กางงบดุล 'ทีนิวส์' ล่าสุดขาดทุน 14 ล.ก่อน' สนธิญาณ' หลั่งน้ำตาปลดพนง. 40 คน
"..จากการตรวจสอบข้อมูลงบดุลแสดงผลประกอบการทางธุรกิจของ บริษัท สำนักข่าว ที - นิวส์ จำกัด ปี 2557 ที่ยื่นให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับทราบ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 25,485,561.33 บาท..ขณะที่งบดุลช่วงปี 2556 ก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 บริษัทฯ แจ้งว่า มีรวมรายได้ 28,181,891.44 บาท.."
นับเป็น 'สื่อทีวี' ในยุคทีวีดิจิทัลรายล่าสุด ที่ประกาศปลดพนักงานเป็นจำนวนมากถึง 40 คน หลังประสบปัญหาทางธุรกิจอย่างหนัก สำหรับ 'สำนักข่าวทีนิวส์'
ขณะที่ในแถลงการณ์ของ 'นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม' ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสำนักข่าวทีนิวส์ ระบุชัดเจนว่า ประสบปัญหาภาวะขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท อันเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการที่ คสช. เข้ายึดอำนาจ และสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม พร้อมกับการเกิดขึ้นของทีวีดิจิทัล และพฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดโฆษณาที่เปลี่ยนแปลง และหลั่งน้ำตาขอโทษต่อพนักงาน ต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น
(อ่านประกอบ : ด่วน!ทีนิวส์สั่งปลดพนง. 40 คน สนธิญาณ หลั่งน้ำตาขอโทษ แบกหนี้ 100 ล.)
เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลกกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัท สำนักข่าว ที - นิวส์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 20 ล้านบาท แจ้งที่อยู่ 50/33 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
ประกอบธุรกิจกิจการสำนักข่าวและให้บริการข้อมูลข่าวสาร ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ อินเตอร์เน็ท
ปรากฎชื่อ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม นายฉัตรชัย ภู่โคกหวาย นายธัชพงศ์ ธรรมพุฒิพงศ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท กรีนโพรเท็คท์ จำกัด (นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ถือหุ้นใหญ่สุด) ถือหุ้นใหญ่สุด
จากการตรวจสอบข้อมูลงบดุลแสดงผลประกอบการทางธุรกิจของ บริษัท สำนักข่าว ที - นิวส์ จำกัด ปี 2557 ที่ยื่นให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับทราบ เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2558 แจ้งว่า มีรายได้รวม 25,485,561.33 บาท
แบ่งเป็นรายได้จากการบริการ 25,341,385.18 บาท รายได้อื่น 144,176.15 บาท
รายจ่ายแยกเป็น ค่าจ้างผลิตงานสื่อ 4,536,350.59 บาท ค่าเช่าและบริการ 4,602,383.77 บาท ค่าใช้จ่ายพนักงาน 23,687,531.21 บาท ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 4,340,218.24 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 2,936,762 บาท
รวมรายจ่าย 40,103,245.81 บาท ขาดทุนสุทธิ 14,655,130 บาท
ขณะที่งบดุลช่วงปี 2556 ก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 บริษัทฯ แจ้งว่า มีรวมรายได้ 28,181,891.44 บาท
แบ่งเป็นรายได้จากการบริการ 27,744,309.92 บาท รายได้อื่น 437,581.52 บาท
ส่วนรายจ่าย แยกเป็น ค่าจ้างผลิตงานสื่อ 10,936,231.22 บาท ค่าเช่าและบริการ 5,533,872.61 บาท ค่าใช้จ่ายพนักงาน 30,031,500.99 บาท ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย 7,114,056.34 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 4,279,760.29 บาท
รวมรายจ่าย 57,895,421.45 บาท ขาดทุนสุทธิ 29,773,938.53 บาท
เปรียบเทียบงบดุลทั้ง 2 ปี พบข้อสังเกตสำคัญ ดังนี้
รายได้รวมในปี 2557 ลดลงจากปี 2556 ประมาณเกือบ 3 ล้านกว่าบาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการบริการ
ส่วนรายจ่าย ยอดรวมพบว่า ในปี 2557 ลดลงจากปี 2556 จำนวนกว่า 17 ล้านบาท
เฉพาะค่าใช้จ่ายพนักงาน ในปี 2557 ปรับลดลงจากปี 2556 ประมาณ 7 ล้านกว่าบาท!
ในส่วนของสินทรัพย์ แจ้งว่า มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 27,932.77 บาท ลูกหนี้การค้า 1,623,074 บาท เงินให้กู้ยืมระยะสั้นแก่กิจการที่เกี่ยวข้อง 12,381,000 บาท มีเงินลงทุนระยะยาว 14,500,000 บาท รวมสินทรัพย์ 41,544,877.82 บาท ส่วนหนี้สินแจ้งว่า มีเจ้าหนี้การค้า 3,793,853.13 บาท ส่วนของหนี้สินระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี 201,216 บาท เงินกู้ยืมระยะสั้นจากบุคคลและกิจการที่เกี่ยวข้อง 2,316,882 บาท เงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้อง 79,750,000 บาท เจ้าหนี้เช่าซื้อ 87,239.80 บาท
รวมหนี้สิน 88,263,759.45
ขาดทุนสะสม 78,718,881.63 บาท
สำหรับ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ถูกระบุว่าเป็นสื่อมวลชนและเจ้าของธุรกิจสื่อ ที่มีความสามารถคนหนึ่ง
สมัยเรียน เป็นนักกิจกรรมตัวยงของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะมีโอกาสรู้จักกับ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เข้ามาทำงานด้านสื่อสารมวลชน
เริ่มต้นจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ก่อนที่จะเข้าสู่การจัดตั้งสำนักข่าวไอ เอ็น เอ็น (INN) ซึ่งเป็นสำนักข่าววิทยุบุกเบิกการนำเสนอข่าวตลอด 24 ชั่วโมง ต่อมา สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ได้เข้าร่วมบริษัท สยามทีวี แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น ซึ่งเป็นของสำนักงานทรัพย์สินฯ ทำหน้าที่ตั้งแต่ข้อเสนอในการยื่นประมูล จนสามารถประมูลได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม งานนี้สุดท้ายล้มเหลวเนื่องจากมีปัญหาเรื่องผู้ถือหุ้น
ด้วยเหตุนี้ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม จึงกลับไปทำงานที่ไอ เอ็น เอ็น อีกครั้ง แต่การกลับมาครั้งนี้ก็มีโจทย์ให้ต้องแก้ไข สืบเนื่องจากเงินลงทุนของบริษัทลดลง ดังนั้นจึงต้องหาพันธมิตรรายใหม่มาแก้ไขตรงจุดนี้ สุดท้ายก็ได้ยูคอมมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ถึงอย่างไร ปัญหาในบริษัทก็ยังคงมีอยู่ สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม จึงได้ตัดสินใจลาออกมาตั้งสถานีวิทยุ Business Radio FM 96.5 แทน พร้อมด้วยคลื่นวิทยุคลื่นอื่น ๆ อีก จนในที่สุดก็สามารถตั้งบริษัทตัวเองในนามว่า สำนักข่าวทีนิวส์
นอกจากนี้ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีด้วย แต่พนักงานสถานีโทรทัศน์ไอทีวีบางส่วนไม่พอใจ ได้ยื่นร้องต่อศาลปกครองให้คุ้มครองคำสั่งแต่งตั้ง สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ซึ่งศาลก็มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวคำสั่งแต่งตั้งนี้
กระทั่งในปี 2556 สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ก็ได้เข้าสู่เหตุการณ์ทางการเมือง นั่นคือ การเป็นแกนนำ กปปส. ในการต่อต้านรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนที่จะถูกศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) จับกุมฐานละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งนายธาริตก็ระบุถึงความสำคัญของนายสนธิญาณว่า เป็นผู้คิดแผนการต่าง ๆ ของ กปปส., เป็นผู้รวบรวมเงินจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการชุมนุม และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม (อ้างอิงข้อมูลข่าวส่วนนี้จาก kapook.com)
ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2557 หลังการเปลี่ยนแปลงทีวีของประเทศไทย เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล
บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ช่องสปริงนิวส์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นอยู่ใน บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า บริษัทได้อนุมัติการทำบันทึกความเข้าใจในการร่วมลงทุนในกลุ่มบริษัท ทีนิวส์ กับนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม โดยจะทำการศึกษาข้อมูลเพื่อตัดสินใจการในการร่วมการลงทุน และกำหนดโครงสร้างของการร่วมทุนให้เสร็จภายใน 12 สัปดาห์ ก่อนตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย
(อ่านประกอบ : จับสัญญาณ "โซลูชั่น"ซื้อหุ้น"เนชั่น-GMM" ยุคไล่ล่าอาณานิคมสื่อไทยเปิดฉากแล้ว)
จากนั้นข่าวคราวส่วนนี้ก็หายไป ท่ามกลางกระแสข่าวว่า สปริงนิวส์ ตัดสินใจไม่ซื้อ ทีนิวส์
หลังจากนั้น สปริงนิวส์ และ ทีนิวส์ ได้ทำสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ประกาศปลดพนักงาน บริษัทฯ ออกเป็นจำนวนแห่งละ 40 คน
ท่ามกลางปริศนา ค้างคาใจของใครในวงการสื่อหลายคน ว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ กับ สื่อทั้งสองแห่งนี้
เพราะดูเหมือนจะมีอะไรเกิดขึ้นและคล้ายกันอย่างบังเอิญ!