จากสวนผักคนเมืองสู่สวนผักในโรงเรียนบูรณาการสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้
"การเรียนการสอนแบบนี้ ดีกว่าให้เด็กทำตามสั่ง ซึ่งเด็กจะไม่ชอบ ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ เหมือนทำตามแบบ แต่การเรียนแบบนี้เด็กได้ทำงานไม่ซ้ำกันเลย ได้ทำจริง และได้คิดสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง"
โครงการสวนผักคนเมือง : ปลูกผัก ปลูกเมือง ปลูกชีวิต โดยมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน นำแนวคิดกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยวิถีธรรมชาติและการปลูกผักมาใช้กับเด็กๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ และส่งผ่านองค์ความรู้นี้ไปยังองค์กรและโรงเรียนในเครือข่าย
"สุภา ใยเมือง" ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) เริ่มต้นอธิบายว่า การปลูกผักสามารถบูรณาการในชีวิตและการเรียนได้ โรงเรียนที่สนใจสามารถนำเรื่องการปลูกผักไปบูรณาการในความรู้ชุดต่างๆ ที่เด็กเรียนได้ และสนับสนุนการปลูกผักเป็นอาหารกลางวันให้เด็กได้อีกด้วย ซึ่งโรงเรียนต้องมีความพร้อมสามารถนำองค์ความรู้ที่มีนี้ไปประยุกต์ใช้แล้วมีมิติบูรณการได้ ไม่ใช่แค่การปลูกแล้วกินแต่จะต้องทำอย่างไรให้เชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในมิติต่างๆ หรือรายวิชาได้ เพราะเมื่อคุณครูสามารถประยุกต์ใช้กิจกรรมปลูกผักเหล่านี้กับการสอนรายวิชาแล้วเด็กก็จะเข้าใจง่ายขึ้น
"การเชื่อมโยงเรื่องสวนผักกับกระบวนการเรียนรู้ของเด็กจะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคของเด็กได้ เพราะเด็กจะได้เรียนรู้ทุกกระบวนการ ตั้งแต่เมล็ดและเริ่มผลิดอกออกใบและผล จนเกิดความผูกพัน และยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ"
ส่วนการปลูกผักจะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กได้อย่างไร และการเรียนรู้ในห้องเรียนยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้หรืออย่างไร ทำไมจึงต้องเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้น
มีกรณีตัวอย่างที่โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ สังกัดสำนักงานเขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร
วิสัยทัศน์โรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ มีวิสัยทัศน์มุ่งพัฒนานักเรียนอย่างเป็นองค์รวมให้ครอบคลุมทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจและปัญญาตามหลักไตรสิกขา เป็นโรงเรียนตัวอย่างที่จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรการศึกษา ซึ่งจัดทำโครงการ “เพาะรัก เพราะรัก” เป็นกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยวิถีธรรมชาติและการปลูกผักของโครงการสวนผักคนเมืองมาประยุกต์ในการเรียนการสอนจนประสบความสำเร็จ
"ภัทรพร นิยมไทย" ครูโรงเรียนอนุบาลบ้านพลอยภูมิ เชื่อว่า เด็กๆ ได้เห็นของจริงได้สัมผัสจริงจากธรรมชาติ เชื่อมโยงไปพัฒนาการเรียนรู้ต่างๆ ได้มากมาย การที่เด็กมองเห็นความงามเหล่านี้จะปลูกฝังให้เป็นคนอ่อนโยนได้ เช่น เด็กๆ ที่ไปปลูกคะน้า ได้หยิบพลิกดูใต้ใบก็จินตนาการเหมือนเส้นแม่น้ำ ก็จะนำไปวาดภาพ ซึ่งคืองานศิลปะ
ครูภัทรพร บอกอีกว่า นอกจากกิจกรรมที่เราจัดให้เด็กๆ ทำแล้ว ยังมีวิชาธรรมชาติ ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้ธรรมชาติ เช่น ไม้ยืนต้น สัตว์น้ำ สัตว์บก ไม้พุ่ม ได้เห็นความเชื่อมโยงของธรรมชาติที่เกี่ยวพันกันเป็นวัฎจักร เมื่อเด็กเรียนรู้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ก็จะไม่รู้สึกแปลกแยก เราปลูกฝังรักธรรมชาติ เขาจะไม่เด็ดดอกไม้ รักสัตว์ ได้เห็นความงามความดี การเชื่อมโยงของสรรพสิ่ง และสุดท้ายก็มองเห็นความจริง”
ครูภัทรพร ชี้ว่า การเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เห็นชัดคือเด็กกล้ากินในสิ่งที่ทำด้วยตัวเอง บางคนไม่ค่อยกินผักก็เปลี่ยนมากินผักมากขึ้น และอยากเอากลับไปทำที่บ้านกับพ่อแม่
ขณะที่ โรงเรียนบ้านเจียรดับ สังกัดสำนักงานเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่ใช้ประยุกต์เรื่องของผักและวิถีธรรมชาติเพื่อเสริมกระบวนการเรียนรู้เด็กๆ และผนวกเข้าในรายวิชาปกติ ซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจในตัวเด็กมากขึ้น ตามโครงการ “ผัก ปลูก เด็ก”
ศิโรจน์ ชนันทวารี ครูบ้านโรงเรียนเจียรดับ เล่าว่า จากเดิมทางโรงเรียนได้บูรณาการวิชาคอมพิวเตอร์กับการเกษตร ซึ่งในครั้งแรกจะเริ่มให้เด็กได้ลงมือปลูกผัก ระหว่างที่รอผักเติบโต ก็มาเข้าสู่การเรียนการสอนในวิชาคอมพิวเตอร์ โดยนำเอาการเกษตรมาประยุกต์ใช้ เช่น ในเด็กเล็กการสอนโปรแกรมวาดรูป ก็ให้เด็กๆ ได้บันทึกหรือวาดรูปการเติบโตของต้นไม้ ส่วนเด็กชั้น ป.3-ป.4 จะเริ่มในโปรแกรมพิมพ์งาน ก็ให้เด็กเขียนบันทึกรายงานโดยใช้เทคนิกต่างๆ ส่วนเด็กโตจะเรียนโปรแกรมเอ็กเซล เช่น บันทึกส่วนสูงต้นไม้ กราฟสูงแค่ไหน ต่อมาก็เป็นการทำพาวเวอร์พ้อยท์ ทำในสิ่งที่ตนเองสนใจซึ่งทุกอย่างต้องเกี่ยวกับผักและต้นไม้ทั้งสิ้น
ครูศิโรจน์ เชื่อว่า การเรียนการสอนแบบนี้ ดีกว่าให้เด็กทำตามสั่ง ซึ่งเด็กจะไม่ชอบ ไม่เกิดความคิดสร้างสรรค์ เหมือนทำตามแบบ แต่การเรียนแบบนี้เด็กได้ทำงานไม่ซ้ำกันเลย ได้ทำจริง และได้คิดสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง
“ภายหลังจากที่ประสบความสำเร็จในวิชาคอมพิวเตอร์แล้วเราจึงมาบูรณาการร่วมกลับ 8 กลุ่มสาระวิชา แม้หลักสูตรเราจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราไปดูว่าในบทสาระวิชาสามารถเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้อะไรได้บ้าง เพื่อให้เด็กก่อเกิดพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ”
ส่วนโรงเรียนสอนศาสนา เป็นอีกแห่งหนึ่งที่แม้จะมีระบบบการเรียนการสอนแตกต่างจากทั่วไป แต่ก็สามารถนำเอาเรื่องพืชผักเข้าไปสู่กระบวนการเรียนนรู้ได้ด้วยเช่นกัน อย่างเช่น บ้านเรียนมุสลิม ซึ่งได้จัดโครงการสวนผักหนูน้อยพัฒนาปัญญา
บุชรอ สมันเลาะ ครูบ้านเรียนมุสลิม บอกว่า การทำเกษตรปัจจุบันเป็นการสนองต่อตลาดขนาดใหญ่ ผลิตภัณฑ์เต็มไปด้วยสารเคมีที่เป็นพิษ จึงอยากสอนการปลูกผักแบบปลอดสารพิษด้วย ซึ่งโครงการเกิดจากความรัก คือรักตัวเอง จึงชวนครู พ่อแม่ มาปลูกผักร่วมกัน เกิดนวตักรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ ไม่ได้ต้องการผลผลิต หรือแปลงผักที่สวยงาม บางครั้งอาจจะมีหญ้ารกเต็มไปหมด อย่างเรื่องถอนหญ้าสามารถสอนได้เยอะมาก แยกแยะสิ่งถูกสิ่งผิดว่าใหญ่ไหนมีคุณหรือมีโทษต่อผักที่ปลูก เป็นการสอนการเชื่อมโยงของสรรพสิ่งเที่เกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง
เธอบอกอีกว่า นอกจากนี้ยังได้จัดค่ายวิทยาศาสตร์ น้ำเปรี้ยวเปลี่ยนสี ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กๆ รู้ว่าพืชผักจากธรรมชาติชนิดไหนให้สีอะไร หรือจะเป็นการสอนการคัดแยกโครโมโซนจากพืชผัก เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ควบคู่กัน ส่วนวิชางานบ้าน ก็ให้เด็กออกแบบกระถางจากวัสดุเหลือใช้ ตามคอนเซ็ป “ขยะแปลงร่างผองสัตว์กู้โลก” เด็กๆ ก็จะจินตนาการ ระบายสีกระถางต้นไม้ให้สวยงาม
สิ่งสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ เด็กได้คิดสร้างสรรค์ ได้ลงมือปฏิบัติจริง เช่นเดียวกับการปลูกผักที่แม้จะเป็นเพียงกิจกรรมเล็กๆ แต่สามารถเอื้อต่อพัฒนาการของเด็กได้หลากหลายมิติอย่างที่เราคิดไม่ถึง และสำคัญอื่นใด คือประสบการณ์ล้ำค่าที่หาไม่ได้ในห้องเรียน