น้ำท่วม "แม่สาย - ท่าขี้เหล็ก" ปัญหาระดับชาติ ไทย-เมียนมา
ตลาดชายแดนระหว่าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย กับ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา เป็นพื้นที่ที่มีความคึกคักทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวอย่างมาก แต่ละปีมีเงินสะพัดหมุนเวียนที่ด่านพรมแดนแห่งนี้ถึงปีละ 1.5-2 หมื่นล้านบาท ทั้งด้านการส่งออก-นำเข้าสินค้าระหว่างประเทศและการจับจ่ายซื้อสินค้าบริเวณหน้าด่านพรมแดนมิตรภาพไทย-เมียนมา ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
ด้วยความเจริญเติบโตทางการค้าที่เติบโตขึ้นรวดเร็ว นักธุรกิจแห่มาลงทุน ประชาชนปรับเปลี่ยนที่อยู่อาศัยมาเป็นร้านจำหน่ายสินค้า มีการบุกรุกเข้าไปในลำน้ำสายซึ่งเป็นแม่น้ำกั้นพรมแดนระหว่างสองประเทศ ประกอบกับภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากการบุกรุกทำลายป่า ทำให้ระยะหลังตลาดชายแดนที่นี่จึงเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่ทุกปี นานต่อเนื่องมานับสิบปีแล้ว
ในเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี จะเกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมตลาดสายลมจอย ลักษณะน้ำจะมีสีขุ่นแดงก่อน มีท่อนซุงและดินโคลนไหลบ่ามาอย่างรวดเร็ว หากครั้งไหนน้ำไหลหลากมากลางวันหรือช่วงเช้าตรู่ก็ทำให้เก็บข้าวของได้ทันได้รับความเสียหายไม่มาก แต่หากปีไหนมาช่วงกลางดึกและไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้าก็จะทำให้ทรัพย์สินของร้านค้าเสียหายมาก
นางนิตยา ภูมิผล เจ้าของร้านริมน้ำ หนึ่งในผู้ประสบภัยในตลาดสายลมจอย เปิดเผยว่า ร้านอยู่ติดริมน้ำซึ่งจะได้รับผลกระทบจากน้ำสายทะลักเข้าท่วมทุกปี ปีละอย่างน้อย 2-3 ครั้ง โดยท่วมร้านสูงกว่า 1 เมตร
"เปิดร้านมานานกว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่รุ่นคุณแม่สืบต่อมาจนถึงรุ่นลูกๆ แต่ก่อนไม่เคยเกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมเลย แต่ระยะ 10 ปีให้หลังมานี้เกิดขึ้นประจำทุกปี เรียกได้ว่ากลายเป็นปัญหาซ้ำซาก ซึ่งสาเหตุจริงๆแล้วไม่ทราบ แต่เชื่อว่าน่าจะมาจากการที่ลำน้ำสายมีความตื้นเขินและมีความแคบทำให้น้ำไหลไม่สะดวก" นางนิตยากล่าว
เช่นเดียวกับ นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ ผู้ประกอบการค้าชายแดน ที่ระบุว่า น้ำท่วมสร้างความเสียหายแต่ละครั้งคิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท โดยแยกออกเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินกรณีที่ขนย้ายหนีน้ำไม่ทันและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าทางการค้าที่ไม่สามารถค้าขายได้เฉลี่ยวันละ 20 กว่าล้านบาท ซึ่งปีหนึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งก็เป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถทำอะไรได้เลยเพราะแม่น้ำสายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ ต้นน้ำอยู่ในประเทศเมียนมา
ประเทศเมียนมามีการสร้างเขื่อนคล้ายฝายน้ำล้นทางตอนเหนือของแม่น้ำ ซึ่งเป็นฝายไม่ใหญ่มากนัก เมื่อเกิดกรณีน้ำป่ามามากฝายก็แตก ทำให้เกิดมวลน้ำขนาดใหญ่ไหลมาในคราวเดียว ซึ่งในอดีตไม่มีสิ่งปลูกสร้างมากน้ำก็ไหลได้สะดวก แต่ปัจจุบันทั้งไทยและเมียนมามีการรุกล้ำเข้าในลำน้ำ มีการสร้างสิ่งปลูกขวางทางน้ำและกั้นน้ำไม่ให้เข้าตัวเมือง น้ำจึงมารวมกันที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เกิดการกระจุกตัวจนเอ่อล้นเข้าท่วมร้านค้าและบ้านเรือนประชาชนสองริมฝั่งแม่น้ำ
"การแก้ไขปัญหาค่อนข้างยากเพราะมีการปล่อยปัญหาให้เกิดการเรื้อรัง ภาครัฐไม่ได้เข้ามาดูหรือบริหารจัดการตั้งแต่ต้น อดีตที่ดินริมฝั่งแม่น้ำสายจะยกให้เป็นที่ดินของกรมเจ้าท่า แต่ต่อมากลับกลายเป็นที่ดินของราชพัสดุทำให้ชาวบ้านหรือนักธุรกิจมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างกินพื้นที่ลำน้ำ เช่นร้านค้าสายชลพลาซ่า ที่มีอาคารยื่นออกไปกลางลำน้ำ เป็นปัญหาที่หมักหมมมานานกว่า 20 ปี จะให้ไปแก้ไขก็ลำบากเพราะมีการก่อสร้างไปแล้ว" นายบุญธรรมกล่าว
แต่สิ่งที่น่ากังวลคือความปลอดภัยของผู้อาศัย ระยะหลังจะไม่เพียงแต่มวลน้ำทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ยังทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งล่าสุดมีอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยเสียชีวิต 1 คนจากการติดเชื้อจากน้ำที่ไหลมา ซึ่งอาจเป็นสารจากการทำเหมืองแร่ทองคำในเขตประเทศเมียนมา เพราะสังเกตจากภาวะหลังน้ำลดจะมีคราบเหมือนฝุ่นแห้งที่มาจากสารเคมีของการทำเมืองทองคำติดตามบ้านและร้านค้า
เช่นเดียวกับนางผกายมาศ เวียร์รา ประธานหอการค้าแม่สายและประธานสมาคมเศรษฐกิจไทย-เมียนมา จ.เชียงราย ที่ยอมรับว่าน้ำท่วมชายแดนได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจชายแดนเป็นอย่างมาก เฉพาะทรัพย์สินซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่จำหน่ายตามร้านค้าในตลาดสายลมจอย อ.แม่สาย ประมาณ 100 ร้านค้า และตลาดท่าล้อ อ.ขี้เหล็ก อีกกว่า 200 ร้าน เสียหายไม่ต่ำกว่าครั้ง 10-20 ล้านบาท หากคิดสูญเสียทางการค้ามากกว่า 100 ล้านบาทต่อครั้ง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทนทุกข์เป็นอย่างมาก ซึ่งทำได้เพียงการตั้งรับเพียงเดียวคือทำอย่างไรให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ด้วยการเก็บทรัพย์ไว้ที่ปลอดภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก
นางผกายมาศ กล่าวว่า อีก 2 ปี น้ำท่วมชายแดนแม่สายเชื่อว่าจะหนักกว่าที่ผ่าน ๆ มา หลังจากที่เขื่อนไชยบุรี ซึ่งกั้นแม่น้ำโขง ในประเทศ สปป.ลาว ก่อสร้างแล้วเสร็จ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างอยู่เมื่อเสร็จจะขวางทางน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นปลายทางของแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกที่ระบายน้ำออกไป จะมีผลทำให้น้ำโขงสูงขึ้นอีกอย่างน้อย 2 เมตร ซึ่งจะหนุนให้น้ำสายให้ไหลลงไปยากขึ้นอีก น้ำไม่มีที่ระบายการท่วมจะสูงขึ้นและท่วมขังที่ยาวนานกว่าในอดีต ความเสียหายก็จะมีเพิ่มขึ้นตามมาด้วย
ทางแก้เบื้องต้นควรทำแก้มลิง
"การที่จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ก็คือจะต้องทำฝายกั้นน้ำสายแบบทำแก้มลิง ก่อนถึงตัวพรมแดนแม่สายในเขตชายแดนเมียนอย่างน้อย 1 จุด และทำรอยต่อของประเทศไทยอีก 1 จุดเพื่อชะลอการไหลของน้ำ ระยะยาวควรมีการเปิดเส้นทางน้ำให้กว้างขึ้น แต่ต้องมีการหารือกับผู้ประกอบการ ห้างร้านและชาวบ้านแก้ไขร่วมกัน รวมทั้งขออนุญาตทางเมียนมาในการดำเนินการเพราะเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศ ซึ่งเกินกำลังของท้องถิ่นที่จะดำเนินการได้เอง เคยเสนอข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขผ่านไปยังคณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-เมียนมาส่วนท้องถิ่นหรือ ทีบีซี ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ต้องคุยในระดับประเทศในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (อาร์บีซี) โดยกระทรวงการต่างประเทศ เพราะปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะหน้าแต่เป็นปัญหาถาวรไปแล้ว" ประธานหอการค้าแม่สายและประธานสมาคมเศรษฐกิจไทย-เมียนมา จ.เชียงราย กล่าว
ท้องถิ่นใช้งบดำเนินการไม่ได้
นายไศลยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรี ต.แม่สาย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมแม่สาย หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกรมโยธาธิการและผังเมืองฯ กรมเจ้าท่า หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถนำงบประมาณเข้าไปดูแลหรือจัดการอะไรได้ เพราะเป็นพื้นที่แนวชายแดนที่ขัดต่อระเบียบของทางราชการ ซึ่งมีข้อจำกัดไว้อยู่ จึงไม่มีเจ้าภาพที่จะเข้ามาดูแลอย่างชัดเจน แม้แต่ทางเทศบาลเองซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ก็ทำได้เพียงการป้องกันเท่านั้น
ทางเทศบาลฯเคยมีความพยายามจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้หลายครั้ง ทั้งระยะเร่งด่วนด้วยการจัดสรรงบประมาณเพื่อขอดำเนินการขุดลอกลำน้ำสายระยะทางประมาณ 1,500 เมตร แต่ทางเมียนมาอยากให้มีการขุดลอกตลอดแนวตั้งแต่จุดผ่อนปรนหัวฝายไปจนถึงสำนักงานชลประทาน ซึ่งมีระยะทางหลายกิโลเมตร งบประมาณไม่เพียงพอ และอีกโครงการประมาณปี 2545 ได้งบประมาณเมืองชายแดนมาก้อนหนึ่งเพื่อทำพนังกั้นน้ำแบบถาวรตลอดแนวที่ได้รับผลกระทบ แต่ทางเมียนมาหากทำต้องทำฝั่งเมียนมาด้วย ซึ่งงบประมาณเราไม่สามารถทำในต่างประเทศได้ เพราะต้องขออนุญาตจากกรมแผนที่ กระทรวงกลาโหมเสียก่อน จึงไม่ได้รับการอนุมัติ เคยคิดแม้กระทั่งจะยกถนนบริเวณตลาดสายลมจอยขึ้น 1 เมตร แต่ชาวบ้านไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะถมที่ดินให้เท่ากับถนนได้
"กรณีการบุกรุกที่ดินไปในลำน้ำจนเกิดลำน้ำคับแคบและขวางทางน้ำ เป็นเหตุอีกอันหนึ่งที่แก้ไขได้ลำบากมาก เนื่องจากชาวบ้านอาศัยอยู่มาก่อนที่จะมีกฎหมายท้องถิ่นมาบังคับใช้ การจัดระเบียบจึงเป็นไปได้ยาก ทั้งที่เดิมทีในอดีตแม่น้ำสายมีความกว้างกว่า 100 เมตร แต่ปัจจุบันเหลือความกว้างไม่เกิน 20 เมตร ขณะที่พื้นที่ฝั่งประเทศเมียนมาต่ำกว่าพื้นที่ของไทยประมาณ 20-30 เซ็นติเมตร จะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ" นายไศลยนต์ กล่าว
นายไศลยนต์ กล่าวว่า น้ำท่วมแต่ละครั้งจะมีพื้นที่ได้รับผลกระทบมากคือบริเวณตลาดสายลมจอย ซึ่งมีทั้งย่านชุมชนและแหล่งจำหน่ายสินค้าขนาดใหญ่ นอกจากนี้มีอีก 3 ชุมชนหลักคือชุมชนเกาะทราย ไม้ลุงขน และเหมืองแดง มีบ้านเรือนกว่า 1,000 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม ประชากรเดือดร้อนกว่า 5,000 คน แต่ที่ทำได้จริง ๆ ก็คือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้านการป้องกันด้วยการจัดงบประมาณขุดลอกลำเหมืองสาธารณะที่เชื่อมต่อกับลำน้ำสายให้สามารถกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด หากมีปริมาณน้ำไหลมามากเพื่อลดการไหลบ่าเข้าย่านชุมชน การจัดซื้อวัสดุให้ชาวบ้านทำพนังหลังบ้านที่ติดกับลำน้ำ จัดซื้อกระสอบและทรายทำพนังชั่วคราวกั้นตามจุดเสี่ยงให้น้ำเข้าชุมชนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ที่เหลือคือการช่วยเหลือและพื้นฟูจากการถูกน้ำท่วม
สายชลพลาซ่าพร้อมขยับห่างลำน้ำ
นายแดง ตุ้มพลอย เจ้าของร้านสายชลพลาซ่า ซึ่งถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในร้านค้าที่ขวางทางเดินน้ำ กล่าวว่า สมัยก่อนไม่ได้มีปัญหาน้ำท่วม ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ต่างคนก็ต่างสร้างบ้านตามพื้นที่ที่มีอยู่ โดยไม่ได้มีแนวเขตที่ว่าจะก่อสร้างได้ถึงจุดไหนบริเวณไหน ต่างคนก็ต่างสร้าง ซึ่งหากมองตามความจริงแล้วก็เป็นการรุกลำน้ำตลอดแนวทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมาเพียงแต่ร้านอยู่ใกล้กับสะพานและอยู่ช่วงโค้งทำให้เห็นได้ชัด ทั้งที่ความจริงกลับเป็นเสมือนกำบังไม่ให้น้ำเข้าท่วมย่านชุมชนด้วยซ้ำไป เพราะถึงแม้ไม่มีร้านตน ตามหลักของน้ำก็จะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำอยู่แล้ว แต่น้ำที่ท่วมจะท่วมตั้งแต่ตอนบนในพื้นที่หัวฝายมาก่อน เมื่อมาถึงหากร้านตนไม่บังก็จะไปตามถนนภายในชุมชนทันที
"เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายและเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของการใช้พื้นที่ราชพัสดุและแบบผังเมืองของเทศบาลแม่สาย ทางร้านก็ยินดีที่จะดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยจะตัดพื้นที่ร้านขยับเข้ามา ออกจากลำน้ำอีก 2 เมตร ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวางแผนก่อสร้างและขออนุญาตกับทางเทศบาล ตลอดจนรวบรวมเงินเพื่อดำเนินการ โดยจะเร่งให้เร็วที่สุดตั้งเป้าว่าจะให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนในปีหน้านี้ แต่เชื่อว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมชายแดนได้ หากจะแก้ไขจะต้องแก้ตลอดแนวทั้งฝั่งไทยและฝั่งเมียนมา" นายแดงกล่าว
ยกเรื่องเข้าหารือในที่ประชุมทีบีซี
พ.อ.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 2 (ฉก.ม.2) กองกำลังผาเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา ส่วนท้องถิ่นหรือทีบีซี. กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมสายได้หยิบยกเข้าไปหารือในที่ประชุมทีบีซี.ระหว่างไทย-เมียนมาหลายครั้ง โดยมีแผนที่จะดำเนินการขุดลอกลำน้ำสายตลอดแนวเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้มากและระบายได้เร็วที่สุดกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การติดตั้งเครื่องเตือนภัยน้ำท่วมทางตอนบนของลำน้ำสายกรณีมีน้ำป่าไหลหลากมาจำนวนมาก เพื่อเตือนภัยให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ด้านล่าง โดยเฉพาะในตลาดการค้าสองฝั่งแม่น้ำที่ได้รับผลบกระทบก่อนจุดอื่นได้เก็บทรัพย์สินมีค่าลดการสูญเสีย
นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะดำเนินการสร้างฝายและประตูระบายเพื่อระบายน้ำไปยังพื้นที่ทางการเกษตรโดยเฉพาะจุดบ้านเวียงหอม ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย ในฤดูแล้งราษฎรก็มีน้ำใช้ในการทำกสิกรรม ในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเบื้องต้นทางเมียนมารับปากอนุญาตที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ แล้วรวมไปถึงการปรับปรุงซ่อมแซมสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายที่มีอายุนานกว่า 30 ปี ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำหลาก ทำให้สะพานเกิดการเคลื่อนตัว ซึ่งทางแขวงการทางก็เตรียมที่จะปรับปรุงแล้ว ส่วนการขุดลอกนั้นกำลังรอการอนุมัติจากทางเมียนมาอยู่
"สิ่งที่เป็นปัญหาของน้ำท่วมชายแดนแม่สายมาจากการที่พื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเป็นที่ลุ่มและมีการเจริญเติบโตสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกมาตามลำน้ำของประชาชนทั้งสองฝั่ง ทำให้เกิดความคับแคบและตื้นเขินซึ่งเป็นสาเหตุหลักของน้ำท่วม โดยการแก้ไขต้องแก้ทั้งระบบซึ่งต้องมีการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายไทยและเมียนมา เพราะลำพังฝ่ายไทยทำเองก็ไม่ได้ ต้องได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายเมียนมาก่อน และทางกระทรวงการต่างประเทศจะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากลำน้ำสายเป็นลำน้ำสากลการจะนำงบประมาณของรัฐไปดำเนินการนั้นไม่ได้มีระเบียบบังคับอยู่ทำให้ไม่มีเจ้าภาพดำเนินการ ซึ่งปัญหาทั้งหมดได้เสนอไปทางกระทรวงกลาโหมแล้วแต่อาจต้องใช้เวลาในการดำเนินการ" พ.อ.ประพัฒน์ กล่าว
พ.อ.ประพัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องหารือกันอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมาจะตื่นตัวกันทีในช่วงน้ำหลาก เมื่อน้ำลดทุกฝ่ายก็นิ่งเฉย เรื่องทุกอย่างเงียบไป ทางทหารเองก็ไม่ได้มีหน้าที่หลักในการจัดการแต่สามารถประสานต่าง ๆ ได้โดยผ่านกระบวนการเวทีการประชุมทีบีซี แต่การจัดการปัญหานี้จะต้องเป็นเวทีใหญ่กว่านี้ เช่นเวทีประชุมอาร์บีซี. หรือเวทีคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-เมียนมา(เจบีซี.) ถึงจะดำเนินการได้ ตอนนี้ทางทหารเองก็ได้แต่เสนอข้อปัญหาและการจัดกำลังไว้คอยช่วยเหลือผู้ประสบภัยเท่านั้น
ซ่อมตอม่อสะพานที่ถูกน้ำซัด
นายชิดชัย ศรีดามา ผอ.แขวงการทางที่ 1 เชียงราย กล่าวว่า แขวงการทางเชียงรายมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะในส่วนของตัวสะพานมิตรภาพและบริเวณโดยรอบหน้าด่านพรมแดนเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปจัดการพื้นที่โดยรวมของริมฝั่งแม่น้ำสายได้ ซึ่งน้ำท่วมทุกปีนอกจากจะมีมวลน้ำไหลหลากด้วยความแรงแล้วยังมีเศษไม้และท่อนซุงจากป่าด้านบนไหลหลากมากับน้ำด้วย ทำให้กระแทกสะพานจนเกิดการเคลื่อนตัวและโครงสร้างบางส่วนได้รับความเสียหาย แต่ก็ยังใช้งานได้อยู่ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมก็ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 6.9 ล้านบาทในการซ่อมแซมแล้วในปีนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนของการว่าจ้างผู้รับเหมาดำเนินการคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยจะมีการเสริมโครงสร้างตอม่อให้แข็งแรงและดึงตัวสะพานกลับให้จุดเดิม พร้อมกับปูพื้นผิวใหม่ให้สวยงามแข็งแรง
"ส่วนกรณีที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าสะพานข้ามลำน้ำสายเป็นสะพานเล็ก ๆ และเตี้ยทำให้เมื่อน้ำหลากมีเศษไม้มาอุดขวางทางน้ำไว้นั้น ทางแขวงการทางมีแนวคิดที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบถาวรด้วยการสร้างสะพานข้ามลำน้ำใหม่โดยจะสร้างให้ใหญ่และยกพื้นให้สูงขึ้น แต่ติดที่งบประมาณในการดำเนินการและไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน เนื่องจากการก่อสร้างจะใช้งบประมาณค่อนข้างสูงและใช้เวลาในการก่อสร้างเป็นเวลานานนับปี ซึ่งผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยเพราะเกรงจะกระทบต่อการค้าที่ดำเนินการอยู่ เพราะส่วนใหญ่มองว่าสะพานไม่ไช่ตัวปัญหาแต่จะอยู่ที่สิ่งปลุกสร้างอื่นที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำมากกว่า" นายชิดชัย กล่าว
อำเภอทำได้แค่เตือนภัย
นายชุติเดช มีจันทร์ นายอำเภอแม่สาย กล่าวว่า ในส่วนของทางอำเภอเองก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากแม่น้ำสายเป็นดินแดนระหว่างประเทศที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจของทางอำเภอ ที่ผ่าน จึงเป็นในส่วนของการช่วยเหลือและการแจ้งเตือนภัยเท่านั้น โดยได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนหรือ อส. โดยฝ่ายป้องกันสาธารณภัยอำเภอ มีการจัดชุดเฝ้าระวังการแจ้งเหตุน้ำป่าไหลหลากแก่ประชาชน และการจัดกำลังเข้าช่วยเหลือหากเกิดกรณีน้ำท่วมฉับพลัน เรียกได้ว่าเป็นกำลังสนับสนุนเสียมากกว่า
นายชุติเดช กล่าวว่า ทางอำเภอก็พยายามที่จะหาแนวทางร่วมกับหลายหน่วยงานที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ โดยมีการพุดคุยถึงเรื่องที่จะนำเสนอให้มีการขุดลอกลำน้ำสายให้ลึกขึ้นเพื่อน้ำจะได้ระบายได้สะดวกหากมีมวลน้ำมามาก แต่แนวคิดก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการเนื่องจากติดปัญหาเรื่องเขตแดนเพราะเป็นแม่น้ำสากลซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองประเทศและขาดเจ้าภาพหลักที่จะดำเนินการ เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจของอำเภอ จึงอยู่ในขั้นตอนของการเสนอผ่านคณะกรรมการประสานงานชายแดนส่วนท้องถิ่นหรือทีบีซี. เพื่อขอหน่วยงานที่มีอำนาจดำเนินการและเสนอปัญหาให้ทางกระทรวงมหาดไทยได้รับทราบเท่านั้น
"ยอมรับว่าปัญหาน้ำท่วมชายแดนแม่สายเป็นปัญหาที่หมักหมมมานานและยากที่จะแก้ไขได้ในทันที โดยจากสภาพภูมิประเทศของลำน้ำสายที่แคบ เป็นเหมือนลักษณะคอขวด เมื่อมีมวลน้ำมามากก็จะทำให้ไม่สามารถระบายได้ทัน การจะผลักดันให้คนพื้นที่ที่รุกล้ำอยู่นั้นทำได้ยากมาก เพราะมีความเป็นอยู่ในพื้นที่ลักษณะนี้มานานสมัยที่ตนเคยมาทำงานในตำแหน่งอื่นในพื้นที่แม่สายแล้วก่อนที่จะย้ายมาเป็นนายอำเภอที่นี่" นายชุติเดช กล่าว
ลำน้ำสาย ปัญหาระดับชาติ
นายทวีชัย โชคสมุทร นายท่าภูมิภาคเชียงราย กล่าวว่า แม่น้ำสายเป็นแม่น้ำสากล ซึ่งทางสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคไม่สามารถที่จะนำโครงการเข้าไปดำเนินการใด ๆ ได้ ทำได้เพียงการดูพื้นที่ริมตลิ่งยึดเอาแนวเขตแดนของประเทศไทยว่าเท่านั้น ซึ่งก็ต้องอ้างอิงจากเอกสารเขตแดนของแต่ละหน่วยงานมาประกอบกัน โดยส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ริมฝั่งจะเป็นพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์เป็นผู้ดูแล ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการกำหนดขอบเขตของแม่น้ำที่ชัดเจนว่าการจะไปกันพื้นที่ไว้ในขณะนี้จึงทำได้ยาก
บทสรุป -ปัญหาของลำน้ำสายไม่ได้เป็นปัญหาระดับท้องถิ่นแล้ว เนื่องจากมีเรื่องของกฎหมายและระเบียบระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าหน่วยงานใดโดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐจะนำงบประมาณเข้าไปทำโครงการอะไรนอกประเทศไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของอำเภอ ท้องถิ่นหรือของจังหวัด
การแก้ไขปัญหาน้ำสาย กระทรวงการต่างประเทศต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งการเจรจาพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านและการเสนอหน่วยงานเข้ามาแก้ไข ซึ่งจะต้องได้รับความเห็บชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือ ครม.ก่อนถึงจะดำเนินการใด ๆ ได้
แม่น้ำสาย เดิมเรียกว่า แม่น้ำละว้า เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย มีความยาวรวมทั้งหมดประมาณ 30 กิโลเมตร มีความยาวในประเทศไทย 15 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่เป็นพรมแดนทางธรรมชาติกั้นระหว่างไทยกับพม่า
ต้นน้ำของแม่น้ำสายอยู่ที่ประเทศพม่า หลังจากนั้นก็ไหลผ่านประเทศไทยระหว่างอำเภอแม่สายกับแขวงท่าขี้เหล็ก ไปรวมกับแม่น้ำรวกภายในอำเภอ จากนั้นไหลรวมเข้ากับแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน ชาวบ้านต่างใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายด้านเกษตรกรรม
ที่ผ่านมา ทั้งแม่น้ำสายและแม่น้ำรวกต่างมีปัญหาการกัดเซาะของน้ำ ทำให้ลำน้ำเปลี่ยนทิศทาง เกิดแผ่นดินงอกและแผ่นดินหด จึงเป็นเหตุพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างไทยและพม่า จนมีข้อตกลงกันในปี พ.ศ.2483 และการสำรวจร่องน้ำลึกในปี พ.ศ. 2530-31 แต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ ทั้งสองฝ่ายต่างประสบปัญหาในการรักษาตลิ่งไว้จนถึงปัจจุบัน
หมายเหตุ - เหรียญชัย จันทร์สุภาเสน นักเขียนในโครงการพัฒนาทักษะทางวิชาชีพให้แก่บุคคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชน