เปิดรายงานไอดีเอ็มซี ชุมชนไทยพุทธ-มุสลิมร้าวหนัก แห่อพยพหนีความรุนแรงชายแดนใต้
รายงานของศูนย์การเฝ้าติดตามการละทิ้งถิ่นฐานภายในประเทศ หรือ Internal Displacement Monitoring Center (ไอดีเอ็มซี) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ได้นำเสนอรายงานฉบับใหม่เรื่อง "ชุมชนไทยพุทธที่กำลังลดน้อยถอยลงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สืบเนื่องจากปัญหาความรุนแรง" ตีแผ่ข้อมูลการอพยพย้ายถิ่นฐานหนีความรุนแรง และสถานการณ์ความหวาดระแวงของผู้คนต่างศาสนาในพื้นที่เอาไว้อย่างน่าสนใจ
รายงานระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ความรุนแรงจากการใช้อาวุธซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับกลุ่มติดอาวุธชาวมาเลย์มุสลิมมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการเสียชีวิตเกือบ 5 พันราย บาดเจ็บราว 8 พันคน ในจำนวนนี้มีชาวไทยพุทธซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่ ได้รับผลกระทบคิดเป็นร้อยละ 40 ของผู้เสียชีวิต และร้อยละ 60 ของผู้ได้รับบาดเจ็บ
ผลของความรุนแรงทำให้ประชากรบางส่วนอพยพย้ายหนีจากบ้านเรือนถิ่นที่อยู่ไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยกว่านอกภูมิภาคหรือในภูมิภาคเอง แต่ก็ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนแน่นอน
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่ไอดีเอ็มซีรวบรวมได้เชื่อว่า ชาวไทยพุทธราว 30% และมาเลย์มุสลิมราว 10% ได้ละทิ้งบ้านเรือน บางส่วนของผู้อพยพเป็นการอพยพชั่วคราว แต่ก็ทำให้ครอบครัวอยู่ในภาวะแตกแยก ผู้ที่เป็นสามียังอยู่ที่บ้าน ส่วนภรรยาและลูกๆ อพยพออกไป โดยผู้ที่อพยพมีหลากหลายอาชีพ ทั้งข้าราชการ แพทย์ พยาบาล คนกรีดยาง หรือแม้แต่พระสงฆ์ ขณะที่ชาวมาเลย์มุสลิมส่วนใหญ่อพยพไปยังประเทศมาเลยเซีย ส่วนหนึ่งไปหางานทำ
สำหรับผู้ที่ไม่ยอมละทิ้งบ้านเรือน บางส่วนก็สมัครเป็นกองกำลังทหารบ้าน เช่น ทหารพราน บางคนได้รับการฝึกฝนและติดอาวุธจากรัฐบาลเพื่อต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบ แต่นโยบายนี้ของฝ่ายไทยก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชุมชนสองฝ่าย ทั้งชาวไทยพุทธและมุสลิม
รายงานฉบับนี้ยังสรุปภูมิหลังของปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้ด้วยว่า เดิมทีสามจังหวัดภาคใต้เป็นรัฐปัตตานี มีสถานะเป็นรัฐอิสระ มีวัฒนธรรมของตนเอง ต่อมาปี พ.ศ.2445 ถูกสยามยึดครอง และรัฐบาลไทยที่ผ่านมาหลายรัฐบาลให้การสนับสนุนชาวไทยพุทธส่วนน้อย และขณะเดียวกันก็ละเลยความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่เป็นมุสลิม รวมทั้งมีความพยายามสนับสนุนการย้ายถิ่นฐานของคนไทยพุทธไปอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2503 รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายแจกที่ดินให้ชาวไทยพุทธ และให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ แต่มูลเหตุสำคัญของข้อพิพาทในปัจจุบันมาจากมูลเหตุทางการเมืองมากกว่าทางด้านเศรษฐกิจ
ในอดีตรัฐบาลไทยไม่ยอมรับความเป็นอัตลักษณ์ของมุสลิม และไม่ยอมรับให้คนมุสลิมมีส่วนร่วมทางการปกครองทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับประเทศในสัดส่วนที่เป็นธรรม เหล่านี้เป็นสาเหตุของการต่อต้านรัฐไทยโดยผู้ก่อความไม่สงบ
อย่างไรก็ตาม ปี พ.ศ.2523-2533 รัฐบาลไทยได้คัดเลือกผู้นำทางการเมืองและผู้นำทางศาสนาอิสลามให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการปกครอง มีผลทำให้เหตุการณ์ร้ายลดความรุนแรงลง แต่การเลือกปฏิบัติก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะด้านการศึกษา และการมีส่วนร่วมทางการปกครอง
ต่อมาระดับความรุนแรงได้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยปีต่อมามีการยุบ ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และ พตท.43 (กองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43) มีผลให้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการต่อสู้กับฝ่ายก่อความไม่สงบลดลง
ปี 2546 พ.ต.ท.ทักษิณประกาศนโยบายปราบปรามยาเสพติด และถูกกล่าวหาว่ามีการทำวิสามัญฆาตกรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก หลายคนถูกหมายหัวในบัญชีดำ นโยบายนี้ก่อให้เกิดอาณาจักรแห่งความหวาดกลัวในหมู่ชายมุสลิม
ปี 2547 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงรอบใหม่ วันที่ 4 ม.ค. มีการโจมตีค่ายทหารและปล้นอาวุธปืนไปได้จำนวนกว่า 400 กระบอกโดยกลุ่มที่เชื่อว่าคือขบวนการบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต กลุ่มนี้มีนักรบติดอาวุธราว 3 พันคน และมีกลุ่มผู้สนับสนุน 3-4 หมื่นคน จุดมุ่งหมายหลักคือการขับไล่ชาวไทยพุทธออกจากพื้นที่ และทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐไทย รวมทั้งต้องการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ ขณะที่รัฐบาลไทยตอบโต้ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน และส่งกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่เพิ่มเติม ทำให้คนมุสลิมจำนวนไม่น้อยเกิดความไม่พอใจ การปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบทำให้เกิดความสูญเสียมากขึ้น มีการสังหารหมู่หลายครั้ง ทั้งเหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ และมัสยิดอัลฟุรกอน
สำหรับรูปแบบการละทิ้งถิ่นฐาน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างปี 2547-2549 ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นมาก ประกอบกับชาวไทยพุทธอาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในสามจังหวัด หลายคนอพยพออกนอกพื้นที่ หลายคนอพยพจากชนบทเข้าเขตเมือง ข้อมูลการอพยพระหว่างปี 2545-2551 แสดงให้เห็นว่า บริเวณที่มีเหตุร้ายเกิดขึ้นมากจะมีผู้อพยพย้ายถิ่นมาก เช่น เขตเมืองยะลา เขตเมืองปัตตานี อ.สายบุรี อ.ปะนาเระ อ.โคกโพธิ์ (จ.ปัตตานี) และ อ.รามัน (จ.ยะลา)
ทั้งนี้ ผู้อพยพบางส่วนอพยพไปอยู่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งปลอดภัยกว่า หลายคนไป จ.พัทลุง และภูเก็ต แต่ไม่มีตัวเลขผู้อพยพที่แน่นอน เพราะไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบติดตามการละทิ้งถิ่นฐานอย่างเป็นทางการ แต่กระนั้น หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เคยรายงานโดยอ้างข้อมูลในพื้นที่ว่า ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปอาศัยอยู่ถึง 2 แสนคน
ส่วนการตอบสนองต่อปัญหาของรัฐบาลไทย ที่ผานมาได้พยายามรักษาภาพพจน์ของตนในสายตาของชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าผู้ก่อการร้าย แต่ใช้คำว่า "ก่อความไม่สงบ" แทน เพื่อมิให้คนเหล่านี้อ้างความชอบธรรมในการต่อสู้ของพวกเขา
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : อ่านรายงานฉบับเต็มของ ไอดีเอ็มซี ได้ใน
- Thailand: Buddhist minority declines the 'deep south' due to protracted armed conflict
บรรยายภาพ : ทหารใช้รถฮัมวี่ลาดตระเวนไปตามถนนสายต่างๆ เพื่อรักษาความปลอดภัย เป็นภาพที่เห็นจนชินตาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน