สุรินทร์-อุบลฯ ‘วางระบบจัดการจากท้องถิ่น’ ตอบโจทย์ลดปัญหาอุบัติเหตุ
พอใกล้ช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอย่างปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง อุบัติเหตุทางท้องถนนมักจะเป็นประเด็นเร่งด่วนที่หลายภาคส่วนหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญ ทั้งต้องยอมรับว่าจำนวนอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวก็มีปริมาณมากจริง
จากสถิติของสถาบันวิจัยด้านการคมนาคมมหาวิทยาลัยมิชิแกนสหรัฐอเมริการ่วมกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทย สูงเป็นอันดับ ๒ ของโลก โดยจะมีคนไทยเสียชีวิตจากสาเหตุนี้สูงถึง ๔๔ คนต่อประชากร ๑๐๐,๐๐๐ คน ต่อปี อุบัติเหตุบนท้องถนนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งหาแนวทางจัดการ
นับตั้งแต่ที่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้ออกเป็นมติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๕๕๒ หลายภาคส่วนขับเคลื่อนเรื่องนี้ในหลากหลายจุด โดยมีเป้าหมายให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในปี ๒๕๖๓ ลงลงร้อยละ ๕๐ ของอัตราการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตในปี ๒๕๕๓
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า อุบัติเหตุในช่วงเทศกาลถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุรายวัน ข้อมูลการตายจากอุบัติเหตุบนถนนเฉลี่ยวันละ ๔๐ คนสาเหตุหลักๆ มาจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ โดยมีปัจจัยจากสภาพถนนเกี่ยวข้องร้อยละ ๒๘
ซึ่งการจะจัดการปัญหา นพ.ธนะพงศ์ เห็นว่า มีสองส่วนสำคัญ หนึ่งคือการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการ และสองคือการทำงานโดยใช้สถิติและข้อมูล
จุดนี้สอดคล้องกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีของ Data Mining มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น โรงพยาบาล กรมทางหลวง เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงสถานการณ์ด้านความปลอดภัยทางถนน
“ในส่วนของชุมชนในการจัดการจุดเสี่ยงที่ผ่านมายังมีข้อจำกัดเพราะมีหลายโจทย์ต้องทำ แต่เราอยากเห็นระดับพื้นที่ทำเอง วางโครงสร้างการจัดการ เน้นของเดิม แต่ทำลายข้อจำกัดลง เช่น ประชุมไม่ต่อเนื่อง ขาดข้อมูล ก็แก้โดยการก่อตัวระดับอำเภอ ชักชวน ทำงานด้านข้อมูล แล้วก่อตัวอีกระดับคือระดับตำบล ให้ท้องถิ่นมาเป็นหน่วยงานหลัก”
ตัวอย่างที่น่าสนใจคืออำเภอศรีณรงค์ จังหวัดสุรินทร์ ในปี พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๖ มีผู้ประสบอุบัติเหตุบนทางถนนสูงเฉลี่ยปีละ ๑๓๗ ราย หรือตกเดือนละ ๑๑ คน จากสภาพปัญหาทำให้ชุมชนเห็นว่า จะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เกิดการก่อตัวของภาคส่วนต่างๆ ขึ้นมาเป็นทีมงาน
แม้ในตอนแรกผู้ริเริ่มส่วนใหญ่จะมาจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข แต่การทำงานแบบเกาะติด ต่อเนื่อง และสร้างการมีส่วนร่วม สุดท้าย ก่อเกิดเป็นคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ.อำเภอ) ขึ้น
ศปถ.อำเภอ ทำหน้าที่เป็นแกนหลักพัฒนากลไกขับเคลื่อนงานความปลอดภัยทางถนน ทำนโยบายระดับอำเภอและแผนการจัดการงานด้านอุบัติเหตุของอำเภอตลอดทั้งปี โดยมุ่งไปที่ 3 เรื่องหลักคือการแก้ไขจุดเสี่ยง รณรงค์สวมหมวกกันน็อค และดื่มไม่ขับ โดยพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนการทำงานไปพร้อมๆ กัน เกิดการสร้างระบบการจัดการด้านข้อมูลอุบัติเหตุระดับอำเภอ มีระบบรายงานที่ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และเชื่อมโยงกับภาคีที่เกี่ยวข้อง
“ตัวอย่างสุรินทร์คือการที่ชุมชนวางโครงสร้างสองระดับให้ทำงานต่อเนื่อง จนเกิดศูนย์ถนนอำเภอ ทำให้คนที่มีข้อมูลได้มาคุยกัน และนำมาวิเคราะห์ข้อมูล อนุกรรมการ ศปถ.อำเภอจะเชื่อมโยงท้องถิ่น แกนนำเครือข่ายสมัชชาและหน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานด้วยกันโดยใช้ข้อมูล ชาวบ้านเขาวิเคราะห์ว่าความเสี่ยงของศรีณรงค์คือรถการเกษตรขึ้นมาวิ่งบนเส้นทาง พอเขาเห็นสาเหตุตรงนี้ก็นำไปคิดจนเกิดข้อตกลงร่วมกันได้ว่าจะลดความเสี่ยงจุดนี้อย่างไร” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
ด้าน นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทางกระทรวงได้กำหนดให้เรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นนโยบายเร่งด่วนและมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่ช่วงเทศกาลเท่านั้น โดยบทบาทขณะนี้จะเน้นการสนับสนุนให้เกิดการจัดการที่เข้มแข็งในพื้นที่การยกระดับข้อมูลการบาดเจ็บและเสียชีวิตตายเพื่อใช้ในการวิเคราะห์การพัฒนาระบบบริหารจัดการในทุกระดับ เน้นมาตราการป้องกัน การจัดการความเสี่ยง เช่น การทำด่านชุมชน รวมถึงการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ
“ทางกระทรวงจะเน้นการใช้ข้อมูลเพื่อผลักดันการดำเนินงาน โดยจะพยาบามบูรณาการข้อมูลสามทางคือจากหน่วยงานต่างๆ ในระดับภูมิภาคจังหวัด อำเภอ นำข้อมูลมาดูด้วยกัน ข้อมูลจากการบาดเจ็บในโรงพยาบาล และข้อมูลเชิงลึก เชิงคุณภาพ ที่ได้จากการสืบสวน”
ขณะที่ นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ สพฉ. อธิบายว่า อุบัติเหตุถือเป็น 1 ใน 25 กลุ่มอาการที่ สพฉ. ดูแลอยู่ โดยทาง สพฉ. จะให้ความสำคัญในการกระจายอำนาจให้กับชุมชนเพื่อร่วมจัดการ เพราะการช่วยเหลือฉุกเฉินถือเป็น 5 เสาหลักในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ที่ประกอบด้วย พฤติกรรม ถนน พาหนะ ระบบ และการช่วยเหลือเบื้องต้นและแจ้งเหตุฉุกเฉิน
นพ.ไพโรจน์ ยกตัวอย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุบลราชธานี ที่ลงไปทำงานร่วมกันกับระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทำการเช่ารถฉุกเฉินและจัดอบรมให้ อบต. ทุกแห่ง ทั้งยังย้ายศูนย์สั่งการมาอยู่ที่ อบจ. เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเข้าถึงจุดเกิดเหตุให้ได้ภายใน 8 นาที มีการจ้างบุคลากรเพิ่มเติม และเก็บสถิติต่างๆ ไว้เป็นข้อมูลเชิงปฏิบัติการสำหรับท้องถิ่น
กล่าวได้ว่าการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเดินหน้าไปด้วยดี ซึ่งจากกรณีที่อุบลราชธานีและสุรินทร์เห็นได้ชัดเจนว่า การบริหารจัดการจากระดับท้องถิ่น โดยมีส่วนกลางเป็นผู้หนุนเสริม สามารถสร้างระบบที่มีประสิทธิภาพในการลดอุบัติเหตุได้จริง