"อักษรา"แถลงส่งท้ายปี...ยันพูดคุยสันติสุขเดินหน้า ปีหน้าสถานการณ์ใต้ดีขึ้น
พลตรีบรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในฐานะรองโฆษกคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (The Peace Dialogue Panel) แถลงคำชี้แจงของ พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า 2558 ต้อนรับปีใหม่ 2559 เกี่ยวกับทิศทางการพูดคุยเพื่อสันติสุขดับไฟใต้ โดยแยกเป็นประเด็นการสร้างความไว้วางใจ, การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย และแนวโน้มสถานการณ์ปี 2559
เริ่มจาก การสร้างความไว้วางใจ (Confidence building) ตามที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (The Steering Committee for Peace Dialogue) ได้กำหนดกรอบเป้าหมายและทิศทางการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ไว้เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การสร้างความไว้วางใจ ระยะที่ 2 การลงสัตยาบัน ระยะที่ 3 การบรรลุฉันทามติของทางออกจากความขัดแย้งด้วยสันติวิธี และจัดทำโรดแมพ
โดยงานระยะที่ 1 นั้นนับว่ายากที่สุดในการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ เพราะจะเป็นการพูดคุยเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและความไว้วางใจระหว่างคณะพูดคุยฯ กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการคือ การให้ความเห็นชอบบันทึกข้อตกลงร่วมด้านธุรการและการสนับสนุน และการให้ความเห็นชอบในการจำกัดความรุนแรงเป็นรายประเด็น ซึ่งที่ผ่านมาหัวข้อเหล่านี้ยังคงเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ
กิจกรรมที่สำคัญของการพูดคุยในระยะนี้ คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกภาคส่วนภายในประเทศ, การตรวจสอบและกำหนดตัวแทนที่เข้าร่วมกระบวนการพูดคุยฯ, การรับฟังสภาพปัญหาและความคับข้องใจของกลุ่มผู้เห็นต่างฯ
ล่าสุดได้จัดตั้ง "คณะทำงานทางเทคนิคร่วม" (Joint Technical Team) เพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมฯ ซึ่งเสมือนเป็นกติกาของการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ขณะนี้ได้ดำเนินการประชุมหารือผ่านผู้อำนวยความสะดวกมาหลายครั้ง หากเมื่อได้ร่างบันทึกข้อตกลงร่วมฯ แล้ว ผู้แทนคณะทำงานทางเทคนิคร่วมจึงจะนำผลไปรายงานขอความเห็นชอบต่อระดับนโยบายของแต่ละฝ่าย
สำหรับ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัย (Safety zone) เป็นชุดความคิด 1 ใน 3 ชุดความคิดของคณะพูดคุยฯ ที่เตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพูดคุยฯ อย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งยังคงอยู่ในกรอบของการดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ระยะที่ 1
ทั้งนี้ ห้วงหลายปีที่ผ่านมาได้เคยมีความพยายามกำหนดพื้นที่ปลอดภัยมาแล้วหลายครั้ง แต่แนวความคิดในครั้งนี้จะใช้รูปแบบที่ทั้งสองฝ่ายตกลงจะหยุดความรุนแรงด้านความมั่นคงทั้งหมดในพื้นที่ที่กำหนดอย่างชัดเจน เพื่อต้องการลดระดับความรุนแรงในพื้นที่บางแห่งก่อน โดยเคารพหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ อันถือเป็นมาตรการหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อกระบวนการพูดคุยฯ การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยต้องเตรียมความพร้อมอย่างดีและจำเป็นต้องคิดถึงความท้าทายที่จะตามมาภายหลัง
ปัจจัยความสำเร็จอันสำคัญคือ ความเห็นพ้องต้องกันระหว่างภาครัฐกับกลุ่มผู้เห็นต่างฯ และต้องได้รับการยอมรับและเห็นด้วยจากคนในพื้นที่ รวมถึงวัฒนธรรมของภาคประชาสังคม และกลุ่มผู้สูญเสีย อันเป็นเสียงแห่งความชอบธรรมให้ภาครัฐสามารถเดินหน้ากระบวนการพูดคุยฯ และรักษาพื้นที่ปลอดภัยไปพร้อมกันได้ด้วย
ขณะที่ แนวโน้มสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2559 ตามการคาดการณ์ของคณะพูดคุยฯนั้น สถานการณ์น่าจะมีพัฒนาการที่มีความก้าวหน้าโดยลำดับ จนอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล ตรงกับความคาดหวังของประชาชนทั้งประเทศ โดยความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุยฯ ย่อมส่งผลมาสู่การลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ ผ่านมาทางชุดความคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน
ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับการลดทอนเจตจำนงหรือความตั้งใจ (Intention) ในการก่อเหตุรุนแรง ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของคณะพูดคุยฯ ในการโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายที่เข้ามามีส่วนร่วมตามกระบวนการพูดคุยฯ ร่วมกันปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และมุ่งสู่เป้าประสงค์เดียวกันคือ สันติสุขอันแท้จริงอย่างยั่งยืนที่จะบังเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ในส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยของภาครัฐนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ในฐานะคณะประสานงานระดับพื้นที่ (The Area-based Inter-agency Coordination Working Group) จะรับผิดชอบดูแลตามแผนงานประจำปีในทุกมิติของทุกกลุ่มภารกิจงาน โดยป้องกันไม่ให้มีฝ่ายใดสร้างเงื่อนไขใหม่ รวมตลอดถึงการสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลต่อกระบวนการพูดคุยฯ อย่างสอดคล้องกัน
กล่าวโดยสรุป การดำเนินกระบวนการพูดคุยฯ ยังคงดำเนินการต่อไปตามเจตนารมณ์ร่วมกันของนายกรัฐมนตรีไทย และนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะยุติความรุนแรง และนำสันติสุขกลับคืนสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ว ความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุยฯ ย่อมส่งผลมาสู่การลดเหตุความรุนแรงในพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ ความคืบหน้าปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมด้านธุรการและการสนับสนุน
สำหรับการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยนั้น ยังคงเป็นชุดความคิดที่คณะพูดคุยฯ เตรียมเสนอเข้าสู่กระบวนการพูดคุยฯ อย่างเป็นทางการต่อไป
นอกจากนั้นในปี 2559 ที่กำลังจะมาถึงนี้ คาดว่าแนวโน้มสถานการณ์น่าจะมีพัฒนาการที่มีความก้าวหน้าโดยลำดับ จนอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวล
สะพัด "มารา ปาตานี" เมินพูดคุยเต็มคณะ
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า การพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยที่นำโดย พลเอกอักษรา กับฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ "กลุ่มมารา ปาตานี" ที่นำโดย นายมะสุกรี ฮารี จากกลุ่มบีอาร์เอ็น ได้มีการพูดคุยแบบคณะใหญ่เต็มคณะไปเพียง 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังไม่มีครั้งที่ 4 แม้จะมีการพยายามนัดหมายกันมาหลายครั้งแล้ว ทั้งช่วงเดือนตุลาคม, พฤศจิกายน และธันวาคม แต่ก็เลื่อนไปทุกครั้ง
ล่าสุดจึงมีข่าวจากแหล่งข่าวในมาเลเซียว่า กลุ่มมารา ปาตานี มีแนวโน้มจะไม่พูดคุยเต็มคณะกับตัวแทนรัฐบาลไทยอีกแล้ว เพราะรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลทหารที่เข้ามาบริหารประเทศเพียงชั่วคราว และน่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในราวปี 2560 เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งก็ต้องเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ และก็น่าจะต้องเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยชุดใหม่ ฉะนั้นการพูดคุยในห้วงเวลานี้จึงไม่มีความยั่งยืน และเป็นไปไม่ได้ที่คณะพูดคุยที่มีทหารเป็นประธาน และยังมีรัฐบาลทหารเป็นผู้คุมนโยบาย จะยินยอมตามข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้เห็นต่างอย่าง มารา ปาตานี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) ดาโต๊ะ สรี อะหมัด ซัมซามิน ฮาซิม ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯ (กลาง) พลเอกกิตติ อินทสร หนึ่งในคณะพูดคุย ตัวแทนจากกองทัพบก (ขวา) พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฯ