จับตา 3 โครงการหลัก‘รบ.บิ๊กตู่’สานต่อปี’59 ล่อแหลม-ลิ่วหรือร่วง?
จับตา 3 โครงการสำคัญ ‘รัฐบาลบิ๊กตู่’ สานต่อปี’59 มาตรการตำบลละ 5 ล้าน กลิ่นทุจริตเริ่มโชย ป.ป.ช. ลงพื้นที่สอบแล้ว กองทุนหมู่บ้านจับตาความคุ้มค่า จะเกิดปัญหาเหมือนอดีตหรือไม่ สร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาใช้งบ 1.4 หมื่นล้าน ชาวบ้านฮือต้าน ถามความจำเป็น-นัยแฝงในการจัดสร้าง หวั่นซ้ำร้อยสภาใหม่
เริ่มต้นปีใหม่ 2559 อย่างเป็นทางการแล้ว
ขณะที่อุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนแรงในปีที่ผ่านมาถูกเบรกไว้ด้วยเทศกาลใหญ่
สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนี้คือบรรดา ‘นโยบายหลัก’ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่หวังขับเคลื่อนไปพร้อมกับการการปฏิรูปประเทศก็อยู่ระหว่างดำเนินการ
มีอย่างน้อย 3 โครงการหลัก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย (โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท) และโครงการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ที่รัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นได้ลืมตาอ้าปากตามแนวคิด ‘ประชารัฐ’ ขับเคลื่อนโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ
รวมไปถึงโครงการยิบย่อยที่สำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และอาจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนได้ นั่นคือโครงการสร้างทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถูกหลายฝ่ายตั้งแง่ในเรื่องความจำเป็นและการใช้งบประมาณอยู่ในขณะนี้
จะไปฉิวหรือร่วงกลางทาง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปสาระสำคัญทั้งสามโครงการ รวมถึงข้อสังเกตจากทุกฝ่ายมานำเสนอให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
หนึ่ง โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาท
ดำเนินการทั้งหมด 7,255 ตำบล ทั่วประเทศ รวมเป็นเงินกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันมีการอนุมัติโครงการไปแล้วประมาณ 1.1 แสนโครงการ
สำหรับโครงการนี้จะดำเนินการโดยให้บรรดาแกนนำชาวบ้านแต่ละแห่งในตำบลนั้น ๆ เสนอโครงการเพื่อแก้ปัญหาปากท้องในระยะสั้น โดยไม่จำกัดจำนวน แต่ละตำบลต้องไม่เกิน 5 ล้านบาท หลังจากนั้นยื่นเรื่องเสนอโครงการผ่านนายอำเภอเป็นคนเซ็นรับรอง และส่งเรื่องไปยังกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เพื่ออนุมัติอีกทอดหนึ่ง
แต่ปัญหาสำคัญที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘กรณีศึกษา’ หรือ ‘เคสคลาสสิค’ ก็คือ การทำโครงการดังกล่าว อาจไม่ดำเนินตามวัตถุประสงค์แต่แรก มีการนำเงินไปหมุนใช้ภายในบรรดาแกนนำชุมชนที่เสนอโครงการ แต่ไม่ปรากฏผลงานออกมาเป็นรูปธรรมอย่างที่เคยเกิดมาแล้วในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน (รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร) งบอุดหนุนอำเภอ-กองทุนสตรี (รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) หรือชุมชนพอเพียง (รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นต้น
แม้ว่ากระทรวงมหาดไทยจะผนึกกำลังกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อสางปัญหาดังกล่าว และจับตาดูอย่างเข้มงวดก็ตาม แต่ขณะนี้พบว่ามีอย่างน้อย 1 โครงการที่ส่อความผิดปกติเกิดขึ้นที่ ต.งิ้วราย จ.นครปฐม
นั่นคือโครงการส่งเสริมอาชีพการทำอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน โดยใช้งบประมาณกว่า 3.2 แสนบาท ที่ ป.ป.ช. พบว่า อาจมีการใช้จ่ายเงินผิดปกติ เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า โครงการนี้เมื่อได้รับงบประมาณมาแล้ว เพียงแค่เชิญชาวบ้านมาทำอาหารร่วมกัน ทำเสร็จก็ห่อกลับบ้าน ดำเนินโครงการแค่ 10 วัน ก็เสร็จสิ้นแล้ว !
กลิ่นการทุจริตเริ่มจะโชยแรงขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ต้องจับตาดูกันว่า คสช. และรัฐบาลจะงัดมาตรการอะไรมาป้องกันให้อยู่หมัด
(อ่านประกอบ : ใช้ 3 แสนทำกับข้าวกิน 10 วันจบ! ป.ป.ช.ลุยสอบงบตำบล 5 ล.งิ้วราย-นครปฐม)
สอง โครงการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง แห่งละ 1 ล้านบาท
โครงการนี้มีความคล้ายคลึงกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาทอย่างมาก แต่เปลี่ยนวิธีการโดยให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้ออกสินเชื่อกองทุนหมู่บ้าน แบ่งเป็น ระดับดีมาก (A) และระดับดี (B) โดยกองทุนละไม่เกิน 1 ล้านบาท กองทุนละไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านบาท โดยแยกจากวงเงินกู้ปกติของธนาคาร ชำระคืนเสร็จไม่เกิน 7 ปี ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก ส่วน 5 ปีต่อไป คิดดอกเบี้ยเท่ากับต้นทุนทางการเงินของธนาคารบวกด้วยร้อยละ 1 ต่อปี
หากพูดในแง่ดี แน่นอนว่าโครงการนี้จะช่วยสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนในระดับหมู่บ้านทั่วประเทศให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ กระตุ้นการใช้จ่ายในภาคชนบท และจะเชื่อมโยงกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตำบลละ 5 ล้านบาทด้วย
แต่เหมือนเหรียญที่มีสองด้านเสมอ เพราะในอดีตที่ผ่านมาช่วงนโยบายกองทุนหมู่บ้านยุครัฐบาลนายทักษิณ (ขณะนั้นมีนายสมคิดเป็นรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจเช่นกัน) ก็เกิดปัญหาทำนองว่า แกนนำหมู่บ้านมีการชักหัวคิวเงินดังกล่าว หรือแม้แต่คนที่เข้าไปขอกู้เงินเป็น ‘นอมินี’ ของนายทุนหัวใส ก่อนจะปล่อยกู้ชาวบ้านอีกทอดหนึ่ง โดยคิดดอกเบี้ยราคาแพง เป็นต้น
นี่ยังไม่นับรวมกรณีที่ว่ากู้เงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์จริงหรือไม่ และนโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืนแค่ไหน ?
แม้ขณะนี้จะยังไม่พบว่า เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางระบบป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดเหมือนในอดีต และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่านำเงินไป ‘ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ’ เหมือนที่ผ่านมาอีก
สาม โครงการสร้างทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา
เป็นไอเดียที่ต้องการสร้าง ‘แลนด์มาร์ค’ ที่ใหม่ให้กับกรุงเทพมหานคร โดยใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งหมดกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 4 สัญญา ปี 2558 ใช้งบ 570 ล้านบาท ปี 2559 ใช้งบ 9.1 พันล้านบาท ปี 2560 ใช้งบ 4,336 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดรวมงบในการควบคุมการก่อสร้างนาน 18 เดือน 250 ล้านบาท ค่าชดเชยรับฟังความคิดเห็น 500 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาออกแบบ 120 ล้านบาท (ใช้ระยะเวลาในการออกแบบประมาณ 8 เดือน)
ที่น่าสนใจคือโครงการดังกล่าวจะสร้างทับซ้อนในศาสนสถาน 8 แห่ง สถานที่สำคัญ 19 แห่ง สถานที่ราชการ 8 แห่ง โรงเรียน 8 แห่ง ท่าเรือ 36 แห่ง ร้านอาหาร 6 แห่ง ชุมชนรุกล้ำ 29 แห่ง
โดยระยะแรกของโครงการจะเริ่มที่สะพานพระราม 7 จนถึงบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รวมระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร ทางเดินติดริมแม่น้ำกว้าง 7 เมตร สวนหย่อม 3 เมตร ทางจักรยานกว้าง 7 เมตร ทางเท้า-บันได 2.5 เมตร ส่วนคอนกรีตที่ยื่นลงไปในแม่น้ำข้างละ 20 เมตร
อย่างไรก็ดีโครงการนี้ถูกบรรดาประชาชนริมแม่น้ำ และเอ็นจีโอตั้งคำถามอย่างหนักถึงความสำคัญในการจัดสร้างเพราะอาจเป็นการ ‘ทำลาย’ วิถีชีวิตของชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ กระทั่งมีการปรับแบบก่อสร้างใหม่ให้เล็กลงเหลือฝั่งละ 5-12 เมตร เพื่อลดแรงต้านดังกล่าว
โดยบรรดา ‘ฝ่ายค้าน’ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้จะเกิดผลกระทบต่อชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา อาจกีดขวางการไหลของน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้เกิดอุทกภัยกับกรุงเทพฯตอนบนและ จ.นนทบุรี ได้ ขณะเดียวกันการออกแบบมีนัยแฝงเพื่อเตรียมปรับเปลี่ยนเป็นทางสัญจรของรถยนต์ขนาด 4 ช่องจราจร ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาในอนาคต
ขณะเดียวกันอาจเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ! เนื่องจากทางเลียบ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีระบบขนส่งมวลชนทางรายสายสีน้ำเงิน (ท่าพระ-บางซื่อ) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และสายทางระบบขนส่งมวลชนทางรางสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ในแผนต่อไปด้วย
ดังนั้นจึงน่าจับตาต่อไปว่าโครงการนี้มีนัยแอบแฝงอะไรหรือไม่ มีใบสั่งจากใครหรือเปล่า ? เพราะถ้าสังเกตจาก ‘เมกะโปรเจ็ค’ ที่ผ่านมาอย่างหลายรัฐบาล เช่น กรณีสร้างโฮปเวลล์ บ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หรือล่าสุดอย่างการก่อสร้างโครงการรัฐสภาแห่งใหม่ ที่เกิดความล่าช้า และรัฐต้องเสียค่าชดเชยไปแล้วนับพันล้านบาท รวมถึงเกิดกรณีการทุจริตบริจาคดินก่อสร้างขึ้นอีกด้วย
ทั้งหมดคือ 3 โครงการสำคัญของ ‘รัฐบาลท็อปบู้ต’ ที่ทุกฝ่ายในสังคมจำเป็นต้องจับตาในปี 2559 นี้
จะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เหมือนกับหลาย ๆ นโยบายของรัฐบาลหลายชุดก่อนหน้านี้ ?
ต้องติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิด !