10 ข่าวเด่นจัดซื้อจัดจ้างปี 58 ‘อิศรา’ จับตาคดีข้าวถุง-ฟุตซอล ปมอาหารดิบเอาไงต่อ?
เปิด 10 ข่าวเด่นจัดซื้อจัดจ้างแห่งปี’58 ‘สำนักข่าวอิศรา’ จับตาคดีข้าวถุง สตง. ฟันเสียหาย 3.8 พันล้าน เชือดกองทุนสตรี-ห้องเรียนอัจฉริยะ-สนามกีฬาท้องถิ่นด้วย คดีสนามฟุตซอลเฮือกสุดท้ายรอ ป.ป.ช. เชือด ปมซื้ออาหารดิบวิธีพิเศษเอาไงต่อหลัง ป.ป.ท. เพิ่งขยับสอบ
ในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ทำหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ผ่านการทำข่าวเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการ ทั้งที่ ตรวจสอบพบข้อมูลเอง และนำรายงานตรวจสอบการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐมาขยายผลเจาะลึกข้อมูลต่อเนื่อง
นับจากบรรทัดนี้ไปเป็น '10 ข่าวจัดซื้อจัดจ้าง' ประจำปี 2558 ของสำนักข่าวอิศรา ที่รวบรวมมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันอีกครั้ง
1.โครงการปรับปรุงห้องเรียน (E-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล (E-Libraly) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘ห้องเรียนอัจฉริยะ’ ใช้งบประมาณ 342.5 ล้านบาท
กรณีนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า โครงการดังกล่าวในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีความผิดปกติ ไม่โปร่งใส ตั้งแต่ขั้นตอนการขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณจนถึงการดำเนินโครงการ และไม่ได้จัดทำขึ้นจากความต้องการของโรงเรียนอย่างแท้จริง แต่มีการระบุชื่อโรงเรียนไว้ก่อนแล้ว โดยบุคคลที่อ้างว่าเป็นผู้ประสานงานของ ส.ส. ไปประสานงานกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียน รวมถึงการจัดสรรงบประมาณผูกขาดโดยผู้ประสานงาน ส.ส.
ตามการตรวจสอบของ สตง. ปรากฏพฤติการณ์ที่เห็นชัด 4 กรณี ได้แก่ 1.ไม่ได้จัดขึ้นตามความต้องการของโรงเรียน 2.กำหนดราคากลางสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น 3.เอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่ง 4.มีครุภัณฑ์ที่จัดซื้อแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ รวมความเสียหายประมาณ 126,798,550 บาท โดย สตง. ได้แจ้งให้ รมว.ศึกษาธิการ แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้
ขณะที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า มีเอกชน 3 ราย ระบุอักษรย่อ ชื่อ ‘อ’ ‘ฮ’ และ ‘น’ เข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนประมูลงานโครงการ โดยส่อว่าเป็นกลุ่มก๊วนเดียวกัน เนื่องจากจัดทำเอกสารสืบราคาและมีใบเสนอราคาของบริษัทเหมือนกัน โดย ‘น’ คือบริษัท นันทนาอินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด โดยเจ้าของบริษัทยืนยันว่า มีคนเข้าสืบราคาจริง แต่ไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยว ส่วน ‘ฮ’ คือบริษัท ไฮเทค เวอร์คกิ้ง กรุ๊พ จำกัด จัดทำสัญญาปรับปรุงห้องเรียนและห้องสมุดในปี 2555 อย่างน้อย 3 โรงเรียน รวมมูลค่างานกว่า 12 ล้านบาท
ล่าสุด พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบกรณีนี้แล้ว และอยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
(อ่านประกอบ : 'ดาว์พงษ์' ยัน 'อิศรา' สั่งปลัดก.ศึกษา ลุยตั้งกก.สอบห้องเรียนอัจฉริยะยุค 'ปู' )
2.โครงการพัฒนาทักษะด้านดนตรีของกรุงเทพมหานคร (ตั้งแต่ปี 2551-2557) รวมมูลค่า 1.2 พันล้านบาท
กรณีนี้สืบเนื่องจากนายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ออกมาแถลงข่าวว่า ในโครงการพัฒนาทักษะด้านดนตรีของ กทม. ตั้งแต่ปี 2551-2557 อาจมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น โดยเฉพาะในโครงการปี 2557 ที่ใช้วงเงินกว่า 567 ล้านบาท พบว่า ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องดนตรี มีการระบุคุณลักษณะเครื่องดนตรีบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพ เช่น ความกว้าง ความยาว ความสูง เป็นต้น
โครงการดังกล่าวแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงปี 2551-2555 90 โรงเรียน วงเงิน 250 ล้านบาท ช่วง 2555-2557 ขยายเพิ่มอีก 150 โรงเรียน วงเงิน 480 ล้านบาท และช่วงที่สาม ปี 2557-2559 ขยายเพิ่มอีก 197 โรงเรียน วงเงิน 585 ล้านบาท รวมวงเงินทั้งสิ้นกว่า 1.2 พันล้านบาท
สำหรับทั้ง 3 ช่วงดังกล่าว ปรากฏชื่อของบริษัท เคพีเอ็น มิวสิค จำกัด และกลุ่มกิจการร่วมค้า kpn-t (kpn คือ บริษัท เคพีเอ็นฯ ส่วน t ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าคือบริษัทใด) เป็นผู้ชนะการประมูลทุกครั้ง ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ธีระ มิวสิค จำกัด ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่บริษัท t เป็นผู้ขายเครื่องดนตรีให้บริษัท เคพีเอ็นฯ เพื่อนำไปขายต่อ กทม. อีกทอดหนึ่งด้วย
ล่าสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการสอบกรณีนี้แล้ว เนื่องจากเห็นว่า มีเอกชนผูกขาดได้งานรายเดียว กำหนดราคากลางสูงเกินจริง และความคุ้มค่าในการใช้งาน ส่วนนายวิลาศ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ดำเนินการตรวจสอบแล้วเช่นกัน
(อ่านประกอบ : ส่อทุจริตชัดเจน! ‘วิลาศ’ยื่น ป.ป.ช.สอบโครงการพัฒนาทักษะดนตรี กทม.)
3.โครงการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ
โครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสมาชิกสภาพสตรี โดยเปิดให้สตรีในแต่ละตำบลจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อทำเรื่องขอรับงบประมาณไปใช้จ่ายในกิจการ-ห้างร้านของตัวเอง ในวงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท โดยต้องผ่านความเห็นชอบอนุมัติจากประธานคณะกรรมการกองทุนสตรีจังหวัด และส่วนกลาง
อย่างไรก็ดีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า การใช้จ่ายเงินของกองทุนดังกล่าว มีหลายโครงการในหลายจังหวัดไม่ได้เบิกจ่ายเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง บางแห่งมีการเอื้อให้ญาติพี่น้องของประธานคณะกรรมการกองทุนสตรีในต่างจังหวัดได้รับโครงการ บางแห่งนำเงินไปแบ่งกันภายในหมู่สมาชิก ไม่ได้ใช้จ่ายเงินตามแผนงานที่ทำเรื่องขอเบิกแต่อย่างใด
รวมถึงหลายแห่งไม่มีการทำบัญชีรายรับรายจ่าย การใช้จ่ายเงินบางอย่างก็ผิดวัตถุประสงค์ บางแห่งแบ่งเงินกันใช้ เช่น ในพื้นที่ กทม. มีการรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตเสื้อขาย แต่ปรากฏว่าเมื่อได้รับเงิน กลับอ้างว่า ขัดแย้งกันในกลุ่มจึงเลิกทำ และนำเงินมาแบ่งให้สมาชิกใช้จ่ายตามอัธยาศัย เป็นต้น
(อ่านประกอบ : ปล่อยกู้-แบ่งใช้เอง! สตง.สรุปงบกองทุนสตรีฯจ่ายเงินนอกแผน 76 โครงการ 3.9 ล.)
4.โครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
กรณีนี้สืบเนื่องจากการแปรญัตติงบประมาณของ ส.ส. ในหลายจังหวัดเมื่อปี 2555 โดยมีบางรายระบุว่า เพื่อจะนำไปก่อสร้างปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่นที่ชำรุดทรุดโทรมและที่ประสบภัยพิบัติ อย่างไรดีจากการตรวจสอบของ สตง. และ ป.ป.ช. พบว่า มีการนำไปสร้างเป็นสนามฟุตซอลแทนในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหลายแห่งไม่ได้ตามมาตรฐาน อาจมีการล็อคสเปกให้บริษัทเอกชนมาจัดสร้าง เป็นต้น
ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบของสำนักข่าวอิศรา พบว่า หลายบริษัทที่เข้ามารับงานนั้น บางแห่งมีกลุ่มผู้ถือหุ้นชุดเดียวกัน บางแห่งเป็นของอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือนอมินีของนักการเมือง เป็นต้น
สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะใน จ.นครราชสีมานั้น คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ระบุพฤติการณ์ว่า อดีต ส.ส. ในพื้นที่ พรรคขนาดกลาง ได้นัดคุยกับข้าราชการระดับสูงของ สพฐ. ในพื้นที่ รวมถึงเอกชนบางกลุ่ม ที่ร้านลาบ หรือร้านอาหาร จากนั้นมีการให้ตัวแทนประกาศเชิญชวนคนในพื้นที่ว่า จะจัดสร้างสนามฟุตซอลให้กับโรงเรียนภายในจังหวัด
ล่าสุด คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ สรุปผลการไต่สวนข้อเท็จจริงเสร็จสิ้นแล้ว รอแค่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด พบว่า เฉพาะ จ.นครราชสีมา มีข้าราชการที่เกี่ยวข้องนับร้อยราย ขณะที่ในภาพรวมมีข้าราชการเกี่ยวข้องหลายร้อยราย ตั้งแต่ระดับอดีตเลขาธิการ สพฐ. ข้าราชการระดับสูงใน สพฐ. ผอ.โรงเรียน เอกชนที่รับงาน เป็นต้น
(อ่านประกอบ : อดีต ส.ส.-ขรก.นัดคุยร้านลาบ! ป.ป.ช. สาวลึก‘บิ๊กนักการเมือง’คดีสนามฟุตซอล)
5.โครงการก่อสร้างสนามกีฬาตำบลและอำเภอประจำปี 2556
กรณีนี้สืบเนื่องจาก สตง. ได้ดำเนินการตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลหลายประการในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2556 รวมวงเงินกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท เช่น สนามกีฬาที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้วไม่นานมีประชาชนไปใช้งานจำนวนน้อย มีการสร้างสนามกีฬาในพื้นที่ทับซ้อนกัน หรือสร้างห่างไกลแหล่งชุมชน บางแห่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรมทั้งที่เพิ่งสร้างเสร็จ บางแห่งสร้างบุกรุกพื้นที่ป่าชุมชน
ต่อมาภายหลังการรัฐประหารของ คสช. โครงการดังกล่าวได้หยุดชะงักลงไป ทว่าเมื่อมีการตั้งรัฐบาลนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เตรียมจะสานต่อโครงการดังกล่าวอีกครั้ง สตง. จึงส่งหนังสือขอให้พิจารณาทบทวนโครงการดังกล่าวในปี 2558-2559 ของกรมพลศึกษา
ล่าสุด นายกิตติพงษ์ โพธิมู อธิบดีกรมพลศึกษา ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราแล้วว่า ได้แก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต และดำเนินการตามขั้นตอนของ สตง. ทุกอย่างแล้ว
(อ่านประกอบ : อธิบดีกรมพลศึกษาสั่งแก้งานก่อสร้างสนามกีฬาทั่ว ปท.-ยันไม่มีสร้างรุกป่าชุมชน)
6โครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายและเครื่องเล่นนันทนาการของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ในช่วงปี 2555-2557 กรมการท่องเที่ยว ได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเอกชนหลายแห่งเพื่อดำเนินโครงการติดตั้งเครื่องออกกำลัง และเครื่องเล่นนันทนาการ ไปติดตั้งที่โรงเรียน หรือสนามเด็กเล่นหลายแห่ง ในหลายจังหวัด วงเงินรวมหลายพันล้านบาท
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า บริษัทที่ชนะการประมูลบางราย ทำสัญญาผูกขาดมาหลายปี รวมวงเงินเฉียดพันล้านบาท บางแห่งเป็นเครือข่ายของนักการเมืองระดับชาติ บางแห่งผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นเด็กอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น
ขณะเดียวกัน สตง. ได้ลุยตรวจสอบโครงการดังกล่าวแล้ว พบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับการดำเนินงานของโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล สพฐ. ที่ตรวจพบปัญหาไปก่อนหน้านี้ รวมถึงการจัดซื้อเครื่องเล่นบางอย่างน่าจะมีราคาแพงเกินจริง เช่น ม้าติดสปริง ที่ตั้งราคาจัดซื้อไว้ตัวละ 4 หมื่นบาท ใกล้เคียงกับราคารถมอเตอร์ไซค์จริง หรือเครื่องหมุดรอด ตั้งราคาไว้สูงถึง 9 แสนบาท ซึ่งมีราคาแพงกว่าบางหน่วยราชการที่เคยจัดซื้อไว้มาก
(อ่านประกอบ : อธิบดีกรมพลศึกษาสั่งแก้งานก่อสร้างสนามกีฬาทั่ว ปท.-ยันไม่มีสร้างรุกป่าชุมชน)
7.การจัดซื้ออาหารดิบด้วยวิธีพิเศษให้ผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์
กรณีนี้กลุ่มผู้ค้าอาหารดิบรายย่อย ร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีที่กรมราชทัณฑ์ปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลซื้ออาหารดิบ (เป็นรายสิ่งพร้อมเครื่องปรุง) เพื่อให้ผู้ต้องขัง จากปกติเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบวิธีพิเศษ โดยเห็นว่า ในหลายพื้นที่ส่อพฤติการณ์ ‘ฮั้ว’ เข้ารับงาน แม้ว่าจะได้ราคาต่ำ แต่ก็ไม่มีการแข่งขันราคากันจริง
โดยระบุว่า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการลักลอบนำยาเสพติดและสิ่งของต้องห้ามเข้าสู่เรือนจำ โดยจะใช้วิธีการจ้างจากหน่วยงานรัฐ 3 แห่ง ได้แก่ องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย องค์การคลังสินค้า (อคส.) องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ซึ่ง 3 หน่วยงานรัฐดังกล่าว จะใช้วิธีการ ‘เช่าช่วง’ กับเอกชนรายอื่นเพื่อจัดซื้ออาหารดิบต่อไป
นอกจากนี้สำนักข่าวอิศรายังตรวจสอบพบด้วยว่า เอกชนที่ได้เช่าช่วงบางแห่ง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับข้าราชการระดับสูงในกรมราชทัณฑ์ หรือข้าราชการในเรือนจำประจำจังหวัดนั้น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ดีกรณีอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมถึงอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า การจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษดังกล่าว เพื่อความมั่นคงทางอาหารของผู้ต้องขัง เพราะหากใช้วิธีประมูลปกติ กว่าจะได้เอกชนรับงานก็เกิดความล่าช้า แต่ว่าผู้ต้องขังไม่สามารถอดอาหารรอได้
ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เริ่มตรวจสอบในกรณีดังกล่าวแล้ว หลังจากร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมานานกว่าหนึ่งปี
(อ่านประกอบ : ป.ป.ท.ขยับแล้ว!สอบปมฮั้วจัดซื้ออาหารดิบ 11 เรือนจำ-ซัด 2 อธิบดีพันวิธีกรณีพิเศษ)
8.โครงการก่อร้างป้ายประชาสัมพันธ์องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชัยนาท มูลค่า 18 ล้านบาท
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า อบจ.ชัยนาท ใช้เงินงบประมาณจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างป้ายประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์รูปนก 2 ครั้ง ครั้งแรก จำนวน 2 ป้าย ติดรมถนนสายเอเชีย ราคาต่อป้าย 9 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 18 ล้านบาท โดยมีบริษัท โอบามาเก้ากรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา จากการยื่นเสนอราคามี 2 ราย ได้แก่ บริษัท โอบามาเก้ากรุ๊ปฯ และบริษัท ซี อาร์ เอ็ม เอ คอนซัลแตนท์ (2009) (ไทยแลนด์) จำกัด ครั้งที่ 2 ติดหน้าหน้าศาลากลางจังหวัดชัยนาท วงเงิน 4.4 ล้านบาท มีบริษัท เวลตี้ ครีเอชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประปวดราคา
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า ทั้งบริษัท โอบามาเก้ากรุ๊ปฯ บริษัท ซี อาร์ เอ็ม เอฯ และบริษัท เวลตี้ฯ มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ได้แก่ บริษัทโอบามาเก้ากรุ๊ปฯ และ บริษัท เวลตี้ฯ เป็นผู้รับเหมากลุ่มเดียวกัน มี น.ส.สาธิตา รูปทอง กับพวก เป็นผู้ถือหุ้นทั้งสองแห่ง
ขณะที่บริษัท โอบามาเก้ากรุ๊ปฯ กับ บริษัท ซี อาร์ เอ็ม เอฯ ผู้ร่วมเสนอราคาในรายการที่ 1 มีบุคคลที่เกี่ยวข้องของสองบริษัท อาทิ ‘ผู้รับมอบอำนาจ’ในการยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โอบามาเก้ากรุ๊ป จำกัด เป็นบุคคลคนเดียวกัน ผู้รับมอบอำนาจ’ ในการยื่นจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ซี อาร์ เอ็ม เอ คอนซัลแตนท์ (2009) ฯ เป็นต้น
ล่าสุด สตง. เข้าตรวจสอบประกวดราคาดังกล่าวแล้ว
(อ่านประกอบ : เปิด 6 หญิงสาว มัดสัมพันธ์ลึก‘บ.รับเหมา-คู่เทียบ’ ป้ายรูปนก อบจ.ชัยนาท 18 ล.)
9.คดีระบายข้าวถุงขององค์การคลังสินค้า (อคส.)
กรณีนี้สืบเนื่องจากที่ สตง. มีมติชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงของ อคส. โดยพบข้อพิรุธ และความผิดปกติหลายประการ ไม่มีการกระจายข้าวสารบรรจุถุงไปสู่ประชาชนในราคาถูกอย่างแท้จริง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ทำให้เกิดความเสียหายกว่า 3.8 พันล้านบาท
จากการตรวจสอบพบว่า อคส. ทำสัญญาตั้งตัวแทนจำหน่าย 6 บริษัท แต่ไม่ได้ระบุให้ต้องจำหน่ายแก่ประชาชนในราคา 70 บาท โดยมีตัวละครหลักอย่างนายสมคิด เอื้อนสุภา และนายนิมล รักดี หรือ ‘เสี่ยโจ’ ซึ่งทั้งคู่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายอภิชาติ จันทร์สกุลพร ผู้บริหารบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด (ปัจจุบันถูกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จำคุก 2 ปี) เนื่องจากนายสมคิดเป็นผู้สั่งซื้อแคชเชียร์เช็คจำนวน 38 ใบ รวมวงเงิน 5.4 พันล้านบาท ให้กับ อคส. แทนบริษัทเอกชนทั้ง 7 แห่ง ส่วนนายนิมล เป็นผู้รับหน้าที่เจรจาต่อรองกับบริษัทเอกชน โดยหนึ่งในนั้นมีบริษัท สยามอินดิก้าฯ ด้วย
ขณะเดียวกันยังพบว่า บริษัทเอกชนบางแห่งได้รับคำแนะนำจากผู้บริหารระดับสูงใน อคส. ให้เข้าสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายข้าวถุง เมื่อได้รับคัดเลือกแล้ว ผู้บริหารรายนี้แนะนำให้ติดต่อกับนายนิมล โดยมีการแบ่งค่าส่วนต่างให้ผู้บริหารถุงละ 66 สตางค์เป็นค่าแนะนำอีกด้วย
ล่าสุด สตง. ได้นำส่งรายงานผลสอบข้อเท็จจริงกรณีนี้ให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาไต่สวนแล้ว
(อ่านประกอบ : เสียหาย 3.8 พันล.!สตง.ชี้มูลคดีระบายข้าวถุงอคส.-เอกชนเครือญาติฮั้วเสนอราคารัฐ)
10.การจัดซื้อรถยนต์บรรทุกดับเพลิงและเรือยนต์กู้ภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย 7 พันล้านบาท
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ปภ. กรณีการประกวดราคาจัดซื้อรถยนต์บรรทุกดับเพลิงและเรือยนต์กู้ภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รวมวงเงิน 7,071,271,900 บาท (ระหว่างปี 2555-2557) มีผู้ชนะ 4 ราย
ได้แก่ 1.บริษัท เชส เอ็นเตอร์ไพรส์ (สยาม) จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคา 20 โครงการ รวมวงเงิน 5,509,706,900 บาท 2.บริษัท วีม่า (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 6 โครงการ 1,034,183,000 บาท 3.บริษัท ดี แอล เอ็ม โซลูชั่นส์ จำกัด จำนวน 2 โครงการ รวมวงเงิน 330,012,000 บาท 4. บริษัท อีซูซุประกิตมอเตอร์บ้านโป่ง จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา 1 โครงการ 197,370,000 บาท
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า เอกชนทั้ง 3 รายดังกล่าว มีความเชื่อมโยงกัน นอกจากนี้สำหรับบริษัท เชสฯ และบริษัท วีม่าฯ ยังเป็นผู้ชนะการประกวดราคาในหลายโครงการของหน่วยงานรัฐ เช่น โครงการจัดซื้อรถดับเพลิงกรมการบิน 44 คัน มูลค่า 1,047 ล้านบาท ที่บริษัท เชสฯ ชนะการประกวดราคา โดยใช้ 2 บริษัทเครือข่ายเป็นคู่แข่ง เป็นต้น
ซึ่งไม่นับรวมก่อนหน้านี้ที่บริษัท เชสฯ ได้รับการจัดซื้อรถดับเพลิงกู้ภัยแและเรือท้องแบนหลายโครงการ รวมมูลค่าทั้งสิ้นนับหมื่นล้านบาทอีกด้วย
(อ่านประกอบ : ไขสัมพันธ์ลึก 3 บ.กลุ่มเดียวรวบจัดซื้อรถยนต์กู้ภัย-บรรทุกน้ำ ปภ. 1.5 พันล.)
ทั้งหมดคือ 10 กรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่สุดแห่งปี 2558 ของสำนักข่าวอิศรา ที่รวบรวมาให้ท่านผู้อ่านยลกัน บางกรณีก็ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว บางกรณีก็อยู่ระหว่างองค์กรอิสระอย่าง สตง. ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช. ตรวจสอบอยู่
ต้องจับตากันว่าในปี 2559 จะมีกรณีไหนที่ถูกดำเนินการเอาผิดได้บ้าง ?