ม็อบชาวบ้าน ขปส.จำลองฆ่าตัวตายจากคดีคนจนหน้าอนุสาวรีย์ ปชต.
ม็อบชาวบ้าน 4 เครือข่าย 3 กลุ่ม ที่ปักหลักชุมนุมลานพระรูปมา 20 วันเคลื่อนขบวนสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จำลองฆ่าตัวตายจากคดีชุมชน ออกแถลงการณ์ให้รัฐบาลปลดล็อคหน่วยงานละเมิดคำสั่ง จี้เร่งเปิดเจรจายุติปัญหา 7 มี.ค. แจงยิบตรอมใจตายกว่า 100 ผู้ป่วยเหมืองกว่า 1 พัน
เมื่อวันที่ 6 มี.ค.54 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส./พีมูฟ) ได้เคลื่อนขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งเป็นสถานที่ปักหลักชุมนุมมา 20 วันไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีกิจกรรมเดินรณรงค์และจำลองการฆ่าตัวตายจากผลของคดีชุมชน รวมทั้งพิธีเคารพวีรบุรุษการต่อสู้ของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังรวมพลผู้ป่วยจากปัญหาสัมปทานเหมืองแร่และผู้ที่เคยถูกคุมขังจากการต่อสู้คดีชุมชน
โดยกลุ่มผู้ชุมนุมระบุว่ากิจกรรมในครั้งนี้เนื่องจากการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอนุกรรมการชุดต่างๆที่ตั้งโดยรัฐบาลซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ยังไม่คืบหน้า
ทั้งนี้มีการออกแถลงการณ์ฉบับที่ 17 “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม คนจนต้องมาก่อน ปัญหาคนจนต้องแก้ไขทันที รัฐบาลต้องจริงใจ เปิดการเจรจาเป็นทางการ 7 มีนาคม 54” มีสาระสำคัญเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจฝ่ายบริหารสั่งการให้มีการเปิดเจรจาอย่างเป็นทางการระหว่าง ขปส. รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีนายกฯ เป็นประธานภายในวันที่ 7 มี.ค. เพื่อหาข้อยุติและให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆอย่างเร่งด่วน
แถลงการณ์ยังระบุว่า มีชาวบ้านป่วยและตรอมใจเสียชีวิต จากการถูกบีบคั้นเรื่องปัญหาที่ดินกว่า 100 คน จำนวนนี้ผูกคอตาย 1 คน กินยาฆ่าตัวตาย 1 คน มีผู้นำจากการแก้ปัญหาที่ดินถูกยิงเสียชีวิต 1 คน มีผู้ถือบัตรผู้ป่วยโรคแคดเมียมและโรคพุพองจากผลกระทบการทำเหมืองสังกะสี เหมืองทองคำอีกกว่า 1,000 คน ชุมชนล่มสลายแล้ว 1 แห่ง อยู่ในภาวะเตรียมล่มสลายอีก 1 แห่ง มีผู้ถูกตัดสินจำคุกและบังคับคดีกว่า 100 คน ผู้ที่อยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีที่ดินกว่า 1,000 คดี รวมทั้งชาวเล 17 คนที่ถูกจับในเขตวัฒนธรรมพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) 2 มิ.ย.43 โดยยังไม่นับรวมการคุกคามสิทธิจากอิทธิพลนายทุน ข้าราชการท้องถิ่น การไร่ลื้อ และความหวาดวิตกในการทำมาหกินในพื้นที่ชุมชน
โดยจากการเจรจาตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.–1 มี.ค. ได้ข้อสรุปคือ 1.มีหนังสือสั่งการจากกระทรวงต่างๆ แต่ไม่มีการตอบสนองจากหน่วยงานในพื้นที่ เช่น กรณีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งปล่อยน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยฝั่งแดง เพื่อคืนที่นาให้ชาวบ้านตามมติคณะกรรมการระดับอำเภอ แต่ไม่มีการดำเนินการ, กรณีชุมชนบางสักที่ประสบภัยสึนามิ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นำชาวบ้านกลับเข้าอยู่อาศัยในพื้นที่เดิม ตามแนวทางโฉนดชุมชน ผ่านมาแล้ว 6 ปี แต่ก็ยังยังไม่มีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม 2.มติ ครม. 22 ก.พ.54 ออกมาผิดเพี้ยนจากข้อยุติในการเจรจาระหว่าง ขปส.กับรัฐบาล เช่น งบประมาณแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน 52 ล้าน ที่ต้องเข้าไปอยู่ในหลักเกณฑ์บ้านมั่นคง หรืองบประมาณโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อย 167 ล้านบาทสำหรับ 6 ชุมชน ซึ่งนายกฯได้ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่กลายเป็นงบประมาณของกองทุนธนาคารที่ดินสำหรับชุมชนทั้งประเทศ
3.รัฐบาลแต่งตั้งกรรมการระดับชาติแก้ปัญหาและมีข้อสรุปชัดเจนแต่ไม่มีการดำเนินการ เช่น กรณีการเปิดเขื่อนปากมูลถาวรและจ่ายเงินชดเชยเยียวยา แต่ข้อยุตินี้กลับถูกต่อต้านจาก ครม.จนไม่สามารถมีมติได้ 4.กรณีชุมชนบ้านทับยางที่สรุปว่าโฉนดที่ดินเอกชนออกมิชอบต้องเพิกถอนและคืนที่ดินกว่า 200 ไร่ให้รัฐ แต่กรมที่ดินกลับไม่ยอมดำเนินการ 5.กรณีสัมปทานที่เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน สุขภาพและชีวิตประชาชน เช่น การทำเหมืองแร่สังกะสีแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้ชาวบ้าน 800 คน ล้มตายกว่า 300 คน
6.กรณีเหมืองทองพิจิตร ทำให้แหล่งน้ำใต้ดินมีสารปนเปื้อนไซยาไนด์ ชุมชนล่มสลาย จนมีมติกรรมการฟื้นฟูเยียวยาแล้วแต่ไม่มีผลทางปฏิบัติ ชุมชนเสนอให้ยุติการทำเหมืองทันทีเพื่อทบทวนสร้างมาตรการแก้ไขป้องกัน 7.นโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภา เช่น โฉนดชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่นำร่อง 35 แห่งที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนแล้ว แต่รัฐบาลสามารถส่งมอบพื้นที่ได้เพียง 1 แห่งคือชุมชนคลองโยง ขณะที่หน่วยงานราชการในกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ยอมปลดล็อคกลไกดังกล่าว
“รัฐบาลประกาศหนักแน่นแก้ปัญหาความยากจน ประชาชนต้องมาก่อน แต่เมื่อผู้ทุกข์ยากเดินทางมาแสดงตัวถึงเมืองหลวง ได้เจรจากับนายกฯแล้ว แต่ทำไม่จึงไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม การสั่งการไม่มีผลในทางปฏิบัติ ไม่ดำเนินการตามข้อสรุปของคณะทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเอง” แถลงการณ์ระบุ .