รุมทึ้ง "บึงบอระเพ็ด" สิ้นแหล่งชมนก 1 ใน 9 ของโลก นกเป็ดน้ำหนี -นกฟ้าหญิงสิรินธรสูญพันธุ์
บึงบอระเพ็ด เป็นบึงน้ำจืดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย อาณาเขตบึงมีความกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่อำเภอเมือง,อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ รวมพื้นที่เป็นพื้นน้ำใหญ่ 132,737 ไร่ เป็นแหล่งพันธุ์ปลาที่มีมากถึง 148 ชนิด พืช 44 ชนิด
ที่นี่มีอุทยานนกน้ำ ขึ้นชื่อว่า "บึงบอระเพ็ด เมืองหลวงนกน้ำของไทย" เป็นแหล่งชมนก 1 ใน 9 ของโลก ชมนกอพยพนานาสายพันธุ์นับแสนตัว เคยมีนกเป็ดน้ำหนีหนาวมาจากไซบีเรีย มีนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน ที่พบที่นี่แห่งเดียวในโลก ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
มีปลาเสือตอที่รสชาติอร่อยเลื่องชื่อของเมืองปากน้ำโพ มีทะเลบัว ชมดอกบัวแดงบานสะพรั่งเต็มบึงด้านทิศเหนือยาวสุดสายตานับพันไร่
บึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของนักท่องเที่ยวทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และต่างจังหวัด เป็นที่ทัศนศึกษาของนักเรียนที่จะหมุนเวียนมาศึกษานกนานาพันธุ์อย่างไม่ขาดสาย โดยเฉพาะวันเสาร์ – อาทิตย์ มีนับพันคน
แต่น่าเสียดาย ปัจจุบันอาณาเขตของบึงบอระเพ็ดลดหายไปเหลือประมาณ 4 หมื่นไร่เศษ นกเป็ดน้ำที่เคยบินมาก็ไม่มีแล้ว เพราะมีผู้ลักลอบเอายาพิษคลุกข้าวโพด ข้าวเปลือกไปหว่านให้นกเป็ดน้ำกิน จนนกเป็ดน้ำสลบ จากนั้นก็จับใส่กระสอบไปขายในตลาดปากน้ำโพ ตัวละ 40 – 50 บาท ทำให้นกเหลือน้อยลง และพากันบินหนีไปจนหมดสิ้น
แม้กระทั่งนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ที่มีแห่งเดียวในโลก ปัจจุบันก็ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
พันธุ์ปลาที่มีมากมาย มีชาวประมง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมบึง ทำการลงข่ายจับมาไปขายเป็นอาชีพในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา ทั้งที่มีเจ้าหน้าที่ประมงพักอยู่แพกลางบึง มีเรือเร็วเป็นพาหนะมีอาวุธปืนพร้อมสรรพ แต่ก็มีผู้ลักลอบจับปลากันอยู่เนือง ๆ
บุกรุกมายาวนาน
การรุกที่บึงบอระเพ็ด มีมาตั้งแต่ก่อนประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด คือแต่เดิม พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503 จะดูแลเฉพาะสัตว์ที่ประกาศเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องของพื้นที่ หลังจากนั้นมีการแก้ไขกฎหมายเปลี่ยนมาเป็นพระราชบัญญัติสงวนและคุมครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 จึง ได้มีการครอบคลุมพื้นที่เข้าไปด้วย
ชาวบ้านที่บุกรุกมาทำกินก่อนกรมประมงเข้าดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2470 ความขัดแย้งการแย่งชิงพื้นที่จึงมีมาตั้งแต่สมัยนั้น แล้วก็พัฒนาเลยมาเรื่อย ๆ
ผู้บุกรุกได้เข้ามาทำนา แล้วปลูกที่อยู่อาศัยเป็นหย่อม ๆ รอบบึงบอระเพ็ด ช่วงแรกมีประมาณ 3 – 4 หลัง ต่อมาก็ขยายขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหลายสิบหลัง บางแห่งเป็นร้อยหลังคาเรือน รอบบึงบอระเพ็ดคาบเกี่ยว 3 อำเภอ รวมแล้วกว่าหมื่นหลังคาเรือน ส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีบ้านเลขที่
ปัจจุบันนี้ ทางกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยสำนักฟื้นฟู ได้สำรวจการถือครอง เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 คาดว่าจะเสร็จ ปี 2559 เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ทำกินอยู่ก่อนประกาศจะมีผลบังคับใช้ ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 30 มิถุนายน 2541
ถ้าเข้าทำกินก่อนปี พ.ศ.2541 ถึง ปี พ.ศ. 2545 ก็ถือว่าทำกินมาก่อนโดยชอบ เป็นที่ยกเว้น ไม่ให้ถูกจับกุม ซึ่งเป็นมติของคณะรัฐมนตรี บรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน
นายจีรศักดิ์ ทิพยวงศ์ นักวิชาการชำนาญการ (หัวหน้าส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักงานบริหารพื้นที่ 12 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเบ็ด กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า การบุกรุกพื้นที่สืบเนื่องมาจาก หลังประกาศเป็นบึงบอระเพ็ด ชาวบ้านก็เริ่มบุกรุก คือใช้น้ำก่อน โดยสูบน้ำจากบึงไปทำนา มีการบุกรุกทำลายระบบนิเวศน์ ทำให้น้ำเริ่มแห้งหายไปจากบึง ระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมาถูกบุกรุกอย่างหนัก จนเกิดเกาะแก่ง เป็นผืนแผ่นดินแห้งแล้งรกร้างป่าวัชพืชขึ้นมาก
เมื่อน้ำในบึงแห้งก็เป็นแผ่นดิน ชาวบ้านก็บุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองสิทธิ์ เริ่มด้วยการทำนา ปลูกข้าวใช้น้ำบึงบอระเพ็ด ขุดบ่อปลา ทำสวนผัก เริ่มมีสิ่งปลูกสร้าง จากไม่กี่รายก็ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงขนาดตั้งเป็นหมู่บ้าน เมื่อไม่มีการปราบปรามจับกุมอย่างเด็ดขาด การบุกรุกก็ขยาย
"เมื่อ 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะกำลังสำรวจพิสูจน์สิทธิ์ ก็มีผู้บุกรุกเข้าไป 3 ราย จับดำเนินคดีตามกฎหมายมาตรา 42 เรื่องอยู่ระหว่างสอบสวนส่งอัยการสั่งฟ้อง"
เมื่อก่อนนั้นน้ำถึงไหน นั่นคืออาณาเขตบึง ทุกวันนี้มีบ้านเรือนไร่นาของประชาชนมาอาศัยอยู่หนาแน่น จนกลายเป็นหมู่บ้านเกิดใหม่ มีผู้ใหญ่บ้านเพิ่มขึ้น และต่อมาก็มี อบต.กลายเป็นชุมชนริมบึง ซึ่งชาวบ้านริมบึงส่วนใหญ่ มีอาชีพหาปลาในบึงไปขาย เอาดอกบัว ใบบัว รวมถึงรากบัวไปขายในเมืองเป็นอาชีพหลัก และอาชีพที่โด่งดังอีกอาชีพของชาวบ้านเขตทับกฤชใต้ คือ อาชีพจับงูเห่าขาย ตัวละ 300 บาท
ส่วนสัตว์น้ำก็หาจับในบึงบอระเพ็ด เช่น เต่า ตะพาบ ปลาชะโด ขนาดใหญ่ตัวหนึ่งหนัก 6 - 7 กิโลกรัม ชาวบ้านนำไปทำปลาเกลือปลาชะโดที่ขายดีที่สุด ตัวใหญ่เนื้อแน่นอร่อยมาก เป็นที่นิยมของลูกค้า ที่ใครผ่านไปมาต้องแวะซื้อ สร้างเศรษฐกิจเฟื่องฟูให้กับชาวบ้านขอบบึงที่ทำประมงจับปลามาขายทุกวันนี้หายากขึ้น เพราะมนุษย์ทำลายธรรมชาติไปเกือบหมดแล้ว
สวมทะเบียนบ้าน -แหล่งค้ายา
นายประจักษ์ มณีเทศ ประธานชมรมอนุรักษ์บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า ชมรมได้ตั้งขึ้นมาจากรวมตัวของผู้มีอุดมการณ์ปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรบึงบอระเพ็ด มุ่งหวังให้กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอีกครั้ง คืนทุ่งบัวแดงนับพันไร่ที่ถูกชาวบ้านลักลอบถอนรากบัวไปขาย จนไม่มีบัวแดงให้นักท่องเที่ยวชม โดยสมาชิกร่วมกันรักษาและฟื้นฟูป่าน้ำให้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชน้ำ ให้นกนานาชนิดนับแสนตัวยังคงอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ช่วยสอดส่องผู้บุกรุกยึดที่ทำกิน หาปลา จับนกแบบผิดกฎหมาย
เนื่องจากปัจจุบันบึงบอระเพ็ด วิกฤตอย่างหนัก น้ำในบึงที่เหลือน้อย ระบบนิเวศน์เสียหายหนัก มีการลักลอบทำการประมงในบึงบอระเพ็ดอย่างผิดกฎหมาย ทั้ง ดักลอบ ช็อตปลา ใช้อวน และระเบิดปลา ทำให้พันธุ์ปลาบางชนิดถึงกับสูญพันธุ์ไปจากบึงบอระเพ็ด เช่น ปลาเสือตอ จากการทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้ปลาเล็กลูกปลาตายอย่างน่าเสียดาย ไม่มีโอกาสแพร่พันธุ์ เป็นเหตุให้ปลาในบึงลดน้อยใกล้สูญพันธุ์ ทางชมรมฯ ได้ออกหาข้อมูลลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พบการกระทำผิดกฎหมาย ก็ประสานเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีทันที
กรณีบ้านที่บุกรุกแต่กลับมีทะเบียนบ้านนั้น จากข้อมูลพบว่า เป็นคนกลุ่มใหญ่รวมตัวกันเป็นชุมชนก็คือเกาะบ้านห้วยหิน หมู่ 9 บ้านหัวคลัก ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ที่มีอยู่ 120 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ในหมู่ 9 ต.พระนอน เข้าไปปลูกบ้าน แล้วเอาเลขที่บ้านเดิมไปติดไว้ เพื่อรับของแจกตอนประสบภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่มีอาชีพลักลอบทำประมงอย่างผิดกฎหมาย เคยมีการรวมตัวล้อมกรอบเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ดเมื่อครั้งจับกุมการทำประมงผิดกฎหมายมาแล้ว
"มีนายทุนหนุนหลังเป็นเจ้าของหมู่บ้านจัดสรร ผู้กว้างขวางใน ต.หนองปลิง อ.เมือง ฉายาเจ๊ น.คอยช่วยเหลือ จากการสืบทราบของเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์มีการลักลอบค้ายาบ้า มีการนำยาบ้าเข้าไปจำหน่ายในบึงบอระเพ็ด โดยขายให้ชาวประมงด้วยกัน หรือไม่ก็เอายาบ้าไปแลกปลา อีกทั้งมีการนัดส่งยาบ้าในบึงโดยใช้เรือจากชาวประมงกลุ่มนี้"
อีกกลุ่มใหญ่ที่มีชุมชนรอบบึงมีชาวบ้านนับร้อยหลังคาเรือน ที่ ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง มีพฤติกรรมเดียวกัน มีอาชีพลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย รวมตัวกันเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ในบึงบอระเพ็ด ทั้งทำประมงผิดกฎหมาย และตีนก ซึ่งช่วงนี้เป็นหน้าหนาว นกจะผลัดขนไม่สามารถบินได้ ต้องอาศัยอยู่ตามป่าหญ้า ป่าบัว พวกนี้เมื่อเจอนกก็ใช้ไม้ตี หรือใช้ไฟช๊อต เรียกว่าเจอปลาช็อตปลา เจอนกช็อตนก ทำให้นกลดน้อยลงทุกวัน คนกลุ่มนี้ไม่เกรงกลัวเจ้าหน้าที่ บางทีก็ตะโกนด่า หรือยิงปีนขึ้นฟ้าแล้วก็ขับเรือหนีไป
ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ได้นำเรือเข้าไปยิงหน่วยแหลมตาสิงห์ ต.ทับกฤช อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นหน่วยคอยสกัด และที่พักของเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ฯ เจ้าหน้าที่ต้องยิงตอบโต้ คนร้ายล่าถอยไปได้ มีการแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ สภ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ไว้แล้ว
ส่วนพื้นที่ทำนาที่ชาวบ้านบุกรุกบึงบอระเพ็ด ในเขตเขาพนมรอก ต.พนมเศษ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา จำนวนนับหมื่นไร่ มีห้างนาไว้พักพิงอย่างเดียว ก็มีการแบ่งขาย ให้กับนายทุนต่างถิ่น ไร่ละนับหมื่นบาท เพราะมีน้ำทำนาได้ทั้งนาปีและนาปรัง ปลูกข้าวได้ตลอดปี โดยสูบน้ำจากบึงบอระเพ็ด
พื้นที่รอบนอกซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมประมงกว่า 6 หมื่นไร่ ที่ชาวบ้านบุกรุกยึดครอง กำลังอยู่ระหว่างการรอพิสูจน์สิทธิ์ บางแห่งก็มีการถมที่ ทำถนนเข้าไปในชุมชนที่อยู่ในบึงบอระเพ็ด ส่วนใหญ่จะได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติ
โดยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา นายจีรศักดิ์ ทิพยวงศ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หน.เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ฯ นำเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม นายวินัย มั่นใจ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลพระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ขณะกำลัง ไถเกรดพื้นที่ 45 ไร่ 1 งาน 85 ตารางวา บนพื้นที่ดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด หมู่ 1 บ้านหินดาด ต.พระนอน อ.เมือง ซึ่งได้ยึดรถไถพร้อมเครื่องมือเป็นของกลาง ส่งตัวผู้ต้องหาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย
ทุ่ม 2 พันล้านแก้ แต่เหลว
ในปี พ.ศ.2524 สมัยที่นายประมูล จันทรจำนง เป็นผู้ว่าฯ ได้ประกาศเป็นนโยบายในการรักษาบึงบอระเพ็ดด้วยแนวทางสร้างถนนล้อมบึงทั้งหมด ขนาดกว้างราว 6 – 8 เมตร เพื่อให้รถยนต์วิ่งได้รอบบึง รักษาอาณาเขตและสิ่งแวดล้อมปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ริมบึงด้านอำเภอเมือง ต.พระนอน สร้างอุทยานนกน้ำ เปิดให้เอกชนสร้างโรงแรมและรีสอร์ท มีสวนอาหาร และที่สำหรับกางเต็นท์ในฤดูหนาว มีนกเป็ดน้ำบินมาอาศัยที่บึงฝูงใหญ่นับหมื่นตัว มีดอกบัวแดงบานเต็มบึง และมีที่ตกปลา ทำแบบญี่ปุ่น คือขายบัตรให้นักตกปลา คิดเป็นชั่วโมง ตกได้เอาปลาไปเลย
ริมบึงจะสร้างสนามกอล์ฟขนาดเล็กให้ผู้มาเที่ยวได้พักผ่อนเล่นและกินอาหารชมธรรมชาติ เมื่อผู้ว่าฯ ย้ายไป เรื่องการพัฒนาบึงบอระเพ็ดยุคนั้นก็หยุดหายไป พร้อมกับที่ดินริมบึงก็ยังถูกรุกอย่างต่อเนื่องต่อไป
ต่อมาปี 2527 – 2532 มีผู้ว่าราชการจังหวัด คือ นายสนอง รอดโพธิ์ทอง ต่อด้วยนายประกิต พิณเจริญ ได้มีการรื้อฟื้นการรักษาอาณาเขตขึ้นมาอีกครั้งโดยใช้งบประมาณจำนวน 80 ล้านบาท ทำโครงการปลูกต้นตาลเพื่อกันเขตบึง เมื่อต้นตาลสูงเต็มที่ก็จะเป็นเหมือนหลักเขต แต่พอถึงฤดูน้ำหลาก ก็ได้ท่วมต้นตาลจนตายหมด
บึงบอระเพ็ดถือเป็นขุมเงินขุมทอง จนได้ชื่อว่า “ถมไม่เต็ม” จากอดีตถึงปัจจุบัน ลงเม็ดเงินไปแล้ว กว่า 2 พันล้านบาท ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาการบุกรุกที่ของชาวบ้านเข้าไปยึดที่ทำนา ทำสวน จนกินอาณาเขตเกือบถึงกลางบึง อีกทั้งระดมสูบน้ำในบึงเข้านาและสวนเกษตร ทำให้น้ำในบึงที่มีน้อยอยู่แล้ว แห้งเหือดหาย จนทำให้ระบบนิเวศน์เสียหายอย่างหนัก
30 ปี บึงบอระเพ็ดเสียหายหนัก
นายสม น้อยเกิด อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 38 หมู่ 5 ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีบ้านอยู่ขอบบึงบอระเพ็ด บริเวณอุทยานนกน้ำบึงบอระเพ็ด บอกว่าอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด พ่อแม่มีอาชีพทำประมงหาปลาเลี้ยงชีพเลี้ยงลูกหลานมา ได้ช่วยพ่อมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ
สมัยนั้นบึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่น้ำเวิ้งว้างกว้างใหญ่ไพศาล มีอาณาเขตเกือบ 2 แสนไร่ มองสุดลูกหูลูกตา เรียกว่า “ทะเลน้ำจืด” อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด โดยเฉพาะปลาเสือตอที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครสวรรค์ ที่ใครมาแล้วต้องลองลิ้มชิมรส สร้างเศรษฐกิจรุ่งโรจน์ให้ชาวปากน้ำโพ
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ออกจากบ้านไปลงข่ายไม่เกิน 300 เมตร ก็ได้ปลาเสือตอมากมายเต็มตาข่าย นำไปขายได้เงินเหลือกินเหลือใช้ ปัจจุบัน "ปลาเสือตอ" ได้สาบสูญไปจากบึงบอระเพ็ดแล้ว พร้อมกับปลาหลายชนิดก็ลดน้อยหดหายไปทุกวันนี้ ต้องออกเรือไปกว่า 10 กิโลเมตร ใช้น้ำมันไปหลายลิตร วันหนึ่งได้ปลาไม่กี่กิโล ขายได้ร้อยสองร้อยบาท บางทีก็ไม่พอค่าน้ำมัน
ธุรกิจท่องเที่ยวรอบบึงเจ๊งระนาว
ชาวบ้านบุกรุกเข้าไปทำนาปี นาปรัง ระดมใช้เครื่องสูบน้ำจากบึงบอระเพ็ดเข้านา ทำให้น้ำในบึงหดหายไปทุกวัน อุทยานนกน้ำที่เคยมีน้ำหล่อเลี้ยงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด นกหลายแสนตัว ก็แห้งแล้งเป็นทุ่งรกร้างว่างเปล่า ต้องขุดร่องน้ำออกไปกลางบึงกว่า 10 ก.ม.ถึงจะเห็นพื้นที่น้ำ
ในอดีตเคยมีร้านค้าขาย บริการนักท่องเที่ยวมากมายทั้งร้านอาหาร สินค้าโอท็อปต้องปิดตัวลง ธุรกิจเรือบริการนักท่องเที่ยว นั่งเรือชมนกชั่วโมงละ 500 บาท ต้องจอดเกยตื้น ไม่มีคนมาว่าจ้างไปดูนก เพราะแค่ไป-กลับ ต้องลัดเลาะไปตามร่องน้ำที่ขุดลอกเข้ามาในอุทยานนกน้ำ กว่าจะถึงกลางบึงยังไม่ทันดูนกก็หมดชั่วโมงแล้ว จึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในอุทยานนกน้ำบึงบอระเพ็ด เจ้าหน้าที่ก็ปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่าไร้คนไปเที่ยว
วอน คสช.ยึดคืนบึงบอระเพ็ด
นายสม น้อยเกิด ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งมีบ้านอยู่ขอบบึงบอระเพ็ด กล่าวว่า มองเห็นแนวทางในการยับยั้งความเสียหายได้เร็วที่สุดเวลานี้คือ รัฐบาล และ คสช.ต้องลงมาดูแลแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ให้เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมบูรณาการทำงานร่วมกัน รีบเข้ามาดำเนินคดีตามกฎหมาย เร่งปฏิบัติการยึดคืน "บึงบอระเพ็ด" สมบัติของประชาชนทั้งประเทศ คืนธรรมชาติ พันธุ์ปลา พันธุ์ไม้ และนกน้ำ ให้ทะเลน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย พันธุ์ปลาที่ลดหาย จะได้เพิ่มกลับคืนมา ระบบนิเวศน์จะได้ฟื้นฟูกลับมา ให้ลูกหลานได้ศึกษาพันธุ์ปลา พันธุ์ไม้น้ำ ดูนกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลายมิติทางธรรมชาติ ถ้าปล่อยให้คนบางกลุ่ม ที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายขยายอาณาเขตบุกรุกเข้ายึดบึงบอระเพ็ดดังเช่นทุกวันนี้ บึงบอระเพ็ดก็คงเหลือแต่ตำนานที่เคยเล่าขานเท่านั้น
ชีวิตที่เหลือเพื่อบึงบอระเพ็ด
นายประจักษ์ มณีเทศ ประธานกลุ่มชมรมคนรักบึงบอระเพ็ด กล่าวว่า เห็นนายทุนเข้ายึดที่ดินทำฟาร์มขุดบ่อเลี้ยงปลาขายจนมีฐานะร่ำรวย หลายแห่งชาวบ้านก็แผ้วถางทำไร่ปลูกผลไม้และพืชสวนครัว บางที่ก็มีนายทุนปรับเกรดที่ดินจัดสรรแบ่งขาย พร้อมใช้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ จนหมดสภาพเป็นพื้นที่บึงบอระเพ็ดไปกว่าครึ่งแล้ว
ชาวบ้านก็เข้าไปลักลอบถอนรากบัวนำมาขายทุกวัน ประกอบกับน้ำในบึงลดลงจากการบุกรุกของชาวบ้านที่เข้าไปทำนา ทำให้ระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติเสียไปหมด
"ทนเห็นความเสียหายไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว จึงร่วมกับชาวตลาดปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ตั้งกลุ่มชมรมคนรักบึงบอระเพ็ด คอยสอดส่องผู้ลักลอบจับปลาและพันธุ์ไม้น้ำ พร้อมประสานทางกรมประมงได้ลงมาจัดระเบียบในบึงบอระเพ็ดและนำเจ้าหน้าที่ประมงร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่า เร่งรื้อตาข่ายที่นำมากั้นเป็นแนวยาว พร้อมทั้งจัดชุดตระเวนเรือเร็ว ออกตรวจจับผู้กระทำผิดลักลอบทำประมงอย่างผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐอย่างเดียว คงไม่ทันการณ์"
บึงบอระเพ็ด ที่เคยสวยงาม เป็นธรรมชาติที่เคยอุดมสมบูรณ์ ถึงวันนี้สภาพกลายเป็นป่ารกร้าง แหล่งท่องเที่ยวที่เคยคึกคัก วันนี้เงียบเหงาไม่มีผู้ประกอบการ และแน่นอน ไม่มีแม้กระทั่งชีวิตของสัตว์น้ำ นกนานาชนิดและพืชพันธุ์ไม้ให้เห็นอีกแล้ว ไม่ต่างอะไรกับสถานที่เสื่อมโทรม รกร้าง
การฟื้นบึงบอระเพ็ดเป็นเรื่องยาก แต่การไม่ทำอะไรเลย จะทำให้ “บึงบอระเพ็ด” ตายอย่างถาวร.....
ความเป็นมา
"บึงบอระเพ็ด" เดิมพื้นที่ทั้งหมดอยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์ ประมาณ 132,737 ไร่ หลังจากนั้นกรมประมง ได้ขอใช้พื้นที่บึงบอระเพ็ด จากกรมธนารักษ์ทั้งหมด เพื่อเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด เมื่อปี พ.ศ.2480
หลังจากนั้น ปี พ.ศ.2518 กรมป่าไม้ โดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ได้สำรวจพื้นที่ เนื่องจากว่าในบึงบอระเพ็ด เกิดระบบนิเวศน์เสียหายอย่างหนัก จากการบุกรุกเข้าล่าสัตว์อย่างผิดกฎหมาย ทำให้ในน้ำที่มีพันธุ์ปลาหายาก "ปลาเสือตอ" สูญพันธุ์ พวกนกน้ำ เป็ดแดง เป็ดผี นกนานาพันธุ์ รวมทั้งหมดตามประกาศกฎกระทรวง มีอยู่ 33 ชนิด ได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ปี พ.ศ.2519 มีการประกาศให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จำนวน 66,250 ไร่ อยู่ในสังกัดสำนักงานบริหารพื้นที่ 12 มีพื้นที่คาบเกี่ยว 3 อำเภอในจังหวัดนครสวรรค์ คือ อ.เมือง , อ.ชุมแสง และ อ.ท่าตะโก