เปิดปูมปัญหาน้ำท่วมสุโขทัย
การทำลายธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ด้วยน้ำมือของมนุษย์ ทำให้ปัจจุบัน ความวิกฤติกำลังกลับมาตอบสนองมนุษย์อย่างสาสม ประกอบกับการสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำธรรมชาติก็เป็นสาเหตุหลักของการเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ และที่หลักเลี่ยงไม่ได้คือ ปัญหาภัยแล้ง
จังหวัดสุโขทัย เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วม –ภัยแล้ง ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่น้ำท่วมอยู่ที่ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ ชาวบ้านจึงมีอาชีพหาปลาในฤดูน้ำหลาก
นอกจากนี้ยังท่วมในพื้นที่ ต.ปากแคว อ.เมือง และ ต.ธานี อ.เมือง ซึ่ง ต.ธานีเป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดสุโขทัย และเป็นย่านเศรษฐกิจการค้า ที่อยู่กับแม่น้ำยมสายหลัก บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดสุโขทัย จึงมีพนังกั้นน้ำที่มีความสูงเกือบ 2 เมตร เพื่อป้องกันน้ำท่วม
สาเหตุหลักมาจากคลองที่เชื่อมต่อที่ ประตูระบายน้ำ คลองหกบาท บางแห่งยังขาดการส่งน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่ผันน้ำได้ 2 ทางใหญ่ ๆ คือ ลงสู่แม่น้ำน่าน และลงสู่แม่น้ำยมสายเก่า และยังมีคลองสาขาอีกมาก ที่น้ำไม่เคยถูกผ่านเข้าไป พื้นที่บางแห่งแนวเขตคลองถูกประชาชนยึดทำประโยชน์ คลองบางช่วงที่เคยกว้างใหญ่ ปัจจุบันกลายเป็นถนนอยู่กลางคลอง ทำให้กลายเป็นคลองเล็กๆ บางแห่งท่อระบายน้ำสูงกว่าระดับน้ำ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำเข้าไปได้ เพราะการออกแบบยึดอยู่ในส่วนของแม่น้ำยมสายเก่าเกือบทั้งหมด
จังหวัดสุโขทัย มีแหล่งน้ำจากทุกทิศ มีแม่น้ำยมที่ไหลมาจาก จ.แพร่ มีน้ำจากแม่น้ำปิง ที่ไหลมาจาก จ.กำแพงเพชร เข้าสู่ อ.คีรีมาศ ตอนล่างของสุโขทัย
นอกจากนี้ยังมีน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่ท่าแพ ที่ อ.ศรีสัชนาลัย ทางด้านตะวันตก และ.อ่างเก็บน้ำแม่มอก ที่ ต.เวียงมอก อ.เถิน จ.ลำปาง เข้า อ.ทุ่งเสลี่ยม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำที่ดี แต่ที่ผ่านมา เป็นเช่นนั้นหรือไม่
ประตูระบายน้ำมากมาย แต่น้ำยังท่วม
พล.ต.ผดุง ยิ่งไพบูลย์สุข ผู้ประสานงานและติดตามโครงการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ 4 ลุ่มน้ำภาคเหนือ กล่าวว่า ประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำยมมี 3 แห่ง คือ บ้านหาดสะพานจันทร์ ที่กั้นแม่น้ำยมสายหลัก , คลองหกบาท ด้านซ้าย ผันไปแม่น้ำน่าน ที่ อ.พิชัย และผันไปทางแม่น้ำยมสายเก่าได้ เป็น 2 ทางใหญ่ และประตูระบายน้ำคลองน้ำโจนฝั่งขวา ผันเข้าไปเชื่อมกับน้ำที่มาจากอ่างแม่ท่าแพ และอ่างเก็บน้ำแม่มอก แล้วส่งลงไปเก็บน้ำที่แก้มลิงทุ่งทะเลหลวง
ล่าสุด มีประตูระบายน้ำคลองน้ำโจน เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2558 เพื่อผันน้ำออกได้สองด้านหากน้ำยมมามาก จะส่งน้ำมาเชื่อมต่อกับคลองส่งน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำแม่ท่าแพ แล้วมารวมกับคลองส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่มอก ที่บริเวณวัดจันทรโรภาส ต.หนองกลับ อ.สวรรคโลก ซึ่งเดิมทีเส้นทางน้ำแห่งนี้ไม่เคยได้น้ำและผันน้ำจากแม่น้ำยมมาก่อน แต่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่มอก และอ่างเก็บน้ำแม่ท่าแพเท่านั้น ซึ่งเส้นทางน้ำจากจุดนี้จะส่งน้ำลงไปถึงทุ่งทะเลหลวง (อ่างเก็บน้ำ แก้มลิง รูปหัวใจ) ที่อยู่ในเขต อ.เมืองสุโขทัย และสามารถผันน้ำออกได้จากด้านท้าย ลงสู่ อ.กงไกรลาศ และ อ.คีรีมาศ ได้
บ้าน 22 หลังเจ้าประจำ “น้ำท่วม”
ปัญหาแรกที่เป็นมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไขก็คือ กรณีบ้าน 22 หลังเป็นที่ของกรมเจ้าท่ารับผิดชอบอยู่ฝั่งทางด้านประตูระบายน้ำคลองน้ำโจนฝั่งขวา เกิดปัญหาน้ำเอ่อเข้าที่ดินใต้ถุนบ้านทุกครั้งเมื่อฤดูน้ำหลาก ต้องลดน้ำที่ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ลง 1 เมตร ทำให้เสียปริมาณน้ำที่กักเก็บไปมาก เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงประตูระบายน้ำคลองหกบาท ที่อยู่เหนือจากบ้านหาดสะพานจันทร์ ขึ้นไป อีก 3 – 4 กิโลเมตร ทำให้การผันน้ำไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จะส่งน้ำไปตามคลองสาขาต่างๆ ไม่สะดวกเพราะแรงดันน้ำมีไม่มาก และคลองบางแห่งที่เชื่อมต่อจากคลองหกบาทนี้ น้ำอาจจะไม่เข้าเลย
ดังนั้นปัญหาที่ควรแก้ไม่ให้กระทบกับชาวบ้าน 22 หลังนี้ จึงควรเสริมคันดินให้บ้าน 22 หลังสูงพอที่จะทำให้ประตูระบายน้ำ 3 แห่งมีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่
น้ำท่วม แต่น้ำคลองกลับแห้ง
ปัญหาอีกประการคือ คลองวงฆ้องบริเวณวัดปากน้ำ ซึ่งไม่เคยมีน้ำเข้าคลองสายนี้ ทั้งๆที่เป็นคลองขนาดใหญ่ บางช่วงของคลองแห่งนี้แคบเพราะถูกบุกรุก บางแห่งเป็นถนนคอนกรีตอยู่กลางคลอง เพราะน้ำไม่เคยเข้าคลองสายนี้มานาน ประตูระบายน้ำปากน้ำ ที่เป็นจุดกันน้ำที่จะผันน้ำเข้าคลองวงฆ้อง ก็การออกแบบไม่สอดคล้องกับระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งขณะที่น้ำล้นบานประตูระบายน้ำ ปากน้ำ ถึง 30 เซนติเมตร แต่น้ำยังไม่เข้าคลองวงฆ้อง ที่บริเวณวัดปากน้ำ เนื่องจากการออกแบบวิศวกรรม เพราะการวางท่อทางเข้าคลองวงฆ้องที่บริเวณวัดปากน้ำสูงเกินไป ทำให้น้ำเข้าคลองไม่เต็มที่
นอกจากนี้ยังเกิดการแย่งน้ำในระหว่างทางคนต้นน้ำที่ ต.หนองกลับ อ.สวรรคโลก ซึ่งอยู่ตอนบนของต้นน้ำ และ ต.บ้านไร่ ต.บ้านซ่าน อ.ศรีสำโรง ที่อยู่ตอนล่างที่คอยรับน้ำ สูบน้ำมาสูบเข้าคลองซอย ทำให้น้ำลงไปไม่ถึงท้องถิ่นด้านล่างจนเกิดปัญหาการแย่งน้ำ เจ้าหน้าที่ต้องไกล่เกลี่ยถึงการแบ่งน้ำให้ทั่วหน้า
“คลองปลา” คลองเอกชน ดักน้ำจนเสียสมดุลย์
ประตูระบายน้ำยางซ้าย ตอนล่าง ของ จ.สุโขทัย เป็นประตูที่อยู่ในเส้นทางของแม่น้ำยมสายหลักที่อยู่ด้านท้ายเลยศาลากลาง จ.สุโขทัย ออกไป 7 กิโลเมตร คอยรักษาระดับน้ำด้านท้ายของแม่น้ำยมสายหลักเอาไว้ ก่อนจะลงสู่พื้นที่รับน้ำ อ.กงไกรลาศ ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำไว้เพื่อยกระดับน้ำเข้าสู่คลองกระชงค์ใน คลองบ้านหลุมและคลองบางหวาน ผันน้ำออกเมื่อน้ำมีมาก
แต่ก็พบอุปสรรคคือมีคลองเอกชนที่เรียกว่า “คลองปลา” อยู่ก่อนถึงประตูระบายน้ำยางซ้าย มากถึง 27 คลองซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำยมสายหลัก เมื่อมีน้ำมาในระดับเสมอบานประตู ชาวบ้านก็จะเปิดคลองปลาเพื่อจับปลาผ่านคลองของเขา ทำให้น้ำลดระดับลง บางครั้งไม่สามารถผันน้ำหรือควบคุมน้ำให้มีประสิทธิภาพได้ บางครั้งน้ำไม่เข้าคลองสาธารณะ จึงทำให้ต้องทำการขอให้เปิดน้ำจากประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ เพราะหากจะทำให้คลองปลาเหล่านี้ไม่สามารถเปิดได้ ต้องลดน้ำลง ถึง 3 เมตร ซึ่งก็จะเกิดผลกระทบกับการส่งน้ำไปยังคลอง 3 คลอง
ผู้ว่าฯหนุนสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
นายปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.สุโขทัย การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ของผู้ว่าราชการจังหวัด สุโขทัย ได้กล่าวในรายการ เสียงประชาชน ที่ผ่านมา ในประเด็น น้ำท่วม-น้ำแล้ง จ.สุโขทัย ว่า
สาเหตุสำคัญก็คือ ฝนตกที่เทือกเขาผีปันน้ำ ที่จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นต้นทางของแม่น้ำยม ไล่เรียงมา จ.ลำปาง จ.แพร่ ฝนตกเท่าไร ก็ไหลมาเท่านั้น และลงมาสู่สุโขทัยทั้งหมด สุโขทัยในฐานะที่เป็นจังหวัดรองรับน้ำจากจังหวัดแพร่ มีแค่ประตูระบายน้ำที่บ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ที่กั้นน้ำอยู่แค่นั้นและกักเก็บน้ำได้ 13 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ฝนตกในทุกฤดูกาล น้ำไหลผ่าน พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ เพราะไม่มีอะไรมากักเก็บ ในฤดูฝน น้ำล้นมาเท่าไรก็ท่วมสุโขทัยเท่านั้น นี่คือสาเหตุของน้ำท่วม พอถึงหน้าแล้ง ก็ไม่มีอะไรที่มากักเก็บด้านล่างของน้ำยม ที่ต่อไปที่บางระกำ ไป จ.พิจิตร ก็ไหลลงไปสู่นครสวรรค์จนหมด เป็นสาเหตุของท่วมซ้ำซาก และแล้งซ้ำซาก
ในปี 2534 มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีไอเอเพื่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ผ่านมาเป็น 20 ปีมาแล้ว แต่ไม่มีเพราะมีการต่อต้านจากหลายๆภาคส่วน ซื่งมองว่าเขื่อนเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ แต่ว่า การที่เกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง คนสุโขทัย คนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยมสูญเสียโอกาสในการพัฒนาไปแล้วเท่าไหร่กี่ปี รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยให้ทุกปี กรณีน้ำท่วม นาข้าวเสียหาย ไร่ละ 1,113 บาท แต่ละปีเป็นเงินเท่าไร หน้าแล้ง ข้าวเสียหาย ต้องชดเชย ปีเป็นพันล้านบาท 10 ปี เป็นหมื่นล้าน เราสูญเสียโอกาสมาเป็นเวลา 20 ปี สำหรับการพัฒนาที่ขาดแคลนน้ำและขาดการพัฒนาที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก ฉะนั้นจำเป็นต้องหาแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อชะลอน้ำไว้ ฝนตกที่สุโขทัยปกติปีละ 1,300 มิลลิเมตร แต่จากข้อลมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาที่วัดมา 20 ปีที่ผ่านมา มีตกน้อยอยู่ปีเดียวคือปี 2546 ปริมาณฝนตกที่ 893 มิลลิเมตรมตร ฝนตกสุโขทัยปีละ 130 วัน
นี่คือสาเหตุที่ต้องพิจารณาร่วมกันว่า อยากได้อะไรที่กักเก็บน้ำด้านบน อยากได้อะไรที่กักเก็บน้ำในสุโขทัยของเราเอง คูคลองแหล่งน้ำต่างๆ ทุกอำเภอสำรวจแหล่งน้ำในสุโขทัยทั้งหมด มีอ่างเก็บน้ำอยู่ 7 อ่าง ของกรมชลประทาน จุน้ำได้ 275 ล้าน ลบม. มีคูคลองต่างๆ มีแก้มลิงต่างๆ หนองน้ำ รวมแล้วเก็บน้ำได้ 440 ล้าน ลบม. ในพื้นที่ จ.สุโขทัย แต่ว่าปริมาณฝนที่ตกแล้วไหลผ่านแม่น้ำยม ตั้งแต่จังหวัดแพร่เป็นต้นมาในแต่ละปี น้ำที่ไหลผ่านสุโขทัย 3,000 ล้าน ลบม. ยกเว้น ปี 2554 เป็นปีเดียวที่ฝนตกมา 7,000 ล้าน ลบม. เป็น 2 เท่า ที่ไหลไปท่วมกรุงเทพ
ดังนั้นฝนที่เฉลี่ย ปีละ 3,000 ล้าน ลบม. จะเอาไปไว้ไหนได้บ้าง ถ้าเก็บได้ ช่วยแล้งได้ ถ้ากันไว้ได้ช่วยท่วมได้ ทุกอย่างก็จะสมดุลย์
กรมเจ้าท่า ให้บริษัทเอกชนมารับฟังข้อมูล
ต่อประเด็นปัญหาน้ำท่วม จ.สุโขทัย ลาสุด เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.58 กรมเจ้าท่าได้มีหนังสือเชิญประชุมกลุ่มย่อยในพื้นที่ ครั้งที่ 1 เรื่องโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียด ในการขุดลอกแม่น้ำสายหลัก ปิง วัง ยม น่าน ที่ จังหวัดสุโขทัย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยจ้างบริษัทเอกชนเป็นผู้ปฏิบัติงาน งบประมาณ 19 ล้านบาท ตลอด 4 สายน้ำ ส่วนของแม่น้ำยมคือการขุดลอก 5 จุด แต่ละจุดมีความยาว 5 ก.ม.
แต่มีเสียงจากชาวบ้านสะท้อนว่า กรณีขุดลอกแม่น้ำที่ ต.ปากแคว 2 แห่งหากขุดร่องน้ำลึกเกินไป จะทำให้ตลิ่งทรุดลงมาเนื่องจากความกว้างของคลอง แคบ และที่ใต้หาดสะพานจันทร์
ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะมีเขื่อนป้องกันตลิ่งเรียงหินเต็มไปหมด หากขุดลอกหินที่เรียงไว้จะสไลด์ลงมาหมดหรือไม่
ภาคประชาชนมองแก้ปัญหาน้ำ ต้องทำงานอย่างบูรณาการ
แหล่งข่าวภาคประชาชน ด้านการบริหารจัดการน้ำ จ.สุโขทัย กล่าวว่า ระบบการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดสุโขทัย มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนเป็นคณะกรรมการ ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานมีความเข้าใจเรื่องนี้ตรงกันหรือไม่ ทั้งๆที่มีคลองสาขาต่างๆมากมาย อ่างเก็บน้ำมีหลายแห่ง หน่วยงานทั้งชลประทาน ทรัพยากรน้ำ ป้องกันสาธารณภัย ท้องถิ่น ท้องที่ ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีการนำภาพรวมทั้งหมดมาทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน
อาทิ อ่างเก็บน้ำห้วยไคร้ ที่เป็นโครงการพระราชดำริอยู่ในความดูแลของชลประทาน สร้างเสร็จเมื่อปี 2552 แต่ปัจจุบัน ไม่เคยมีการรายงานข้อมูลปริมาณน้ำให้รับรู้ว่ามีปริมาณเท่าไร และการสร้างฝายยาง ต่างๆ ก็ไม่มีข้อมูลระดับน้ำจนถึงปัจจุบันนี้ บางแห่งยางก็รั่ว ใช้การไม่ได้ และเครื่องวัดระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ก็ไม่มี ประตูระบายน้ำบางแห่ง ยังใช้การวัดโดยอ้างจากขอบบานประตูเป็นหลัก เช่น ประตูระบายน้ำปากน้ำ
นอกจากนี้ศูนย์ข้อมูลน้ำ จ.สุโขทัย ที่ตั้งขึ้นมา มีข้อมูลไม่ครบถ้วน แหล่งน้ำบางแห่งไม่มีข้อมูลรายงานจำนวนของปริมาณน้ำที่กักเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยไคร้ อ.ศรีสำโรง สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2552 จนปีนี้ พ.ศ.2558 ยังไม่มีข้อมูลรายงานจำนวนของปริมาณน้ำที่กักเก็บน้ำ
จังหวัดสุโขทัยมีทั้งหมด 9 อำเภอ โดยมีอำเภอที่มีแม่น้ำยมสายหลักไหลผ่าน 5 อำเภอ เริ่มจากทางด้านบนลงมาคือ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมืองสุโขทัย และ อ.กงไกรลาศ ซึ่งติดกับ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก
ทั้ง อ.กงไกรลาศ และ อ.บางระกำ เป็นพื้นที่รับน้ำตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้านที่นี่ ถึงฤดูหน้าน้ำชาวบ้านต้องขอให้น้ำท่วม ความสูงขนาด 1.20 เมตร และต้องท่วมให้ถึง 4 เดือน เพราะเขาจะหาปลา ทำประมง จับหนู จับงู ส่วนอีก 8 เดือนทำนา 2 ครั้ง ซึ่งเป็นวัฎจักรในทุกๆ ปี
หมายเหตุ : นายชูชาติ อุทัยทิศ นักเขียนในโครงการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพให้แก่บุคคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชน