ส่องโมเดลชุมชนบ้านแป้นใต้ ปลูกคิดปันสุข สร้างสังคมพอเพียงอย่างยั่งยืน
“ข้าเจ้าสำนักผิดแล้ว ว่าข้าเจ้าเคยทำบาปมหันต์ เอาผักที่มีสารตกค้างไปขายให้ผู้บริโภค วันนี้ข้าเจ้าจะบ่ทำ”
“บ้านแป้นใต้” อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พื้นที่อุดมสมบูรณ์ในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ กระทั่งวันหนึ่งมีการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ โรงบ่มใบยาสูบ สร้างเขื่อน ทำไร่เลื่อนลอย ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง
ยิ่งไปกว่านั้นการทำเกษตรของชาวบ้านเน้นให้ได้ผลผลิตมากจึงใช้สารเคมีเป็นตัวช่วย ท้ายที่สุดผลการตรวจสุขภาพ พบปริมาณสารพิษในร่างกายและอยู่ในระดับเสี่ยง
“อาชีพของเราหลัก ๆ ก็คือ ทำการเกษตร ปลูกกะหล่ำปลี ปลูกผักขาย เมื่อก่อนเราอยากได้ผักสวย ๆ ได้ผลผลิตเยอะๆ ก็เลยต้องใช้สารเคมีเป็นจำนวนมาก ใช้สารเคมีโดยไม่ได้คิดถึงเรื่องความปลอดภัย ตอนนั้นคิดแค่ว่า ทำอย่างไร เราจะปลูกผักได้สวยและได้จำนวนมากๆ เพื่อที่จะขายได้เงินมากๆ แค่นั้น” ป้ามาลี เก่งจริง ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำของชุมชนบ้านแป้นใต้ บอกเล่าให้ฟัง
ป้ามาลี บอกอีกว่า หลังจากที่เธอพึ่งพาใช้สารเคมีมาหลายสิบปีตั้งแต่เริ่มอาชีพเกษตรกร เมื่อเข้าโครงการร่วมกับเอสซีจีในโครงการ “เอสซีจี รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” และมีการดึงเอางานวิจัยเข้ามาใช้ มีการตรวจสุขภาพและเลือดก็พบว่า เลือดของเธอมีปริมาณสารเคมีอยู่ในระดับเสี่ยง
“ที่นี้ความกังวลก็เริ่มมา คิดไม่ออกจะเริ่มต้นยังไง กระทั่งงานวิจัยมีการวิเคราะห์ดินโดยให้คนในชุมชนเป็นคนตรวจ มีคนเข้ามาแนะนำวิธีการทำการเกษตรแบบลดการใช้สารเคมี หลังจากนั้น จึงเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำการเกษตรโดยคำนึงถึงความปลอดภัยมากขึ้น”
เช่นเดียวกันกับหนานชาญ อุทธิยะ สมาชิกชุมชนบ้านแป้นใต้ และเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่ประกาศต่อหน้าสาธารณชนว่า
“ข้าเจ้าสำนักผิดแล้ว ว่าข้าเจ้าเคยทำบาปมหันต์ เอาผักที่มีสารตกค้างไปขายให้ผู้บริโภค วันนี้ข้าเจ้าจะบ่ทำ”
หนานชาญ เล่าว่า บ้านแป้นใต้มีเป้าหมายที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ในระยะแรกโดยยังไม่ได้อาศัยตัวโครงการวิจัย แต่เมื่อทำมาได้สักระยะหนึ่ง พืช ผักพื้นบ้านก็อุดมสมบูรณ์ เหลียวหลังแลหน้าเห็นเด็กๆได้กินอาหารตามธรรมชาติ แต่หลายคนไม่ค่อยนิยมกินผัก ดังนั้นจะมีประโยชน์ได้อย่างไรหากผักธรรมชาติที่เกิดขึ้นเหล่านี้ไม่มีใครกิน แล้วมีแต่คนไปซื้อผักนอกบ้านที่มีแต่สารเคมี ความปลอดภัยเรื่องอาหารจะมีขึ้นได้อย่างไร
“พอคิดได้ ก็เริ่มนึกถึงตัวเองที่เคยใช้สารเคมีในการทำเกษตรปลูกผัก เรารู้สึกได้ว่านี่คือการฆ่าลูกหลายตัวเองทางอ้อม บางทีแม่ค้าในหมู่บ้านไปรับผักที่มีสารเคมีมาขาย ทั้งร้านขายของชำอีก นี่จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ทุกคนจุดประกาย ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้”
ก่อนการเรียนรู้ อย่างแรกที่เกิดขึ้นคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่ไม่ใช่ว่าในช่วงแรก หนานชาญ จะเปลี่ยนหันมาทำเกษตรอินทรีย์ 100 % ในทันที เพราะยังมีบางส่วนที่มีวิถีความคิดความเชื่อแบบเดิน ทุกอย่างต้องอาศัยเวลา เมื่อเริ่มมีการนำงานวิจัยมาใช้ มีการตรวจเลือด วิเคราะห์ดิน ตรวจดิน
จากนั้นวิธีคิดของชาวบ้านก็เริ่มเปลี่ยนเพิ่มมากขึ้น หลายคนหันมาทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ต้องมีใครชักชวน
“ชุมชนบ้านแป้นใต้เชื่อว่า วันนี้ถ้าเราผลิตสิ่งดีๆ เราก็จะมีความสุข สุขที่ได้พาตัวเองออกจากพิษภัย ออกจากสารตกค้าง ได้ดูแลตัวเอง สังคม มีความปกติสุข แต่อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงต้องช่วยกัน จะเริ่มจากใครเพียงคนเดียวไม่ได้”หนานชาญ ระบุ
ขณะที่นางวริษา จิตใหญ่ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านแป้นใต้ ชี้ถึงข้อดีของการทำงานวิจัยท้องถิ่น ทำให้เกิดการเรียนรู้และหาคำตอบได้ว่า สร้างฝายชะลอน้ำแล้วได้อะไร นำไปสู่การบริหารจัดการดิน น้ำ และป่า ทำให้ป่าของบ้านแป้นใต้มีพืชผักและสมุนไพรเกิดขึ้นมากมาย
ผลการเก็บข้อมูลพบว่า นอกจากจำนวนชนิดของสมุนไพรเพิ่มขึ้นแล้ว ชาวบ้านแป้นใต้ยังมีความรู้ในการใช้สมุนไพรมากขึ้น เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต การบริโภค นำสมุนไพรพื้นบ้านมาล้างสารพิษ ทำให้ผลการตรวจสารพิษในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว และยังนำสมุนไพรไปใช้ทำลูกประคบ น้ำมันเหลือง การอบสมุนไพร และนวดแผนไทย ช่วยรักษาโรคและรับใช้ดูแลสุขภาพของคนในชุมชน
สำหรับสถานีปลูกคิดปันสุข บ้านแป้นใต้ ผู้ใหญ่บ้านวริษา อธิบายว่า สถานีปลูกคิดปันสุขคือชุมชนที่เปิดต้อนรับผู้สนใจให้แวะมาศึกษาเยี่ยมเยือนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ด้วยการปลูกคิดให้มีกระบวนการคิดที่ทันสมัยเป็นเหตุเป็นผลคิดนอกกรอบใช้ปัญญาแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ รู้เท่าทันสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมปันสุขเมื่อชุมชนพึ่งพาตนเองได้ก็พร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์ทั้งที่เป็นอุปสรรคและผลสำเร็จให้กับทุกคนได้นำไปปรับใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่นชุมชนเพื่อเป้าหมายคือความสุขอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้สถานีปลูกคิดปันสุข บ้านแป้นใต้ มีด้วยการ 7 สถานี คือ สถานีซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น สถานีสมุนไพรเพื่อชีวิต สถานีงานวิจัยเปลี่ยนชีวิต สถานีฝายฟื้นป่า สถานีภูมิปัญญาพื้นถิ่น สถานีความสุขของชุมชน และสถานีปลูกคิดปันสุข บ้านแป้นใต้ โดยสามารถติดต่อเพื่อเข้าไปเยี่ยมชมตัวอย่างงานเกษตร และการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองได้ ทางเพจเฟชบุ๊กชื่อ สถานีปลูกคิดปันสุขบ้านแป้นใต้ หรือ ผู้ใหญ่วริษา จิตใหญ่ โทร 089-260-5561