘บิ๊กนักการเมือง’คดีสนามฟุตซอล)
คดีโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทนจำนวน 396 แห่ง
หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘โรงพักร้าง’ กรณีนี้มีนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เมื่อครั้งนั่งเก้าอี้ ผบ.ตร. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ อดีตผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง และล่าสุดขยายผลมาถึง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาการ ผบ.ตร. เป็นผู้ถูกกล่าวหา มีพฤติการณ์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 แห่ง จากจัดจ้างเป็นรายภาค เปลี่ยนเป็นจัดจ้างรวมที่ส่วนกลางครั้งเดียว ส่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง เป็นเหตุให้ผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จได้ตามสัญญา ซึ่งปัจจุบัน ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว และอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานอยู่
(อ่านประกอบ : “ปทีป”งานเข้า! ป.ป.ช.ขยายผลสอบปมโรงพักร้าง ชี้เป็นหนึ่งในผู้ชงเรื่อง)
นี่ยังไม่นับคดีอื่น ๆ ที่ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบอย่างเงียบ ๆ ไม่ว่าจะเป็น คดีการเปลี่ยนองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดในการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร ที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเพิ่งมีมติแจ้งข้อกล่าวหานายจรัญ หัตถกรรม อดีตหัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดรายเดียว ส่วนนายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ยกคำร้องไป
คดีการจ่ายเงินเยียวยาที่ ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาคณะรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อใช้งบประมาณโดยไม่มีระเบียบรองรับ ซึ่งอยู่ระหว่างการแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหา คดีทุจริตการออกประกาศภัยพิบัติเรื่องศัตรูพืช และจัดซื้อยาฆ่าแมลงในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งส่อพฤติการณ์เท็จ และฮั้วประมูล ก็อยู่ระหว่างการไต่สวน เป็นต้น
หรือจะเป็นกรณีล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เพิ่งใช้มาตรา 44 ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ยกชุด 32 ราย รวมถึงข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีการจัดสอบบรรจุพนักงานส่วนตำบล ช่วงปี 2556-2557 ที่พบว่า มีความไม่โปร่งใส และจัดแจงเปลี่ยนผลคะแนนสอบเอง ก็อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. เช่นกัน
ขณะที่ ‘ไฮไลต์’ สำคัญช่วงปลายปี 2558-ต้นปี 2559 คือ การตรวจสอบการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่พบว่า มีความไม่ชอบมาพากลอยู่หลายประการ และมีผู้ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการไต่สวน ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนแสวงหาข้อเท็จจริง ก็ต้องรอดูว่า จะมีผลลัพธ์แบบไหนออกมา
รวมไปถึงการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนักการเมือง และข้าราชการระดับสูง ก็ยังเหลือในมืออยู่หลายราย เช่น คดีตรวจสอบทรัพย์สินอดีตรัฐมนตรีเกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว ที่ใกล้ได้บทสรุปเต็มทีแล้ว หรือคดีตรวจสอบทรัพย์สินของนายการุณ โหสกุล หรือ ‘เก่ง’ ที่ ป.ป.ช. เพิ่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนไปหมาด ๆ ล่าสุดคดีตรวจสอบทรัพย์สิน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่พบว่า ในการยื่นทรัพย์สินครั้งล่าสุด มีข้อสงสัยบางประการด้วย
นี่เป็นแค่บางเสี้ยวของคดีที่ ป.ป.ช. ไต่สวน ซึ่งยังเหลืออีกนับหมื่น ๆ คดี ทั้งคดีเล็ก ระดับท้องถิ่น จนถึงคดีใหญ่ระดับชาติที่อยู่ในมือของ ป.ป.ช. และสาธารณชนจับตามองอย่างใกล้ชิด
วัดใจ-วัดฝีมือ ‘บิ๊กกุ้ย’ และกรรมการใหม่อีก 4 ราย สางให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว !
หมายเหตุ : ภาพประกอบทั้งหมดจาก pantip, sanook, ASTVmanager, aecnews