10ข่าวเจาะทรัพย์สินปี58 ‘อิศรา’ฟันพงศ์เวช-เปิดปมบัญชี'ปรีชา'-ลุ้น5 รมต.จำนำข้าว
พลิก 10 ข่าวเจาะที่สุดบัญชีทรัพย์สินแห่งปี 58 สำนักข่าวอิศรา บัญชี บิ๊กติ๊ก ป.ป.ช.ยันถูกต้องแต่ยังมีคำถาม ‘เก่ง การุณ’โดนตั้งอนุฯสอบ ‘เมียอริสมันต์’ รอด ศาลฟัน‘พงศ์เวช’ เกาะติด ‘จารุพงศ์-ชาดา’ลุ้น 5 รมต.คดีจำนำข้าว
เป็นธรรมเนียมในช่วงส่งท้ายปีเก่า-ต้อนรับปีใหม่ สำหรับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ที่ต้องสรุปคดีความเกี่ยวเนื่องกับความไม่โปร่งใสในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ-เอกชน หรือความไม่ชอบมาพากลของบุคคลต่าง ๆ ที่มี ‘ส่วนได้ส่วนเสีย’ กับภาครัฐ และใช้เงินภาษีของประชาชนในการบริหารงาน
ในตอนแรกนี้ เป็นเรื่องของ 10 ข่าวเจาะบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินบรรดา ‘นักการเมือง-ข้าราชการ’ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
พบว่า ยังมีบางรายอยู่ระหว่างถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบ บางราย ป.ป.ช. ดำเนินการอายัดทรัพย์สิน หรือบางรายตรวจสอบเสร็จไปแล้วแต่สังคมยัง ‘คาใจ’ อยู่ ?
มีใครบ้าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปไว้ ดังนี้
1.พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา (บิ๊กติ๊ก) ปลัดกระทรวงกลาโหม และนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา คู่สมรส
ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนค่อนข้างมาก ภายหลังที่สำนักข่าวอิศราเปิดเผยถึงความไม่ชอบมาพากลในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของ พล.อ.ปรีชา-นางผ่องพรรณ กรณีเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อ ป.ป.ช. เนื่องจากพบความน่าสงสัย 3 ประการ ได้แก่
หนึ่ง พล.อ.ปรีชา กรอกข้อมูลในหน้าหลักของบัญชีทรัพย์สินว่า มีเงินฝาก 5 บัญชี มูลค่า 42,051,468 บาท ส่วนนางผ่องพรรณ ไม่มีทรัพย์สินเป็นเงินฝาก แต่กลับระบุในหน้ารายละเอียดว่า มีเงินฝากทั้งสิ้น 10 บัญชี มูลค่า 89,418,876 บาท เป็นของ พล.อ.ปรีชา 5 บัญชี 42,051,468 บาท ของนางผ่องพรรณอีก 5 บัญชี มูลค่า 46,995,296 บาท
สอง พล.อ.ปรีชา ได้แนบท้ายสำเนาเงินฝากของกองทัพภาคที่ 3 ไว้ในเอกสารประกอบในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยระบุชื่อผู้มีอำนาจในการลงนามคือ พล.อ.ปรีชา เอง ทั้งที่ขณะนั้น พล.อ.ปรีชา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกแล้ว
สาม เงินไหลเวียนในบัญชีเงินฝากของนางผ่องพรรณจำนวนหลายสิบล้านบาทภายหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ทั้งที่ พล.อ.ปรีชา ระบุว่า นางผ่องพรรณ ไม่มีรายได้ และไม่ได้ประกอบธุรกิจ หรือทำงานอะไรมาก่อน
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบของ ป.ป.ช. ยาวนานกว่า 1 ปี ระบุว่า การยื่นบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ปรีชา ถูกต้องทุกประการ และไม่ได้จงใจปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน
แต่เงื่อนปมสำคัญที่ ป.ป.ช. ยังไม่ได้ตอบสาธารณชนคือ สรุปแล้วเงินไหลเวียนในบัญชีเงินฝากของนางผ่องพรรณ มาจากไหน และเป็นเงินอะไร เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถให้คำตอบได้
(อ่านประกอบ : เงินไหลเวียนบัญชี'เมียปรีชา'ปมที่ยังไม่เคลียร์?หลังป.ป.ช.ยันยื่นทรัพย์สินถูกต้อง)
2.นายการุณ โหสกุล อดีต ส.ส.ดอนเมือง พรรคเพื่อไทย
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า นายการุณปรากฏรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทให้บริการทางกฎหมาย ผลิตและจำหน่ายเครื่องกำจัดขยะ มูลค่า 2.5 แสนบาท แต่จากการตรวจสอบในบัญชีทรัพย์สิน กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 2556 นั้น พบว่า นายการุณ ไม่ได้แจ้งครอบครองถือหุ้นแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการขายพระเครื่อง และนาฬิกา มูลค่ากว่า 24 ล้านบาท ที่ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบว่า เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ด้วย
ป.ป.ช. ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีนี้นานกว่า 2 ปี มีการเรียกนายการุณเข้ามาชี้แจงอย่างน้อย 3 ครั้ง (บางครั้งนายการุณไม่ได้เข้าไปชี้แจงด้วยตัวเอง แต่ส่งเอกสารชี้แจงแทน) กระทั่งเมื่อปลายปี 2558 คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงดำเนินการเสร็จ และสรุปเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนทั้ง 2 กรณีดังกล่าวแล้ว โดยมีนายณรงค์ รัฐอมฤต เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบ'เก่ง-การุณ'ปมซุกทรัพย์สิน-ไร้ข้อสงสัยเงินฝาก'ปรีชา')
3.นางระพีพรรณ พงศ์เรืองรอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คู่สมรสนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า นายอริสมันต์ และนางผ่องพรรณ พร้อมหุ้นส่วนได้ร่วมกันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เฮ้าส์ ออฟ ฮาร์ท พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ในปี 2555 เพื่อทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่ในขั้นตอนการจดทะเบียนนั้น นายอริสมันต์ ยืนยันว่า ไม่ได้มีการชำระเงินค่าหุ้นของบริษัทจำนวน 25 ล้านบาท แค่แจ้งตัวเลขไว้เท่านั้น และยังไม่ได้เริ่มประกอบกิจการใด ๆ เนื่องจากเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นระหว่างหุ้นส่วน ทำให้ต้องระงับการดำเนินกิจการทุกอย่างของบริษัทไว้ทั้งหมด
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ในใบแจ้งการชำระเงินค่าหุ้น ปรากฏว่าหลักฐานเป็นเอกสารว่า นางระพีพรรณ ได้ชำระเงินค่าหุ้นมูลค่า 25 ล้านบาทให้กับบริษัทไปแล้ว ซึ่งสวนทางกับข้อมูลของนายอริสมันต์ที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า นางระพีพรรณ ทำสัญญากู้ยืมเงินจาก Mr.ChenJunchang (นายจุ้ง เชียงเฉิน ) ทำสัญญา 1 ก.ย.2555 ยอดหนี้คงเหลือ 5,000,000 บาท ทั้งที่ Mr.Chen ถูกตรวจสอบพบว่า เป็นบุคคลล้มละลาย
ขณะเดียวกันในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนางระพีพรรณ พบว่า มีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินแค่ 2 ล้านบาทเท่านั้น เงื่อนปมที่น่าสงสัยคือนางระพีพรรณนำเงินจากไหนไปชำระเงินค่าหุ้นมูลค่า 25 ล้านบาทดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ป.ป.ช. ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงนานกว่า 3 ปี ออกมาระบุว่า จากการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนางระพีพรรณนั้น ไม่มีความผิดปกติแต่อย่างใด และให้ยกคำร้องกรณีดังกล่าว
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.จ่อตั้งอนุฯไต่สวน“การุณ”ยื่นทรัพย์สินเท็จ-ยกคำร้อง“เมียอริสมันต์”)
4.นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีต รมว.มหาดไทย ปัจจุบันเป็นแกนนำกลุ่มต้าน คสช. ในต่างประเทศ
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า ในบัญชีทรัพย์สินของนายจารุพงศ์ ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ตั้งแต่รับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ในปี 2555 กระทั่งพ้นตำแหน่ง รมว.มหาดไทย ในปี 2557 แจ้งว่า ครอบครองห้องเลขที่ 8/42 อาคารชุดเดอะพอยท์ ลาดพร้าว 19 บางซื่อ กทม. มูลค่า 1.5 ล้านบาท ระบุว่า ได้มาเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2552 ซึ่งพบว่า มีปัญหาในการระบุข้อมูลในบัญชีทรัพย์สินหลายครั้งในลักษณะของการ ‘ลืมกรอก’
ขณะเดียวกันภายหลังนายจารุพงศ์หลบหนีคำสั่งเรียกให้มารายงานตัว โดยเดินทางไปต่างประเทศนั้น พบว่า ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินช่วงพ้นตำแหน่ง รมว.มหาดไทยในปี 2557 และพ้นตำแหน่งครบ 1 ปี ในปี 2558 ล้วนไม่แนบใบแสดงรายการเสียภาษี (ภงด. 91) ในปี 2556-2557 ซึ่ง ป.ป.ช. ดำเนินการทวงถามแล้ว
นอกจากนี้ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งล่าสุด (พ้นตำแหน่งครบ 1 ปี) นายจารุพงศ์ ยังยื่นล่าช้ากว่ากำหนดหลายเดือน และไม่ได้แนบหนังสือชี้แจงกรณียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯล่าช้า ไม่ได้แนบเอกสารประกอบทรัพย์สินทุกรายการที่อ้างถึง และไม่ได้แนบบัญชีฯ พร้อมเอกสารประกอบชุดสำเนาอีก 1 ชุด ซึ่ง ป.ป.ช. ดำเนินการทวงถามแล้วเช่นกัน แต่ก็ยังไม่ได้รับความคืบหน้า
รวมไปถึงเมื่อไปอยู่ต่างประเทศได้แจ้งว่า ไม่มีรายได้ เนื่องจากตามคำสั่ง คสช. สั่งอายัดไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงิน แต่กลับแจ้งรายจ่าย 1.8 ล้านบาท ตรงนี้ต้องรอดูผลว่า ป.ป.ช. จะเข้าไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินด้วยหรือไม่
(อ่านประกอบ : “จารุพงศ์”ร่อนไปรษณีย์แจงทรัพย์สิน ป.ป.ช.ทวงเหตุยื่นช้า-ไร้เอกสารประกอบ)
5.นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ อดีต ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า นายพงศ์เวช แจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีพ้นจากตำแหน่งเมื่อปี 2556 ล่าช้ากว่า 6 เดือน และแจ้งว่า มีหนี้สินเงินกู้กับธนาคารธนชาติ ปรากฏชื่อบริษัท พี.วี.ฟาร์ม จำกัด เป็นผู้ลงนาม
เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท พี.วี.ฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทของนายพงศ์เวช และครอบครัว มีนายพงศ์เวชถือหุ้นใหญ่ แต่นายพงศ์เวชไม่ได้แจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. แต่อย่างใด
ต่อมา ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนประมาณ 1 ปี จึงมีมติชี้มูลความผิดนายพงศ์เวช จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ และปกปิดบัญชีทรัพย์สินอันควรแจ้งให้ทราบ ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และล่าสุดศาลฎีกาฯ พิพากษาว่านายพงศ์เวชมีความผิด สั่งปรับ 7 แสนบาท และรอลงโทษจำคุก 1 ปี แล้ว
(อ่านประกอบ : ศาลฎีกาฯสั่งจำคุก‘พงศ์เวช’อดีต ส.ส.ปชป.จงใจซุกหุ้น7แสนบ.-รอลงโทษ 1ปี)
6.นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคเพื่อไทย
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า นายฟารุต ไทยเศรษฐ์ บุตรชายนายชาดา มีชื่อถือหุ้นธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง หจก.พันล้านการโยธา มูลค่า 20 ล้านบาท แต่ภายหลังเสียชีวิตนายฟารุต เงินลงทุนดังกล่าวได้ถูกโอนไปให้เด็กหนุ่มวัย 23 ปี เป็นผู้ถือหุ้นคนใหม่ รวมถึงที่ดินมูลค่า 474 ล้านบาท ของนายฟารุต ยังปรากฏอยู่ในบัญชีทรัพย์สินนายชาดา ภายหลังการเสียชีวิตด้วย
ขณะเดียวกัน นายชาดา เคยให้สัมภาษณ์ว่า ทำธุรกิจรับเหมา แพล้นปูน และรถตู้ขนส่ง แต่จากการตรวจสอบในบัญชีทรัพย์สินไม่พบว่านายชาดาแจ้งประกอบธุรกิจดังกล่าวไว้แต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่า ที่ จ.อุทัยธานี มีบ้านขนาดใหญ่ ชื่อ ‘บ้านกลางเขา’ ซึ่งหลายฝ่ายในจังหวัดระบุว่าเป็นของ ‘นักการเมืองใหญ่’ คนหนึ่งในจังหวัดอีกด้วย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. จังหวัดอุทัยธานี
(อ่านประกอบ : พบลูก ‘ชาดา’ นักการเมืองใหญ่ หอบเงิน 20 ล.ถือหุ้นรับเหมา-โอนหลังเสียชีวิต)
7.พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
กรณีนี้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน พล.ต.อ.สมยศ พร้อมด้วยบุตรสาวและบุตรชาย เข้าไปถือหุ้นในบริษัท เลอโวเทล เขาใหญ่ จำกัด และบริษัท ภูผาธารา เขาใหญ่ จำกัด ร่วมกับคนในตระกูล ‘วิไลลักษณ์’ เพื่อทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ร่วมกัน
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของ พล.ต.อ.สมยศ กรณีรับตำแหน่ง สนช. ไม่พบว่า แจ้งถือการครอบครองหุ้นบริษัท ภูผาธาราฯ แต่อย่างใด แจ้งแต่บริษัท เลอโวเทลฯ เท่านั้น
กรณีนี้ พล.ต.อ.สมยศ ชี้แจงว่า บริษัท เลอโวเทลฯ ได้ซื้อที่ดินของตนและลูกหลายแปลงเพื่อไปพัฒนา แต่ยังไม่ได้จ่ายเงินค่าที่ดินให้ตามสัญญา บริษัทจึงให้ตนและลูกถือหุ้นไว้ส่วนหนึ่งเพื่อค้ำประกัน แต่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด ทำให้เข้าใจว่าถือหุ้นในบริษัท เลโวเทลฯ เท่านั้น
และเมื่อตรวจสอบภายหลังปรากฏเป็นข่าว ผู้บริหารชี้แจงว่าได้จดทะเบียนเพิ่มบริษัท ภูผาธาราฯ ในภายหลัง และจัดสรรหุ้นให้ตามสัดส่วน ทั้งนี้ในตอนที่ขอข้อมูลเพื่อชี้แจง ป.ป.ช. ในช่วงเป็น สนช. จึงไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินส่วนนั้นให้ทราบ เพราะเป็นความผิดพลาดของผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่บริษัท ยืนยันไม่มีเจตนาปกปิดทรัพย์สินส่วนนั้น และจะรีบดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนต่อไป
(อ่านประกอบ : โชว์เอกสาร 'พล.ต.อ.สมยศ' ถือหุ้น6ล.ไม่แจ้งป.ป.ช.! บิ๊ก'สามารถ'การันตี บริสุทธิ์ )
8.นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีต รมว.ศึกษาธิการ (สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี)
กรณีนี้สืบเนื่องจากนายสมศักดิ์ ถูก ป.ป.ช. ตรวจสอบและชี้มูลความผิดว่า แจ้งบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีไม่แจ้งรายการเงินฝากหลายรายการ และบ้านพักอาศัย มูลค่า 16 ล้านบาท ซึ่งต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ริบทรัพย์บางส่วนตกเป็นของแผ่นดิน และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี จำคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 เดือน
หลังจากนั้น ป.ป.ช. มีมติไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนายสมศักดิ์ กรณีร่ำรวยผิดปกติ เนื่องจากหาที่มาของบ้านมูลค่า 16 ล้านบาทไม่ได้ และมีมติชี้มูลความผิดไปแล้วเมื่อกลางปี 2558 พร้อมส่งเรื่องให้ สนช. ดำเนินการถอดถอน และส่งให้ศาลฎีกาฯ ไต่สวน ต่อมาที่ประชุม สนช. มีมติเสียงข้างมากไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ ส่วนคดีอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาฯ
(อ่านประกอบ : ‘สมศักดิ์’ รอด! มติ สนช.109:82 ไม่ถอดถอน ปมร่ำรวยผิดปกติ บ้าน 16 ล. )
9.คดีตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน 5 อดีตรัฐมนตรีเกี่ยวข้องในโครงการรับจำนำข้าว
กรณีนี้สืบเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนขยายผลจากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว โดยเห็นว่า มีเหตุอันควรสงสัยเข้าไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่ได้มาของอดีตรัฐมนตรี 5 ราย ได้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ และ รมว.กลาโหม นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีต รมว.พาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช อดีต รมช.พาณิชย์ ว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่
การตรวจสอบดังกล่าว ยังรวมถึงกรณีนาฬิกามูลค่า 2.5 ล้านบาท ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อ้างต่อศาลฎีกาฯในคดีโอนหุ้นชินคอร์ปว่า การขายหุ้นดังกล่าวได้ออกเป็นตั๋วเงินให้ไว้กับนายทักษิณ มูลค่า 20 ล้านบาท แต่ไม่มีการชำระหนี้แต่อย่างใด กระทั่งชินคอร์ปจ่ายเงินปันผล 6 งวดเป็นเงิน 97.2 ล้านบาท งวดแรก 9 ล้านบาท (ปี 2546) ชำระหนี้ให้แก่นายทักษิณ งวดสอง 13.5 ล้านบาท สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ แต่อ้างว่าเลขานุการเขียนตัวเลขผิด จึงแก้ไขไปจาก 13.5 ล้านบาท เป็น 11 ล้านบาท ส่วนอีก 2.5 ล้านบาท อ้างว่า ฝาก น.ส.พิณทองทา (บุตรนายทักษิณ) ซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบ พบว่า ในบัญชีทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีนาฬิกามูลค่า 2.5 ล้านบาทตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
ความคืบหน้าล่าสุด กรณีนี้นายณรงค์ รัฐอมฤต ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า ใกล้สรุปแล้ว โดยตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเสร็จไปแล้ว 3 ราย เหลืออีก 2 ราย คาดว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาได้ในเร็ว ๆ นี้
(อ่านประกอบ : เสร็จแล้ว 3 ราย! ป.ป.ช.จ่อสรุปผลสอบทรัพย์สินอดีต 5 รมต.จำนำข้าว)
10.นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กับพวก คดีทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล้านบาท
ลำดับสุดท้าย แม้ไม่ใช่นักการเมือง แต่ก็เป็นถึงข้าราชการระดับสูง คือนายสาธิต อดีตอธิบดีกรมสรรพากร กับพวก ได้แก่ นายศุภกิจ ริยะการ อดีตสรรพากรกรุงเทพฯ พื้นที่ 22 (บางรัก) และนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ อดีตสรรพากรกรุงเทพ พื้นที่ 27
โดยทั้ง 3 ราย ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสาธิต และนายศุภกิจ ไปแล้ว โดยมีพฤติการณ์มีส่วนรู้เห็นในการทุจริตคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทเอกชนรวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นประมาณ 4.3 พันล้านบาท ขณะเดียวกันมีมติให้ตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติทั้ง 3 รายด้วย และมีคำสั่งให้อายัดทรัพย์สิน 2 ราย มีรายละเอียดดังนี้
หนึ่ง นายสาธิต ถูกคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. อายัดทรัพย์สินทองคำมูลค่า 179 ล้านบาท เนื่องจากพบว่านำเงินบางส่วนจากการทุจริตไปซื้อทองคำดังกล่าว โดยใช้ชื่อบุคคลอื่นถือครองแทน ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบคาดว่ายังมีทรัพย์สินที่อาจถูกอายัดอีกรวมมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท
สอง นายศุภกิจ มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมีการโอนย้าย ยักย้าย แปรสภาพ หรือซุกซ่อนทรัพย์สินดังกล่าว จึงได้มีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของนายศุภกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้องไว้เป็นการชั่วคราว รวมมูลค่าประมาณ 48 ล้านบาท
สาม นายสุวัฒน์ ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีอนุมัติคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีเงินที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากของ นายสุวัฒน ทั้งสิ้น 171,547,545 บาท และมีเงินหมุนเวียนในบัญชีทั้งสิ้น จำนวน 227,473,845 บาท แต่คณะอนุกรรมการ ยังไม่มีมติอายัดทรัพย์ของนายสุวัฒน์ แต่อย่างใด
ทั้งหมดคือข้าราชการ 3 รายแรกที่ถูกคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติ และมีการอายัดทรัพย์สินไปแล้ว 2 ราย ส่วนในประเด็นการทุจริตนั้น อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. ต่อไปว่า จะมีใครเกี่ยวข้องอีกบ้าง
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.เชือด'สาธิต-ศุภกิจ'คดีทุจริตคืนภาษี-พบเอาเงินไปซื้อทองคำแท่ง 179 ล.)
ทั้งหมดคือที่สุดข่าวเจาะบัญชีทรัพย์สินแห่งปีของสำนักข่าวอิศรา ที่รวบรวมคัดสรรไว้ให้คุณผู้อ่านรับทราบที่มาที่ไป
ส่วนจะมีใครถูกลงโทษ หรือมีความไม่โปร่งใสในการยื่นบัญชีทรัพย์สินอีก ต้องติดตามกันต่อปีหน้า !