12 ปีไฟใต้ละลายงบจ่อ3แสนล้าน สถิติรุนแรง-หมู่บ้านสีแดงลด ปืนถูกปล้นเพิ่ม!
วันที่ 4 ม.ค.2559 เป็นวันครบรอบ 12 ปีของเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งใหญ่จำนวน 413 กระบอก ที่กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ซึ่งถือเป็นปฐมบทของความรุนแรงชายแดนใต้รอบใหม่ จนถึงปัจจุบันเปลวไฟของสถานการณ์ความไม่สงบก็ยังไม่ดับมอดลง
ผ่านมา 12 ปี ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต.รวบรวมสถิติเหตุรุนแรงทุกรูปแบบ พบว่าเกิดขึ้นทั้งสิ้น 17,808 เหตุการณ์ แยกเป็นเหตุความมั่นคง หรือการก่อเหตุที่เชื่อว่ากระทำโดยผู้ก่อความไม่สงบ จำนวน 9,407 เหตุการณ์
ระเบิดกว่า 3 พันลูก – ตายเฉียด 4 พัน
ในจำนวนเหตุรุนแรง พบว่าเป็นเหตุยิงด้วยอาวุธปืนมากที่สุด 8,043 เหตุการณ์ รองลงมาคือเหตุก่อกวน 3,328 เหตุการณ์ ลอบวางระเบิด 3,026 เหตุการณ์ วางเพลิง 1,647 เหตุการณ์ ทำร้าย 342 เหตุการณ์ ปะทะ 259 ครั้ง ชิงอาวุธ 172 เหตุการณ์ ฆ่าอย่างทารุณ 102 เหตุการณ์ ประท้วง 65 ครั้ง และอื่นๆ 22 เหตุการณ์
สถานภาพความสูญเสียเฉพาะเหตุความมั่นคง 9,407 เหตุการณ์ มียอดผู้เสียชีวิตทุกกลุ่มรวมทั้งสิ้น 3,949 คน เป็นประชาชนทั่วไปมากที่สุด 2,624 คน รองลงมาเป็นทหาร 509 นาย ตำรวจ 395 นาย ครูและบุคลากรทางการศึกษา 140 คน พระ 19 รูป และผู้ก่อความไม่สงบ 325 คน
ส่วนผู้บาดเจ็บทุกกลุ่ม รวมทั้งสิ้น 9,625 คน เป็นประชาชนมากที่สุด 5,561 คน รองลงมาคือทหาร 2,461 นาย ตำรวจ 1,424 นาย ครูและบุคลากรทางการศึกษา 147 คน พระ 24 รูป และผู้ก่อความไม่สงบ 31 คน
ปี 58 เหตุรุนแรง-ความสูญเสียลด
สำหรับปี 2558 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เหตุรุนแรงรวมทุกประเภทเกิดขึ้นทั้งสิ้น 701 เหตุการณ์ เฉลี่ย 1.09 เหตุการณ์ต่อวัน ลดลงจากปี 2557 ที่มีเหตุรุนแรงรวม 1,210 เหตุการณ์ คิดเป็นลดลงร้อยละ 42.1
หากนับเฉพาะเหตุความมั่นคง ซึ่งแยกแยะออกมาแล้วว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบ พบว่าปี 2558 มีเหตุความมั่นคงเกิดขึ้น 367 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 52 ของเหตุรุนแรงรวมที่เกิดขึ้น ขณะที่ปี 2557 มีเหตุความมั่นคง 501 เหตุการณ์ เท่ากับว่าปี 2558 มีเหตุความมั่นคงลดลงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับปี 2557
ส่วนยอดการสูญเสียทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงตลอดปี 2558 ก็ลดลงจากปีก่อนหน้า โดยปี 2558 มีผู้เสียชีวิตรวม 113 คน บาดเจ็บ 354 คน ลดลงจากปี 2557 ที่มีผู้เสียชีวิต 232 คน และบาดเจ็บ 525 คน
เฉพาะปี 2558 ที่มียอดผู้เสียชีวิต 113 คนนั้น ปรากฏว่ากลุ่มที่สูญเสียมากที่สุดยังคงเป็นประชาชนทั่วไป จำนวน 60 คน รองลงมาคือทหาร 27 นาย ตำรวจ 8 นาย ครู 1 คน พระ 1 รูป และผู้ก่อความไม่สงบ 16 คน
ขณะที่ยอดผู้บาดเจ็บ 354 คน แยกเป็นประชาชนทั่วไป 154 คน ทหาร 139 นาย ตำรวจ 57 นาย ครู 1 คน พระ 1 รูป และผู้ก่อความไม่สงบ 2 คน
หมู่บ้านสีแดงลด – หมู่บ้านพัฒนาเพิ่ม
จากสถานการณ์ในภาพรวมที่สถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียลดลง ทำให้การวัดระดับความรุนแรงโดยกำหนดเป็นสีของหมู่บ้าน จากเดิมที่ใช้ “สีแดง” หมายถึง หมู่บ้านเสริมความมั่นคง หรือหมู่บ้านที่ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบอยู่ และ “หมู่บ้านสีเหลือง” หรือ หมู่บ้านเฝ้าระวัง ลดจำนวนลง
ขณะที่ “หมู่บ้านสีเขียว” ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านที่ฝ่ายรัฐควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว จึงมุ่งเน้นงานพัฒนา หรือที่เรียกว่า “หมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนา” มีจำนวนเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน จากจำนวนหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ทั้งหมด 1,970 หมู่บ้าน แยกเป็นหมู่บ้านสีแดง หรือหมู่บ้านเสริมความมั่นคง จำนวน 136 หมู่บ้าน จากเดิมมี 319 หมู่บ้าน ลดลง 183 หมู่บ้าน หรือร้อยละ 57.37
หมู่บ้านสีเหลือง หรือหมู่บ้านเฝ้าระวัง ปัจจุบันมี 234 หมู่บ้าน จากเดิมมี 517 หมู่บ้าน เท่ากับลดลง 283 หมู่บ้าน หรือ ร้อยละ 54.74
หมู่บ้านสีเขียว หรือ หมู่บ้านเสริมการพัฒนา ปัจจุบันมี 1,600 หมู่บ้าน จากเดิมมี 1,160 หมู่บ้าน เพิ่มขึ้น 440 หมู่บ้าน หรือร้อยละ 37.93
ปืนถูกปล้น 2 พันกระบอก-ตามคืนได้ 804
ปฐมบทของเหตุรุนแรงชายแดนใต้เมื่อ 12 ปีก่อน คือเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนจำนวน 413 กระบอก จากค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส แต่นั่นไม่ใช่การปล้นอาวุธครั้งเดียวที่กลุ่มก่อความไม่สงบเปิดปฏิบัติการกับเจ้าหน้าที่รัฐ ทว่าตลอด 12 ปีที่ผ่านมา มีอาวุธปืนถูกปล้นจากเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 2,076 กระบอก ติดตามคืนมาได้เพียง 804 กระบอก
เฉพาะปืนที่ถูกปล้นจากค่ายปิเหล็ง จำนวน 413 กระบอก เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 จนถึงปัจจุบันติดตามคืนมาได้ 98 กระบอก แยกเป็นเอ็ม 16 จำนวน 89 กระบอก ปืนพกขนาด 11 มม. จำนวน 9 กระบอก
ส่วนปืนที่ถูกปล้นครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในเหตุโจมตีฐานพระองค์ดำ หรือฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 จำนวน 65 กระบอกนั้น จนถึงปัจจุบันติดตามคืนได้ 20 กระบอก แยกเป็นปืนเอ็ม 16 จำนวน 15 กระบอก ปืนกลมืออูซี่ 4 กระบอก และปืนกลมินิมิ 1 กระบอก
ปิดล้อม 8 หมื่นครั้ง ออกหมาย พ.ร.ก. 6 พันหมาย
จากเหตุรุนแรงที่เกิดขั้น รวมทั้งเหตุปล้นปืน ทำให้ฝ่ายความมั่นคงต้องเปิดปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม ซึ่งตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ปิดล้อมไปแล้ว 79,510 ครั้ง 134,304 เป้าหมาย เฉพาะปี 2558 ปิดล้อม ตรวจค้น 11,622 ครั้ง 12,619 เป้าหมาย
เครื่องมือสำคัญในการใช้ปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม คือ กฎหมายพิเศษ ทั้ง พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ)
ที่ผ่านมามีการออกหมาย ฉฉ. หรือ หมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค.2548 ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้ จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 6,258 หมาย จับกุมได้ 4,643 หมาย ขณะที่หมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ หมาย ป.วิอาญาฯ เฉพาะคดีความมั่นคง ออกหมายไปทั้งสิ้น 4,963 หมาย จับกุมได้ 2,604 หมาย
คดีความมั่นคงศาลยกฟ้องเกือบครึ่ง
ในด้านของการดำเนินคดีความมั่นคง ตลอด 12 ปีไฟใต้ มีคดีความมั่นคงเกิดขึ้น 9,887 คดี รู้ตัวผู้กระทำผิดเพียง 2,247 คดี คิดเป็นร้อยละ 22.73 ในจำนวนนี้จับกุมผู้ต้องหาได้ 1,700 คดี ผู้ต้องหาเสียชีวิต 454 คดี ผู้ต้องหาหลบหนี 622 คดี ส่วนที่เหลืออีก 7,640 คดี เป็นคดีที่ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด คิดเป็นร้อยละ 77.27
ส่วนคดีความมั่นคงที่ขึ้นสู่ศาล และศาลมีคำพิพากษาแล้ว มีทั้งสิ้น 472 คดี จำเลย 1,501 คน เป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ 240 คดี คิดเป็นร้อยละ 50.85 และศาลพิพากษายกฟ้อง 232 คดี คิดเป็นร้อยละ 49.15
คดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ พบว่ามีจำเลยทั้งสิ้น 456 คน ศาลพิพากษาประหารชีวิต 46 คดี จำเลย 57 คน จำคุกตลอดชีวิต 76 คดี จำเลย 114 คน ที่เหลือเป็นคดีที่ศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต และต่ำกว่านั้น
งบดับไฟใต้ละลายเฉียด 3 แสนล้าน
ตั้งแต่ปี 2547 มีรัฐบาลมาแล้ว 8 ชุด นายกรัฐมนตรี 7 คน ใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ไปแล้วทั้งสิ้น 264,953 ล้านบาท โดยงบประมาณปี 2559 ตั้งไว้ที่ 30,866 ล้านบาทเศษ สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
งบดับไฟใต้ 13 ปีงบประมาณ แยกเป็น ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท
ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 19,102 ล้านบาท ปี 2555 จำนวน 16,277 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 21,124 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 25,921 ล้านบาท ปี 2558 จำนวน 25,744.3 ล้านบาท และปี 2559 จำนวน 30,886.6 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้น 264,953 ล้านบาท!
ทั้งนี้ ตัวเลขงบประมาณดังกล่าว เป็นตัวเลขเฉพาะ “งบโครงการ” หรือที่เรียกว่า “งบฟังก์ชั่น” เท่านั้น ยังไม่รวมงบเงินเดือนข้าราชการ เจ้าพนักงานของรัฐ และรายจ่ายประจำปกติของหน่วยงานที่ลงไปแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้