จำคุก 5 เบอร์ซาตู – ยกฟ้องอุ้มสมชาย – ก.ม.ป้องกันอุ้มหายถูกดอง!
ช่วงก่อนสิ้นปี 2558 มีคำพิพากษาคดีสำคัญของศาลฎีกาในคดีที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 คดี ซึ่งผลแห่งคำพิพากษาก่อให้เกิดกระแสวิจารณ์มากพอสมควร
ยกฟ้อง 5 ตำรวจคดีอุ้มทนายสมชาย
คดีแรก คือคดีที่รู้จักกันในนาม “คดีอุ้มทนายสมชาย” โดยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ ด.1952/2547 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 และ นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และบุตรรวม 5 คน ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องตำรวจ 5 นาย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพโดยใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และ 391
ตำรวจ 5 นายที่ตกเป็นจำเลย ได้แก่ พ.ต.ต.เงิน ทองสุก อดีตสารวัตร กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (อดีต สว.กอ.รมน.) ช่วยราชการกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.), พ.ต.ท.สินชัย นิ่มปุญญกำพงษ์ อดีตพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 4 บก.ป., จ.ส.ต.ชัยเวง พาด้วง อดีตผู้บังคับหมู่งานสืบสวน แผนก 4 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว, ส.ต.อ.รันดร สิทธิเขต อายุ 42 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ธุรการ กองกำกับการ 4 บก.ป.และ พ.ต.ท.ชัดชัย เลี่ยมสงวน อดีตรองผู้กำกับการ 3 บก.ป.
สำหรับ พ.ต.ต.เงิน หายสาบสูญไปจากเหตุการณ์ดินถล่มที่ อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก เมื่อเดือน ก.ย.2551 หลังถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกในคดีนี้ โดยเป็นจำเลยเพียงคนเดียวที่ศาลลงโทษ ทำให้หลายฝ่ายกังขากับการหายตัวไปอย่างเป็นปริศนา ส่วน พ.ต.ท.ชัดชัย ปัจจุบันกลับเข้ารับราชการตำรวจแล้ว เปลี่ยนชื่อเป็น นภันต์วุฒิ ครองยศ พ.ต.อ.
คดีนี้อัยการยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2547 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2547 จำเลยทั้งห้ากับพวก ร่วมกันปล้นทรัพย์ของนายสมชาย ผู้เสียหาย ซึ่งหายตัวไป และลักทรัพย์เอารถยนต์ หมายเลขทะเบียน ภง 6768 กรุงเทพมหานคร, นาฬิกาข้อมือยี่ห้อโรเล็กซ์ 1 เรือน, ปากกายี่ห้อ มองบลังค์ 1 ด้าม และโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้น 903,460 บาท
โดยพวกจำเลยได้ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชากตัวนายสมชายให้เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้า แล้วจับตัวพาไป ซึ่งจนถึงขณะนี้ไม่ทราบว่า นายสมชายจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
ต่อมาวันที่ 16 มี.ค.2547 พนักงานสอบสวนยึดรถยนต์ของนายสมชาย ผู้เสียหาย ที่ถูกจำเลยทั้งห้าร่วมกันปล้นทรัพย์ไปดังกล่าว เป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 8 เม.ย.2547 จำเลยที่ 1-4 เข้ามอบตัว และวันที่ 30 เม.ย.2547 จำเลยที่ 5 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน
ในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขณะที่ระหว่างพิจารณาคดี นางอังคณา ภรรยา และบุตรของนายสมชายรวม 5 คน ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี
## ชั้นศาลต้นลงโทษ พ.ต.ต.เงิน – อุทธรณ์ยก – เจ้าตัวสาบสูญ
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2549 ว่า การกระทำของ พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 เป็นความผิดตามมาตรา 309 วรรคแรก (ร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายฯ) และมาตรา 391 (ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจฯ) พิพากษาให้จำคุก 3 ปี ส่วนความผิดฐานปล้นทรัพย์แม้ข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกขับรถนายสมชายไปจอดทิ้งไว้ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 ก็เพื่ออำพรางหลบหลีกการสืบสวนจับกุม ไม่แสดงให้เห็นเจตนาว่า พวกจำเลยประสงค์ต่อทรัพย์ ส่วนทรัพย์สินอื่นก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 กับพวกได้นำทรัพย์สินไปจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ สำหรับจำเลยที่ 2-5 พิพากษายกฟ้อง
ต่อมาอัยการโจทก์ และภรรยากับบุตรของนายสมชาย โจทก์ร่วม ได้ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษพวกจำเลย ขณะที่ พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2554 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่ 2-5 ตามศาลชั้นต้น ส่วน พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำให้การของพยานโจทก์ยังสับสนเรื่องการยืนยันตัวจำเลย เมื่อมีเหตุความสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่ 1 จึงพิพากษาแก้เป็นยกฟ้อง พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ด้วย
ระหว่างอุทธรณ์นี้ ศาลได้ออกหมายจับ พ.ต.ต.เงิน พร้อมสั่งปรับนายประกันจำเลย จำนวน 1.5 ล้านบาทไว้ เนื่องจากจำเลยไม่มาศาลตามนัด
นอกจากนั้น ศาลอุทธรณ์ยังมีคำสั่งให้ยกคำร้องการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมของนางอังคณา ภรรยาและบุตร ตามที่ฝ่ายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านด้วย โดยศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดียังไม่ชัดเจนว่านายสมชาย จะเสียชีวิตแล้วหรือไม่ ภรรยาและบุตรจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดี และไม่มีสิทธิเป็นโจทก์ร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2)
ภายหลังอัยการโจทก์ และภรรยากับบุตรของนายสมชาย ยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลย และขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดี
ขณะที่ฎีกา ในส่วนของ พ.ต.ต.เงิน จำเลยที่ 1 ปรากฏว่าได้มีการประกาศคำสั่งศาลจังหวัดปทุมธานีลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2555 เรื่องให้เป็นคนสาบสูญ ซึ่งทนายความและครอบครัวของ พ.ต.ต.เงิน มีข้อมูลว่า พ.ต.ต.เงิน ได้หายสาบสูญ ช่วงวันที่ 19 ก.ย. 2551 จากเหตุการณ์คันกันน้ำถล่มที่เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก โดยมีการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดปทุมธานี ที่เป็นพื้นที่ซึ่ง พ.ต.ต.เงิน มีภูมิลำเนาพักอาศัย และศาลได้ไต่สวนแล้ว พ.ต.ต.เงิน ได้จากภูมิลำเนาเป็นเวลาเกิน 2 ปี และไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร จึงมีคำสั่งให้ พ.ต.ต.เงิน เป็นคนสาบสูญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 (3 )
## ศาลฎีกายกคำร้อง “อังคณา-ลูก” ขอเป็นโจทก์ร่วม
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ในประเด็นการฎีกาขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดียังไม่ชัดเจนว่านายสมชายถูกทำร้ายหรือกระทำการต่อชีวิตที่จะได้รับบาดเจ็บหรือจนกระทั่งเสียชีวิต ดังนั้น นางอังคณา ภรรยา และบุตรของนายสมชาย จึงไม่ใช่ผู้ที่จะเข้าขอเป็นโจทก์ร่วมได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจยื่นฎีกา
## ประจักษ์พยานสับสน – ไม่เชื่อมูลเหตุจูงใจโยงซ้อมผู้ต้องหาปล้นปืน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งโจทก์นำสืบถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยทั้งห้าว่า สืบเนื่องจากนายสมชายได้เข้าให้ความช่วยเหลือทางคดีเกี่ยวกับความมั่นคงกับกลุ่มผู้ต้องหา 5 รายในเหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนและก่อเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อปี 2547 โดยนายสมชายได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น กรณีที่ผู้ต้องหาระบุว่า ถูกตำรวจทำร้ายร่างกายเพื่อกลับคำให้การ
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้พบหรือเคยเห็นนายสมชายมาก่อน ขณะที่การทำหนังสือร้องเรียนนั้น ก็ฟังได้ว่านายสมชายไม่ใช่ผู้ลงชื่อในหนังสือโดยตรง ดังนั้นจึงยังฟังไม่ได้ว่าพวกจำเลยจะรู้ว่านายสมชายเป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือเพื่อยื่นเรื่องร้องเรียน
ขณะที่พยานบุคคล 5 ปาก ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่เห็นนายสมชายเป็นครั้งสุดท้ายบริเวณถนนรามคำแหง แม้เป็นประจักษ์พยาน แต่คำให้การในชั้นสอบสวนในหลายประเด็นยังมีข้อพิรุธขัดแย้งกับความเป็นจริง และคำเบิกความในชั้นศาลทั้งในเรื่องความสว่างของแสงไฟ ระยะการมองเห็นที่ทำให้เกิดความสับสน ซึ่งพยานบางปากให้การสับสนระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ที่มีการระบุว่าเป็นผู้ขับรถยนต์ของนายสมชายไป โดยส่วนใหญ่พยานจะให้การทำนองเดียวกันว่าเห็นคนร้าย 3-4 คนยื้อยุดฉุดกระชากกัน แต่ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก กระทั่งทราบข่าวภายหลังว่านายสมชายหายตัวไป จึงได้มาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งช่วงเวลาเกิดเหตุที่จะมองเห็นเพียงไม่ถึงนาที รวมทั้งปัญหาแสงไฟ อาจทำให้ไม่ชัดเจนเพียงพอ
โดยลักษณะเด่นของจำเลยที่โจทก์นำสืบว่าบางคนขาวสูงคล้ายคนจีน ก็ไม่ใช่ลักษณะเด่น แต่เป็นลักษณะทั่วไป อีกทั้งคำเบิกความของพยานในชั้นศาลก็ไม่ได้ยืนยันชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นคนร้าย
และที่โจทก์นำสืบว่าได้ทราบถึงการพูดคุยของจำเลย เพื่อจะทำร้ายนายสมชาย ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำนายตำรวจที่ทราบถึงประเด็นดังกล่าวมานำสืบให้ชัดแจ้ง
## ไม่ให้น้ำหนักข้อมูลการใช้โทรศัพท์
ส่วนพยานเอกสารที่เป็นข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของจำเลยทั้งห้า ที่มีการตรวจสอบเน้นในเกิดเหตุวันที่ 12 มี.ค.2547 ตั้งแต่เวลา 07.00-21.00 น. และมีการจัดทำพิกัดพื้นที่การใช้โทรศัพท์นั้น ที่โจทก์นำสืบว่ามีการติดต่อโทรศัพท์ระหว่างจำเลยมากผิดปกติถึง 75 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว สะกดรอยตามนายสมชายโดยตลอด โดยมีพยานซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจัดทำข้อมูลมาเบิกความว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ส่วนหนึ่งได้จากการที่ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ประสานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏจากทางนำสืบพยานโจทก์ว่า ผู้ช่วย ผบ.ตร.ไม่ได้เป็นผู้บันทึกข้อมูลการใช้โทรศัพท์ด้วยตนเอง แต่เป็นกรณีที่ได้รับข้อมูลเป็นเอกสาร ซึ่งถือเป็นเพียงพยานบอกเล่ามาเท่านั้น อีกทั้งเอกสารนั้นเป็นเพียงสำเนา ไม่ได้มีการรับรองผู้จัดทำโดยตรง
ดังนั้นพยานดังกล่าวจึงถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 238 ที่จะอ้างเป็นพยาน ข้อกล่าวอ้างของโจทก์จึงเลื่อนลอย ยังไม่อาจนำมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งห้าได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน
## คดีถึงที่สุดหลังทนายสมชายหายตัวไป 11 ปี 9 เดือน
ในการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ปรากฏว่า นางอังคณา และบุตรสาวได้เป็นตัวแทนของครอบครัวนีละไพจิตร เดินทางไปฟังคำพิพากษาด้วย หลังจากที่นายสมชายหายตัวไปเป็นเวลานานถึง 11 ปี 9 เดือน โดยภายหลังฟังคำพิพากษายกฟ้อง นางอังคณามีสีหน้าเรียบเฉย
ส่วนฝ่ายจำเลย ได้ไปฟังคำพิพากษาอย่างพร้อมเพรียงทั้ง 4 คน ยกเว้น พ.ต.ต.เงิน ที่หายสาบสูญ โดยทั้งหมดไม่ยอมให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อมวลชน
## อังคณาออกแถลงการณ์ “ผิดหวัง-เสียใจ”
ต่อมา นางอังคณา ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุตอนหนึ่งว่า ในฐานะครอบครัวของทนายสมชาย รู้สึกเสียใจและผิดหวังอย่างยิ่งต่อกระบวนการยุติธรรมไทย โดยเฉพาะต้นทางของกระบวนการยุติธรรม คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีในการสืบสวนสอบสวนและหาพยานหลักฐาน ซึ่งศาลฎีกาชี้ว่าหลักฐานที่พนักงานสอบสวนนำส่งศาลไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยืนยันความถูกต้องของพยานหลักฐานที่ส่งศาล
วันนี้ ศาลฎีกาได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในสังคมไทย คือการยืนยันว่า ครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายไม่มีสิทธิในการดำเนินการเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมแทนผู้สูญหายได้ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานว่าผู้สูญหายได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจนมิอาจดำเนินการได้ด้วยตนเอง
“วันนี้ ดิฉันในฐานะครอบครัว จึงกลับมายังจุดตั้งต้นอีกครั้ง ในฐานะผู้ไม่มีสิทธิในการเรียกร้องความเป็นธรรมแทนสมชาย นีละไพจิตร และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ในการทวงถามความจริงและความเป็นธรรมแทนครอบครัวผู้สูญหายทุกคน” (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็มได้ใน http://www.isranews.org/isranews-article/item/43747-angkhana29.html)
จำคุก 5 สมาชิกเบอร์ซาตู-บีอาร์เอ็น
วันเดียวกัน ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีก่อการร้ายหมายเลขดำ 1021/2548 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง นายมุสตอปา เจ๊ะยะ, นายอิลยาส หรือ อิสยาส มันหวัง, นายอุสมาน ปะชี, นายยูไล โสะปนแอ และ นายมะอาซี บุญพล ทั้งหมดเป็นสมาชิกขบวนการเบอร์ซาตู ในกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1
คดีนี้อัยการโจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า ระหว่างเดือน พ.ย. - 29 ธ.ค.2547 จำเลยทั้ง 5 ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ ในเขตพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อแบ่งแยกดินแดน โดยใช้ปืนฆ่าตำรวจเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน มุ่งหมายเพื่อบังคับขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้ยินยอมแบ่งแยกดินแดนใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของ จ.สงขลา ออกจากราชอาณาจักร เพื่อสถาปนาเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง เรียกว่า รัฐปัตตานี หรือรัฐปัตตานีดารุสลาม
โดยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2547 จำเลยทั้งห้าร่วมกันวางแผนและยิง ด.ต.โมหามัด เบญญากาจ ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เหตุเกิดที่ ต.บานา ต.สะบารัง ต.ตะลุโบ๊ะ อ.เมืองปัตตานี ต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดที่ใช้ติดต่อสื่อสารไว้เป็นของกลางได้ จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
## ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันฆ่าผู้ตายหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่ยืนยันบ่งชี้ให้ชัดเจนว่าใครเป็นคนร้ายยิงผู้ตาย มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยทั้งห้าที่เขียนด้วยลายมือตนเอง แม้โจทก์จะมี นายชาลี กระแสร์ ทนายความ ยืนยันว่าจำเลยให้การด้วยความสมัครใจไม่มีการข่มขู่ก็ตาม
แต่ในชั้นพิจารณา จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ อ้างว่าให้การชั้นสอบสวนโดยไม่สมัครใจ และเมื่อพิจารณาระยะเวลาในช่วงการสอบสวนจำเลยเป็นเวลากลางคืนติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง ย่อมทำให้จำเลยทั้งห้าเกิดความเครียด และไม่อยู่ในวิสัยของปุถุชนที่จะให้การได้อย่างสมบูรณ์ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติต่อจำเลยในการสอบสวน อีกทั้งเจ้าพนักงานไม่สามารถตรวจยึดอาวุธปืน หรือมีประจักษ์พยานเห็นคนร้ายลงมือยิงผู้ตาย พยานหลักฐานเท่าที่นำสืบในคดีที่มีโทษสูงเช่นนี้ โจทก์ต้องมีพยานที่มั่นคงที่รับฟังได้โดยชัดเจนว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด แต่ในคดีนี้พยานหลักฐานดังกล่าวยังไม่อาจยืนยันได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิด
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันก่อการร้ายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าการโทรศัพท์ติดต่อกันของพวกจำเลยเป็นการพูดคุยเพื่อก่อการร้ายหรือกระทำผิดร่วมกัน และเป็นบุคคลที่เข้าร่วมในขบวนการก่อการร้ายสร้างความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ และเป็นผู้ร่วมปฏิบัติการยิงผู้ตายเพื่อก่อการร้าย หรือเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น
นอกจากนี้ยังได้ความจากเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายการข่าว และปลัดอำเภอเมืองปัตตานี เบิกความว่าไม่ปรากฏชื่อจำเลยทั้งห้าเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้ายสร้างความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือมีชื่ออยู่ในสารบบผู้ก่อการร้าย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันก่อการร้ายแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้า
ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้อง
## ศาลฎีกาให้น้ำหนักข้อมูลโทรศัพท์มือถือ
ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้า ศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนปรึกษาหากันแล้ว เห็นว่าโจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนาย เบิกความว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดที่ยึดได้จากเหตุการณ์ระเบิดรถจักรยานยนต์ใน จ.ปัตตานี และเหตุการณ์คนร้ายยิงเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เมื่อปี 2547 ซึ่งทราบว่าจำเลยดังกล่าวได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารกัน
กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามเฝ้าดูพฤติกรรมพวกจำเลยเป็นเวลานาน 1 เดือนเศษ ประกอบกับคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และ 4 ในบันทึกข้อเท็จจริงว่า ทำหน้าที่คอยเฝ้าดู ด.ต.โมหามัด ผู้ตาย ซึ่งทำงานอยู่ศาลากลางจังหวัดปัตตานี เพื่อแจ้งให้ผู้กระทำความผิดรายอื่นๆ ทราบ โดยจำเลยที่ 5 เป็นผู้ชักชวนให้มาร่วมกระทำผิด และต่อมาหลังเหตุการณ์ ด.ต.โมหามัด ถูกยิงเสียชีวิต จำเลยที่ 5 ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่าเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว ทั้งนี้คำรับสารภาพดังกล่าวเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีญาติและทนายความมาสังเกตการณ์อยู่ด้วย
พยานหลักฐานทั้งหมดจึงเป็นพยานหลักฐานที่รับฟังได้ พิพากษาว่าจำเลยที่ 1, 4 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ส่วนจำเลยที่ 2 ในวันเกิดเหตุไม่ได้ร่วมกระทำความผิด เนื่องจากไปทำงาน จึงไม่มีความผิดฐานสนับสนุนให้ฆ่าผู้อื่น ส่วนจำเลยที่ 3 นั้นพยานหลักฐานไม่เพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3 ขณะที่จำเลยที่ 5 มีความผิดเพียงฐานสนับสนุน เพราะไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 5 เป็นเป็นผู้จ้างวานหรือตัวการร่วมฐานฆ่าผู้อื่น ทั้งนี้การก่อเหตุดังกล่าวอยู่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงถือเป็นความผิดฐานก่อการร้ายอีกด้วย
ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เห็นควรพิพากษาแก้ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 1, 4 และ 5 ฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฆ่าผู้อื่นและก่อการร้าย แต่จำเลยที่ 1 และ 4ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2, 3 ไม่มีความผิดฐานเป็นสนับสนุน แต่มีความผิดฐานสนับสนุนก่อการร้าย ให้จำคุกคนละ 20 ปี คำให้การเป็นประโยชน์มีเหตุบรรเทาโทษ คงจำคุกคนละ 12 ปี 16 เดือน และให้ริบของกลาง
วิจารณ์แซ่ด “ฟัง-ไม่ฟัง” ข้อมูลการใช้โทรศัพท์
จากคำพิพากษาของศาลฎีกา 2 คดีสำคัญในวันเดียวกัน ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งวงพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
นายกิจจา ฮาลีอิสเฮาะ ทนายความชมรมนักกฎหมายมุสลิม กล่าวว่า ภายหลังศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดี 5 เบอร์ซาตู ถือว่าคดีถึงที่สุดแล้ว คงต้องกลับไปประชุมกับทีมทนายความว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
ส่วนตัวขอตั้งข้อสังเกตว่า ในคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร พยานหลักฐานการใช้โทรศัพท์ติดต่อไม่ค่อยจะมีน้ำหนักให้รับฟัง ซึ่งแตกต่างไปจากคดีเบอร์ซาตู ซึ่งระยะหลังศาลจะรับฟังการโทรศัพท์ติดต่อมากขึ้น แต่ก็เคารพคำพิพากษาของศาล
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า สองคดีนี้เป็นคดีที่ทุกคนคาดหวังว่าจะสามารถชี้ให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไทยไม่ได้มีปัญหา แต่เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่า คดีที่มีความเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจ มักจะหลุด แต่หากคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชน หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดน มักจะถูกลงโทษ ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม
“จริงๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมต้องคลี่คล้ายข้อสงสัย แต่เมื่อเป็นแบบนี้ ยิ่งทำให้ประชาชนเกิดความสงสัย ดูว่ามีเงื่อนงำ ในระยะยาวประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างตำรวจ อัยการ ทนายความ และผู้พิพากษา ให้มีพัฒนาการเกี่ยวกับคดีที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ขณะที่ นายมะรอพี มูหลง อายุ 28 ปี ชาวจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรมมาก คนในภาคใต้หวังมากว่าจะได้รับความเป็นธรรม แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคนต่างมีความรู้สึกเจ็บปวดร่วมกับครอบครัวของทนายสมชาย
“ทุกคนก็รู้ว่าปัญหาบ้านเรา (หมายถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้) ต้องแก้จากกระบวนการยุติธรรม แต่เมื่อไม่สามารถแก้จุดนี้ได้ ปัญหาก็มีกันต่อไป ฝ่ายแก้ปัญหาก็ยกนโยบายอะไรมา แล้วก็ทุ่มแต่งบประมาณลงมา ทั้งๆ ที่ต้นตอของปัญหาไม่ใช่เรื่องนั้น แต่มันเป็นเรื่องความเป็นธรรม”
นางฮาลีเมาะ มะมิง อายุ 41 ปี ชาวบ้านจังหวัดยะลา กล่าวว่า ตั้งแต่คดีหายสาบสูญของ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา (อดีตผู้นำทางจิตวิญญาณของคนในพื้นที่ บิดาของ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส. ส.ว. และอดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย) ที่ถูกเชิญตัวไปพบตำรวจสันติบาลที่จังหวัดสงขลา แล้วก็ออกมาอ้างว่าเชิญตัวมาจริง แต่ปล่อยให้กลับบ้านแล้ว กระทั่งถึงคดีทนายสมชาย นีละไพจิตร หรือแม้แต่ นายอับดุลเลาะ อาบูคารี พยานในคดีซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดีปล้นปืน ชัดเจนว่าหลายคนถูกทำให้หายตัวไป แล้วก็ไม่พบแม้แต่ศพ ทั้งหมดล้วนมีความเกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะถูกทำให้หาย สุดท้ายก็ไม่เคยเห็นความเป็นธรรมเกิดขึ้น
กฎหมายป้องกันอุ้มหาย-ซ้อมทรมาน “ถูกดอง”
คดีอุ้มฆ่า-อุ้มหาย ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทย และไม่มีกฎหมายใดรองรับโดยตรง ทั้งๆ ที่เป็นคดีที่ผู้เสียหายแสวงหาหลักฐานยาก เพราะส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหามักเป็นผู้มีอำนาจ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ ยิ่งกระบวนการยุติธรรมไทยไม่สามารถหาคนผิดในคดีอุ้มทนายสมชายได้ ยิ่งทำให้เกิดคำถามว่าเราจะจัดการปัญหานี้ร่วมกันอย่างไร
นางอังคณา นีละไพจิตร ระบุตอนหนึ่งในแถลงการณ์หลังศาลฎีกายกฟ้องจำเลย 5 คนในคดีอุ้มหายสามีของเธอ โดยบอกว่า การบังคับสูญหายเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชนชาติ เป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ เหยื่อและครอบครัวควรมีสิทธิในการทราบความจริง และได้รับความยุติธรรม
ขณะที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์กรนิรโทษกรรมสากล ได้ประณามการลอยนวลพ้นผิดที่ยังคงเกิดขึ้นต่อกรณีการบังคับบุคคลให้สูญหายของนายสมชาย นีละไพจิตร ทั้งๆ ที่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทยคดีแรกที่ถูกนำขึ้นสู่ศาล
แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่สมควรจะเกิดขึ้นเป็นเวลานานแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับบุคคลให้สูญหายในอนาคต ทั้งนี้รวมถึงการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ซึ่งไทยได้ลงนามแล้วตั้งแต่ปี 2555 และให้นำข้อบัญญัติในอนุสัญญามากำหนดเป็นกฎหมายในประเทศ อนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้ทางการต้องบัญญัติให้การบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา และให้มีมาตรการป้องกัน
สำหรับร่างกฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่า อุ้มหาย ที่ประเทศไทยต้องออกตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหายนั้น จริงๆ กระทรวงยุติธรรมได้จัดทำเรียบร้อยแล้ว ชื่อ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. .... โดยยกร่างเสร็จตั้งแต่ปี 2557 ทำประชาพิจารณ์เมื่อต้นปี 2558 และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการกฤษฎีกามานานหลายเดือนแล้ว แต่ทุกอย่างยังนิ่ง ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งๆ ที่ผู้เกี่ยวข้องเคยคาดหมายกันว่า จะสามารถผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ได้ในปี 2558
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คดีอุ้มหายทนายสมชาย กลายเป็นประเด็นสาธารณะในสังคมไทยหลายแวดวงมาหลายปี ในภาพคือการสัมนาวิชาการเกี่ยวกับคดีทนายสมชาย ในสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง