ชัด ๆ ผลงาน กกต.ปี’57 รับครั้งแรก! เลือกตั้ง 2 ก.พ.เหลวเพราะม็อบ?
“…เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ มีผู้ชุมนุมทางการเมือง ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการเลือกตั้งของสำนักงาน กกต. หลายประการ ได้แก่ การรับสมัคร ส.ส. การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การขนส่งบัตรเลือกตั้ง การจัดหาเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง…”
ในห้วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาชื่อของหน่วยงาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้ง!
ภายหลังคณะกรรมการ กกต. มีมติ ‘ปลด’ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ จากตำแหน่งเลขาธิการ กกต. เนื่องจากระบุว่า ไม่ผ่านผลการประเมินตามเกณฑ์ พร้อมยืนยันว่า ไม่ได้เกิดจากปัญหาความขัดแย้ง
แต่จากฉากหน้าที่สังคมเห็น แทบตรงกันข้ามการเหตุผลในการปลด เนื่องจากเกิดการ ‘สาวไส้’ กันไปมาระหว่างกรรมการ กกต. และนายภุชงค์ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเด็นความไม่โปร่งใสในการบริหาร และการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวจะเป็นอย่างไร ?
แต่ประเด็นที่หลายฝ่ายในสังคมยัง ‘กังขา’ อยู่คือ การจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 สรุปแล้วจัดไม่ได้เพราะใคร ?
เพราะถ้ายังไม่ลืม ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปี 2558 นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ออกมาระบุว่า กำลังเร่งพิจารณารวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 เป็น ‘โมฆะ’ รวมมูลค่ากว่า 3 พันล้านบาทอยู่
ก่อนที่ต่อมาเรื่องจะเงียบหายไปเหมือนกับสายลม และปัจจุบัน กกต. ก็ยังไม่มีท่าทีหยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นมาพูดอีก
อย่างไรก็ดี ในรายงานผลการดำเนินงานของ กกต. ประจำปี 2557 ได้สรุปเหตุการณ์การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ทำนองว่า ปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้จัดไม่ได้เนื่องจากแรงกดดันทางการเมือง การชุมนุมปิดล้อมสถานที่ราชการ และการไม่ให้มีการจัดเลือกตั้งในหลายเขตทั่วประเทศ
เท่ากับว่า กกต. เปิดปากยอมรับเป็นครั้งแรกว่า สาเหตุที่จัดการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเพราะม็อบ ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำผลการดำเนินงานบางส่วนของ กกต. ในปี 2557 มาเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
กกต. ระบุว่า ผลการปฏิบัติงานที่สำคัญในปีงบประมาณ พ.ศ.2557 โดยเฉพาะประเด็นการจัดการเลือกตั้งมีอยู่ 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่
1.การเลือกตั้ง ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่าง (เลือกตั้งซ่อม) ในวันที่ 22 ธ.ค. 2556
กรณีนี้สืบเนื่องจากที่อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ หลายรายลาออกจากพรรค เพื่อเดินขบวนชุมนุมทางการเมือง คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ‘ฉบับเหมาเข่ง’ ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะขยายแนวร่วมก่อตั้งเป็น ‘ม็อบ กปปส.’ และมี ‘กำนันสุเทพ’ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์อีกจำนวนหนึ่งเป็นแกนนำ เพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์
กกต. ระบุว่า เนื่องจากมี ส.ส. ลาออกจากตำแหน่ง 6 จังหวัด 8 เขตเลือกตั้ง ต่อมามีการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ พ.ย. 2556 ขัดขวางการจัดการเลือกตั้ง และในวันที่ 8 ธ.ค. 2556 มี ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออก จำนวน 153 คน นายกรัฐมนตรี (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขณะนั้น) ประกาศยุบสภา กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 2557
2.การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ. 2557
กรณีนี้สืบเนื่องจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภา และมี พ.ร.ฎ.ยุบสภา ให้จัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 โดยเป็นการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 500 คน 77 จังหวัด 375 เขตเลือกตั้ง พบว่า มีปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการเนื่องจากแรงกดดันทางการเมือง การชุมนุมปิดล้อมสถานที่ราชการ และการไม่ให้มีการจัดการเลือกตั้งในหลายหน่วยทั่วประเทศ
แต่สำนักงานก็สามารถจัดการเลือกตั้งดังกล่าวสำเร็จในหลายพื้นที่ โดยสามารถจัดการเลือกตั้งได้โดยไม่มีปัญหา จำนวน 59 จังหวัด จัดการเลือกตั้งได้บางส่วน 5 จังหวัด ลงคะแนนเลือกตั้งไม่ได้ 12 จังหวัด ทั้งนี้เขตเลือกตั้งที่สามารถลงคะแนนเลือกตั้งได้ จำนวน 292 เขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถลงคะแนนได้ จำนวน 83 เขตเลือกตั้ง
3.การเลือกตั้ง ส.ว. เป็นการทั่วไป ในวันที่ 30 มี.ค. 2557
กรณีนี้สืบเนื่องจาก ส.ว. เลือกตั้ง และสรรหา หมดวาระการดำรงตำแหน่ง โดยเป็นการจัดเลือกตั้ง ส.ว. ใหม่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกจากการเลือกตั้ง จังหวัดละ 1 คน และจากการสรรหา จำนวน 73 คน รวมทั้งสิ้น 150 คน โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 48,786,842 คน มีผู้มาใช้สิทธิ จำนวน 20,873,688 คน คิดเป็นร้อยละ 42,79
ทั้งนี้ มีการเลือกตั้งอยู่ 2 ครั้ง ที่เกิดปัญหา ได้แก่ การเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ในวันที่ 22 ธ.ค. 2556 และการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ. 2557
หนึ่ง ปัญหาอุปสรรคจากการถูกปิดล้อมสถานที่ปฏิบัติงาน (ตั้งแต่เลือกตั้งซ่อม ส.ส. จนถึงการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป)
เนื่องจากมีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนตั้งแต่ พ.ย. 2556 และมีการขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. แทนตำแหน่งที่ว่างในหลายเขตเลือกตั้ง และต่อมานายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557
ประกอบกับผู้ชุมนุมได้ปฏิบัติการปิดกรุงเทพฯครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2557 โดยมีการนำมวลชนมาชุมนุมในหลายสถานที่ รวมทั้งถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ และเป็นที่ตั้งของสำนักงาน กกต. จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติงานของสำนักงาน ทั้งการเตรียมการจัดเลือกตั้ง ส.ส. การประสานงานกับสำนักงาน กกต. เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น การประชุมเพื่อพิจารณาสำนวนเรื่องการคัดค้านการเลือกตั้งและการดำเนินคดีต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ กกต. ได้ย้ายที่ปฏิบัติงานและสถานที่จัดการประชุมคณะกรรมการ กกต. ระหว่าง ม.ค.-ก.พ. 2557 ในหลายสถานที่ เช่น จัดการประชุมที่โรงแรมเดอะไทด์ รีสอร์ท อ.เมือง จ.ชลบุรี หรือ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จ.ปทุมธานี เป็นต้น และมีการปฏิบัติงานของสำนักงาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เช่น มรภ.พระนคร ม.สุโขทัยธรรมาธิราช และเทศบาลนครแหลมฉบัง จ.ชลบุรี รวมทั้งสถานที่อื่น ๆ ใน กทม. และต่างจังหวัด
สอง ปัญหาอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ. 2557
ตามที่มี พ.ร.ฎ.ยุบสภา ให้เลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 นั้น คณะกรรมการ กกต. ได้ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
แต่เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ มีผู้ชุมนุมทางการเมือง ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการบริหารจัดการเลือกตั้งของสำนักงาน กกต. หลายประการ ได้แก่ การรับสมัคร ส.ส. การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง การขนส่งบัตรเลือกตั้ง การจัดหาเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า และการลงคะแนนในวันเลือกตั้ง
ทั้งนี้ กกต. ได้จัดประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทั้งในแง่ข้อกฎหมาย ระเบียบ งบประมาณ รวมทั้งพิจารณาถึงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้นเพื่อประโยชน์ของประเทศโดยรวม อย่างไรก็ดีในระหว่างที่ กกต. ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศยึดอำนาจเสียก่อน
นอกจากนี้ กกต. ได้เพิ่มอำนาจในการจัดการเลือกตั้งด้วย โดยระบุว่า เพื่อให้การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นไปด้วยความเรียบร้อยโดยไม่เสียหาย จึงเห็นควรแก้ไขปรับปรุงให้คณะกรรมการ กกต. มีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นในการบริหารจัดการเลือกตั้ง เช่น อำนาจหน้าที่ในการเลือกวันเลือกตั้ง อำนาจในการกำหนดวันรับสมัครเพิ่มเติม และกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ เมื่อมีเหตุจากการชุมนุมทางการเมืองทำให้ไม่สามารถดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ครบทุกเขต หรือไม่สามารถจัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง โดยอาจกำหนดให้คณะกรรมการ กกต. มีอำนาจกำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งเป็นรายพื้นที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด
ทั้งหมดคือผลการปฏิบัติงานที่สำคัญของ กกต. ที่ทำเป็นหนังสือรายงานออกมาเสนอให้กับฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติรับทราบ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้จัดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 คือ ‘ม็อบ’ ที่ดำเนินการขัดขวางเลือกตั้ง ทำให้จัดไม่สำเร็จ
ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ ‘สมชัย’ รับทราบอย่างแน่นอน ในฐานะ กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เพื่อหา ‘เอาผิด’ คนที่ทำให้การจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 ‘เหลว’ และรัฐต้องเสียหายกว่า 3 พันล้านบาท
นอกเหนือไปจากประเด็นร้อนเรื่องการถูกตรวจสอบว่า การบริหารงานอาจไม่มีความโปร่งใส และการเดินทางไปต่างประเทศ อยู่ในขณะนี้
อ่านประกอบ :
ย้อนรอยเลือกตั้ง 2 ก.พ. "โมฆะ" ใครต้องรับผิดชอบ?
สตง.สรุปผลใช้เงินเลือกตั้ง 2 ก.พ. เหลว! กกต.ตั้งงบเกินจริง 282ล.-จนท.ทุจริต 17 ล.
พบหนังสือ กกต.สมชัย เบิกเงินให้ลูกดูงานตจว. หลังตั้งเป็นเลขาฯส่วนตัว
หมายเหตุ : ภาพประกอบม็อบจาก dailynews และ bangkokbiznews