สูตรยกระดับอุตฯ ประมงไทย เลิกจ้าง ‘ล้ง’ ภายนอก สร้างเชื่อมั่นเวทีโลก
สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย วางมาตรการเลิกจ้าง ‘ล้ง’ นอกระบบ หวังแก้ปัญหาแรงงานทาสอุตฯ ประมง ด้านผู้ประกอบการระบุผู้รับจ้างโรงงานรับผลกระทบเเน่ 'ไทยยูเนี่ยน' ชูธงเดินหน้าหนุนยกเลิก ให้กระบวนการผลิตทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูเเลบริษัทเข้มงวด
สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ประกาศยกเลิกการว่าจ้างสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น (ล้ง) ภายนอก ตลอดห่วงโซ่อุปทานกุ้งของบริษัทสมาชิก ดีเดย์วันที่ 1 ม.ค. 2559
ถือเป็นระเบียบใหม่ของสมาคมฯ ที่เกิดจากฉันทามติของสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการปฏิบัติกับแรงงานผิดกฎหมายในห่วงโซ่อุปทานกุ้ง สนองตอบนโยบายภาครัฐที่มี ‘บิ๊กตู่’ เป็นผู้นำรัฐนาวาชื่อว่า ประเทศไทย
หลังจากประสบกับแรงกดดันของนานาชาติ โดยเฉพาะกรณี ส.ส.สหรัฐฯ รวมตัวเรียกร้องในเรื่องการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมง ด้วยการบอยคอตสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งจากไทย
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย แสดงความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และแรงงานผิดกฎหมายในห่วงโซ่อุปทาน โดยสมาชิกของเรามีมติย้ายการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นทั้งหมดเข้ามาในสถานประกอบการของตนเอง เพื่อขจัดข้อกังขาความไม่ถูกต้อง ไม่ว่าในขั้นตอนใดของกระบวนการผลิต
“เราจะทำงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกราย เพื่อขจัดปัญหาใหญ่หลวงนี้ให้หมดไปจากอุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทานกุ้งไทย”
ทั้งนี้ สมาชิกสมาคมรายได้ที่ยังคงซื้อกุ้งจากผู้แปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นภายนอกตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย บอกว่า จะถูกยกเลิกสมาชิกภาพและถูกตัดสิทธิในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไทยไปต่างประเทศ
ถือเป็นเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ที่มาช้า ดีกว่าไม่มา อย่างไรก็ตาม ฟากผู้ประกอบการ ‘ทวีศักดิ์ สุรเลิศรังสรรค์’ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บุญชัย ซีฟู้ดโปรดักส์ จำกัด ระบุว่า หลายโรงงานทราบเรื่องดังกล่าวจากแถลงการณ์ของสมาคมฯ แล้ว แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดขั้นตอน หรือมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน แต่เบื้องต้นกลุ่มผู้เดือดร้อนที่สุด คือ ผู้รับจ้าง เพราะโรงงานจะไม่ส่งของให้ผู้รับจ้างแกะ ทำให้คนงานถูกลอยแพ
“ผมไม่ทราบว่า สมาคมฯ จะหามาตรการแก้ไขอย่างไร เพราะล้งมีหลายประเภท อาทิ ล้งซื้อกุ้งมาแกะส่งโรงงาน, โรงงานส่งของมาให้แกะทุกคน” เขากล่าว และว่าปัญหา คือ การตีความอะไรที่ไม่ใช่โรงงานถือเป็นล้งหมด ซึ่งมีความผิดหรือถูกไม่รู้ จึงต้องรอการชี้แจงจากสมาคมฯ ซึ่งเชื่อว่าจะจัดประชุมเร็ว ๆ นี้ เเละไม่ยืนยันมีข้อมูลจำนวนล้งภายนอกในประเทศไทยเท่าไหร่ เเต่เชื่อว่ามีอยู่มาก
ด้านผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่อย่าง ‘ไทยยูเนี่ยน’ ก็ชูธงเดินหน้ายกเลิกการว่าจ้างสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้นภายนอกทันที โดยยืนยันกระบวนการผลิตทั้งหมดจะต้องอยู่ในความดูแลของบริษัทอย่างเข้มงวด ซึ่งการตอบรับนโยบายครั้งนี้ เพื่อควบคุมมาตรฐานด้านแรงงานให้ถูกกฎหมายจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย
ขณะที่เว็บไซต์ของสมาคมฯ ได้เผยเเพร่มาตรการควบคุมและกำกับดูแลสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น ในสังกัดของโรงงานสมาชิก เพื่อขจัดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อันจะทำให้เกิดการบังคับใช้แรงงานผิดกฎหมาย
โดยสถานประกอบการแปรรูปฯ ในสังกัดของโรงงานสมาชิกสมาคมฯ ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมประมงอย่างถูกต้อง และโรงงานสมาชิกที่ใช้สถานประกอบการแปรรูปฯ จะต้องรับผิดชอบและดูแล เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของโรงาน เช่น ควบคุมสุขอนามัยในกระบวนการผลิต และเข้ากำกับดูแลให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน เช่น การจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานให้คนงาน จ่ายค่าแรงถูกต้อง ไม่มีแรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และแรงงานเข้าข่ายค้ามนุษย์
นอกจากนี้สถานประกอบการแปรรูปฯ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของโรงงานสมาชิกสมาคมฯ สถานประกอบการแปรรูปฯนั้นต้องแปรรูปในขั้นตอนเบื้องต้น และส่งให้กับโรงงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเพียงหนึ่งโรงงานเท่านั้น และโรงงานสมาชิกสมาคมฯ ที่ผลิตสินค้าโดยมีกุ้งเป็นส่วนผสม (สินค้าValue Added) แต่ไม่มีกระบวนการ แปรรูปเบื้องต้นภายในโรงงาน หรือไม่มีสถานประกอบการแปรรูปฯ ที่อยู่ในภายใต้การกำกับดูแลของโรงงานตนเอง จะต้องซื้อวัตถุดิบกุ้งแปรรูปจากโรงงานสมาชิกสมาคมฯ
ส่วนปัจจุบันมีสถานประกอบการแปรรูปสัตว์น้ำเบื้องต้น ภายใต้สังกัดของโรงงานสมาชิกสมาคมฯ มีดังนี้