คุ้มเข้มราคาอาหารปรุงสำเร็จ ‘พณ.’ ตึงสินค้า/บริการ 41 รายการ
7 ม.ค. 59 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ครั้งที่ 1/2559 ว่า แนวโน้มราคาสินค้าในปีนี้น่าจะยังทรงตัว หรืออาจลดลง อีกทั้งราคาน้ำมันที่ลดลง ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการแข่งขันยังสูง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังยืนยันที่จะไม่ปรับขึ้นราคา แต่ยังต้องติดตามราคาอาหารปรุงสำเร็จอย่างใกล้ชิด เนื่องจากได้พิจารณาต้นทุนวัตถุดิบแล้ว ส่วนใหญ่ทั้งเนื้อสัตว์ และผัก ปรับลดลง แต่ราคาจำหน่ายอาหารปรุงสุขยังสูงอยู่ เพราะมีการคิดราคาต้นทุนอื่นๆ รวมไปด้วย เช่น ค่าเช่าที่ ค่าแรง โดยในปี 2559 กระทรวงพาณิชย์จะดูแลราคาสินค้าให้มีความเป็นธรรม และเพียงพอต่อการบริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาอาหารปรุงสำเร็จ ที่จะดูแลอย่างเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งในที่ประชุมได้หารือกับผู้ประกอบการ ห้างสรรพสินค้า โมเดิร์นเทรดในการช่วยลดต้นทุนการผลิตอาหารปรุงสำเร็จ เช่น ลดค่าเช่าพื้นที่ หรือเพิ่มมุมขายอาหารราคาถูก
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการซื้ออาหารปรุงสำเร็จ โดยจะมีร้านหนูณิชย์ ที่จำหน่ายอาหารราคาถูก ซึ่งภาครัฐจะช่วยสนับสนุนให้ร้านหนูณิชย์สามารถซื้อวัตถุดิบในราคาถูก ซึ่งปัจจุบันมีร้านหนูณิชย์ประมาณ 3,900 แห่งทั่วประเทศ และเพิ่มให้ได้ 10,000 แห่งในปีนี้ ซึ่งจะเพิ่มพื้นที่ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตามแหล่งโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับสภาอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นทางเลือกในการหาร้านอาหารราคาถูกบริโภค รวมถึงจะดำเนินการดูแลค่าครองชีพอื่นๆ ต่อเนื่อง ทั้ง โครงการธงฟ้า โครงการลดค่าครองชีพที่จัดขึ้นตามเทศกาลต่างๆ
"อาหารปรุงสำเร็จ ไม่สามารถออกเป็นราคาแนะนำได้ และนำเข้ามาเป็นสินค้าควบคุมก็ไม่ได้ เพราะแต่ละพื้นที่มีต้นทุนที่แตกต่างกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็จะเข้าไปช่วยผู้บริโภคในการเพิ่มทางเลือกผ่านร้านหนูณิชย์พาชิมส่วนราคาน้ำมันที่ลดลงมีผลต่อต้นทุนสินค้าเพียง 1% เท่านั้น แต่ที่ผ่านมาได้ปรับลดค่าขนส่ง โลจิสติกส์ลงไปแล้ว 10% ให้สอดคล้องกับราราน้ำมัน"
นอกจากนี้ในที่ประชุม ยังได้มีมติคงรายการสินค้าและบริการควบคุมปี 2559 เอาไว้ที่ 41 รายการตามเดิม เช่น หมวดอาหาร มี 14 รายการ เช่น กระเทียม , ข้าวเปลือก , ข้าวสาร , ข้าวโพด , มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ , ไข่ไก่ , สุกรและเนื้อสุกร , น้ำตาลทราย , น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืช หรือสัตว์ ที่บริโภคได้หรือไม่ได้ , ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน , นมผง นมสด , แป้งสาลี , อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท , อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก , ผลปาล์มน้ำมัน
ส่วนสินค้า อุปโภคบริโภคประจำวัน มี 3 รายการ เช่น ผงซักฟอก , ผ้าอนามัย , กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า , หมวดปัจจัยการเกษตร มี 6 รายการ เช่น ปุ๋ย , ยากำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช , หัวอาหารสัตว์ , เครื่องสูบน้ำ , รถไถนา , รถเกี่ยวข้าว
ส่วนรายการสินค้าที่ต้องติดตามดูแล 225 รายการ และรายการสินค้าอ่อนไหวที่ต้องมีการติดตามสถานการณ์การจำหน่ายเป็นรายวัน เช่น ข้าวถุง น้ำมันพืช ไข่ไก่ เนื้อหมู นมผง กระทรวงก็จะติดตามอย่างใกล้ชิด หากพบว่ารายการสินค้าใดได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไป ก็สามารถทบทวนได้ทันทีตามสถานการณ์
ด้าน น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในเร็วๆ นี้กรมการค้าภายในจะหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งจัดทำแบบสำรวจ (โพลล์) เกี่ยวกับราคาสินค้า และค่าครองชีพ โดยกรมต้องการนำเสนอให้มีการจัดทำแบบสำรวจลงลึกให้มากขึ้น เช่นการที่ประชาชนตอบแบบสอบถามว่าราคาสินค้าแพง ซึ่งมักจะกลายเป็นประเด็นร้อนอย่างต่อเนื่อง แต่กรมฯ อยากให้การทำแบบสำรวจเพิ่มเติม คือให้ลงรายละเอียดให้มากขึ้น เช่นราคาสินค้าแพงเป็นเพราะเหตุใดด้วย เพื่อที่กรมจะหาแนวทางการทำงานและจะได้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องราคาสินค้าให้ถูกทางให้มากขึ้น
ขอบคุณข่าวจาก