ชาวบ้านไม่พอใจ ครม.ยื้อเวลาปากมูล-“สุวิทย์”เมินมอบโฉนดชุมชน
ม็อบ ขปส.ผิดหวัง ครม.ยื้อเวลาเปิดเขื่อนปากมูล 45 วัน ไร้คำตอบมอบ 17 พื้นที่โฉนดชุมชน ทส. “สุวิทย”เสียงแข็งรัฐบาลเรียกคุย 9 มี.ค.ไม่ได้หมายถึงมอบพื้นที่ให้ชาวบ้าน อ้างต้องศึกษากฎหมาย อธิบดีป่าไม้แจงป่าอนุรักษ์เหลือ 100 กว่าล้านไร่ จะเอาป่าหรือคน
นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ หนึ่งในแกนนำม็อบชาวบ้าน 4 เครือข่าย 3 กลุ่มในนามเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส./พีมูฟ) เปิดเผยภายหลังทราบมติคณะรัฐมนตรี 8 มี.ค.54 ว่ามี 2 เรื่องที่น่าพอใจ คือ 1.กรณีนำร่องโครงการธนาคารที่ดินภาคเหนือ 167 ล้านบาท ใน 5 หมู่บ้าน ซื้อที่ดินในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ ลำพูน เพื่อทำโครงการดังกล่าว ครม.ได้เห็นชอบอนุมัติร่างกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อย 2.กรณีคนไร้บ้าน ได้อนุมัติในหลักการ และงบประมาณ 52 ล้านเพื่อจัดหาที่ดินสร้างที่อยู่อาศัยให้ แต่มีเงื่อนไขคือเบื้องต้นให้ใช้เฉพาะที่ดินของรัฐ
ส่วนกรณีที่กลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่พอใจ ได้แก่ กรณีข้อเรียกให้เปิดประตูเขื่อนปากมูล 5 ปี ตามมติของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่ง ครม.มีมติว่าให้คณะอนุกรรมการฯ ไปศึกษาถึงผลกระทบให้รอบด้านใหม่ภายใน 45 วัน
“ชาวบ้านไม่พอใจมาก เพราะเรื่องนี้เคยได้ข้อสรุปมาแล้วในชุดนายสาทิตย์ ควรยืนยันตามนั้น การประชุม ครม.วันนี้เท่ากับเป็นการยื้อเวลา” นางสาวพงษ์ทิพย์ กล่าว
แกนนำ ขปส.กล่าวว่า ส่วนกรณีการดำเนินการจัดให้มีโฉนดชุมชน โดยเร่งส่งมอบพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) 17 แห่ง และคุ้มครองชาวบ้านที่โดนคดีป่าไม้ที่ดิน วันนี้ไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้า ครม.
“แค่มีการกล่าวว่าจะให้มีการทำข้อตกลงร่วมหรือเอ็มโอยู(MOU) ในวันที่ 9 มี.ค.เท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีความหมายอะไร” นางสาวพงษ์ทิพย์ กล่าว
ด้าน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการ ทส. เปิดเผยกรณีที่รัฐบาลเตรียมเชิญปลัดกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการโฉนดชุมชนนำร่อง 35 แห่งไปร่วมลงนามวันที่ 9 มี.ค.นี้ว่า การลงนามเป็นการแสดงเจตนารมณ์ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล แต่ไม่ได้หมายความว่า ทส.จะมอบพื้นที่ทั้ง 17 แห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบให้ทำโครงการนี้ เนื่องจากขณะนี้กำลังให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไปศึกษารายละเอียดและข้อกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่ เพราะ ทส.ต้องดูให้รอบคอบ ทำอะไรแล้วจะไม่เกิดความเสียหาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมารัฐบาลเริ่มให้สัญญาว่าจะมอบโฉนดชุมชนเพิ่มอีก 2 แสนครัวเรือน จะกระทบพื้นที่ป่าของ ทส.หรือไม่ นายสุวิทย์กล่าวว่าโครงการโฉนดชุมชนมีพื้นที่อยู่ในหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพย์ฯ ซึ่งจุดยืนของ ทส.คือจะพิจารณาพื้นที่ที่ไม่เสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและไม่กระทบต่อข้อกฎหมายที่มีอยู่
ด้านนายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่าจุดยืนของกรมป่าไม้ คืออย่าเอาที่ป่าไปทำโครงการโฉนดชุมชนเลย ซึ่งเรื่องนี้ต้องถามรัฐบาลว่าจะเลือกป่าหรือเลือกคน เพราะขณะนี้ป่าอนุรักษ์เหลืออยู่เพียง 100 กว่าล้านไร่ ดังนั้นจึงต้องศึกษารายละเอียดให้รอบด้านว่าสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมแค่ไหน เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติหรือมีคุณค่าที่ต้องเก็บรักษาไว้หรือไม่ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบพื้นที่เพื่อนำข้อมูลที่รอบด้านไปให้ผู้มีอำนาจประกอบการตัดสินใจ
สำหรับพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน ซึ่งมีการผลักดันให้ ทส.ส่งมอบพื้นที่ให้ชุมชนบริหารจัดการตามนโยบายโฉนดชุมชน อยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 1 ชุมชน คือ บ้านแม่ทา อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ภาค อีสาน 2 ชุมชน ได้แก่ บ้านทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ, บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ภาคใต้ 14 ชุมชน ได้แก่ บ้านทับเขือ-ปลักหมู อ.นาโยง, บ้านลำขนุน อ.ย่านตาขาว, บ้านตระ อ.ปะเหลียน, บ้านน้ำปลิว อ.รัษฎา, บ้านไร่เหนือ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง, ชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี, ชุมชนไทรงามพัฒนา อ.ชัยบุรี, ชุมชนสันติพัฒนา อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี, บ้านท่าสัก อ.ถลาง, บ้านคลองเกาะผี อ.เมือง, บ้านคลองปากบาง อ.กระทู้, บ้านท่าเรือใหม่รัษฎา อ.เมือง, บ้านอ่าวยนต์ อ.เมือง, บ้านสะปำ อ.เมือง จ.ภูเก็ต .