รัฐนำร่อง 5 อำเภอสันติสุข – คณะพูดคุยฯแจงไม่เกี่ยวพื้นที่ปลอดภัย"มารา ปาตานี"
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เดินหน้าจัดตั้ง 5 อำเภอสันติสุขนำร่องใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้พลัง "ประชารัฐ" หรือ รัฐจับมือกับประชาชนเป็นธงนำ
พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แถลงเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ในปีงบประมาณ 2559 (เริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.58 ถึง 30 ก.ย.59) พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้มอบหมายนโยบายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความเป็นพิเศษมากขึ้น คือ "โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข"
หลักการก็คือการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านพลังประชารัฐ ประกอบด้วย ประชาชน กลุ่มผู้เห็นต่าง และภาครัฐ ร่วมกันแก้ไขปัญหาภายใต้หลักคิด "ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมประเมินผล" โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชน และผู้เห็นต่าง รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้ง ลดความรุนแรง เสริมสร้างความสงบสุข และพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้เกิดเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
โครงการนี้ได้เริ่มต้นดำเนินการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดพื้นที่นำร่องใน 4 จังหวัดรวม 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บาเจาะ และ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส, อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, อ.ยะหา จ.ยะลา และ อ.นาทวี จ.สงขลา ก่อนที่จะขยายพื้นที่เป้าหมายให้ครบทั้ง 37 อำเภอใน 4 จังหวัดในระยะต่อไป
สำหรับการขับเคลื่อน "โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข" ได้มีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติโดยผนึกกำลังร่วมกัน 3 ฝ่าย ใช้ 3 งานหลักเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกัน โดย 3 ฝ่ายประกอบด้วย ภาครัฐซึ่งมีตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง, ภาคประชาชน มีผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น, และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมเป็น 3 ฝ่ายมา "ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมประเมินผล" ตามยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยกำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ที่มีนายอำเภอเป็นหัวหน้าศูนย์ เป็นศูนย์กลางการทำงานในระดับพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด เป็นผู้ขับเคลื่อนแผนงาน รวมทั้งมีหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 2 ตัว หน่วยเฉพาะกิจทหารพราน และสถานีตำรวจภูธรประจำพื้นที่ ร่วมปฏิบัติงานในลักษณะบูรณาการ
ส่วน 3 งานหลักที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน ประกอบด้วย
1.งานสร้างพื้นที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน เน้นการสร้างชุมชน หมู่บ้านเข้มแข็ง ปลอดเหตุร้าย ปลอดยาเสพติด โดยมีผู้นำท้องที่และผู้นำศาสนาเป็นศูนย์กลาง มี 4 งานสำคัญ คือ งานบังคับใช้กฎหมายตามแนวทางสันติวิธี เช่น การใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก การมีส่วนร่วมของผู้นำศาสนา ผู้นำในท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และเครือญาติในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติ เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้, งานควบคุมพื้นที่ และทำหมู่บ้านให้ปลอดภัย, งานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วม โดยการนำกำลังภาคประชาชนออกมาดูแลพื้นที่ ตามแผนรักษาความปลอดภัยตำบล พร้อมๆ กับการเสริมสร้างศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และชุดควบคุมตำบล (ชคต.) และงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแทรกซ้อน เช่น การป้องกันและปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมาย การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด รวมทั้งการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม
2.งานการเมือง มีความมุ่งหมายเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ช่วยเหลือจุนเจือ เชิญชวนมาแก้ปัญหาร่วมกัน ประกอบด้วย งานขับเคลื่อนการเสริมสร้างความเข้าใจต่อกลุ่มผู้คิดเห็นต่างจากรัฐ โดยขอความร่วมมือจากผู้นำศาสนา นักการเมือง องค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรพัฒนาเอกชน เป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ พัฒนาสัมพันธ์ ปรับทุกข์ ผูกมิตร ช่วยเหลือ และชักชวนเข้าร่วมแก้ปัญหา และพัฒนาในพื้นที่ 5 อำเภอนำร่อง ก่อนแพร่สู่ 37 อำเภอในโอกาสต่อไป, งานเสริมสร้างความเข้าใจในสถานศึกษา, งานพบปะผู้นำศาสนาและประชาชนในมัสยิด เน้นการนำผู้นำศาสนาและผู้นำชุมชนเข้าร่วมโครงการชุมชนศรัทธา หรือ "กำปงตักวา" โดยใช้หลักการศาสนาที่บริสุทธิ์เข้ามาแก้ไข ควบคู่กับการขับเคลื่อนโครงการมัสยิดสานใจป้องกันภัยยาเสพติด
นอกจากนั้นยังมีงานขับเคลื่อนโครงการพาคนกลับบ้าน, งานเสริมสร้างความเข้าใจต่อประชาชน, งานสร้างครอบครัวคุณธรรม โดยสมาชิกในครอบครัวจะต้องยึดมั่นใน "สัจจะ สันติสุข" กำหนดไว้ 3 ประการสำคัญ คือ สมาชิกในครอบครัวต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จะต้องไม่สร้างความเดือนร้อนแก่สังคม ชุมชน และจะต้องมีจิตอาสาช่วยเหลือส่วนรวม
3.งานพัฒนา มุ่งหมายเพื่อพัฒนาโดยโครงการของรัฐถึงระดับครอบครัว ถึงตัว ถึงความคิด ให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐดูแลและไม่ทอดทิ้ง โดยมีงานสำคัญที่จะต้องเร่งรัดพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี 8 งาน คือ งานพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ตอบสนองต่อความต้องการและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นรายครอบครัว, งานส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพในหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็ก (SME) และ โครงการ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
งานพัฒนาตามศักยภาพพื้นที่ เช่น การจัดตั้งโรงงานแปรรูปยางพารา การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐาน, งานพัฒนาคุณภาพชีวิตตามโครงการหลักของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. และแผนงานและโครงการตามกลุ่มภารกิจของส่วนราชการ รวมทั้งแผนชุมชนหมู่บ้านทั้ง 8 เล่มอย่างเร่งด่วน, งานสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง, งานพัฒนาชุมชนเสี่ยงตามกระบวนการชุมชนเข้มแข็ง, งานสร้างชุมชนปลอดยาเสพติด และงานสนับสนุนโครงการพระราชดำริอย่างเต็มขีดความสามารถ
คณะพูดคุยฯแจงไม่เกี่ยว "พื้นที่หยุดยิง"
ด้าน พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง หนึ่งในคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า การประกาศ "อำเภอสันติสุข 5 อำเภอ" ไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" หรือ "พื้นที่หยุดยิง" ร่วมกันระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ กับกลุ่ม "มารา ปาตานี" ตัวแทนผู้เห็นต่างจากรัฐ 6 กลุ่มที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ เพราะเรื่องอำเภอสันติสุข เป็นงานของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และแม่ทัพภาคที่ 4
ส่วนการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัย" ที่เป็นข้อเสนอของคณะพูดคุยฯ ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยนั้น จนถึงขณะนี้ยังคงพูดคุยกับคณะทำงานของ "มารา ปาตานี" เพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมและลงตัวที่สุด