5 แรงกดดันจากต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยตลอดปี 2558
ตลอดช่วงปี 2558 นอกจากไทยต้องเผชิญปัญหาภายในประเทศเเล้ว ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันต่างๆ จากนานาชาติ ที่ท้าทายความสามารถของรัฐบาลเป็นอย่างมาก และดูเหมือนว่าหลายๆ สถานการณ์ส่อเค้ายืดเยื้อไปตลอดปี 2559 นี้
สำนักข่าวอิศรา คัด 5 สถานการณ์ที่ไทยกำลังถูกจับตามองจากนานาชาติ เพื่อทบทวนดูว่าตลอดปี 2558 ไทยเผชิญกับอะไรบ้าง
1. ประมง IUU
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2558 สหภาพยุโรป หรือ EU ได้ ประกาศเตือนประเทศไทยด้วยการแจก “ใบเหลือง” ระหว่างมีงาน Seafood Expo Global/Seafood Processing Global 2015 โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม Illegal, Unreported and Unregulated Finishing: IUU ไม่เพียงพอ
สิ่งที่ทางอียูเรียกร้องให้ไทยปฏิบัติตามมีดังนี้
– การปรับปรุงกฎหมายด้านการประมงในประเทศให้สอดคล้องกับหลักการสากล
– การปรับปรุงแผนระดับชาติในการป้องกัน ขจัด และยับยั้ง การทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ NPOA-IUU พ.ศ. 2558–2562 ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
– ติดตั้งระบบติดตามเรือ (วีเอ็มเอส) โดยเฉพาะเรือประมงขนาดใหญ่ ที่ออกไปทำประมงในน่านน้ำต่างประเทศให้ทั่วถึง เพื่อควบคุมการทำผิดกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– จัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมง ที่จะต้องทำให้ทราบได้ว่า ปลาหรือสินค้าประมงที่จับมาได้ มาจากเรือลำใด ในน่านน้ำใด อาทิ การมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ภายหลัง ทางรัฐบาลไทยได้ออกมาตรการต่างๆ รวมไปถึงกฎหมายเพื่อจัดการ ควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูผลกันต่อไป โดยเฉพาะทางอียูจะมีการรายงานผลความคืบหน้าอีกครั้งในช่วงเดือนม.ค.2559 นี้
ความพยายามแก้ไขปัญหานี้ของไทยจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตาม
2. ปัญหาใบแดงการบิน ICAO
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2558 องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization :ICAO) “ติดธงแดง” ประเทศไทยบนเว็บไซต์ของ ICAO หลังจากกรมการบินพลเรือนไม่สามารถแก้ไขปัญหา “ข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัย” (Significant Safety Concerns : SSC) ได้ภายในกำหนดเวลา ซึ่งส่งผลทำให้กรมการบินพลเรือนของประเทศต่างๆอาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อาจจะประกาศห้ามสายการบินที่จดทะเบียนในประเทศไทยบินเข้าประเทศเหล่านี้
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ได้ประกาศลดมาตรฐานการกำกับดูแลหน่วยงานการบินของประเทศไทย จากประเภทที่ 1 (Category 1) เป็นประเภทที่ 2 (Category 2) ส่งผลให้สายการบินของไทยที่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินของไทยจะไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินเข้าประเทศสหรัฐได้จนกว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องสำเร็จ และระหว่างนี้สหรัฐจะไม่สนับสนุนในการทำข้อตกลงทำการบินร่วม (โค้ดแชร์) กับประเทศที่ถูกจัดอยู่ในประเภทที่ 2
ด้านสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป (EASA)ประกาศผลตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทยเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2558 พบว่า ไม่มีสายการบินใดถูกห้ามบินไปยุโรป และทาง EASA ต้องการที่จะร่วมงานกับทางการไทยต่อไป แต่ถึงอย่างไรการบินพลเรือนไทยยังต้องมีงานหนักให้แก้ไข ทั้งปัญหาใบแดงของ ICAO และ สถานะการบินกับ FAA
3. ผู้ลี้ภัย
จากเหตุการณ์เมื่อเดือนมี.ค.2557 มีชาวอุยกูร์ประมาณ 300 กว่าคน ได้หลบหนีเข้าประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยส่งบุคคลเหล่านี้กลับไปยังประเทศจีน โดยอ้างว่ากลุ่มคนเหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายในประเทศจีน
ต่อมา ไทยได้ส่งกลับชาวอุยกูร์บางส่วนโดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กราว 170 คน ไปยังตุรกีตามคำขอร้อง และตัดสินใจส่ง ชาวอุยกูร์ จำนวนกว่า 115 คน กลับไปจีน ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ หลายฝ่ายทั้งทางการสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างออกมาประนามการกระทำครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มผู้อพยพเหล่านี้มีโอกาสถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงจากกระบวนการทางกฎหมายของจีน โดยชี้ว่า การกระทำดังกล่าวของทางการไทยต่อกลุ่มชาวอุยกูร์เหล่านี้ยังขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ทั้งยังผิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง อีกด้วยที่ไทยร่วมเป็นรัฐภาคีทั้งสองฉบับ
และเมื่อ 17พ.ย. ไทยส่งนักเคลื่อนไหวชาวจีนซึ่งหนีรัฐบาลจีนเข้ามาอยู่ประเทศไทย 2 ราย กลับจีน ซึ่งแม้ว่าทั้งคู่จะมีเอกสารรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และได้รับการรับรองจะให้ไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศที่สามแล้ว และกำลังจะออกเดินทางในอีกไม่กี่วันนี้ แต่ไทยกลับจับตัวทั้งสองคนส่งให้รัฐบาลจีนอย่างเงียบๆ ทั้งที่รู้ว่า ทั้งคู่จะต้องถูกลงโทษหรือทำร้ายจากทางการจีน จากเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยที่อยู่ในด้านลบของสายตาชาวโลกยิ่งส่อแววรุนแรงมากขึ้น
โดยทาง UNHCR ชี้ว่า การกระทำดังกล่าวของไทยเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังมาก และยิ่งตอกย้ำให้เห็นช่องว่างในกฎหมายไทยในการปฏิบัติกับคนที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองจากนานาชาติอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ เนื่องจากไทยยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี 2494 จึงไม่รับรองสถานะการเป็นผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาสถานภาพการเป็นผู้ลี้ภัย แม้รัฐบาลจะบอกว่ายอมรับอนุสัญญาในทางปฏิบัติก็ตาม
4. ปัญหาการค้ามนุษย์
เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2558 ประเทศไทยถูกจัดสถานะให้อยู่ในบัญชี(เทียร์) 3 เป็นปีที่สอง หลังจากเมื่อปี 2557 ไทยถูกลดอันดับจากกลุ่มที่2 ลงมา โดยในกลุ่มที่3 หรือ Tier3 นั้น หมายถึงกลุ่มที่ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำในการแก้ปัญหา ซึ่งมี 23 ประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้
สาเหตุที่ประเทศไทยอยู่ในเทียร์ 3 ตามเหตุผลที่สรุปในรายงาน อาทิ การดำเนินคดีในเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องทำให้มากขึ้น การใช้กฎหมายคุ้มครองเหยื่อและพยานต้องเพิ่มขึ้น และลงโทษผู้กระทำผิดให้มากขึ้น
แม้ว่าแม้ว่ารัฐบาลไทยจะสอบสวนและดำเนินคดีเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ แต่สถานการณ์การคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการกำจัดการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ชาวโรงฮิงยา ที่กลายเป็นข่าวใหญ่บนสื่อทั่วโลก
ล่าสุด พล.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรงฮิงญาในพื้นที่ภาคใต้ ยังขอลี้ภัยไปออสเตรเลีย ก็ยิ่งตอกย้ำความล้มเหลวในการจัดการเรื่องนี้ของไทย
5. ปัญหาโลกร้อนและความตั้งใจในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศคำมั่นสัญญาบนเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีประเด็นใจความโดยสรุปว่า ไทยจะร่วมผลักดันให้การเจรจาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ อย่างเป็นรูปธรรมและยังยืน
โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นจะให้มีการจัดทำแอคชั่นแพลนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึง 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล โดยใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นความพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศา โดยยึดหลักความเป็นธรรม ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง และต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศด้วย
และในฐานะประธานกลุ่ม G77 ในปี 2559 ประเทศไทยจะมุ่งมั่นอย่างเต็มความสามารถในการเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างความแตกต่างทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของโลกใบนี้
ทั้งหมดนี้คือ 5 ที่สุดของแรงกดดันจากนานาชาติ ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมาตลอดทั้งปี 2558 ซึ่งก็คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ในปี2559 นี้ ไทยจะสามารถลดระดับความตึงเครียดทั้งหลายได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การค้ามนุษย์ ประมง IUU หรือแม้กระทั่งในฐานะผู้นำประเทศกลุ่ม G77 ไทยจะสามารถดำเนินการได้ตามที่ให้คำสัญญาบนเวทีโลกได้หรือไม่