สะท้อนการทำงานวงการสื่อมวลชนไทยผ่านภาพยนตร์ spotlight
“....Spotlight ไม่ใช่หนังที่สร้างขึ้นเพื่อโจมตี ศาสนา มันคือการตั้งคำถามว่า ‘เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?’ เราปล่อยให้เรื่องแบบนี้ดำเนินอยู่นับสิบปีได้อย่างไรโดยที่ไม่มีใครลุกขึ้นมาเปิดโปงอะไรเลย.... หนังเรื่องนี้ จะแสดงตัวอย่างชั้นดีให้ผู้ชมได้เห็นว่า นักข่าวมืออาชีพ และชั่วโมงบินสูงๆ เขาทำงานกันอย่างไร ผมอยากให้ทุกคนได้รู้สึกตัวว่า หัวใจหลักของการทำข่าวคืออะไร เพราะสำหรับผมแล้ว นักข่าวเหล่านี้คือฮีโร่ตัวจริงเสียงจริง ”ทอม แม็คคาร์ธี ผู้กำกับภาพยนต์“SPOTLIGHT”
เรียกว่านาทีนี้ หนึ่งภาพยนตร์ที่กำลังได้รับการจับตามองมากที่สุดเรื่องหนึ่ง สำหรับคอหนังทั่วโลก คงหนีไม่พ้น “SPOTLIGHT” หรือในชื่อไทยว่า “คนข่าวคลั่ง”
ผลงานเรื่องล่าสุดของผู้กำกับทอม แม็คคาร์ธี ที่เคยฝากฝีมือกำกับในภาพยนตร์คุณภาพอย่าง The Visitor และ The Station Agent รวมทั้งผลงานบทภาพยนตร์จากอนิเมชั่นเรื่องเยี่ยมอย่าง UP และยังได้ทีมนักแสดงในฝันของฮอลลีวู้ดชนิดที่เรียกว่า คอหนังต้องตาลุก มารวมตัวกันอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น“ไมเคิล คีตัน” จาก Birdman, “มาร์ค รัฟฟาโล” จาก The Foxcatcher, นักแสดงสาวขวัญใจแฟนภาพยนตร์ “ราเชล แมคอดัมส์” จาก Midnight in Paris รวมทั้งทีมนักแสดงฝีมือการันตีคุณภาพอย่าง “สแตนลีย์ ทุชชี่” จาก The Devil Wears Prada, “ลีฟ ชไรเบอร์” จาก Pawn Sacrifice และ “ไบรอัน ดาร์ซี่ เจมส์” จากซีรี่ย์ที่กำลังมาแรง Game Change
SPOTLIGHT เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงอันน่าทึ่งของ “ทีมสปอต ไลท์” ทีมนักข่าวหนังสือพิมพ์บอสตัน โกลบ เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้าทีม วอลเตอร์ “ร็อบบี้” โรบินสัน (ไมเคิล คีตัน), สองนักข่าวพลังสูง “ไมเคิล เรเซนเดส” (มาร์ค รัฟฟาโล) และ ซาซ่า ไฟเฟอร์ (เรเชล แมคอดัมส์) ร่วมด้วยฝ่ายข้อมูล “แม็ตต์ คาร์โรล” (ไบรอัน ดาร์ซี่ เจมส์) ที่ร่วมกันขุดคุ้ยคดีการล่วงละเมิดทางเพศที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังคริสตจักรมานานนับทศวรรษ ท่ามกลางแรงเสียดทานจากพลังศรัทธา เกมการเมืองของคริสตจักร และเขตแดนของคำว่า จรรยาบรรณ เพื่อนำไปสู่การเปิดโปงความจริงที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั้งโลก
ผู้กำกับทอม แม็คคาร์ธี ได้กล่าวเสริมถึงประเด็นของหนังว่า “Spotlight ไม่ใช่หนังที่สร้างขึ้นเพื่อโจมตี ศาสนา มันคือการตั้งคำถามว่า ‘เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?’ เราปล่อยให้เรื่องแบบนี้ดำเนินอยู่นับสิบปีได้อย่างไรโดยที่ไม่มีใครลุกขึ้นมาเปิดโปงอะไรเลย”
เมื่อเร็วๆ นี้ ทาง บริษัทสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด เชิญนักวิจารณ์ภาพยนตร์ นักแสดง ผู้กำกับ รวมไปถึงสื่อมวลชน คนข่าวในหลายแขนง ร่วมชมภาพยนตร์ SPOTLIGHT ในกิจกรรม ที่มีชื่อว่า Popcorn Break
ซึ่งภายหลังจากการชมภาพยนตร์ ได้จัดให้มีการพูดคุยกับ "นนทรีย์ นิมิบุตร" ผู้กำกับภาพยนต์ชื่อดัง และ "สุวรรณา บุญกล่ำ" รองผู้อำนวยการข่าว สถานโทรทัศน์ TNN เพื่อสะท้อนมุมมอง ประเด็นของภาพยนตร์ในบริบทของการทำงานของสื่อมวลชนไทย
spotlight การทำงานของสื่อไทย
จากประเด็นที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอนั้น "อุ้ย- นนทรีย์" มองว่า ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยมีเหตุการณ์แบบนี้ในเมืองไทยเกิดขึ้นเยอะ แต่ทำไมไม่มีใครลุกขึ้นมาทำ คิดว่า หากมีสื่อกล้าจะขุดคุ้ยกล้าที่จะนำเสนอความจริง และมีหัวหอกมาพูด จะมีคนอีกจำนวนมากลุกขึ้นมาเช่นเดียวกัน มันจะส่งพลังออกไป แต่ตอนนี้เรายังไม่มี
และจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา จะพบว่า มีบางอย่างในหนังที่คล้ายคลึงกับเมืองไทยมากๆ อย่างประโยคหนึ่งที่ว่า "เรามองหาอะไรบางอย่างในความมืดแล้วเมื่อมันสว่างขึ้น ทุกคนก็ต่างโยนความผิดไปมา" อันนี้ค่อนข้างคล้ายคลึงกับความเป็นไทยพอสมควร อย่างเหตุการณ์ในปัจจุบันค่อนข้างชัดเจน
"ภาพยนตร์ควรเป็นตัวแทนในการพูดอะไรแบบนี้บ้าง ให้คนได้รู้ ให้โลกได้รู้ว่า บนโลกนี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง" ผู้กำกับมากความสามารถ กล่าว ก่อนยกตัวอย่างให้เห้นภาพ อย่างวงการพระของไทย ก็มีเรื่องราวซ่อนอยู่เยอะแยะ แต่บ้านเรากลับทำไม่ค่อยได้ เดี๋ยวถูกแบน ถูกห้ามบ้าง ในฐานะคนทำงานเราเองก็รู้สึกอึดอัดน่ะ
ผมเชื่อว่าทุกคนอึดอัดน่ะ บางทีเรามีเรื่องอยากพูด แต่สังคมเราพยายามปิดกั้นมากเกินไป เราไม่รับความจริง อย่างกรณี หนังเรื่องอาบัติ สิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นเลยว่า สังคมเราเป็นยังไง เราพูดไม่ได้"
แต่ทั้งนี้ "อุ้ย- นนทรีย์" เชื่อว่า ขั้นตอนการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นบท การแสดง อาจมีการเซ็นเซอร์ตัวเองในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะทำเรื่องจริงๆ ก็ตาม แต่ยังเชื่อว่าน้อยกว่า การทำงานในเมืองไทย เพราะบ้านเมืองเราดูเหมือนจะติดขัดไปทุกเรื่อง ให้ดีคนไทยต้องทำหนังวิทยาศาสตร์ไปเลย จะได้ไม่ต้องมาข้องแวะกับเรื่องพวกนี้ ทำอะไรที่ไม่มีตัวตนไปเลยจะดีกว่า
"ปกติเวลาเราทำหนังเราก็จะเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนแล้วในระดับหนึ่ง อะไรที่ทำได้ อะไรที่ไม่ควรทำ เอาจริงๆ บ้านเราป่วยกว่ามาก แต่เราทำไม่ได้ โหดร้ายมาก ชีวิตจริงเราแย่มาก จนกระทั่งคนทำหนังส่วนมากจึงเลือกเล่าอะไรที่แฟนตาซี เพื่อบันเทิงมากกว่า"
พร้อมกันนี้ ผู้กำกับชื่อดัง มองว่า SPOTLIGHT น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานของนักข่าว
ก่อนยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่ตัวเองพบเจอนักข่าวที่ไม่ทำการบ้านมาก่อน มาขอสัมภาษณ์ แต่ยังไม่รู้จักชื่อ ไม่รู้ว่าผลงานมีอะไรบ้าง
"มาถามผมว่า พี่ชื่ออะไร ทำหนังอะไรบ้าง ซึ่งโอเคผมอาจไม่ได้มีชื่อเสียงดังหรือเปล่า แต่รู้สึกว่า ทั้งๆ ที่การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้สามารถทำได้โดยง่าย ทำไมไม่เตรียมมาก่อน ถามว่า สิ่งนี้สะท้อนอะไร สะท้อนความไม่เป็นมืออาชีพของนักข่าวบ้านเราเอาเสียเลย เด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น อย่างในหนังเรื่องนี้ เราจะเห็นเลยว่าทุกคน ทุกตำแหน่ง ก่อนจะทำอะไร เขาทำการบ้านมาก่อนเยอะมาก มีความเป็นมืออาชีพมาก สิ่งนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจน"
ภายหลังจากดูจบ อุ้ย นนทรีย์ ค่อนข้างทึ่งในบทภาพยนต์มาก เขาเห็นว่า หนังค่อนข้างสนุก เพราะแม้ว่าหนังจะเป็นหนังที่ไดอาล็อกต่อไดอาล็อก แต่ด้วยกับบทที่ดีมาก ทำให้ไม่รู้สึกถึงความเบื่อเลย ทั้งๆ ที่หนังลักษณะแบบนี้ค่อนข้างเสี่ยงถ้าบทไม่ดี ก็พังเลย
รวมถึงการแสดงการถ่ายทำก็ทำให้รู้สึกเหมือนกับนั่งดูสารคดีจริงๆ ไม่ได้รู้สึกถึงการแสดง เพราะแม้แต่นักแสดงบางคนเราแทบจะลืมคาแรกเตอร์เก่าไป อีกทั้งภาพยนตร์พยายามแทรกอารมณ์ขัน การเสียดสี ทำให้ดูสนุกมากขึ้น
"ในมุมของความน่าเชื่อถือ ผมว่านักแสดง บท เสื้อผ้าทำให้ทุกอย่างดูน่าเชื่อถือมาก รายละเอียดเนี้ยบมาก"
เหตุใดสื่อไทยไม่ค่อยมีข่าวสืบสวน
ทางฝั่งของผู้คร่ำวอดในวงการข่าวมากว่า 20 ปี อย่าง สุวรรณา บุญกล่ำ ให้ความเห็นหลังดูจบว่า หลายอย่างในหนังที่อาจจงใจไม่พูดทั้งหมด เช่นเรื่องการข่มขู่ คุกคาม เป็นต้น แต่ในการทำงานจริงต้องเจอแน่นอน
"ในประเทศไทยการคุกคามนั้น รุนแรงกว่าในหนังเรื่องนี้อีกมาก กลายเป็นว่า สื่อไทยไม่ค่อยกล้าทำข่าวประเภทนี้กันสักเท่าไร"
เธอ เห็นว่า ความไม่กล้าส่วนหนึ่งของสื่อมวลชนไทยนั้น มาจากผลประโยชน์ของตัวเองด้วย ส่วนในเรื่องความไม่ปลอดภัยอันนี้ เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะหากคุณตัดสินใจเข้ามาในวงการข่าวที่ต้องขุดคุ้ย แน่นอนย่อมมีความเสี่ยงอยู่เเล้ว ฉะนั้นการที่สื่อไทยยังไม่ค่อยมีเรื่องข่าวสืบสวนที่เปลี่ยนวงการขนาดนี้ ก็มาจากผลประโยชน์ที่ได้รับ
"เราเลยเลือกเซ็นเซอร์ตัวเอง อย่างสถานการณ์บ้านเมืองในช่วงนี้ ทำให้สื่อเลือกที่จะพูดไม่หมด บางสื่อเองก็มีความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ระดับสูง ก็เลือกที่จะไม่ทำ ความสัมพันธ์ในเชิงการเคารพศรัทธา ทำให้นักข่าวระวังและเลือกจะที่เลี่ยง"
รองผู้อำนวยการข่าว สถานโทรทัศน์ TNN ยังมองว่า ปัจจัยบ้านเราเยอะกว่าเมืองนอก เพราะเรามีเรื่องความสัมพันธ์การเคารพคนนั้น คนนี้ "บางทีเราถูกปลูกฝังด้วยวาทะกรรมบางอย่าง ทำให้งานข่าวสืบสวน หรือข่าวอื่นๆ ก็ตาม ยังไปไม่สุด"
อย่างในเรื่องนี้ก็เช่นกัน เธอบกว่า เอาจริงๆ สุดท้ายก็ยังไม่สุดทีเดียว ถึงแม้การทำงานของทีม สปอตไลท์จะส่งผลให้มีการสืบสวนวงการคริสตจักรจริงๆ แต่ก็เห็นว่า หนังได้ทิ้งคำถามในช็อตสุดท้ายเอาไว้ ซึ่งนั่นเองที่เราต้องมีขบคิดกันต่อไป
รอง ผอ.ข่าวสถานโทรทัศน์ TNN ได้ยกกรณีตัวอย่าง สมัยที่ทำเรื่องส่วยๆ ต่างในเมืองไทย มีการทำทุกสิ่งอย่าง หน้าที่ของสื่อจบเเล้ว แค่นั้น แต่ถามว่าตอนนี้ส่วยยังมีอยู่ในไหมในเมืองไทย ก็ยังมีไม่ได้หายไปไหน เพราะฉะนั้น ถามว่า สื่อในเมืองไทยมีการทำงานด้านนี้มากน้อยแค่ไหน ต้องบอกว่า มี แต่ถามกลับไปว่า เราทำให้บริบทแบบไหน คอนเซ็ปต์อะไรต่างหาก บางเรื่องเราสามารถคุยกันได้ในวงเล็กๆ เท่านั้น
กลับกันสถานการณ์แบบนี้ สุวรรณา มองว่าจะปลุกพลังในคนทำสื่อ นักข่าวลุกขึ้นมาทำอะไรบ้างอย่าง อย่างเช่นในหนังเรื่องนี้ เราอาจต้องคุยกันว่า เราสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่เราอยู่ในปัจจุบันไหม เรื่องนี้สื่อมวลชนคงต้องทบทวน
"พอได้ดูเรื่องนี้ เราจะเกิดคำถามกับสิ่งที่เราทำอยู่ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่ทำจะนำพาอะไรให้สังคมเราบ้างมากขึ้น เป้าหมายในอุดมการณ์ของเรา จะทำอย่างไรให้เกิดความเปลี่ยนเเปลง เราชอบนิ่งเฉยกับปัญหา ซึ่งถือนี่เป็นปัญหาใหญ่สุดในสังคมตอนนี้"
ในฐานะที่เธออยู่ในวงการข่าวมายาวนาน มองว่า สิ่งหนึ่งที่หนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นเลย นั่นคือเรื่องของมารยาทต่างๆ ของนักข่าวที่ต้องมี เช่น การขอจดบันทึก การขออนุญาตบันทึกเสียง การให้เกียรติคนที่เราสัมภาษณ์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เป็นต้น
มารยาทต่างๆ เหล่านี้ แม้จะมองว่าเป็นเรื่องเล้กๆ น้อยๆ แต่กลับหายไปหมดเเล้วในวงการการทำงานของสื่อมวลชนไทย ฉะนั้น หนังเรื่องนี้ก็สะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจน สื่อมวลชน นักข่าวควรเอาไปเป็นแบบอย่างในการทำงาน
"นานมากแล้วที่วงการภาพยนตร์ไม่มีหนังประเภทนี้ หนังที่เกี่ยวกับคนทำสื่อ" สุวรรณา เผยความรู้สึกแรกที่หลังจากได้ดูเรื่องนี้ และว่า "อย่าว่าแต่คนทำสื่อเลยที่ต้องดู คนทั้งหมดยังต้องดู เพราะหากใครเห็นนักข่าวสืบสวนทำงาน ภาพ บรรยากาศของมันจะลักษณะประมาณนี้เลย เหมือนได้เห็นตัวเอง ได้เห็นทีมงาน"
ด้านผู้กำกับภาพยนต์เรื่องนี้ ทอม แม็คคาร์ธี ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศด้วยว่า“SPOTLIGHT จะเป็นตัวอย่างชั้นดีให้ผู้ชมได้เห็นว่า นักข่าวมืออาชีพ และชั่วโมงบินสูงๆ เขาทำงานกันอย่างไร ผมอยากให้ทุกคนได้รู้สึกตัวว่า หัวใจหลักของการทำข่าวคืออะไร เพราะสำหรับผมแล้ว นักข่าวเหล่านี้คือฮีโร่ตัวจริงเสียงจริง”
SPOTLIGHT กำลังกลายเป็นภาพยนตร์ที่เดินหน้าสู่เวทีออสการ์ในฐานะเต็งหนึ่งอย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยประเด็นที่ร้อนแรง ทีมนักแสดงที่แข็งแกร่ง และเสียงตอบรับจากทุกเวทีรางวัล เป็นภาพยนตร์ที่ทุกคนไม่ควรพลาด มาพิสูจน์พลังของสื่อพร้อมกัน 14 มกราคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
ขอบคุณภาพประกอบจาก สหมงคลฟิลม์ อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด / newsweek.com / youtube.com