เปิดยุทธศาสตร์ 4 ปี ปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ ปูทางการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่
เปิดแผนยุทธศาสตร์ 4 ปี เดินหน้า “ปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่” ปูทาง “การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่” ชวน‘รัฐบาล’ ให้โอกาส ‘จังหวัดที่พร้อม’ ร่วมเดินหน้าพร้อมเชียงใหม่
เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมจัดงานเปิด “แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่” 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2559- พ.ศ.2562 เนื่องในวาระแห่งการเฉลิมฉลองเชียงใหม่ 720 ปี เพื่อระดมพลังและพัฒนากลไกความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อการจัดการศึกษา ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ แบ่งปัน สร้างสรรค์การศึกษา รักษ์คุณค่าเชียงใหม่”
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า ด้วยพลังแห่งความร่วมมือ และการทำงานแบบการบูรณาการเชิงพื้นที่เพื่อปฏิรูปการศึกษาทั้งจังหวัด เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำไปสู่เป้าหมายที่คนเชียงใหม่ร่วมกันกำหนดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันใกล้ การรวมตัวของคนเชียงใหม่ในวันนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือและเป็นการเริ่มต้นการบูรณาการจัดการศึกษาในพื้นที่ที่น่าชื่นชม ถือเป็นแบบอย่างที่ดีให้พื้นที่อื่น และเชื่อว่ากระบวนพัฒนาการศึกษาเท่านั้นที่จะสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศชาติให้มุ่งไปในทิศทางที่เหมาะสมได้ ซึ่งตรงกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการที่ได้มอบโครงการของขวัญปีใหม่ 2559 แก่ประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ สามารถบูรณาการด้วยกันได้เพราะมุ่งสู่กลุ่มเป้าหมายเดียวกันคือ เด็ก เยาวชน และประชาชนเชียงใหม่
ด้านนายมงคล สุกใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ข้อจำกัดของการศึกษาเชียงใหม่ว่ามีหลายด้านที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาโดยรวม เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่มีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้สภาพสังคม วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดปัญหากระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
“จากปัญหาดังกล่าวเห็นได้ว่าการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่น่าจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืนมากที่สุด ดังนั้นจึงได้เกิดคณะปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ขึ้นเพื่อเป็นกลไกลขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาระยะแรก 4 ปี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปีนี้ และที่สำคัญงานในวันนี้ยังเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของชาวเชียงใหม่ทุกภาคส่วน ที่จะมาทำความเข้าใจในแผนยุทธศาสตร์เพื่อนำสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลต่อไป”
ขณะที่นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า อบจ.เชียงใหม่ได้เปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมและสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนตกผลึกในแนวคิดและทางออกร่วมกันในการขับเคลื่อนด้วยกลไกแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ระยะ 4 ปี (พ.ศ.2559-พ.ศ.2562) เป็นระยะแรก พร้อมๆ ไปกับปีแห่งการเฉลิมฉลองเชียงใหม่ 720 ปี เพื่อมุ่งสู่อีก 10 ปีข้างหน้า ฉลองเชียงใหม่ 730 ปีอย่างมั่นคง
“งานครั้งนี้ต้องการเปิดแผนยุทธศาสตร์ พร้อมแสดงความเป็นมา แนวคิด ข้อมูล พร้อมกับฉายภาพอนาคตการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางต่อสาธารณชนชาวเชียงใหม่ เพื่อที่จะนำไปสู่แผนการปฏิบัติภายใต้ทิศทาง 1 ปณิธาน 5 เป้าหมาย 9 ยุทธศาสตร์ และเพื่อสื่อสารรณรงค์ แสวงหาแนวทางใหม่ๆ และพัฒนากลไกความร่วมมือให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด“ร่วมมือ แบ่งปัน สร้างสรรค์การศึกษา รักษ์คุณค่าเชียงใหม่” ที่คนเชียงใหม่ทุกภาคส่วนจะรวมกันเป็นหนึ่ง เพื่อสร้างพลังการเรียนรู้อย่างหลากหลายในพื้นที่ 25 อำเภอ"
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอีกว่า ในอนาคตอันใกล้หวังว่า ตัวย่างความสำเร็จครั้งนี้จะทำให้รัฐบาลมีความมั่นใจกับการกระจายอำนาจ ให้โอกาสจังหวัดที่พร้อมอีกหลายจังหวัด เช่น ชลบุรี ภูเก็ต สุรินทร์ สุราษฏร์ธานี เดินหน้าปฏิรูปการศึกษาเชิงพื้นที่พร้อมไปกับเชียงใหม่
ส่วนนพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการคิดโจทย์ยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาในระดับจังหวัดมาก่อน แต่เป็นการคิดนโยบายและกำหนดมาจากส่วนกลาง ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรและงบประมาณแบบแยกส่วน และอาจไม่สอดรับกับความต้องการ ทั้งที่มีอีกหลายหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กเยาวชน อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
ผู้จัดการ สสค. กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญคือการทำให้ทุกฝ่ายที่ขึ้นอยู่กับส่วนกลางได้หันมายอมรับยุทธศาสตร์ของจังหวัดร่วมกัน ผ่านกลไกในการสร้างยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนโฉมการศึกษาของจังหวัดได้ และสิ่งที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินงานมาในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่พยายามจะขับเคลื่อนการทำงานในแนวนี้ต่อไป
“ตอนนี้เชียงใหม่ตอบโจทย์ได้แล้วว่าเชียงใหม่ต้องการคนแบบไหน ต้องการคนมาทำอะไรบ้าง และจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ได้คนเหล่านั้นมา ดังนั้นการที่ทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงใหม่ได้หันมาทำงานร่วมกันในภาพของจังหวัด ก็จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาคนอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด เกิดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและเยาวชน ที่สามารถตอบสนองต่อผลิตภาพของจังหวัด ซึ่งท้ายที่สุดก็จะทำให้ปัญหาสังคมต่างๆ ลดลงไป”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเข้าร่วมปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ทั้ง 25 อำเภอ เพื่อเป็นพันธสัญญาในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาร่วมกันทั้งจังหวัด และจังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งใน 14 จังหวัดที่สสค. ขับเคลื่อนโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ หรือArea-Based Education (ABE) ภายใต้ “โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่” โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นหน่วยงานประสานเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงาน “99 องค์กร26 บุคคล” มาร่วมกันผนึกกำลังขึ้นเป็น “ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา” โดยปัจจุบันมีเครือข่ายรวมมากกว่า 3,000 คน