150 องค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศยก “ปากมูล” ต้านเขื่อนโลก
ประชุม ครม.8 มี.ค. นายกฯเรียกนักวิชาการ “ปากมูล”แจงเปิดเขื่อนไม่ทำโขงแล้ง 150 องค์กรสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศยกเป็นกรณีศึกษาผลกระทบชุมชนของเขื่อนทั่วโลก แนะไทยฟื้นฟูวิถีชาวบ้าน เครือข่ายอาจารย์ปักษ์ใต้ 7 สถาบัน ร่วมร้องรัฐบาลอย่าเตะถ่วงแก้ปัญหา ขปส.
จากกรณีที่คณะกรรมการศึกษาผลกระทบการสร้างเขื่อนปากมูลที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำข้อเสนอให้มีการทดลองเปิดเขื่อนถาวร 5 ปีและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน แต่ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากนายอิสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้นักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี เข้าชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 8 มี.ค.
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ นักพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าคณะนักวิชาการที่จะเข้าชี้แจงครั้งนี้ นอกจากตนแล้วยังประกอบด้วยนางนวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะศึกษากรณีเขื่อนปากมูล นายชโลทร แก่นสันติสุขมงคล นักวิชาการด้านพลังงานจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการในคณะกรรมการเขื่อนโลก
นายหาญณรงค์ กล่าวว่าประเด็นที่มีการตั้งคำถามใน ครม.คือหากเปิดเขื่อนปากมูลแล้วจะทำให้น้ำในแม่น้ำมูลไหลลงแม่น้ำโขงจนแห้งหมดหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีข้อมูลชัดเจนว่าไม่เป็นเช่นนั้นแน่ และคนที่คิดเช่นนั้นเพราะมองว่าแม่น้ำมูลเป็นเหมือนท่อน้ำใหญ่ๆเท่านั้น ทั้งๆที่ความจริงแม่น้ำมูลมีระบบนิเวศที่เป็นเขื่อนในธรรมชาติอยู่แล้ว โดยเฉพาะเกาะแก่งต่างๆที่มีอยู่กว่า 50 แห่งจาก อ.เมือง ไปจนถึงปากมูล ขณะเดียวกันระดับน้ำที่ปากแม่น้ำและที่อยู่ห่างออกไปก็ไม่ได้ต่างกันมาก ทำให้แม่น้ำแห่งนี้อยู่มาได้นับพันนับหมื่นปี
ขณะเดียวกัน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ 150 แห่งจากทั่วโลก อาทิ องค์กรป่าเขตร้อนสากล จากประเทศอุรุกวัย องค์กรกรีนวอเตอร์เฉด จากจีน องค์กรแม่โขงวอร์ช ของญี่ปุ่น ได้ส่งหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เพื่อสนับสนุนข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนายสาทิตย์ที่ให้เปิดเขื่อนถาวร โดยให้เหตุผลว่าโครงการเขื่อนปากมูล เป็นกรณีศึกษาการสร้างเขื่อนทั่วโลก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างกว้างขวาง และยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก ดังนี้จึงอยากเห็นรัฐบาลไทยกลับมาฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน
นอกจากนี้เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสังคมและองค์กรชุมชนจาก 7 สถาบันอุดมศึกษาในภาคใต้ 160 คน ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.) ซึ่งมีกรณีเขื่อนปากมูลร่วมด้วย โดยนักวิชาการกลุ่มดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลมุ่งมั่นในเจตนารมณ์และมีความกล้าหาญในการตัดสินใจ อย่าเตาะถ่วงหรือซื้อเวลา .
ที่มาภาพ : http://thaingo.org/web/2011/02/24/ทำไมต้องเปิดเขื่อนปากมูล